การทดสอบสมรรถนะ โตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์ ใหม่ (All New Fortuner 2015)
บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เชิญทีมงาน เช็คราคา.คอม เข้าร่วมการขับทดสอบรถยนต์ All New Fortuner ทั้งแบบ ออนโรด และออฟโรด โดยใช้เส้นทาง สุราษฎร์ธานี - ภูเก็ต ระหว่างวันที่ 20 - 21 สิงหาคม 2558
โตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์ ใหม่ พรีเมียมเอสยูวี ดีไซน์หรู เปี่ยมด้วยสมรรถนะ บุกตะลุยอย่างมั่นใจด้วยระบบขับเคลื่อนซิกม่าโฟร์ และโดดเด่นในทุกรายละเอียดทั้งภายในและภายนอก ผสานความแกร่งแบบออฟโรดและความคล่องตัวในการใช้งานในชีวิตประจำวันได้อย่างลงตัว
เส้นทางการทดสอบสำหรับคณะสื่อมวลชนกลุ่มแรกรวมผู้เขียน เริ่มต้นจากจังหวัดสุราษฎร์ธานี มุ่งสู่จังหวัดภูเก็ต ด้วยระยะทางกว่า 310 กิโลเมตร เน้นการขับบนถนนระหว่างจังหวัด เพื่อทดสอบสมรรถนะด้านอัตราเร่ง การบังคับ เบรก ตามรูปแบบการใช้งานทั่วไป ส่วนการทดสอบแบบออฟโรดในวันที่สองของการทดสอบ ผู้เขียนและสื่อมวลชนกลุ่มแรกนั่งรถตู้ไปยังโชว์รูมของ โตโยต้า เพิร์ล ในจังหวัดภูเก็ต เพื่อขับทดสอบในพื้นที่ติดกับโชว์รูมซึ่งมีการจำลองเส้นทางออฟโรดยาวกว่า 700 เมตร โดยแบ่งเป็นสถานี เพื่อเน้นให้เห็นการทำงานของระบบต่างๆ ใน ฟอร์จูนเนอร์ ใหม่
เส้นทางออนโรดสู่จังหวัดภูเก็ต นับว่ามีพื้นผิวที่ดีตลอด จนสามารถใช้ความเร็วได้เต็มที่ ฟอร์จูนเนอร์ ใหม่ ใช้ยางขนาด 265/60 กับล้ออัลลอยขนาด 18 นิ้ว แต่ก็นั่งสบายไปตลอดทาง แตกต่างจากพีพีวีทั่วไป บางช่วงขบวนทดสอบเจอฝนกระหน่ำ และโปรยปรายจนถึงภูเก็ต แต่ ฟอร์จูนเนอร์ ใหม่ สามารถทำความเร็ว
ระดับ 100 กม./ชม. ขึ้นไป พร้อมผ่านทุกโค้ง อาจมีอาการสไลด์นิดๆ เมื่อผ่านบริเวณพื้นผิวลื่น การขับแบบออฟโรดในพื้นที่จำลองจัดเตรียมไว้ให้ลุยเต็มที่ แต่ฝนที่ตกลงมาก่อนหน้าทำให้พื้นที่เละมากกว่าเดิม
นับเป็นการทดสอบสมรรถนะการใช้งานที่สมบุกสมบันจริงๆ ภายนอกของฟอร์จูนเนอร์ ใหม่ ดูรวมๆ เป็นเอสยูวีแข็งแกร่ง พร้อมลุยทุกเส้นทาง แต่แฝงความหรูหรา จากกระจังหน้าโครเมียม และไฟหน้าสวยเพรียวสปอร์ตแบบแอลอีดี โปรเจคเตอร์แบบ Bi-Beam และมีไฟแอลอีดี เดย์ไทม์ รันนิ่งไลท์ รวมอยู่ภายในโคม ส่วนตัวถังยกสูงเท่ากันทุกรุ่น สูงพอผ่านอุปสรรคทั่วไปได้สบาย ด้านข้างเด่นด้วยแนวขอบหน้าต่างที่เล่นระดับทางด้านประตูหลัง
