ปัจจุบันคอนโดมิเนียมเป็นที่อยู่อาศัยที่ตอบโจทย์ให้กับหลายๆ คน แต่ก็เป็นที่อยู่อาศัยที่มีค่าใช้จ่ายตามมาพอสมควร วันนี้เช็คราคา.คอมมีเคล็ดลับในการประหยัดไฟสำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าแต่ละชนิดในคอนโดมาฝากกันค่ะ มีชนิดไหนบ้างที่ใช้กำลังไฟสูงที่สุด และเราควรจะจัดการควบคุมค่าไฟในแต่ละเดือนอย่างไร
1. TV
- ถอดปลั๊กเมื่อไม่ได้ใช้ เพราะการเสียบปลั๊กทิ้งไว้ทำให้สิ้นเปลืองไฟ
- ตั้งเวลาปิดอัตโนมัติเพื่อช่วยประหยัดไฟฟ้า
- ไม่ควรปรับจอภาพให้สว่างมากเกินไป และไม่เปลี่ยนช่องบ่อยๆ เพราะจะทำให้หลอดภาพมีอายุสั้น และสิ้นเปลืองไฟฟ้าโดยไม่จำเป็น
วิธีคำนวณค่าไฟจากจำนวนวัตต์ของโทรทัศน์
ทีวี ขนาด 100 วัตต์ จำนวน 1 เครื่อง เปิดใช้งานวันละ 3 ชั่วโมง
จะใช้ไฟฟ้าวันละ ((100 x 1) x 3) / 1000) = 0.3 หรือประมาณเดือนละ (30 x 0.3) = 9 หน่วย
2. ตู้เย็น
- ตั้งให้ห่างออกจากผนังอย่างน้อย 15 ซม. เพื่อให้การระบายความร้อนดีขึ้น
- อย่าตั้งใกล้แหล่งความรัอน เช่น หม้อหุงข้าว เตาแก๊ส หรือถูกแสงอาทิตย์โดยตรง เพราะจะทำให้ตู้เย็นระบายความร้อนไม่ดี เป็นเหตุให้สิ้นเปลืองไฟ
- อย่าใส่สิ่งของจนแน่นตู้เย็น เพราะความเย็นจะไหลเวียนไม่สะดวก
- อย่าเปิดๆ ปิดๆ ตู้เย็นบ่อยๆ หรือเปิดค้างไว้เป็นเวลานานๆ โดยไม่จำเป็น
- ไม่นำของร้อนเข้าตู้เย็น เพรราะตู้เย็นจะเร่งอุณหภูมิ ทำงานหนักขึ้น ทำให้กินไฟ
วิธีคำนวณค่าไฟจากจำนวนวัตต์ของตู้เย็น
ตู้เย็น ขนาด 125 วัตต์ จำนวน 1 ตู้ เปิดตลอด 24 ชั่วโมง สมมุติคอมเพรสเซอร์ทำงาน 8 ชั่วโมง
จะใช้ไฟฟ้าวันละ ((125 x 1) x 8) / 1000 = 1 หน่วย หรือประมาณเดือนละ (30 x 1)= 30 หน่วย
3. เครื่องปรับอากาศ (Air conditioner)
- เลือกใช้เครื่องที่มีขนาดเหมาะสมกับขนาดห้อง
- ปิดหน้าต่าง และประตูให้มิดชิดในห้อง หรือพื้นที่ที่ใช้เครื่องปรับอากาศ เพื่อป้องกันความเย็นกระจายออก
- เมื่อเปิดเครื่องปรับอากาศ ควรเลือกโหมดพัดลมแรงสุด เมื่อเย็นขึ้นแล้ว ค่อยปิดหรือเบาลง
- ตั้งอุณหภูมิแอร์ที่ 26 องศา แต่ถ้าต้องการความเย็นเพิ่มขึ้น สามารถเปิดพัดลมช่วยได้ จะทำให้เย็นเหมือน 24 องศาโดยไม่ต้องลดอุณหภูมิแอร์
- หมั่นทำความสะอาดแผ่นกรองอากาศเพื่อลดการใช้พลังงาน
- ล้างแอร์ปีละ 2 ครั้งเป็นอย่างน้อย
วิธีคำนวณค่าไฟจากจำนวนวัตต์ของเครื่องปรับอากาศ
เครื่องปรับอากาศ ขนาด 2,000 วัตต์ จำนวน 1 เครื่อง เปิดวันละ 12 ชั่วโมง สมมุติคอมเพรสเซอร์ทำงานวันละ 8 ชั่วโมง
