ปลายเดือนตุลา ย่างเข้าสู่ พฤศจิกายน กลิ่นหนึ่งที่เป็นสัญญาณบอกให้เรารู้ว่า "หน้าหนาว" มาถึงแล้ว แต่จะให้ดีกว่านี้อยากให้เป็นกลิ่นหอมของต้นไม้ชนิดอื่นมากกว่า อะไรก็ได้ที่ไม่ใช่ "ต้นตีนเป็ด!"
สงสัยกันมั้ยคะว่า ทำไมบ้านเรานิยมปลูก "ต้นตีนเป็ดหรือต้นพญาสัตบรรณ" กันนัก ไม่ว่าจะไปที่ไหนๆ ก็เห็นปลูกอยู่ตามริมถนน ตามบ้านพักอาศัยต่างๆ แม้กระทั่งบริเวณใกล้ๆ คอนโดก็เจอ ดีหน่อยที่คอนโดหลายๆ ไม่ค่อยเห็นปลูกต้นตีนเป็ดกันเท่าไหร่ แต่เรามักจะได้กลิ่นที่ลอยมาแต่ไกล เพราะพื้นที่สาธารณะบางพื้นที่ก็ปลูกไว้ ส่วนจะปลูกเพื่ออะไรนั้นวันนี้จะชวนไปหาคำตอบไปพร้อมๆ กันค่ะ
"ไม้หอมของปีศาจ" มาจากไหน? กลิ่นอบอวลเป็นพิษร้ายต่อร่างกายจริงหรือเปล่า?
ฟังดูฉายาของเขาแล้วก็ขนลุกขนพองอยู่นิดๆ ที่ได้ชื่อว่า "ไม้หอมของปีศาจ" เพราะกลิ่นหอมหวนชวนกระอักกระอ่วนของเขานี่แหละค่ะ เว็บไซต์ citycracker.co ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องกลิ่นของต้นตีนเป็ดหรือต้นพญาสัตบรรณเอาไว้ว่า "การที่ต้นพญาสัตบรรณที่อินเดียหรือที่มีฉายาว่าเป็นต้นไม้แห่งภูตผีหรือไม้หอมของปีศาจ สำหรับอินเดีย ที่ชอบกลิ่นแรงๆ ค่อนข้างมองว่า ดอกตีนเป็ดนั้นหอมประหลาด และการส่งกลิ่นยามโพล้เพล้ของมันที่ทำให้ต้นไม้นี้ถูกโยงเข้ากับเรื่องลี้ลับเหนือธรรมชาติ บางตำนานเล่าว่ากลิ่นหอมของไม้นี้จะดึงดูดทั้งคนและสัตว์ให้เข้าไปสู่ร่มเงาของมัน และหลังจากนั้นสิ่งมีชีวิตใต้ร่มเงานั้นก็จะเข้าสู่การหลับใหลไปตลอดกาล ในขณะเดียวกันความหอมช่วงโพล้เพล้ไปจนถึงย่ำค่ำ ก็ถือเป็นช่วงเวลาของภูติพราย เลยทำให้ได้ฉายาผีๆ สางๆ ไปโดยปริยาย" แต่นั่นก็เป็นความเชื่อส่วนบุคคลที่อินเดียค่ะ ปลูกกันเยอะที่กรุงเดลี จนใครๆ ก็เรียกกันว่า "ต้นไม้แห่งกรุงเดลี" ไปเลยทีเดียว ไม่นานมานี้ชาวอินเดียเริ่มเสียงแตก บางคนทนกลิ่นไม่ไหว ในขณะที่บางคนก็ยังชื่นชมกับร่มเงา และความสวยงามของเจ้าตีนเป็ดให้ถกเถียงกันอยู่เรื่อยมา
ส่วนที่ไทยเรานั้น ทุกวันนี้ชาวโซเชียลก็เสียงแตกไม่แพ้กัน ทุกครั้งที่ถึงช่วงปลายเดือนตุลาคมต้นพฤศจิกายนดอกตีนเป็ดก็จะเริ่มส่งกลิ่นหอมหวนชวนเหม็น ส่งสัญญาณว่า เรากำลังจะเข้าสู่ฤดูหนาวเต็มตัว จนถึงตอนนี้ยังหาข้อสรุปไม่ได้ เพราะทุกพื้นที่ก็ยังเต็มไปด้วยต้นตีนเป็ด มีข่าวออกทีวีกันทุกปี แต่ดูเหมือนว่า ปี 2021 นี้ ทางจังหวัดมหาสารคามเริ่มนำร่องกำจัดต้นตีนเป็ดทิ้ง เพราะเสียงเรียกร้องจากชาวบ้าน ประชาชนทั่วไป รวมถึงนักศึกษาที่ใช้ชีวิตอยู่ในมหาวิทยาลัย ใช้ชีวิตกันอย่างกระอักกระอ่วน บางคนถึงกับแพ้กลิ่นจนเวียนหัว คลื่นไส้ อาเจียนหนัก
แต่! ก็มีเสียงท้วงติงจากบางภาคส่วนที่มองว่า "อยากให้ทบทวนกันอีกครั้ง ทนๆ เอาหน่อย ดอกตีนเป็ดส่งกลิ่นระยะเวลาไม่กี่สัปดาห์ต่อปี เมื่อเทียบกับประโยชน์ของต้นไม้ชนิดนี้ จัดว่าคุ้ม"
"ต้นตีนเป็ด" ส่งกลิ่นขนาดนี้ มีประโยชน์แค่ไหน? ทำไมไม่ยอมโค่นทิ้งเสียให้หมด!
