x
icon-filter ค้นหาคอนโด
product filter
product filter
product filter
product filter
product filter
product filter
product filter
product filter
product filter
product filter

สระว่ายน้ำในโครงการบ้านและคอนโดมีระบบไหนบ้าง?

icon 7 เม.ย. 65 icon 28,729
สระว่ายน้ำในโครงการบ้านและคอนโดมีระบบไหนบ้าง?
สระว่ายน้ำเป็นสิ่งก่อสร้างอย่างหนึ่งที่มีวิวัฒนาการมาตั้งแต่ยุคโบราณ (ตัวอย่างคลาสสิกก็เช่น Roman Baths ในเมือง Bath ประเทศอังกฤษ) มาจนถึงปัจจุบัน (เช่นสระว่ายน้ำสุดฮิปอย่างสระลอยฟ้าบนยอดตึก Marina Bay Sands ประเทศสิงคโปร์) ทุกวันนี้ สระว่ายน้ำกลายเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอย่างหนึ่งของทุกคอนโด และโครงการบ้านจัดสรรในเมืองไทยไปแล้ว

ภาพสระว่ายน้ำไร้ขอบ Infinity Edge Pool ของโรงแรม Marina Bay Sands ประเทศสิงคโปร์
ขอบคุณภาพจาก https://www.timeout.com/singapore/things-to-do/the-most-beautiful-infinity-pools-in-singapore
บางโครงการคอนโดชูจุดเด่นของสระว่ายน้ำมาเป็นจุดขาย เช่น สระว่ายน้ำระบบเกลือ หรือสระว่ายน้ำระบบโอโซน ซึ่งผู้อ่านหลายท่านอาจมีข้อสงสัยว่า สระว่ายน้ำประเภทไหนมีคุณสมบัติอย่างไร บทความนี้ทาง Checkraka.com จะมาแนะนำให้ทราบเป็นข้อมูลเบื้องต้นกันครับ

1. ระบบการไหลเวียนน้ำในสระว่ายน้ำ

เวลาเราลงสระว่ายน้ำ เราอาจจะสังเกตเห็นว่า บางสระมีน้ำปริ่มๆ ล้นเข้าตะแกรงตามขอบสระ หรือบางสระก็มีช่อง หรือรูอยู่ด้านในของสระ โดยน้ำจะอยู่ต่ำกว่าขอบสระเสมอ ทั้งหมดนี้เกิดจากธรรมชาติของน้ำในสระว่ายน้ำที่ว่า น้ำจะต้องมีการไหลเวียน (Circulation) ให้ไปผ่านระบบการกรอง และบำบัดเพื่อกรองฝุ่น ตะกอน และสิ่งสกปรกออกไปจากน้ำเสมอ โดยทั่วไประบบการไหลเวียนเหล่านี้มี 2 แบบ คือแบบระบบน้ำล้น (Overflow System) ซึ่งเป็นระบบที่เป็นที่นิยมในบ้านเรา เพราะดูแลรักษาง่าย และระดับน้ำจะสูงตึงเท่ากับขอบสระว่ายน้ำทำให้ดูเนียนตาสวยงาม รูปร่างหน้าตาของสระจะเป็นแบบรูปข้างล่าง สังเกตง่ายๆ คือมักจะมีตะแกรงที่เรียกว่า Grating อยู่ตามขอบสระว่ายน้ำเพื่อให้น้ำล้นขอบสระผ่านตะแกรงนี้ลงไปเก็บในถังเก็บน้ำแล้วบำบัดผ่านเครื่องกรองกลับเข้าสู่สระอีกครั้ง และอีกระบบคือ ระบบดูดน้ำ (Skimmer System) ซึ่งจะมีการติดตัวดูดไว้ในสระเพื่อดูดน้ำไปผ่านระบบบำบัดก่อนกลับเข้าสู่สระอีกครั้ง รูปร่างหน้าตาของสระจะเป็นแบบรูปด้านล่าง สังเกตง่ายๆ คือขอบน้ำจะอยู่ต่ำกว่าขอบสระเสมอ และจะเห็นช่องเล็กๆ ตามผนังกระเบื้องในสระซึ่งก็คือตัวดูดน้ำนั่นเอง 
ภาพตัวอย่างสระว่ายน้ำระบบน้ำล้น (Overflow System)

ภาพตัวอย่างสระว่ายน้ำระบบดูดน้ำ (Skimmer System) 

