สำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ในคอนโด จะต้องเคยได้ยินคำว่า "การประชุมใหญ่สามัญเจ้าของร่วม" ซึ่งวันนี้ครูพี่บิ๋มจะมาอธิบายความหมาย และความสำคัญของคำนี้ให้ฟังกันค่ะ
"การประชุมใหญ่สามัญเจ้าของร่วม"
เมื่อเราซื้อคอนโดหนึ่ง และมีการโอนกรรมสิทธิ์ครั้งแรกเกิดขึ้น ผ่านไปอีก 6 เดือน จะมีการจัด "ประชุมใหญ่สามัญเจ้าของร่วม" เป็นครั้งแรก เพื่อประชุมและเลือกตั้งทีมผู้ใหญ่บ้านที่จะเป็นตัวแทนลูกบ้านทั้งโครงการขึ้นมา หรือเรียกแบบทางการคือ "คณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุด" กำหนดให้มี 3 - 9 คน และมีวาระดำรงตำแหน่ง 2 ปี ซึ่งคนที่จะเข้ามาเป็นตัวแทนการคัดเลือกก็คือเจ้าของร่วม มาลงสมัครเป็นผู้รับเลือกตั้ง เพื่อให้เจ้าของร่วมท่านอื่นๆ มาลงคะแนนเสียงโหวตว่าใครจะได้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุด นั่นเอง
ในทุกๆ ปีเมื่อนิติบุคคลปิดรอบบัญชีในเดือน มกราคม - ธันวาคม ของปี ก็จำเป็นที่จะต้องประชุมใหญ่สามัญเจ้าของร่วมภายใน 120 วัน นับแต่วันสิ้นรอบบัญชี โดยวาระการประชุมสำคัญๆ ได้แก่
- พิจารณาอนุมัติงบประมาณประจำปี
- รายงานผลดำเนินงาน และสถานะทางการเงินในรอบปีที่ผ่านมา
- การรับรองข้อบังคับ และแต่งตั้ง นิติบุคคลอาคารชุด (ทุก 2 ปี)
- เรื่องระเบียบพักอาศัย
- อื่นๆ ตามความเหมาะสมของนิติบุคคล
ปกติแล้ว "การประชุมใหญ่สามัญเจ้าของร่วม" เป็นข้อบังคับตามกฏหมาย หากนิติบุคคลไม่จัดการประชุมใหญ่สามัญเจ้าของร่วม จะได้รับโทษทางอาญาเป็นค่าปรับ และถ้าหากลูกบ้านไปประชุมไม่ถึง 1 ใน 4 ก็จะมีการนัดประชุมใหม่ภายใน 15 วัน จะเห็นได้ว่า การประชุมฯ นี้เป็นเรื่องสำคัญของผู้อยู่อาศัยในคอนโดทีเดียวค่ะ ซึ่งเราควรให้ความสำคัญ เพราะเมื่อมีอะไรไม่ชอบมาพากล เราก็จะสามารถตรวจสอบได้จากรายงานต่างๆ รวมไปถึงให้เรารับทราบกฏระเบียบที่ต้องปฏิบัติร่วมกันอีกด้วยค่ะ
เทคคอร์สสั้นๆ กับครูพี่บิ๋ม คำอื่นๆ ได้ที่นี่