อีกไม่กี่วันก็จะถึงวันตรุษจีนกันแล้วนะครับ ประเทศไทยของเราก็มีการฉลองวันตรุษจีนกันมากไม่แพ้กับเทศกาลอื่นๆ เนื่องจากมีชาวไทยเชื้อสายจีนอยู่มาก ทำให้ตรุษจีนเป็นหนึ่งในเทศกาลสำคัญของไทย มีการจัดงานฉลองอย่างยิ่งใหญ่, มีการไหว้เจ้า, เชิดสิงโต จุดประทัด และมีการทำความสะอาดบ้านเพื่อปัดเอาโชคไม่ดีออกไป
บทความนี้จะเป็นเกร็ดความรู้เล็กน้อยเกี่ยวกับวันตรุษจีน รวมสิ่งที่ควรทำหรือไม่ควรทำภายในบ้านช่วงตรุษจีน เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้รู้จักกับเทศกาลตรุษจีน และเป็นศิริมงคลกับตัวบ้านและทุกคนในบ้านให้มากยิ่งขึ้นครับ
ชาวไทยเชื้อสายจีนจะถือประเพณีปฏิบัติอยู่ 3 วัน คือวันจ่าย (เป็นวันก่อนสิ้นปี), วันไหว้ (เป็นวันสิ้นปี) และวันเที่ยว (เป็นวันตรุษจีนขึ้นปีใหม่) ซึ่งในปี 2566จะตรงกับวันดังต่อไปนี้ครับ
1. วันจ่าย หรือ ตื่อเส็ก (ในปีนี้ตรงกับอังคารที่ 20 ม.ค. 2566) คือ วันก่อนสิ้นปี 1 วัน เป็นวันที่ชาวไทยเชื้อสายจีนออกไปซื้ออาหารผลไม้และเครื่องเซ่นไหว้ต่างๆ ก่อนที่ร้านค้าทั้งหลายจะปิดร้านหยุดพักผ่อนยาว
2. วันไหว้ (ในปีนี้ตรงกับพุธที่ 21 ม.ค. 2566) คือ วันสิ้นปี จะมีการไหว้เทพเจ้า, ไหว้บรรพบุรุษ พ่อแม่ญาติพี่น้องที่ถึงแก่กรรมไปแล้ว
3. วันขึ้นปีใหม่, วันเที่ยว หรือวันถือ (ในปีนี้ตรงกับพฤหัสที่ 22 ม.ค. 2566) คือ วันที่หนึ่งของเดือนที่หนึ่งของปี (ชิวอิก) ในวันนี้ชาวจีนจะถือธรรมเนียมโบราณที่ยังปฏิบัติสืบต่อกันมาถึงปัจจุบัน คือ ไป๊เจีย คือ การไปไหว้ขอพร และอวยพรจากญาติผู้ใหญ่และผู้ที่เคารพรัก โดยนำส้มสีทองไปมอบ และมักจะให้แต๊ะเอียกันในวันนี้ด้วย เหตุที่เรียกวันนี้ว่าวันถือ เนื่องจากเป็นวันที่ชาวจีนถือว่าเป็นสิริมงคล งดการทำบาป จะมีคติถือบางอย่าง เช่น ไม่พูดจาไม่ดีต่อกัน ไม่ทวงหนี้กัน ไม่จับไม้กวาด และจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าใหม่แล้วออกเยี่ยมอวยพรและพักผ่อนนอกบ้าน เป็นต้น
ข้อควรทำและไม่ควรทำเกี่ยวกับบ้านช่วงตรุษจีน
บ้านนั้นถือได้ว่าเป็นที่ศิริมงคล ตามความเชื่อของชาวจีนจะมีข้อควรกระทำ และไม่ควรกระทำเกี่ยวกับบ้านอยู่หลายข้อ เชื่อกันว่าหากปฏิบัติตามในช่วงตรุษจีนก็จะมีแต่โชคดี