ยอมรับตามตรงว่าผู้เขียนเองก็เอนเอียงไปทางคนเหม็นกลิ่นต้นตีนเป็ด เมื่อได้กลิ่นก็จะมีอาการเวียนหัว ไม่สบายเนื้อสบายตัว รู้สึกว่า ทำเสียบรรยากาศหน้าหนาวที่มีเพียงน้อยนิดของประเทศไทย ซึ่งก็สงสัยว่า ต้นตีนเป็ดที่ว่านี้ มีประโยชน์จริงแท้แค่ไหน? ทำไมเราต้องทนต่อกลิ่นไม่พึงประสงค์ของนางด้วย จนบางครั้งมีการแชร์ข้อมูลในโลกออนไลน์ว่า ต้นตีนเป็ดมีพิษร้ายแรงถึงตายได้ งั้นก็ควรตัดทำลายทิ้งเสียให้หมดไป แต่ก็ยังไม่เห็นว่าต้นตีนเป็ดจะหายไปไหนเลย
จากการตามอ่านข้อมูลจากหลายๆ ด้าน ก็พบว่า จริงๆ แล้วกลิ่นของต้นตีนเป็ดไม่ได้มีพิษร้ายแรงแต่อย่างใด อาจมีผลทำให้กลุ่มคนที่ไม่ชอบกลิ่นเวียนหัวบ้าง แล้วแต่สภาพร่างกายของแต่ละคนจะรับได้ รายการชัวร์ก่อนแชร์ลงพื้นที่สอบถามข้อเท็จจริงจากผู้เชี่ยวชาญ แล้วรายงานข่าวว่า "ต้นตีนเป็ดที่มีพิษคือ ต้นตีนเป็ดน้ำ" เป็นคนละต้นกับต้นตีนเป็ดหรือต้นพญาสัตบรรณที่เราพบเห็นทั่วไป ซึ่งต้นตีนเป็ดน้ำ จะพบในอินเดียเป็นส่วนใหญ่ จะมีดอกและผลต่างกับต้นพญาสัตบรรณ พิษร้ายแรงถึงชีวิตที่ว่า จะอยู่ที่ผลของต้นตีนเป็ดน้ำ ไม่ใช่อยู่ที่กลิ่นอย่างที่หลายคนเข้าใจผิดไป ถึงแม้ว่า มองไกลๆ ต้นจะคล้ายกันแต่ตีนเป็ดน้ำก็มีผลและดอกสีขาวสวยงาม มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ความสูงของต้นประมาณ 5-15 เมตร ถ้านำมาใช้ให้ถูกวิธีก็จะเป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณเป็นยาชนิดนึงเลยทีเดียว
ส่วนต้นตีนเป็ดหรือต้นพญาสัตบรรณ ที่ส่งกลิ่นรบกวนจนเกิดข้อถกเถียงว่า จะให้เอาไว้อย่างเดิมหรือโค่นทิ้งนั้น จะทำยังไงต่อดี? รองอธิบดีกรมป่าไม้ ออกมาบอกว่า "ต้นตีนเป็ดเป็นไม้ต้นสูงตรง โตเร็ว ให้ร่มเงา มีคุณค่าด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดี เดิมอยู่ในป่าดิบชื้น เมื่อ 20 กว่าปีก่อนมีคนเอาพันธุ์มาขยายปลูกในเมือง" คำถามแรกผุดขึ้นมาในหัวว่า ใคร?! ฮ่าๆ แน่นอนว่าเมื่อตัวแทนจากกรมป่าไม้ออกมาชี้ให้เห็นถึงข้อดีของต้นตีนเป็ดอย่างที่กล่าวไปแล้ว แลกกับที่เราต้องทนดมกลิ่นของดอกตีนเป็ดปีละครั้ง ครั้งละประมาณครึ่งเดือน ก็คงไม่ร้ายแรงอะไรมาก เพราะก็มีอีกฝั่งที่รู้สึกว่าดอกส่งกลิ่นหอมดี ชวนให้ระลึกถึงหน้าหนาวคราวหลังที่เคยผ่านมาในช่วงเยาว์วัย แต่ถึงจะมีสรรพคุณหรือประโยชน์อย่างไรก็ตาม ถ้าไม่โค่นทิ้งไปก็ยังอยากขอวิงวอนให้อย่านำมาปลูกเพิ่มจะดีกว่า น่าจะมีไม้ยืนต้นพันธุ์อื่นๆ ที่ทดแทนกันได้ ปลูกชิลๆ ให้ร่มเงาและเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ โดยไม่ส่งกลิ่นรบกวนจนชวนปวดหัวขนาดนี้ ว่ามั้ยคะ?? ฮ่าๆ