ค่ากันเสียงของผนังมีหน่วยเป็น STC ไม่ใช่ dB
ค่าสำหรับวัด การส่งผ่านของเสียง (Soundproofing) คือค่า STC ย่อมาจาก Sound Transmission Class เป็นหน่วยวัดวัสดุที่มีคุณสมบัติต้านทานการส่งผ่านของเสียงจากด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่ง หากมีค่ามากก็แสดงว่ากันเสียงได้ดีกว่าค่าน้อย เช่น ผนัง A วัดได้ 70 STC ก็จะสามารถกันเสียงได้ดีกว่าผนัง B ที่วัดได้ 50 STC นั่นเอง และค่านี้ไม่มีความเกี่ยวข้องกันกับเดซิเบลเลย หากเราวัดเสียงได้ 50 dB ก็ไม่ได้หมายความว่าสามารถกันเสียงได้ 50 STC
แล้วต้องมีค่า STC เท่าไหร่ถึงจะเงียบเหมาะกับการอยู่อาศัย?
วัสดุผนังแต่ละชนิมีความแตกต่างกัน บางคนเข้าใจว่าวัสดุที่มีรูพรุนมาก จะสามารถซับเสียงผ่านความพรุนนั้นได้ดี ซึ่งจริงๆ แล้วการดูดซับเสียงจะขึ้นอยู่กับ "น้ำหนักต่อพื้นที่ผิวของผนัง" คือ ผนังต้องแข็ง หนา ทุบแล้วไม่สั่นจะยิ่งกันเสียงได้ดี หากอธิบายให้ละเอียดจะเป็นดังนี้
อิฐมวลเบา (น้ำหนักต่อพื้นที่ผิวของผนัง = 70 kg./m2) ในความหนา 10 ซม.
เป็นวัสดุที่เราเห็นกันมากในการก่อสร้างคอนโด เพราะน้ำหนักเบา ลดน้ำหนักโครงสร้าง สามารถทำงานได้รวดเร็ว วิธีการก่อก็ใช้ปูนกาวที่ค่อนข้างบางในการก่ออิฐให้เชื่อมกัน ด้วยเหตุผลนี้จึงทำให้กันเสียงรบกวนไม่ได้กันมาก
อิฐมอญ (น้ำหนักต่อพื้นที่ผิวของผนัง = 160 kg./m2) ในความหนา 10 ซม.
มีความหนักกว่าอิฐมวลเบาถึง 2 เท่า และวิธีการก่อก็ใช้ปูนซีเมนต์ที่มีความหนาพอสมควร จึงทำให้กันเสียงได้ดีกว่าอิฐมวลเบานั่นเอง
จากมาตรฐานของประเทศสหรัฐอเมริกา ได้กำหนดค่ากันเสียงของผนังระหว่างยูนิตไว้ ดังนี้
1. อาคารระดับโรงแรมหรู 5 ดาว ต้องมีค่าการกันเสียงอย่างน้อย 55 STC (ได้ยินเสียงคนทะเลาะกันบ้าง แบบเข้าใจเนื้อหาบางส่วน)
2. ที่พักทั่วไปต้องมีค่าการกันเสียงอย่างน้อย 52 STC (ได้ยินเสียงคนทะเลาะกัน แบบเข้าใจเนื้อหาทั้งหมด)
3. ส่วนค่าการกันเสียงต่ำที่สุดที่ยอมรับได้ สำหรับผนังกันระหว่างห้องต้องมีอย่างน้อย 48 STC (ยังพอได้ยินเสียงสนทนาในระดับปกติ)
ตารางแสดงค่ากันเสียงจาก SCG ที่ระบุความเหมาะสมสำหรับห้องต่างๆ ในสำนักงาน
แต่สำหรับประเทศไทยของเราการสร้างบ้านหรือคอนโด Developer จะลงทุนสร้างผนังให้หนาแข็งแรงขนาดที่ห้องเงียบกริบเลยหรือ? โดยมากนั้นวิศวกรก็ประเมินและใช้วัสดุผนังที่มีค่าการกันเสียง (STC) อย่างน้อย 45 ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่ได้ยินเสียงรบกวน เสียงพูดคุยกันปกติถ้าตั้งใจฟังก็เข้าใจว่าข้างห้องคุยอะไรกันบ้างได้เลย
สามารถรับฟังระดับของเสียงเมื่อใช้ผนังที่มีค่า STC ต่างๆ กัน ได้ที่นี่
https://www.youtube.com/watch?v=WaF6UA5soLY
3 อันดับผนังกันเสียงยอดนิยม ต้องแบบไหนถึงเงียบแบบพักผ่อนนอนได้
ในความเป็นจริงเวลาเราจะซื้อบ้าน ทาวน์โฮม คอนโดสักหลังเราคงไม่ถามเซลล์หรอกใช่ไหมคะว่า “ผนังห้องนี้มีค่า STC กันเสียงได้เท่าไหร่” หรือถึงแม้จะถามก็คงจะตอบกันไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องที่เฉพาะเจาะจง แต่เรื่องผนังถือเป็นอีก 1 เรื่องที่สำคัญมากโดยเฉพาะการอยู่อาศัยในคอนโด เรามาดูตัวอย่างผนังแต่ละแบบ โดยระบุค่ากันเสียง STC กันค่ะ
