หลังจากที่ทางการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยได้เปิดให้ประชาชาชนได้ทดลองใช้
รถไฟฟ้าสายสีเหลืองไปเมื่อวันที่เสาร์ที่ 3 มิถุนายน 2566 ฟรี! จำนวน 13 สถานี (จากทั้งหมด 23 สถานี) ได้แก่ หัวหมาก กลันตัน ศรีนุช ศรีนครินทร์ 38 สวนหลวง ร.9 ศรีอุดม ศรีเอี่ยม ศรีลาซาล ศรีแบริ่ง ศรีด่าน ศรีเทพา ทิพวัล สำโรง ไปแล้วนั้น ได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นจำนวนมาก และมีผู้ใช้บริการไม่น้อยสงสัยว่าชื่อสถานีของรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ทำไมมีคำว่า “ศรี” เยอะจัง วันนี้เช็คราคาจะมาอธิบาย ขยายความให้ค่ะ และสำหรับใครที่กำลังสนใจโครงการติดรถไฟฟ้าสายสีเหลือง
คลิกเลย
หลักการตั้งชื่อสถานีรถไฟฟ้าให้เป็นไปตามหลักสากล
กรมการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคม ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับการตั้งชื่อสถานีรถไฟฟ้า โดยแบ่งออกเป็น 6 ข้อ ดังนี้
1. ง่าย ชื่อสถานีรถไฟฟ้าจะต้องเป็นชื่อที่ง่ายและสามารถจดจำได้ง่าย
2. กระชับ ชื่อสถานีรถไฟฟ้าควรเป็นชื่อที่สั้นได้ใจความ โดยชื่อภาษาไทยควรมีความยาวไม่เกิน 5 พยางค์ และชื่อภาษาอังกฤษควรใช้ตัวอักษรไม่เกิน 15 ตัวอักษร
3. ยั่งยืน ชื่อสถานีควรใช้ได้ตลอดระยะเวลาที่สถานียังคงเปิดให้บริการอยู่
4. ระบุตำแหน่งได้ชัดเจน ชื่อสถานีจะต้องทำให้ผู้โดยสารสามารถระบุตำแหน่งหรือบริเวณที่ตั้งของสถานีได้อย่างชัดเจน และควรมีความเกี่ยวข้องกับพื้นที่ตั้งสถานีด้วย
5. ชื่อเฉพาะ หากจะใช้ชื่อเฉพาะเจาะจงต้องไม่ซ้ำกันหรือสร้างความสับสนให้กับผู้ใช้บริการ
6. เชื่อมโยงกัน ชื่อสถานีจะต้องสามารถสร้างความเชื่อมโยง ต้องทำให้ผู้ใช้บริการวางแผนการเดินทางได้ โดยเฉพาะชื่อสถานีที่เป็นชื่อสถานีเชื่อมต่อควรใช้ชื่อเดียวกันทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษโดยมีการระบุความแตกต่างของเส้นทางโดยรหัสสถานี
โดยชื่อที่เป็นข้อสงสัยก็คือสถานีที่ขึ้นต้นด้วย “ศรี” ของรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ซึ่งมีทั้งหมด 9 สถานีเลยทีเดียว แต่ละชื่อมีที่มาอย่างไร และมีความหมายอะไรบ้าง ไปดูกันเลยค่ะ
YL10 ศรีกรีฑา
