จ่อขึ้นราคา "รถไฟฟ้า-ทางด่วน" ทำคนกรุงอ่วม
คนกรุงมีอ่วม เตรียมรับมือกับค่าโดยสารรถไฟฟ้า - ทางด่วน ที่จะขึ้นราคา เมื่อทางกทม. มีแนวคิดรื้อค่าโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอสใหม่ทั้งหมด โดยจะเก็บเป็นโซนพื้นที่ 3 โซน คือ โซนในเมือง 10 สถานี มีสถานีสยามเป็นจุดศูนย์กลาง โซนที่ 2 พื้นที่ถัดจากในเมืองอีก 10 สถานี และโซนที่ 3 ถัดจากโซนที่ 2 เป็นสถานีรอบนอก ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษารายละเอียด จำนวนสถานีและอัตราค่าโดยสาร โดยจะคิดเป็นอัตราเหมาจ่ายตามรายโซนพื้นที่ และปรับค่าโดยสารบีทีเอสช่วงส่วนต่อขยายเพิ่มเป็น 15 บาท ส่วนต่อขยายสายสุขุมวิทช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง ระยะทาง 5.25 กม. 5 สถานี และส่วนต่อขยายสายสีลมช่วงวงเวียนใหญ่-บางหว้า 5.3 กม. 4 สถานี เป็นอัตรา 15 บาทตลอดสาย จากปัจจุบัน 10 บาท โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. ที่ผ่านมา
ในปี 2561 กทม.จะเก็บค่าโดยสารสายสีเขียวต่อขยายแบริ่ง-สมุทรปราการ 12.8 กม. 9 สถานี โดยปรับค่าโดยสารบีทีเอสต่อขยายเพิ่มเป็น 15 บาท เพราะ กทม.ต้องจัดสรรงบประมาณรองรับค่าใช้จ่ายปีละกว่า 600 ล้านบาทมาหลายปี ซึ่งทำให้กระทบกับอัตราค่าโดยสารบีทีเอสทั้งระบบ สำหรับสายสุขุมวิทอัตราสูงสุดอยู่ที่ 77 บาท แยกเป็นช่วงหมอชิต-อ่อนนุช 42 บาท, อ่อนนุช-แบริ่ง 15 บาท และแบริ่ง-สมุทรปราการ 20 บาท ส่วนสายสีลมอัตราสูงสุดอยู่ที่ 57 บาท แยกเป็นช่วงหมอชิต-สะพานตากสิน 42 บาท และวงเวียนใหญ่-บางหว้า 15 บาท
ส่วนค่าทางด่วนที่จะปรับราคาสูงขึ้นนั้น วันที่ 1 ก.ย. 2561 จะครบกำหนดปรับค่าผ่านทางด่วนขั้นที่ 1 และขั้นที่ 2 ตามสัญญาสัมปทานที่ทำไว้กับ BEM ที่จะปรับขึ้นทุก 5 ปี ตามค่า CPI ซึ่งที่ผ่านมาเฉลี่ยอยู่ที่ 5-10 บาท สำหรับอัตราค่าผ่านทางปัจจุบันปรับขึ้นมาตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 2556 ได้แก่ ทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ทางด่วนขั้นที่ 1) รถ 4 ล้อ 50 บาท รถ 6-10 ล้อ 75 บาท และมากกว่า 10 ล้อ 110 บาท
ส่วนทางพิเศษศรีรัช ส่วน C รถ 4 ล้อ 15 บาท รถ 6-10 ล้อ 20 บาท มากกว่า 10 ล้อ 35 บาท ส่วน D รถ 4 ล้อ 25 บาท รถ 6-10 ล้อ 55 บาท และมากกว่า 10 ล้อ 75 บาท
และทางพิเศษอุดรรัถยา (บางปะอิน-ปากเกร็ด) จะครบกำหนดในวันที่ 1 พ.ย. 2561 จากปัจจุบันช่วงแจ้งวัฒนะ-เชียงราก รถ 4 ล้อ 45 บาท รถ 6-10 ล้อ 100 บาท มากกว่า 10 ล้อ 150 บาท และช่วงเชียงราก-บางไทร รถ 4 ล้อ 10 บาท รถ 6-10 ล้อ 20 บาท และมากกว่า 10 ล้อ 30 บาท