1. ห้ามทำความสะอาดบ้านในวันตรุษจีน ชาวจีนมีความเชื่อว่า การทำความสะอาดบ้าน และทิ้งขยะในวันตรุษจีนนั้น จะเป็นการกวาดเอาโชคลาภ เงินทองออกไปจากบ้าน แม้ว่าบ้านในช่วงวันตรุษจีนจะสกปรกก็ตาม บางคนที่จำเป็นจะต้องทำความสะอาดบ้าน ก็จะเพียงกวาดเศษฝุ่นไปไว้ที่มุมบ้าน แล้วค่อยเอาเศษฝุ่นนั้นไปทิ้งในวันต่อไป ดังนั้น วันตรุษจีน จึงไม่ค่อยมีคนทำความสะอาดบ้าน แต่จะไปทำความสะอาดกันหนึ่งวันก่อนวันตรุษจีน เพื่อที่จะให้บ้านสะอาดรับปีใหม่ และใช้บ้านในการต้อนรับแขกที่จะมาเยี่ยมเยียนอีกทางหนึ่ง
2. ติด "ตุ้ยเลี้ยง" ที่ประตูบ้าน การติดคำอวยพรปีใหม่ไว้ที่ประตูบ้าน เมื่อก่อนคนจีนที่พอมีความรู้จะเขียน "ตุ้ยเลี้ยง" เอง โดยใช้หมึกดำหรือสีทองเขียนคำอวยพรลงบนกระดาษสีแดง ถ้าไม่มีความรู้ก็จะไปจ้างมืออาชีพเขียนให้ ซึ่งแหล่งใหญ่ก็คือ เยาวราช คำอวยพรที่เขียนจะประกอบด้วยตัวอักษร 7 ตัว เขียนเป็นคำกลอน โดยมากจะอวยพรให้ทำมาค้าขึ้น ให้มั่งมีเงินทอง ติดตามสองข้างประตูบ้าน และมีอีกแผ่นสำหรับติดทางขวางตรงกลางทางเข้า-ออก เขียนคำว่า "ชุก ยิบ เผ่ง อัง" แปลว่า เข้า-ออกโดยปลอดภัย
3. ไม่ควรทำของแตกในบ้าน มีความเชื่อกันว่า การทำสิ่งของแตก เช่น ทำแก้วแตก ทำจานแตก หรือทำกระจกแตก ในวันตรุษจีนนั้น จะหมายถึงลางร้ายที่บอกว่าครอบครัวจะแตกแยก หรือมีคนเสียชีวิตในครอบครัว ดังนั้นในวันนี้ จึงควรระมัดระวังเป็นพิเศษไม่ให้สิ่งของในบ้านแตกหรือชำรุดเสียหาย หากทำของแตกโดยไม่ได้ตั้งใจ ก็มีวิธีการแก้เคล็ดโดยการพูดว่า "luo di ka hua" ที่แปลว่า ดอกไม้จะเบ่งบานเมื่อตกลงสู่พื้น
4. ไม่ควรเข้าไปในห้องนอนคนอื่น แม้เจ้าของบ้านป่วย ต้องนอนอยู่ในห้องนอน แต่เมื่อมีแขกมาเยี่ยมก็ต้องแต่งตัวออกมานั่งในห้องรับแขก อย่าให้แขกเข้ามาเยี่ยมในห้องนอนเด็ดขาด เพราะคนจีนหลายๆ คนถือว่าเป็นโชคร้าย
ในช่วงเทศกาลตรุษจีนตามความเชื่อของชาวไทยเชื้อสายจีนนั้น จะกำหนดเอาไว้ 3 วัน โดยจะมีวันหนึ่งที่เรียกกันว่าวันไหว้ ปีนี้คือวันเสาร์ที่ 21 ม.ค. 2566 ในวันนี้จะมีพิธีการไหว้ตลอดทั้งวันทั้งไหว้เทพเจ้า และไหว้บรรพบุรุษ เรียกได้ว่าครอบคลุมทุกการไหว้กันเลยทีเดียว ชาวจีนนิยมไหว้เทพเจ้าไฉ่ซิ้งเอี้ย หรือเทพเจ้าแห่งโชคลาภในวันตรุษจีน เนื่องจากจะนำความมั่งคั่ง โชคลาภมาสู่ตน
ในวันไหว้ ช่วงเช้ามืดก็จะเป็นการไหว้เทพเจ้า, ช่วงสาย (ก่อนเที่ยง) จะเป็นการไหว้บรรพบุรุษ พ่อแม่ ปู่ย่า ตายายที่ล่วงลับไปแล้ว และช่วงบ่าย จะเป็นการไหว้ผีไร้ญาติ เครื่องไหว้จะเป็นพวกขนมเข่ง ขนมเทียน เผือกเชื่อมน้ำตาล กระดาษเงินกระดาษทอง พร้อมทั้งมีการจุดประทัด เพื่อไล่สิ่งชั่วร้าย และเพื่อความเป็นสิริมงคลนั่นเอง
การไหว้เทพเจ้า จะประกอบไปด้วย
- ของคาว เช่น เนื้อสัตว์สามอย่าง (หมู เป็ด ไก่) หรือเนื้อสัตว์ห้าอย่าง (หมู เป็ด ไก่ ตับ ปลา)