2. ระบบฆ่าเชื้อโรคในสระว่ายน้ำ

เวลาเราเข้าชมโครงการบ้าน หรือคอนโดฯ เราอาจเคยได้ยินพนักงานขายโฆษณาว่า สระว่ายน้ำเขาเป็นระบบเกลือบ้าง ระบบโอโซนบ้าง หรือคลอรีนบ้าง (ซึ่งเป็นรูปแบบส่วนใหญ่ของคอนโดและบ้านจัดสรรในบ้านเรา) เรามาดูกันครับว่าแต่ละแบบแตกต่างกันอย่างไร 
1. ระบบคลอรีน (Chlorine)
ระบบนี้ใช้คลอรีนเป็นตัวฆ่าเชื้อโรคในน้ำ เป็นระบบที่นิยมในคอนโดเมืองไทย เพราะราคาติดตั้งไม่แพง (แต่ค่าคำบำรุงรักษาจะสูงกว่าเมื่อเทียบกับระบบเกลือ) โดยคลอรีนอาจอยู่ในรูปของเหลว เม็ด ก้อน หรือแบบผงก็ได้ วิธีการใช้ก็เพียงใส่คลอรีนลงไปในน้ำ โดยจะมีประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อน้ำในสระมีค่า pH (ค่าความเป็นกรด-ด่าง) อยู่ระหว่าง 7.2-7.8 ซึ่งถ้าหากน้ำในสระมีค่าความเป็นด่างมากก็ต้องเติมกรดลงไป ค่าความเป็นด่างจะเพิ่มขึ้นได้จากเหงื่อไคลของคนที่ลงไปว่ายน้ำโดยไม่ชำระร่างกายก่อน หรืออาจจะเกิดจากเศษใบไม้ใบหญ้าก็ได้ แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าน้ำในสระมีค่าความเป็นกรดสูงขึ้น ก็ต้องเติมสารที่เพิ่มความเป็นด่างเพื่อปรับค่า pH ดังนั้นจึงต้องมีการวัดค่า pH ของน้ำในสระทุกๆ วัน
ข้อควรระวังสำหรับคนที่ว่ายน้ำสระแบบนี้คือ บางคนอาจมีการแพ้คลอรีนได้ เช่น เกิดอาการเส้นผมแห้งกรอบ ผิวแห้ง หรือตาแดง เพราะคลอรีนเป็นสารที่มีผลกระทบต่อความชุ่มชื้นของผิวหนัง ดังนั้น ควรใส่คลอรีนในตอนเย็น หรือหลังจากสระว่ายน้ำปิดให้บริการแล้ว (และเพื่อไม่ให้คลอรีนสลายเร็วเกินไปเมื่อโดนแดดหากใส่คลอรีนในตอนกลางวันด้วย)
2. ระบบน้ำเกลือ (Saltwater)
ระบบนี้ใช้เกลือธรรมชาติมาเป็นตัวฆ่าเชื้อโรค โดยการเติมเกลือเข้าไปในสระว่ายน้ำ (ซึ่งการเติมช่วงแรกๆ อาจถี่หน่อย แต่หลังจากนั้นจะลดลงเรื่อยๆ) และน้ำที่มีเกลือเหล่านี้จะมีการไหลเวียนผ่านกระบวนการทางไฟฟ้า (Electrolysis) ในเครื่องผลิตคลอรีนอัตโนมัติจากเกลือ (Salt Chlorinator) ทำให้สระว่ายน้ำประเภทนี้จะมีคลอรีนเป็นส่วนผสมอยู่ด้วยแบบอัตโนมัติเสมอในประมาณน้อย ความเค็มของน้ำในสระว่ายน้ำประเภทนี้จะเป็นเพียง 1 ใน 10 ของความเค็มในน้ำทะเลจริงเท่านั้น  ระบบน้ำเกลือนี้เป็นระบบที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และยังเพิ่มความชุ่มชื้นแก่ผิวหนังได้ดีอีกด้วย ระบบนี้ค่าใช้จ่ายติดตั้งตอนแรกจะค่อนข้างสูง แต่ค่าดูแลรักษาจะไม่ค่อยสูง (เมื่อเทียบกับระบบคลอรีน) 
ข้อควรระวังของระบบนี้คือ เกลือเป็นสารกัดกร่อน ดังนั้น เฟอร์นิเจอร์ หรืออุปกรณ์ที่ใช้รอบๆ สระว่ายน้ำ ควรเป็นสิ่งที่สามารถทนทาน หรือไม่มีปัญหากับการกัดกร่อนของเกลือ 
3. ระบบโอโซน (Ozone)
ระบบนี้ใช้ก๊าซโอโซนซึ่งผลิตจากเครื่องอัดอากาศมาบำบัดน้ำในสระว่ายน้ำเพื่อฆ่าเชื้อโรค เป็นระบบที่ฆ่าเชื้อโรคได้เร็วกว่าคลอรีนหลายเท่าโดยไม่มีสารตกค้าง แต่จะมีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อโรคประมาณ 3-6 ชั่วโมงเท่านั้น จนกว่าน้ำจะกลับมาผ่านระบบโอโซนอีกครั้ง การติดตั้งระบบโอโซนนี้จะมีค่าใช้จ่ายสูงที่สุดเมื่อเทียบกับระบบน้ำเกลือ และระบบคลอรีน เพราะมีประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อโรคที่สูง เร็ว และไม่มีผลกระทบต่อผิวหนัง หรือร่างกาย
ประเด็นที่ควรรู้ของระบบนี้คือ ขณะน้ำอยู่ในสระจะไม่มีการฆ่าเชื้อโรคจนกว่าน้ำจะกลับมาผ่านระบบโอโซนอีกครั้ง ดังนั้น ถ้าเกิดมีเชื้อโรค หรือสิ่งสกปรกเข้ามาในน้ำในระหว่างที่น้ำยังไม่ได้ผ่านการโอโซนเพื่อฆ่าเชื้อโรค ก็อาจทำให้เกิดการติดเชื้อ หรือสกปรกได้ ดังนั้น ถ้าอยากให้น้ำสะอาดสุดๆ อยู่ตลอดเวลา ควรใช้ระบบโอโซนควบคู่กับระบบอื่นด้วย เช่น ระบบคลอรีน หรือระบบน้ำเกลือ 
เราขอปิดท้ายกันเล่นๆ ด้วยภาพสระว่ายน้ำที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดในโลกตอนนี้ (ตาม Guinness World Records 2012) คือ สระว่ายน้ำในรีสอร์ทชื่อ San Alfonso del Mar ในประเทศชิลี แล้วพบกันใหม่โอกาสหน้า สวัสดีครับ