สถานีศรีกรีฑา ตั้งอยู่บนถนนศรีนครินทร์ บริเวณแยกกรุงเทพกรีฑา ปัจจุบันกรุงเทพกรีฑาถือเป็นทำเลเนื้อหอมฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ โซนใหม่ ที่ได้รับความนิยมในการสร้างโครงการอยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก ชื่อสถานีจึงเกิดจากการผสมกันระหว่าง “ศรีนครินทร์+กรุงเทพกรีฑา” นั่นเอง ซึ่งก็เป็นไปตามหลักการตั้งชื่อของกระทรวงคมนาคมข้อที่ว่าระบุตำแหน่งได้ชัดเจน ทำให้ผู้ใช้บริการทราบว่าสถานีนี้อยู่บนถนนศรีนครินทร์ และใกล้กับแยกกรุงเทพกรีฑา และสามารถวางแผนการเดินทางต่อไปได้
โดยสถานีศรีกรีฑา มีตำแหน่งทางขึ้น - ลง จำนวน 4 จุด ดังนี้
จุดที่ 1 ถนนกรุงเทพกรีฑา
จุดที่ 2 ซอยศรีนครินทร์ 5
จุดที่ 3 ซอยศรีนครินทร์ 6
จุดที่ 4 สวนปิยะภิรมย์
และสถานีนี้เป็นที่สูงที่สุดในบรรดารถไฟฟ้าสายสีเหลืองด้วย มีความสูงถึง 25.79 เมตร นับจากพื้นถึงชานชาลา ใครที่ขึ้น-ลงบันไดไม่ไหวแนะนำลิฟต์ - ทางลาด ตั้งอยู่บริเวณทางขึ้น - ลง ที่ 1, 3 และ 4 บันไดเลื่อน ตั้งอยู่บริเวณทางขึ้น-ลง ที่ 2 และ 4 และ บันไดขึ้น-ลง ตั้งอยู่บริเวณทางขึ้น-ลง ที่ 1 และ 4
YL12 กลันตัน
สถานีกลันตัน ตั้งอยู่บนถนนศรีนครินทร์ บริเวณหน้าศูนย์การค้าธัญญาพาร์ค แต่ทำไมชื่อถึงไม่ขึ้นต้นด้วย “ศรี” เหมือนสถานีอื่นๆ ที่อยู่บนถนนศรีนครินทร์ และชื่อนี้ก็เหมือนกับชื่อชื่อของรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซียอีกด้วย สาเหตุที่ตั้งชื่อนี้ก็เพราะว่าตั้งชื่อตามหลักการตั้งชื่อแบบเฉพาะเจาะจง กลันตันเป็นชื่อที่ไม่ซ้ำกับที่อื่นในกรุงเทพฯ โดยมีที่มาจากประวัติศาสตร์คือ ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 1-3 สยามเกิดสงครามกับหัวเมืองมลายู และมีการกวาดต้อนเชลยศึกชาวมลายูมายังพื้นที่กรุงเทพฯ ทำให้ชาวกลันตันที่อาศัยอยู่ในเมืองปัตตานีซึ่งปกครองโดย “ราชวงศ์กลันตัน” เป็นราชวงศ์สุดท้ายถูกกวาดต้อนมาด้วย
จนกระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 3 มีการขุดคลองแสนแสบเชื่อมกับคลองพระโขนง เพื่อเป็นเส้นทางกองทัพไปรบกับญวน ขุดโดยแรงงานชาวมลายูและชาวกลันตันที่ถูกกวาดต้อนมา จึงได้ตั้งชื่อคลองว่าคลองกลันตัน ภายหลังเรียกให้สั้นลงเหลือเพียง "คลองตัน” แต่ปัจจุบันก็ยังสามารถพบเห็นชื่อ "กลันตัน" อยู่ อาทิ โรงเรียนคลองกลันตัน
สถานีกลันตันมีตำแหน่งทางขึ้น - ลง จำนวน 4 จุด และลิฟต์ ทางลาด บันไดเลื่อน ดังนี้
จุดที่ 1 ก่อนถึงศูนย์การค้าธัญญาพาร์ค
จุดที่ 2 คลองโคกวัด (ขาออก)