- ของหวาน อย่างขนมไหว้เจ้า (ขนมถ้วยฟู ขนมกุยช่าย ขนมจันอับ ซาลาเปาสีชมพู หรือแต้มจุดแดง)
- ผลไม้ (ส้ม กล้วย องุ่น แอปเปิล หรือสาลี่)
- เครื่องดื่ม (เหล้าหรือน้ำชา)
- กระดาษเงิน กระดาษทอง
การไหว้บรรพบุรุษ จะประกอบไปด้วย
- ของคาว เช่น เนื้อสัตว์สามอย่าง (หมู เป็ด ไก่) หรือเนื้อสัตว์ห้าอย่าง (หมู เป็ด ไก่ ตับ ปลา)
- อาหารคาว ตามที่ผู้ล่วงลับชอบรับประทานเมื่อยังมีชีวิตอยู่
- ข้าวสวยใส่ชาม พร้อมตะเกียบ
- ขนมไหว้ (ขนมถ้วยฟู ขนมกุยช่าย ขนมจันอับ ซาลาเปาสีชมพู หรือแต้มจุดแดง)
- ผลไม้ (ส้ม กล้วย องุ่น แอปเปิล หรือสาลี่)
- เครื่องดื่ม
- กระดาษเงินกระดาษทอง ทองคำแท่งกระดาษ เสื้อผ้าของใช้กระดาษ (กงเต็ก)
สำหรับ "แต๊ะเอีย" หรือ "อั่งเปา" ที่เรามักพูดถึงกันนั้นถือว่าเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของเทศกาลตรุษจีน เด็กๆ หลายคนรอคอยเทศกาลนี้เพราะจะได้ทานขนมอร่อยๆ และรอรับอั่งเปาหรือแต๊ะเอียจากบรรดาญาติผู้ใหญ่
หลายคนมีความสงสัยว่า "อั่งเปา" และ "แต๊ะเอีย" นั้นแตกต่างกันยังไง ทำไมถึงเรียกไม่เหมือนกัน
อั่งเปา คือ ซองสีแดงที่ผู้ใหญ่ซึ่งทำงานแล้วหรือมีรายได้จะใส่เงินแล้วนำมาให้ผู้น้อย หรืออาจจะแลกเปลี่ยนกันเองในหมู่ญาติพี่น้อง สีแดงของซองเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความโชคดี และเงินที่บรรจุภายในบางครั้งจะเป็นเลขนำโชค เช่น เลข 8 อ่านในภาษาจีนจะมีความหมายถึงความรุ่งเรือง หรือความร่ำรวย
แต๊ะเอีย มีความหมายว่า "ของที่มากดหรือทับเอว" หรือ "ผูกไว้ที่เอว" คำนี้มีที่มาจากคนจีนสมัยก่อนจะใช้เงินเหรียญที่มีรูอยู่ตรงกลาง หากจะพกไปไหนก็ต้องร้อยเหรียญเป็นพวงมาผูกไว้ที่เอว และในเทศกาลตรุษจีน ผู้ให้ก็จะนำเชือกสีแดงมาร้อยเหรียญไว้ แล้วมอบให้ผู้รับ ทีนี้ผู้รับก็จะนำพวงเหรียญนี้มาผูกไว้ที่เอว เรียกว่า "แต๊ะเอีย" นั่นเอง ในปัจจุบันไม่มีการใช้เงินเหรียญที่มีรูตรงกลางแล้ว "แต๊ะเอีย" จึงมีความหมายถึง "สิ่งของ" หรือ "เงิน" ที่ใส่ไว้ในซองสีแดง (ส่วนตัวซองจะเรียกว่า "อั่งเปา") ส่วนมากจะนิยมให้แต๊ะเอียกันในวันถือหรือที่เรียกกันว่าวันเที่ยวนั่นเองครับ
สุดท้ายนี้หวังว่าหลายๆท่านคงจะได้เกร็ดความรู้เกี่ยวกับตรุษจีน และข้อควรทำหรือไม่ควรทำภายในบ้านในช่วงเทศกาลตรุษจีนประจำปี 2566 นี้นะครับ
มีความสุขในเทศกาลตรุษจีนปีนี้ครับ "ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดไช้"