มีรายงานระบุว่า
Toyota จะเปิดตัวรถ
ปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) ประมาณ 2 หรือ 3 รุ่น ในจีน ภายใน 2-3 ปีนี้ โดยใช้พื้นฐานแพลตฟอร์ม
DM-i จาก
BYD
เลิกใช้ HEV ในจีน เพราะไม่ได้ส่วนลด
Toyota จะเลิกใช้ระบบ THS (Toyota Hybrid System) ที่ใช้กับรถไฮบริด HEV ของโตโยต้า สำหรับรถใหม่ที่จะจำหน่ายในจีน เนื่องจากรถ HEV หรือรถไฮบริดที่ชาร์จไฟไม่ได้นั้นไม่สามารถใช้ทะเบียนสีเขียวในประเทศจีนได้ ซึ่งหมายความว่าจะไม่ได้เงินอุดหนุนหรือการปฏิบัติเช่นเดียวกันกับรถ BEV และ PHEV
ก่อนหน้านี้ Toyota เปิดตัวขุมพลัง PHEV ในชื่อ E+ ที่ใช้ในรถหลายรุ่น เช่น Corolla, Levin, และ RAV4 ที่จำหน่ายในจีน แต่ไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร ซึ่งรถ PHEV ที่ค่ายสามห่วงจะเปิดตัวใหม่จะไม่ได้ใช้แพลตฟอร์มนี้
ใช้แพลทฟอร์มร่วมกัน แต่รับรองว่ารถไม่เหมือนกัน
ทั้ง Toyota และ BYD ยังไม่ได้ยืนยันข่าวที่ว่านี้ แต่ Caijing ที่อ้างอิงข่าวจาก Toyota ระบุว่า
“แต่สิ่งที่แน่นอนก็คือ หากนำเทคโนโลยี DM-i จาก BYD มาใช้ Toyota จะดำเนินการขัดเกลาและปรับปรุงใหม่อย่างแน่นอน และประสบการณ์การขับขี่ของรถที่เสร็จสิ้นแล้วจะแตกต่างกัน”
แพลตฟอร์ม DM มี 2 เวอร์ชัน
สำหรับ DM คือแพลตฟอร์มรถปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) ที่ย่อมาจาก DualMode เปิดตัวครั้งแรกในปี 2008 ปัจจุบันแพลตฟอร์มนี้มีถึงเจเนอเรชั่นที่ 5 แล้ว โดยสามารถทำให้รถวิ่งได้ไกลสุดถึง 2,000 กม. ในมาตรฐาน CLTC และมีอัตราบริโภคเชื้อเพลิงที่ 2.9 ลิตร/100 กม.
ปัจจุบัน แพลตฟอร์ม DM มีทั้งหมด 2 เวอร์ชัน ได้แก่
- DM-i มาจาก DualMode-intelligent เน้นประหยัดและประสิทธิภาพ
- DM-p มาจาก DualMode-powerful เน้นสมรรถนะ สำหรับรถขับเคลื่อน 4 ล้อ (AWD) และรถออฟโรด
แพลตฟอร์ม PHEV ใหม่ DMO ออฟโรดได้หนักหน่วงมากขึ้น
เมื่อเร็ว ๆ นี้ BYD ยังเพิ่งเปิดตัวแพลตฟอร์ม DMO ที่ใช้สำหรับรถออฟโรดแบบฮาร์ดคอร์ ซึ่งปัจจุบันได้ใช้กับรถแบรนด์ย่อยอย่าง Fang Cheng Bao โดยแพลตฟอร์มนี้คาดว่าเป็น DM-p เวอร์ชั่นปรับปรุงนั่นเอง
Toyota จับมือกับ BYD มานานแล้ว
ที่ผ่านมาเราจะเห็นว่า Toyota จับมือกับ BYD มายาวนาน ในปี 2021 ทั้งสองจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกันในชื่อว่า BYD Toyota Electric Vehicle Technology ถือหุ้นในสัดส่วน 50:50
และในปี 2023 Toyota เปิดรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นที่สองอย่าง Toyota bZ3 ซีดานไฟฟ้าที่พัฒนาด้านวิศวกรรมร่วมกับ BYD โดยใช้แบตเตอรี่ Blade Battery และมอเตอร์ไฟฟ้า รวมถึงเทคโนโลยีภายในรถบางส่วนจาก BYD
นอกจากนี้ Toyota ยังมีการร่วมทุนหลักกับบริษัทยักษ์ใหญ่ 2 แห่งในจีน ได้แก่ FAW-Toyota ที่ร่วมมือกับ First Automobile Works และ GAC-Toyota ที่ร่วมมือกับ Guangzhou Automobile Group
Toyota bZ3
Toyota ต้องการลดต้นทุนเพื่อแข่งขันกับจีน
Caijing ระบุข้อมูลจากแหล่งข่าวเพิ่มเติมว่า “ภายใต้ความกดดันของสงครามราคาสำหรับรถ EV ทำให้ต้นทุนเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ Toyota ต้องพิจารณา ปัจจัยหลักที่ทำให้ Toyota เลือกใช้เทคโนโลยี DM-i จาก BYD จะส่งผลให้ต้นทุนลดลง และความจริงที่ว่าเทคโนโลยีดังกล่าวค่อนข้างมีความสมบูรณ์”
เมื่อเดือนก่อนในงาน Beijing Auto Show ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี (CTO) ของ Toyota อย่าง Hiroki Nakajima กล่าวว่าบริษัทจะเริ่มพัฒนารถ PHEV ให้มากขึ้น
เขากล่าวเสริมว่า “ตั้งแต่การเปิดตัว Prius ในปี 1997 Toyota มองว่า HEV เป็นการแก้ปัญหาที่ใช้งานได้จริง และด้วยความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องของเทคโนโลยีแบตเตอรี่ รวมถึงการพัฒนาแบตเตอรี่และการเปลี่ยนแปลงในสถานการณ์ด้านพลังงาน BEV จึงถือกำเนิดขึ้น โดยส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่า P ที่อยู่ใน PHEV ไม่ใช่ Plug-in แต่เป็น Practical (ใช้งานได้จริง) กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เป็น BEV ที่ใช้งานได้จริง”
รายละเอียดเพิ่มเติมต้องคอยติดตามกัน
Caijing สรุปว่า Toyota จะใช้รถ PHEV เป็นจุดเริ่มต้นอันทรงพลังในการแข่งขันในตลาดรถยนต์พลังงานใหม่ของจีน ส่วนรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้คาดว่าจะถูกเปิดเผยในเดือนนี้เมื่อ Toyota จัดการประชุมเกี่ยวกับเทคโนโลยีการใช้พลังงานไฟฟ้าในญี่ปุ่น