จุดที่ 3 คลองโคกวัด (ขาเข้า)
จุดที่ 4 ก่อนถึงศูนย์บริการรถยนต์ฮอนด้า
โดยลิฟต์ - ทางลาด ตั้งอยู่บริเวณทางขึ้น - ลง ที่ 1 2 และ 3 บันไดเลื่อน ตั้งอยู่บริเวณทางขึ้น - ลง ที่ 1 และ 4 บันไดขึ้น - ลง ตั้งอยู่บริเวณทางขึ้น - ลง ที่ 1 , 2 , 3 และ 4
YL13 ศรีนุช
บริเวณที่สถานีศรีนุชตั้งอยู่เป็นจุดตัดของถนนศรีนุครินทร์และถนนสุขุมวิท 77 (อ่อนนุช) มีชื่อแยกว่าแยกสวนหลวง แต่แยกนี้ก็ชื่อเล่นที่คนทั่วไปเรียกกันก็คือ ศรีนุช เกิดจากการผสมกันระหว่าง “ศรีนครินทร์+อ่อนนุช” มีตำแหน่งทางขึ้น - ลง จำนวน 4 จุด ดังนี้
จุดที่ 1 ถัดจากแยกสวนหลวง (ศรีนุช) ฝั่งขาออก
จุดที่ 2 ซอยศรีนครินทร์ 29
จุดที่ 3 ซอยศรีนครินทร์ 28
จุดที่ 4 ก่อนถึงแยกสวนหลวง (ศรีนุช) ฝั่งขาเข้า
ในส่วนของสถานีศรีนุช มีลิฟต์และทางลาด รองรับรถเข็นวีลแชร์ บริเวณทางขึ้น - ลง ที่ 1 และ 3 และมีบันไดเลื่อน รองรับในส่วนของ ทางขึ้น - ลง ที่ 2 , 3 และ 4
YL16 ศรีอุดม
สถานีศรีอุดม ตั้งอยู่บนถนนศรีนครินทร์ บริเวณแยกศรีอุดม เกิดจากการผสมกันระหว่าง “ศรีนครินทร์+อุดมสุข” ชื่อศรีอุดมนี้เป็นชื่อแยกที่เป็นทางการอยู่แล้ว จึงทำให้การตั้งชื่อนี้ก็ไม่ได้ทำให้ผู้ใช้บริการสับสน โดยมีตำแหน่งทางขึ้น - ลง จำนวน 4 จุด
จุดที่ 1 แยกศรีอุดม (ฝั่งขาออก)
จุดที่ 2 ซอยศรีนครินทร์ 63
จุดที่ 3 ซอยศรีนครินทร์ 58
จุดที่ 4 ซอยศรีนครินทร์ 54 (อุดมสุข 1)
ในส่วนของสถานีศรีอุดม มีลิฟต์และทางลาด รองรับรถเข็นวีลแชร์ บริเวณทางขึ้น - ลง ที่ 1 และ 4 และมีบันไดเลื่อน รองรับในส่วนของ ทางขึ้น - ลง ที่ 2 และ 3
YL17 ศรีเอี่ยม
สถานีศรีเอี่ยม ตั้งอยู่บนถนนศรีนครินทร์ บริเวณทางแยกต่างระดับศรีเอี่ยม ชื่อสถานีนี้ตั้งขึ้นตามชื่อพื้นที่เดิมอยู่แล้ว ไม่ได้เกิดจากการผสมคำ ปรากฎตามชื่อวัด โรงเรียน อาทิ วัดศรีเอี่ยม โรงเรียนศรีเอี่ยมอนุสรณ์ เป็นต้น และเป็นสถานีที่สามารถเชื่อมต่อกับอาคารจอดแล้วจร (Park and Ride) ได้ มีตำแหน่งทางขึ้น - ลง จำนวน 4 จุด
จุดที่ 1 อาคารจอดแล้วจร สถานีศรีเอี่ยม (ฝั่งทิศเหนือ)**
จุดที่ 2 อาคารจอดแล้วจร สถานีศรีเอี่ยม (ฝั่งทิศใต้) **
จุดที่ 3 แยกถนนศรีนครินทร์ - ถนนเทพรัตน
จุดที่ 4 วัดศรีเอี่ยม
และมีบริการลิฟต์ - ทางลาด ตั้งอยู่บริเวณทางขึ้น - ลง ที่ 1 , 2 และ 4 บันไดเลื่อน ตั้งอยู่บริเวณทางขึ้น - ลง ที่ 1 และ 2 และบันไดขึ้น - ลง ตั้งอยู่บริเวณทางขึ้น - ลง ที่ 1 , 2 , 3 และ 4
