ชวนมารู้จัก 3 สถานีรถไฟฟ้า "สายเฉลิมรัชมงคล" งดงามจนต้องตะลึง!
"รฟม.-การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย" เดินหน้าการก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคลเสร็จและเปิดให้บริการเป็นที่เรียบร้อย โครงการนี้เป็นโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย (ช่วงหัวลำโพง - บางแค และ บางซื่อ - ท่าพระ) เพื่อสานต่อปณิธานในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นระยะทางรวม 27 กม. โดยมี 3 สถานีที่เป็นส่วนหนึ่งของเกาะรัตนโกสินทร์อันได้แก่ สถานีสนามไชย สถานีวัดมังกร สถานีสามยอด และสถานีอิสรภาพ ซึ่งได้รับการออกแบบให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ อีกทั้งยังถือเป็นการถ่ายทอดศิลปกรรมของไทยให้ประจักษ์สู่สายตาชาวต่างชาติอีกด้วย ถ้างั้นอย่ารอช้าเราไปชมความงดงามของแต่ละสถานีกันว่าน่าสนใจขนาดไหน
สถานีสนามไชย
เริ่มต้นที่ สถานีสนามไชย ซึ่งได้สร้างเสร็จสมบูรณ์แล้วจากฝีมือการออกแบบของ รศ.ดร.ภิญโญ สุวรรณคีรี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรม) จำลองมาจากท้องพระโรงในสมัยรัตนโกสินทร์ภายใต้แนวคิดการออกแบบอิงประวัติศาสตร์ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการขุดพบซากโบราณวัตถุ "คลองราก" โรงเก่าและหลักฐานสำคัญต่างๆ จึงออกแบบให้รู้สึกเสมือนว่ากำลังเดินเข้าสู่พระราชวังหรือท้องพระโรง ในส่วนรายละเอียดภายในประกอบด้วย เสาสดุมภ์ ตั้งอยู่ตรงกลางระหว่างทางเดินลงลายกระเบื้องเป็นดอกพิกุล ปลายเสาประดับด้วยบัวจงกลปิดทองคำเปลว ด้านพื้นและผนังจำลองมาจากกำแพงเมือง ประดับด้วยเสาเสมาของพระบรมมหาราชวัง และเพดานเป็นลายฉลุแบบดาวล้อมเดือน ปิดทองคำเปลวไว้อย่างสวยงาม ซึ่งสถานีสนามไชยจัดว่าเป็นสถานีในระบบใต้ดินที่อยู่ใจกลางพื้นที่อนุรักษ์เกาะกรุงรัตนโกสินทร์
สถานีวัดมังกร
สถานีวัดมังกร ใช้การออกแบบที่เรียกว่า "สไตล์ชิโนโปรตุกีส" คือสถาปัตยกรรมจีนผสมผสานในรูปแบบของยุโรป เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวจีนในเรื่องการค้าขาย โดยใช้มังกรเป็นสัญลักษณ์ในการแสดงถึงความสุขและความอุดมสมบูรณ์ของบ้านเมือง ประกอบด้วยหัวและท้องมังกรที่มีลวดลายเกล็ดมังกรบนเพดาน และหางมังกรไล่ลำดับกัน เป็นการสื่อถึงเอกลักษณ์ของชาวจีนได้อย่างชัดเจน
สถานีอิสรภาพ
ปิดท้ายที่ สถานีอิสรภาพ สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินแห่งแรกในย่านฝั่งธนบุรี ได้ทำการออกแบบโดยใช้สัตว์ที่มีความสง่างามอย่าง "หงส์" ตามความเชื่อว่าเป็นสัตว์สิริมงคลและศักดิ์สิทธิ์ อีกทั้งยังเป็นตัวแทนสัญลักษณ์ในพื้นที่ กล่าวคือ วัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร นั่นเอง อีกทั้งสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชยังทรงเคยเสด็จมาสรงน้ำ เนื่องในงานพระราชพิธีอันสำคัญของแผ่นดินอีกด้วย