จะใช้ไฟฟ้าวันละ ((2,000 x 1) x 8) /1000 = 16 หน่วย หรือประมาณเดือนละ (30 x 16)= 480 หน่วย
4. พัดลม
- พัดลมตั้งโต๊ะจะมีราคาต่ำกว่าพัดลมตั้งพื้นและใช้พลังงานไฟฟ้าต่ำกว่า ทั้งนี้เพราะมีขนาดมอเตอร์และกำลังไฟต่ำกว่า แต่พัดลมตั้งพื้นจะให้ลมมากกว่า
- ปิด และถอดปลั๊กเมื่อไม่ได้ใช้งาน
- หมั่นทำความสะอาดช่องลมตรงฝาครอบมอเตอร์ ซึ่งเป็นช่องระบายความร้อน อย่าให้มีคราบน้ำมันหรือฝุ่นละอองเกาะจับเพราะจะทำให้ประสิทธิภาพของมอเตอร์ลดลง และสิ้นเปลืองไฟฟ้ามากขึ้น
วิธีคำนวณค่าไฟจากจำนวนวัตต์ของพัดลม
พัดลมขนาด 100 วัตต์ จำนวน 1 เครื่อง เปิดใช้งานวันละ 3 ชั่วโมง
((100 x 1) x 3) / 1000 = 0.30 หน่วย หรือประมาณเดือนละ (30 x 0.60) = 18 หน่วย
5. เครื่องทำน้ำอุ่น
- ปิดวาล์วน้ำ และสวิตช์ทันทีเมื่อเลิกใช้งาน
- ตั้งอุณหภูมิน้ำไม่สูงจนเกินไป (ปกติอยู่ในช่วง 35-45 องศาเซลเซียส)
- ไม่เปิดเครื่องตลอดเวลาขณะฟอกสบู่อาบน้ำ หรือขณะสระผม เพราะจะช่วยให้ประหยัดทั้งน้ำ และไฟฟ้า
- หมั่นตรวจระบบการทำงาน และสายไฟให้อยู่ในสภาพดีเสมอ
วิธีคำนวณค่าไฟจากจำนวนวัตต์ของเครื่องทำน้ำอุ่น
เครื่องทำน้ำอุ่น ขนาด 4,500 วัตต์ จำนวน 1 เครื่อง เปิดใช้งานวันละ 1 ชั่วโมง
จะใช้ไฟฟ้าวันละ ((4,500 x 1) x 1) / 1000 = 4.5 หน่วย หรือประมาณเดือนละ (30 x 4.5) = 135 หน่วย
6. เตารีด
- เลือกรีดผ้าเนื้อผ้าบางๆ ก่อนขณะที่เตารีดยังไม่ร้อน
- ปรับอุณหภูมิให้เหมาะกับชนิดของผ้า เช่น ผ้าฝ้าย ผ้าไหม ผ้าลินิน ซึ่งมีเนื้อหนาปานกลางให้รีดด้วยความร้อนปานกลาง หรือผ้าใยสังเคราะห์ควรรีดด้วยความร้อนต่ำ เป็นต้น
- รีดผ้าครั้งเดียวหลายๆ ชิ้นหรือรีดครั้งละมากๆ จะช่วยประหยัดกระแสไฟฟ้ามากกว่าการรีดครั้งละตัวหรือน้อยชิ้น
- ไม่รีดผ้าในห้องแอร์
วิธีคำนวณค่าไฟจากจำนวนวัตต์ของเตารีด
เตารีดไฟฟ้า ขนาด 800 วัตต์ จำนวน 1 เครื่อง เปิดวันละ 1 ชั่วโมง
จะใช้ไฟฟ้าวันละ ((800 x 1) x 1) / 1000 = 0.8 หน่วย หรือประมาณเดือนละ (30 x 0.8) = 24 หน่วย
7. คอมพิวเตอร์
- เลือกใช้คอมพิวเตอร์ให้เหมาะสมกับความต้องการ
- ไม่เปิดคอมพิวเตอร์ทิ้งไว้เป็นเวลานานๆ เมื่อไม่ได้ใช้งานเพราะจะทำให้สิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้า
- ปิดเครื่องและถอดปลั๊กเมื่อไม่ใช้
- ปิดหน้าจอเมื่อไม่ได้ใช้งานนานกว่า 15 นาที
ทีนี้เราก็ได้ทราบกันแล้วว่า เครื่องใช้ไฟฟ้าแต่ละประเภท อย่างไหนที่กินไฟมาก หรือกินไฟน้อย หวังว่าคุณผู้อ่านทุกคนจะบริหารค่าไฟกันได้อย่างคุ้มค่า และสามารถลดรายจ่าย ประหยัดค่าไฟฟ้าได้นะคะ