ส่วนด้านหลัง ผู้เขียนชอบมากกว่าด้านหน้า เพราะออกแบบไฟท้ายได้โฉบเฉี่ยวดูทันสมัย มีการใช้โครเมียมเข้ามาเสริมเติมแต่งรองรับระหว่างไฟซ้าย-ขวา และตรงแนวขอบหน้าต่าง
ด้านกันชนหลังดูออกแบบใหม่ให้ความสะดวกในการขนของเข้า-ออก ด้านข้างขึ้น-ลงง่ายด้วยบันไดข้างแบบแผ่นเต็ม
กระจกมองข้างพร้อมไฟเลี้ยว ตรงจุดยึดมีการออกแบบฟินไว้ 3 ระดับ แต่จากการทดสอบผู้เขียนยังคงได้ยินเสียงลมปะทะ สปอยเลอร์หลังให้ความรู้สึกสปอร์ต พร้อมไฟเบรกแอลอีดี ส่วนล้ออัลลอย 18 นิ้ว ดีไซน์ 2 ก้านคู่ แบบ 3 ก้านซ้อนต่างขนาด ดูสปอร์ตและทันสมัย ผู้เขียนรู้สึกว่ารถโตโยต้ายุคใหม่มักออกแบบล้ออัลลอยได้สวยเด่นจนแทบไม่ต้องหาล้อแม็กแต่งสวยๆ มาเปลี่ยนภายหลัง
แผงแดชบอร์ด และคอนโซลกลางใช้พื้นฐานจาก ไฮลักซ์ รีโว่ แต่ทำออกมาแล้วแทบไม่มีอะไรเหมือนกันนอกจากพวงมาลัย นับเป็นการออกแบบหน้ากากใหม่หมด แต่ตำแหน่งฟังก์ชันการใช้งานต่างๆ ยังเหมือนกัน โดยรวมยังคงแนวทางการออกแบบภายในกับแผงแดชบอร์ดทรงตั้ง
ภายในหรูหราด้วยโทนสียอดนิยมทั้ง ครีมและน้ำตาล แยกตามรุ่น
รุ่นท็อป
2.8V ขับเคลื่อน 4 ล้อ หรูหรากว่าด้วยเบาะหนังสีครีมชามัวส์ ส่วนรุ่นอื่นๆ เป็นเบาะหนังสีน้ำตาล รูปแบบเบาะยังคงเป็น 2+3+2 ด้านเบาะแถว 3 คงการพับแบบยกเบาะขึ้นเก็บด้านข้าง หลายคนมองว่าถ้าปรับเป็นพับราบลงไปด้านหน้าจะใช้งานได้สะดวกกว่า จุดนี้โตโยต้าบอกว่า การพับแบบเก็บด้านข้างทำให้ออกแบบเบาะได้แข็งแรงกว่า เพราะไม่ต้องลดขนาดพนักพิงให้บางลง จุดนี้นับเป็นความต่างจากเอสยูวียี่ห้ออื่น แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความชอบและเคยชินของผู้ใช้มากกว่า
เบาะแถวสองนั่งสบายได้ยาวๆ แอร์เพดานให้ความเย็นฉ่ำทั่วถึงแม้เวลากลางวัน
เบาะแถวสามเด็กนั่งได้ 3 คน หรือผู้ใหญ่ 2 คน (รูปร่างสมส่วน) สบายๆ แม้ใช้ตำแหน่งเกียร์แบบเดิมเกตไทป์ แต่ทำให้หรูขึ้นด้วยการใช้ลายไม้เสริมด้วยวัสดุผิวเงินแบบด้าน
ส่วนด้ามเบรกมือก็ใช้หนังตัดเย็บโชว์การเดินด้ายแบบรถพรีเมียม
โดยรวมนับว่าหรูหรานั่งสบายพิสูจน์จากการขับทดสอบไม่ต่ำกว่า 300 กม. สำหรับผู้เขียนพอใจกับการออกแบบและเกรดวัสดุภายในห้องโดยสาร ติดนิดเดียวที่ตำแหน่งเกียร์ ยังเป็นเกตไทป์เหมือนเดิมซึ่งน่ารับให้ดูทันสมัยมากกว่านี้ ส่วนเบรกมือก็น่าเป็นแบบไฟฟ้าเพื่อการออกแบบคอนโซลกลางได้ยืดหยุ่นขึ้น และจุดที่น่าปรับอีกส่วนคือ วัสดุบุเพดานน่าเป็นผ้านิ่มจะให้ความหรูหรามากกว่านี้
SPECIFICATION - FAST FACTS (เฉพาะรุ่นที่ร่วมทดสอบ)
รุ่น | 2.4V | 2.8V |
แบบเครื่องยนต์ | ดีเซล 4 สูบแถวเรียง 16 วาล์ว VN เทอร์โบ อินเตอร์คูลเลอร์ | ดีเซล 4 สูบแถวเรียง 16 วาล์ว VN เทอร์โบ อินเตอร์คูลเลอร์ |
ปริมาตรกระบอกสูบ (ซีซี) | 2,393 | 2,755 |
ระบบเกียร์ | อัตโนมัติ 6 สปีด พร้อมซีเควนเชี่ยล และแพดเดิ้ล ชิฟต์ | อัตโนมัติ 6 สปีด พร้อมซีเควนเชี่ยล และแพดเดิ้ล ชิฟต์ |
กำลังสูงสุด (PS) | 150 ที่ 3,400 รอบ/นาที | 177 ที่ 3,400 รอบ/นาที |
แรงบิดสูงสุด (Nm) | 400 ที่ 1,600 - 2,000 รอบ/นาที | 450 ที่ 1,600-2,400 รอบ/นาที |
ระบบขับเคลื่อน | ขับเคลื่อน 2 ล้อ | ขับเคลื่อน 4 ล้อ พร้อมระบบซิกม่าโฟร์ |
ระบบ Stop & Start | - | มี |
ขนาดล้อ-ยาง | 265/60 R18 | 265/60 R18 |
การขับทดสอบ
การขับทดสอบช่วงแรกสตาร์ทจากภายในลานจอดสนามบินสุราษฎร์ธานีเวลาประมาณ 11.10 น. ขบวนมีรถฟอร์จูนเนอร์ใหม่ทั้งหมด 10 คัน โดยเป็นรุ่น 2.8V กับ 2.4 V แบ่งตามหมายเลข ผู้เขียนได้นั่งรถหมายเลข 10 เป็นรุ่น 2.4V ขับเคลื่อน 2 ล้อ กำลัง 150 แรงม้าที่ 3,400 รอบต่อนาที แรงบิด 400 นิวตัน-เมตร พร้อมสื่อมวลชนอีก 3 ท่าน ช่วงแรกลองนั่งเบาะผู้โดยสารหน้า มีอาจารย์วรพล สิงห์เขียวพงษ์ เป็นผู้ขับ ขบวนมุ่งหน้าสู่ร้านอาหารลำพูเพื่อพักกลางวัน เส้นทางที่ใช้เป็นถนนหลวง สภาพพื้นผิวดี ช่วงนี้พอรู้สึกได้ถึงช่วงล่างที่นุ่มนวลให้ความสบาย แต่ระหว่างทางที่มักมีการเร่งแซงก็ได้ยินเสียงคำรามของเครื่องยนต์เข้ามาภายในห้องโดยสารชัดเจนเป็นระยะ ขณะที่เสียงรบกวนภายนอกอื่นๆ แทบไม่ได้ยิน (สังเกตในช่วงผ่อนคันเร่ง) จากการสอบถามภายหลังทางเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเทคนิคของโตโยต้าบอกว่า เป็นเพราะมีการเก็บเสียงภายในห้องโดยสารดีขึ้น จึงทำให้ได้ยินเสียงเครื่องยนต์ และสาเหตุหนึ่งก็มากจากเอนจิ้นบูม โตโยต้าพยายามทำเสียงรบกวนภายในห้องโดยสารให้มีความสมดุลมากที่สุด ผ่านไป 30 กม. ขบวนก็ถึงร้านอาหารลำพูเพื่อพักก่อนขับยาวสู่ภูเก็ต หลังจากพักกลางวัน ขบวนออกเดินทางต่อ วิ่งสู่เส้นทางเซาท์เทิร์นซีบอร์ด เป็นระยะทางกว่า 65 กม. จึงแวะพักที่ปั๊มน้ำมัน จากนั้นเป็นการหวดยาวกว่า 140 กม. ไปตามถนนของเซาท์เทิร์นซีบอร์ดที่เป็นทางค่อนข้างตรงเป็นส่วนใหญ่ จึงสามารถทำความเร็วได้เต็มที่ แต่เพื่อความปลอดภัยเพราะมีผู้โดยสารและสัมภาระเต็มคัน ผู้ขับ (อาจารย์วรพล) จึงใช้ความเร็วระดับปานกลาง-ต่ำ ประกอบกับบางช่วงมีลมแรงและฝนตกหนักทำให้ทัศนวิสัยไม่ชัดเจนและควบคุมรถยากขึ้น แต่ฟอร์จูนเนอร์ ใหม่ ก็ขับฝ่าอุปสรรคธรรมชาติไปได้อย่างไม่มีอาการใดๆ ให้วิตกกังวล
เมื่อถึงจุดพักที่ 3 ผู้เขียนจึงสลับไปขับบ้าง โดยมีระยะทางอีกประมาณ 75 กม. เข้าสู่ตัวเมืองภูเก็ต เพื่อไปสิ้นสุดขบวนที่ศูนย์บริการโตโยต้าเพิร์ล ช่วงนี้ยังมีสายฝนโปรยปรายอยู่ตลอด แม้ไม่หนักมากแต่ก็พอทำให้ถนนลื่น จึงต้องขับด้วยความระมัดระวัง แต่ด้วยสมรรถนะที่ยิ่งขับยิ่งมั่นใจ จึงเริ่มเติมความเร็วได้มากขึ้น การเร่งแซง การเปลี่ยนเลน และการเข้าโค้งด้วยความเร็วระดับ 80-100 กม./ชม. พบว่าตัวรถทรงตัวได้ดีเยี่ยมไม่มีอาการโคลงให้น่ากังวล จนถึงด่านก่อนเข้าตัวเมืองภูเก็ตผู้เขียนได้ลงมาสลับไปนั่งเบาะแถวสอง จากจุดนี้แม้เหลือระยะทางอีกไม่ไกลแต่ยิ่งเข้าตัวเมืองการจราจรก็เริ่มติดขัด การนั่งเบาะแถวสอง พร้อมปรับเอนจึงเป็นความสะดวกสบายท่ามกลางการขับแบบไปสลับหยุดนิ่ง จนถึงที่หมายโดยสวัสดิภาพทุกคัน พร้อมพัก 1 คืน ก่อนเตรียมขับทดสอบแบบออฟโรดในวันรุ่งขึ้น
เมื่อถึงการขับทดสอบแบบออฟโรด ทางทีมงานโตโยต้าได้เตรียมรถรุ่น
2.8V ขับเคลื่อน 4 ล้อ เพื่อเน้นการบุกตะลุยทุกอุปสรรค โดยวันก่อนการทดสอบได้มีฝนตกลงมาทำให้พื้นที่ออฟโรดทวีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น นับเป็นความท้าทายต่อสมรรถนะของ ฟอร์จูนเนอร์ ใหม่ ผู้เขียนได้ลองขับพร้อมมีเจ้าหน้าที่ผู้ฝึกสอนนั่งไปด้วย เพื่อแนะนำการขับและใช้งานระบบต่างๆ ให้เหมาะสมกับการขับที่แตกต่างตามสถานี โดยก่อนเข้าพื้นที่ออฟโรดได้จอดปรับโหมดของระบบขับเคลื่อนซิกม่าโฟร์เป็น L4 ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ สำหรับเส้นทางวิบากและเส้นทางที่ต้องการกำลังขับเคลื่อนสูง พร้อมเปิดระบบ HAC โดยสถานีแรกเป็นเนินดินชัน ผู้เขียนทดลองหยุดรถระหว่างทางขึ้น เพื่อทดสอบระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน HAC (Hill-Start Assist Control) พบว่าสามารถหยุดไม่ต้องแตะคันเร่งได้ประมาณ 3 วินาที เพียงพอต่อการค่อยๆ ให้น้ำหนักเดินคันเร่งผ่านเนินขึ้นไปอย่างง่ายดาย ส่วนขาลงก็ปล่อยให้ระบบควบคุมความเร็วขณะลงทางลาดชัน DAC (Downhill Assist Control) ทำงาน โดยผู้เขียนไม่ต้องแตะเบรกช่วยแต่อย่างใด
สถานีสำคัญที่ทำเอาผู้เขียนตื่นเต้นไม่น้อยก็คือ การใช้ระบบป้องกันล้อหมุนฟรีแบบแอคทีฟ A-TRC (Active Traction Control) โดยทำงานเมื่อเซ็นเซอร์ตรวจจับได้ว่าล้อใดเริ่มสูญเสียแรงขับเคลื่อน ระบบจะลดแรงขับที่ล้อนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้หมุนฟรี พร้อมเพิ่มแรงขับไปยังล้อที่เหลือ เพื่อให้เคลื่อนที่ต่อไปได้อย่างราบรื่น ด้วยระบบช่วยเหลืออันยอดเยี่ยมทำให้การขับฝ่าอุปสรรคในสถานีนี้ผ่านไปอย่างไร้ปัญหา แต่ก็ไม่ง่ายถึงขนาดขับไปได้่เรื่อยๆ เพราะต้องพยายามบังคับพวงมาลัยตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ภาคสนาม และค่อยๆ แตะเบรกช่วงจังหวะลงหลุม
จำลองสถานการณ์ที่ต้องใช้ระบบป้องกันล้อหมุนฟรี A-TRC ลดแรงขับล้อลอย เพิ่มแรงในล้อที่แตะพื้น พิสูจน์ให้เห็นว่า ฟอร์จูนเนอร์ ใหม่ ลุยได้หมด แต่คงหาเจ้าของรถที่ตั้งใจขับไปลุยแบบนี้ยาก ฝนที่ตกลงมาก่อนหน้า ช่วยให้การทดสอบขับแบบออฟโรดได้อรรถรสมากยิ่งขึ้น อัตราสิ้นเปลืองจอดวัดตัวเลขบนเรือนไมล์ที่ระยะ 207.8 กม. แสดงค่าอยู่ที่ 10.3 กม./ลิตร เป็นการขับทางไกลใช้ความเร็วได้อย่างต่อเนื่อง แม้เข็มความเร็วบนหน้าจออยู่ที่ 100 กม./ชม. และเข็มวัดรอบไม่ถึง 2,000 รอบต่อนาที ตัวรถมีผู้โดยสาร 4 คน พร้อมสัมภาระ แต่อัตราสิ้นเปลืองกลับอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างพอใช้
ภายในห้องโดยสารฟอร์จูนเนอร์ ใหม่ ครบครันด้วยอุปกรณ์ทันสมัย ตามมาตรฐานรถรุ่นใหม่ เช่น หน้าจอสัมผัสขนาด 7 นิ้ว ที่มีระบบนำทาง พร้อมเครื่องเล่น DVD และรองรับการเชื่อมต่อบลูทูธ ถัดลงมาเป็นระบบปรับอากาศอัตโนมัติที่ให้มาเกือบทุกรุ่น เว้นรุ่น 2.4 เกียร์แมนนวล ถัดลงมาอีกเป็นแผงรวมช่องต่อสารพัดอุปกรณ์ อย่าง USB, iPOD และ AUX รองรับการเชื่อมต่อครบ และน่าเป็นส่วนที่ใช้งานบ่อย ส่วนเบาะนั่งด้านคนขับสะดวกกับการปรับแบบไฟฟ้า 8 ทิศทาง ถ้าปกติขับคนเดียว การปรับครั้งเดียวก็เอาอยู่ แต่เอสยูวีราคาระดับล้านบาทถ้าไม่มีเบาะปรับไฟฟ้าก็ดูไม่ดีอีก
ตำแหน่งปรับระบบขับเคลื่อนซิกม่าโฟร์ / DAC / VSC ถูกรวมอยู่กับแผงช่องต่ออุปกรณ์ไฟฟ้า
ไม่เหมือนกับ ไฮลักซ์ รีโว่ ที่รวมอยู่กับแผงระบบปรับอากาศ
ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติมีให้เฉพาะรุ่นเครื่องยนต์ 2.8 ลิตร
ช่องต่ออุปกรณ์ไฟฟ้า กระแสตรง 12 โวลต์ และกระแสสลับ 220 โวลต์ กลายเป็นมาตรฐานใหม่ของรถ ด้านความปลอดภัยนับเป็นจุดเด่นของ ฟอร์จูนเนอร์ ใหม่ เพราะทุกรุ่นถูกบรรจุระบบเหล่านี้ เช่น ระบบเตือนการโจรกรรม และ Immobilizer / ไฟส่องสว่างเวลากลางวัน (Daytime Running Lights) / ไฟตัดหมอกหน้า / ไฟตัดหมอกหลัง / ไฟเบรกดวงที่ 3 แบบ LED / ไล่ฝ้ากระจกหลัง / เซ็นเซอร์กะระยะถอยหลัง / กล้องมองหลัง / ระบบป้องกันล้อล็อก ABS / ระบบกระจายแรงเบรก EBD / ระบบเสริมแรงเบรก BA / ระบบควบคุมการทรงตัว VSC / ระบบป้องกันล้อหมุนฟรี TRC (A-TRC เฉพาะรุ่น
2.8V ขับเคลื่อน 4 ล้อ) / ระบบควบคุมการส่ายของส่วนพวงท้าย TSC / ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน HAC / โครงสร้างตัวถังนิรภัย GOA / คานเหล็กนิรภัยด้านข้าง / ระบบถุงลมเสริมความปลอดภัย SRS ด้านผู้ขับ ผู้โดยสาร และหัวเข่าผู้ขับ / ระบบถุงลมเสริมความปลอดภัย SRS ด้านข้าง และม่านนิรภัย ส่วนระบบควบคุมความเร็วขณะลงทางลาดชัน DAC เป็นระบบช่วยเหลือเดียวที่มีเฉพาะรุ่น
2.8V ขับเคลื่อน 4 ล้อ การทดสอบแบบออนโรด เป็นระยะทางไม่ต่ำกว่า 300 กม. เป็นไปอย่างปลอดภัย แทบไม่เปิดโอกาสให้ระบบช่วยเหลือใดๆ แม้แต่ ABS ทำงาน ด้านระบบเบรกหน้าดิสก์ขนาดใหญ่-หลังดรัม เมื่อเบรกพบว่านุ่มนวล ให้น้ำหนักได้ง่าย จึงสามารถควบคุม ชะลอ และหยุดรถได้อย่างที่ตั้งใจ ส่วนการขับแบบอออฟโรดก็ได้สัมผัสประสิทธิภาพของระบบ HAC / DAC และ A-TRC จนมั่นใจว่า ฟอร์จูนเนอร์ ใหม่ ให้ความปลอดภัยทุกการขับเคลื่อนทั้งในแบบออนโรดและออฟโรด
ความคุ้มค่าเมื่อเทียบกับราคา
ด้วยการพัฒนาครั้งสำคัญ สำหรับ ฟอร์จูนเนอร์ ใหม่ บนพื้นฐานร่วมกับไฮลักซ์ รีโว่ พร้อมเครื่องยนต์ดีเซลใหม่ 2 ขนาด และอีก 1 เครื่องยนต์เบนซิน ผสานจนเป็นเอสยูวี 7 ที่นั่ง หรูและแกร่ง ใช้งานได้ดีทั้งออนโรดและออฟโรด แยกจำหน่าย 5 รุ่น (ราคา 1,199,000 - 1,599,000 บาท) น่าจะทำให้แฟนๆ โตโยต้า พอใจได้สักรุ่น แต่ในช่วงที่มีการเปิดตัวเอสยูวีใหม่อีก 2 แบรนด์ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ทำให้เกิดการเปรียบเทียบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทางโตโยต้าเชื่อว่า ฟอร์จูนเนอร์ ใหม่ สามารถตอบโจทย์ผู้ที่กำลังมองหาเอสยูวีดีๆ ได้ด้วย คุณภาพ ความทนทาน และความน่าเชื่อถือ ส่วนผู้เขียนยังคงเชื่อใน 3 สิ่งนี้ คือ เห็นด้วยตา ลองด้วยตัวเอง จึงค่อยตัดสินใจซื้อครับ