ภาพสระว่ายน้ำที่มีพื้นที่เยอะสุดในโลก พื้นที่ขนาด 20 Acre (ประมาณ 80,000 ตร.ม.) และยาว 1 กิโลเมตร
ขอบคุณภาพจาก https://www.explorra.com/attractions/world-largest-swimming-pool-san-alfonso-del-mar_11595/photos
แท็กที่เกี่ยวข้อง สระว่ายน้ำ สระว่ายน้ำในบ้าน สระว่ายน้ำคอนโด สระเด็ก swimming pool
Condo Guru
เขียนโดย เช็คราคา.คอม Condo Guru

พูดคุยกับกูรูได้ที่




เว็บไซต์นี้มีการเก็บคุกกี้เพื่อเพิ่มความพึงพอใจในการใช้งานเว็บไซต์ และช่วยให้เราปรับปรุง และนำเสนอเนื้อหาตรงตามความสนใจของท่าน ท่านสามารถดู Privacy Notice และ ดู Cookies Policy ของเราได้ ที่นี่ ทั้งนี้ ท่านจะยินยอมให้เราเก็บคุกกี้ทั้งหมด หรือให้เก็บแค่บางส่วนโดยการคลิกเลือก ตั้งค่า

ท่านสามารถเลือกให้ความยินยอมการเก็บคุกกี้เป็นเรื่องๆ ได้ที่นี่

เมื่อคุณเข้าชมเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชั่น checkraka เราอาจจัดเก็บ หรือดึงข้อมูลจากเบราว์เซอร์ของคุณในรูปแบบของคุกกี้ และเทคโนโลยีอื่นที่คล้ายคลึง เช่น tag และ pixel (เรียกรวมกันว่า “คุกกี้”) ซึ่งมักเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้โดยตรง แต่ช่วยให้คุณใช้งานเว็บไซต์ได้ปลอดภัย และตรงตามความต้องการมากขึ้น คุณอาจไม่ยินยอมให้เราเก็บคุกกี้บางประเภทได้ โดยการคลิกตามหัวข้อข้างล่างนี้

ประเภทคุกกี้
อ่านเพิ่มเติม ที่นี่
ยินยอม / ไม่ยินยอม
คุกกี้ที่จำเป็นต้องมีเสมอ
(Strictly Necessary)
คุกกี้สำหรับการใช้งานเว็บไซต์
(Functionality)
คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและวิเคราะห์
(Performance & Analytics)
คุกกี้เพื่อการตลาด
(Marketing)