YL18 ศรีลาซาล
สถานีศรีลาซาล ตั้งอยู่บนถนนศรีนครินทร์ บริเวณแยกศิครินทร์ ชื่อสถานีนี้เกิดจากการผสมคำระหว่าง “ศรีนครินทร์+ลาซาล” ซึ่งลาซาลนี้ก็เป็นชื่ออย่างไม่เป็นทางการของถนนสุขุมวิท 105 เรียกตามชื่อโรงเรียนลาซาลกรุงเทพ ซึ่งเป็นโรงเรียนซึ่งคณะภราดาลาซาลตั้งขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2506 ซึ่งคณะภราดาลาซาลคือนักบุญชาวฝรั่งเศส ฌอง-แบพติสต์ เดอลาซาล ที่ได้เผยแผ่ศาสนาและก่อตั้งโรงเรียนขึ้นในหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยด้วย สถานีนี้มีตำแหน่งทางขึ้น - ลง จำนวน 4 จุด
จุดที่ 1 ซอยคลองหนองบัว
จุดที่ 2 ซอยศรีด่าน 24
จุดที่ 3 ซอยศรีด่าน 29
จุดที่ 4 ถนนลาซาล
และลิฟต์ - ทางลาด ตั้งอยู่บริเวณทางขึ้น - ลง ที่ 1 และ 4 บันไดเลื่อน ตั้งอยู่บริเวณทางขึ้น - ลง ที่ 2 และ 4 บันไดขึ้น - ลง ตั้งอยู่บริเวณทางขึ้น - ลง ที่ 1 , 2 , 3 และ 4
YL19 ศรีแบริ่ง
สถานีศรีแบริ่ง ตั้งอยู่บนถนนศรีนครินทร์ บริเวณซอยศรีด่าน 18 ถึง ซอยศรีด่าน 16 โดยฝั่งตรงข้ามคือซอยสุขุมวิท 107 หรือชื่ออย่างไม่เป็นทางการคือซอยแบริ่งนั่นเอง ชื่อสถานีนี้จึงเกิดจากการผสมคำระหว่าง “ศรีนครินทร์+แบริ่ง” โดยคำว่าแบริ่งนี้ไม่ปรากฏแน่ชัดคาดว่ามาจากตำแหน่งที่ตั้งของซอยนี้ที่บางส่วนเป็นที่ดินของกองทัพเรือ คำว่า “แบริ่ง” ก็เป็นคำที่นิยมใช้กันมากในหมู่นักเดินเรือและทหารเรือ หมายถึงทิศทางสิ่งหนึ่งไปถึงสิ่งหนึ่ง จึงคาดเดาว่าอาจจะใช้คำนี้มาเรียกอาคารสิ่งก่อสร้างของกองทัพเรือที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ด้วย สถานีนี้มีตำแหน่งทางขึ้น - ลงจำนวน 4 จุด คือ
จุดที่ 1 ซอยศรีด่าน 18
จุดที่ 2 ซอยศรีด่าน 16
จุดที่ 3 ซอยศรีด่าน 11
จุดที่ 4 แยกศรีแบริ่ง
และมีลิฟต์ - ทางลาด ตั้งอยู่บริเวณทางขึ้น - ลง ที่ 1 และ 4 บันไดเลื่อน ตั้งอยู่บริเวณทางขึ้น - ลง ที่ 2 และ 3 บันไดขึ้น - ลง ตั้งอยู่บริเวณทางขึ้น - ลง ที่ 1 , 2 , 3 และ 4
YL20 ศรีด่าน
สถานีศรีด่าน ตั้งอยู่บนถนนศรีนครินทร์ บริเวณทิศเหนือของทางแยกศรีด่าน (จุดตัดกับถนนสุขุมวิท 113) ชื่อสถานีนี้เป็นชื่อเดิมของทำเลนี้อยู่แล้ว ปรากฏเป็นชื่อซอยศรีด่าน ขึ้นกับถนนศรีนครินทร์ จำนวน 29 ซอย
จุดที่ 1 ซอยศรีด่าน 2 (ลิฟต์)
จุดที่ 2 ถนนหนามแดง-บางพลี (บันไดเลื่อน)
