บริษัท รถไฟฟ้า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ EVT ซึ่งเป็นผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่ายรถโดยสารขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าและผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้ารายแรกในประเทศไทยมาเป็นเวลากว่า 30 ปี เดินหน้าเจรจาพันธมิตรคู่ค้าที่มีความสนใจร่วมพัฒนาการบริการและการตลาดรถโดยสารไฟฟ้าและรถไฟฟ้าเพื่อการพาณิชย์ โดยตั้งเป้าหมายในการขยายเครือข่ายครอบคลุมทั่วประเทศเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของตลาดที่มีแนวโน้มการเติบโตตามแรงกระตุ้นของรัฐบาลและกระแสเรียกร้องให้ภาคธุรกิจเข้ามามีส่วนร่วมต่อการรักษาสิ่งแวดล้อม
นายกฤศ โกษานันตชัย กรรมการผู้จัดการ EVT เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้เริ่มเจรจากับพันธมิตรธุรกิจที่สนใจจะร่วมพัฒนาการตลาดและบริการรถโดยสารไฟฟ้าและรถไฟฟ้าเพื่อการพาณิชย์ โดยตั้งเป้าหมายในการแต่งตั้งพันธมิตรให้เป็นตัวแทนด้านการขายและบริการของ EVT ภูมิภาคละ 1 รายเพื่อดำเนินการและรับผิดชอบด้านการขายและการบริการหลังการขาย โดยพันธมิตรที่ได้รับการแต่งตั้งจะต้องมีความรู้ความชำนาญด้านการขายและบริการรถโดยสารไฟฟ้าและรถไฟฟ้าเพื่อการพาณิชย์ อีกทั้งจะต้องมีสถานที่สำหรับการติดตั้งอุปกรณ์และเครื่องมือสำหรับให้บริการ โดย EVT จะถ่ายทอดเทคโนโลยีในตัวรถ EVT ให้แก่พันธมิตรเพื่อประสิทธิภาพในการให้บริการและการทำตลาดในแต่ละภูมิภาค
“ที่เราเร่งขยายเครือข่ายผ่านพันธมิตรเพราะ EVT ได้กำหนดเป้าหมายการเจริญเติบโตในธุรกิจในปีนี้แบบก้าวกระโดด ทุกวันนี้เราเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่วันนี้ธุรกิจเรามีอายุยาวนานถึง 30 ปีแล้ว มันถึงเวลาที่เราจะต้องสร้างการเจริญเติบโต ดังนั้นการปรับกลยุทธ์ครั้งนี้เพื่อเติบโตไปพร้อม ๆ กับพันธมิตรของเรา” นายกฤศ กล่าว
นายกฤศ กล่าวว่าปัจจุบันรถโดยสารไฟฟ้า EVT ได้รับความนิยมอย่างมากในทุกภูมิภาค ซึ่งต้องเติบโตไปพร้อมกับการบริการหลังการขาย ซึ่ง EVT ถือเป็นหัวใจในการดำเนินธุรกิจ ด้วยกลยุทธ์การร่วมมือกับพันธมิตรคู่ค้าครั้งนี้ จะทำให้สามารถให้บริการหลังการขายในเวลารวดเร็ว
“ความจริงมีลูกค้าจำนวนมากที่สนใจจะใช้รถของเรา ดังนั้นเราเชื่อมั่นว่าการมีพันธมิตรในพื้นที่ จะทำให้เราสามารถให้บริการรถโดยสารไฟฟ้าและรถไฟฟ้าเพื่อการพาณิชย์ของเราไปถึงลูกค้าได้อย่างทั่วถึง”
การขับเคลื่อนกลยุทธ์ผ่านเครือข่ายพันธมิตรคู่ค้าในขณะนี้ถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมเพราะกระแสการใช้รถไฟฟ้าในภาคธุรกิจและองค์กรรัฐวิสากิจและองค์กรภาครัฐกำลังตื่นตัวเพราะรัฐบาลมีนโยบายชัดเจนส่งเสริมให้องค์กรในสังกัดเปลี่ยนการใช้รถสันดาปภายในมาเป็นรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ในขณะเดียวกัน รัฐบาลยังมีนโยบายด้านภาษีสนับสนุนให้ภาคธุรกิจหันมาใช้รถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า
เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ได้ออกมาตรการให้บริษัทหรือนิติบุคคลที่เข้าร่วมโครงการซื้อรถโดยสารหรือรถบรรทุกไฟฟ้ามาใช้งานโดยไม่มีกำหนดเพดานราคาขั้นสูง โดยกรณีซื้อรถที่ผลิต/ประกอบในประเทศ สามารถนำมาหักค่าใช้จ่าย ได้ 2 เท่า และในกรณีนำเข้ารถสำเร็จรูปจากต่างประเทศ สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 1.5 เท่า โดยมาตรการนี้จะมี ผลใช้บังคับจนถึงสิ้นปี 2568
การออกมาตรการสนับสนุนการใช้รถโดยสารไฟฟ้าและรถบรรทุกไฟฟ้าครั้งนี้ ถือเป็นการต่อยอดจากมาตรการ EV3 และ EV3.5 ที่เน้นกลุ่มรถยนต์นั่ง รถจักรยานยนต์และรถกระบะเป็นหลัก ซึ่งบอร์ดอีวีคาดว่าการสนับสนุนการใช้รถไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ครั้งนี้ จะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนรถยนต์เชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า 10,000 คัน ซึ่งจะมีส่วนผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอีวีของภูมิภาคในรถยนต์ทุกประเภท
“EVT ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีที่ภาครัฐมีนโยบายสนับสนุน ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรม เพราะ EVT ไม่ได้แค่ขายรถ แต่เราขาย Solution ครบวงจรตามความต้องการใช้งานของลูกค้า เราสามารถออกแบบตัวรถให้สอดคล้องกับภารกิจของลูกค้า เรายังมีการพัฒนา Application เพื่อให้ผู้ใช้บริการรถ EVT สามารถตรวจสอบการให้บริการของเราได้แบบ Realtime ดังนั้น เราจึงไม่กังวลเรื่องการแข่งขันเพราะเราได้พัฒนาเทคโนโลยีการเดินรถของเรามาตลอด 30 ปี” นายกฤศ กล่าว