3 ลำดับวัสดุผนังกันเสียงแต่ละชนิดที่มีความหนาเท่ากัน 10 เซนติเมตร สามารถจัดอันดับได้ดังนี้
ขอบคุณภาพจาก
Sansiri 1. พรีคาสท์ (Precast) STC 49* เพราะความแน่นของซีเมนต์ที่นำมาหล่อขึ้นรูปเป็นผนังจากโรงงานผลิตที่มีมาตรฐาน ทำให้ไม่มีฟองอากาศ มวลของคอนกรีตจึงหนาแน่นที่สุด ยิ่งแน่นยิ่งกันเสียงได้มากที่สุด อย่างไรก็ตามจะขึ้นอยู่กับการเก็บงานรอยต่อของผนังด้วย หากทำได้ไม่ดีเสียงก็จะเล็ดลอดไปทางรอยต่อได้
2. อิฐมอญหรืออิฐแดง (Red Brick) STC 42* เกิดจากการนำดินเหนียวผ่านกระบวนการไล่ความชื้น ก่อนนำไปเผาเพื่อคงรูป เมื่อเผาเสร็จแล้วก็จะมีความหนาแน่นสูง แข็งแรงทนทาน ดังนั้นเราจึงมักจะเห็นโฆษณาบ้านจัดสรรหลายๆ โครงการว่าสร้างด้วยอิฐมอญ และบอกว่ามีความแข็งแรงทนทาน
3. อิฐมวลเบา (Lightweight Concrete) STC 36* เกิดจากการผสมระหว่างปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์+ปูนขาว+ยิปซั่ม+สารอลูมิเนียม ในการผลิตจะทำให้เกิดฟองอากาศกระจายตัวอย่างสม่ำเสมอในเนื้ออิฐ โดยอิฐจะแข็งตัวด้วยเครื่องอบไอน้ำ ซึ่งคุณสมบัติพิเศษก็คือมีน้ำหนักเบา
*ค่า STC โดยประมาณอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้จากแหล่งผลิตและการติดตั้ง
ซึ่งการจัดอันดับดังกล่าวยังมีค่าใกล้เคียงกับเอกสารอนุมัติวัสดุระบบโครงสร้างคอนกรีตสำเร็จรูปอีกด้วย (
คลิกเพื่อดู)
บ้านหรือคอนโดเดิมของเราไม่กันเสียงเลยจะทำยังไง?
หากเราซื้อคอนโดหรือทาวน์โฮม ที่ใช้ผนังร่วมกับบ้านข้างๆ มาแล้วและพบปัญหาเรื่องเสียง เราสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการกันเสียงที่ผนังได้ 4 วิธี คือ
1. ก่อผนังซ้อนเข้าไปเพื่อน้ำหนักต่อพื้นที่ผิวของผนัง ให้ผนังหนาขึ้นก็จะกันเสียงได้มากขึ้นอยากไม่ได้ใส่ใจเรื่องการระบายความร้อน แนะนำเป็นอิฐมอญจะดีกว่าอิฐมวลเบา
2. ทำผนังอีกชั้นโดยติดตั้งผนังเบาใส่ฉนวนกันเสียงไปด้วย
3. ทำผนังกันเสียง (ผนังซิปซัม) โดยสามารก่อทับผนังเดิมเข้าไป ก็จะช่วยเรื่องการกันเสียงมากพอสมควรพอๆ กับการก่ออิฐมอญอีกชั้นเลยทีเดียว
4. ติดตั้งผ้าม่านกันเสียง จะสามารถช่วยดูดซับเสียงเพิ่มได้
บทความนี้น่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่จะตัดสินใจซื้อคอนโด รวมไปถึงทาวน์เฮ้าส์และบ้าน และหวังว่าจะทำให้คำนึงถึงวัสดุผนังกันเสียงเป็นอีก 1 ตัวเลือกในการซื้อด้วย เพราะมีเรื่องปัญหาเกี่ยวกับเสียงรบกวนจากเพื่อนบ้านมากขึ้นตามจำนวนยูนิตของคอนโดที่มากขึ้นทุกวัน เมื่อเตรียมได้ก่อนก็ย่อมตัดปัญหาได้ก่อน หรือหากเป็นวิธีทดสอบง่ายๆ สำหรับคอนโดสร้างเสร็จพร้อมอยู่ ก็ลองไปนัดชมห้องจริงแล้วเปิดเพลงหรือพูดคุยกันระหว่างห้องดูก็ได้ ว่าได้ยินชัดเจนแค่ไหน เพื่อทดสอบผนังกันเสียงของโครงการนั้นๆ ค่ะ
ขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.getbestsound.com
https://propertyscout.co.th
https://www.landyhome.co.th/th/Knowledge/1615955203
https://noisecontrol365.com
https://www.zen-acoustic.com/what-is-sound-transmission-class
https://www.scgbuildingmaterials.com/
https://www.cotto.com/
https://www.geonoise.co.th/