จุดที่ 3 ซอยด่านสำโรง (ซอยสุขุมวิท 113) (บันไดเลื่อน)
จุดที่ 4 ซอยศรีด่าน 1 (ลิฟต์)
YL21 ศรีเทพา
สถานีศรีเทพา ตั้งอยู่บนถนนเทพารักษ์ บริเวณด้านหน้าหมู่บ้านธนเศรษฐ์แลนด์ เกิดจากการผสมระหว่างคำว่า "ศรีนครินทร์+เทพารักษ์" เป็นจุดตัดของถนน 2 สายนี้ และเป็นสถานีแรกที่ออกมาสู่ถนนศรีนครินทร์มุ่งหน้าลาพร้าว มีตำแหน่งทางขึ้น - ลง จำนวน 4 จุด
จุดที่ 1 สี่แยกศรีเทพา (ฝั่งใต้)
จุดที่ 2 ซอยร่วมจิตพัฒนา
จุดที่ 3 ถนนเทพารักษ์ กม. 3.5 (ฝั่งขาเข้า)
จุดที่ 4 สี่แยกศรีเทพา (ฝั่งเหนือ)
ในส่วนของสถานีบางกะปิ มีลิฟต์และทางลาด รองรับรถเข็นวีลแชร์ บริเวณทางขึ้น - ลง ที่ 2 และ 3 และมีบันไดเลื่อน รองรับในส่วนของ ทางขึ้น - ลง ที่ 1 และ 4
ชื่อของสถานีรถไฟฟ้าในประเทศไทยส่วนใหญ่ก็จะเป็นชื่อตามเขตพื้นที่นั้นๆ ซึ่งจะมีทั้งชื่อทางการและชื่อเฉพาะที่ชื่อติดปากของคนในพื้นที่มานาน เพื่อความสะดวกและไม่เข้าใจผิดก็จะนำชื่อนั้นๆ ขึ้นมาใช้ ส่วนชื่อของสถานีรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ที่ขึ้นต้นด้วย “ศรี” นั้น ก็ล้วนแล้วแต่เป็นสถานีที่ตั้งอยู่บนถนนศรีนครินทร์ ศรี + ชื่อแยก ชื่อซอย ชื่อที่คนนิยมเรียก นำมาตั้งเป็นชื่อสถานี เพื่อให้เข้าใจตรงกันว่าสถานีนี้ตั้งอยู่จุดตัดบริเวณใด เช่น เป็นจุดตัดของถนนศรีนครินทร์และเทพารักษ์ = ศรีเทพา นั่นเอง
ใครที่ยังไม่ลองนั่ง
รถไฟฟ้าสายสีเหลืองสามารถไปทดลองนั่งได้ฟรีนะคะ โดยสายนี้เป็นแบบไร้คนขับ ช่วงแรกให้นั่งเฉพาะ 13 สถานีที่กล่าวไปแล้วข้างต้น และมีจุดเชื่อมต่อทั้งหมด 4 จุด ซึ่งมีสถานีจุดเชื่อมต่อ 2 สถานีที่เปิดใช้บริการแล้ว ได้แก่ สถานีสำโรง สามารถเปลี่ยนเส้นทางไปใช้รถไฟฟ้า BTS สายสีเขียว สถานีสำโรง (ทางออกที่ 2 และ 3) สถานีหัวหมาก สามารถเปลี่ยนเส้นทางไปใช้รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ สถานีหัวหมาก (ให้ใช้ทางออกที่ 2) และ รถไฟสายตะวันออก สถานีหัวหมาก (ให้ใช้ทางออกที่ 3) ส่วนอีก 2 สถานีจุดเชื่อมต่อ (ลาดพร้าว/แยกลำสาลี) ยังไม่เปิดให้ใช้บริการ และคาดว่าในอนาคตอันใกล้นี้ ท่านใดที่สนใจโครงการใกล้รถไฟฟ้าสายสีเหลือง แต่ยังไม่รู้จะเลือกใกล้สถานีไหนดี สามารถปรึกษากูรูได้ที่นี่ >>
Add Line Checkraka ขอบคุณภาพข้อมูลจาก กรมการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคม, โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง