โรงงานฟอร์ด ไทยแลนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง (เอฟทีเอ็ม) เปิดบ้านต้อนรับเด็กและเยาวชนกลุ่มเสี่ยงที่จะขาดโอกาสด้านการศึกษาและทักษะในการประกอบอาชีพจากชุมชนป้อมปราบศัตรูพ่าย 20 คน พร้อมหัวหน้าชุมชน ครู และผู้ปกครองของเด็กและเยาวชนอีกกว่า 10 คน เข้าเยี่ยมชมสายการผลิตรถยนต์ฟอร์ด เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการพัฒนาตนเอง เปิดโอกาสทางความคิดในการค้นหาอาชีพในอนาคต และต่อยอดไปสู่การจุดประกายให้ชุมชนและคนในชุมชนเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นเพื่อสร้างสังคมที่ดีต่อไป
ระหว่างเยี่ยมชมสายการผลิต เยาวชนต่างตื่นเต้นที่ได้สัมผัสบรรยากาศการทำงานจริงในโรงงานผลิตรถกระบะ ฟอร์ด เรนเจอร์ และฟอร์ด เรนเจอร์ แร็พเตอร์ เจเนอเรชันใหม่ ด้วยพนักงานที่มีทักษะและกระบวนการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัยเพื่อให้มั่นใจว่ารถทุกคันมีคุณภาพและได้มาตรฐานเพื่อการจำหน่ายทั้งในประเทศและส่งออกไปยัง 113 ประเทศทั่วโลก
นอกจากนี้ เยาวชนทุกคนยังได้มีโอกาสพูดคุยอย่างใกล้ชิด และตื่นเต้นไปกับการนั่งรถในสนามทดสอบไปกับนักแข่งรถจากทีม ฟอร์ด ไทยแลนด์ เรซซิ่ง ทั้งแซนดี้ เคราแก้ว สตูวิค นักแข่งรถดาวรุ่งเชื้อสายไทย-นอร์เวย์ แชมป์การแข่งขันรถยนต์ซูเปอร์คาร์ในทวีปยุโรปและเอเชีย และแจ็ค เลมวาร์ด นักแข่งรถมากประสบการณ์ เชื้อสายไทย-เดนิช ผู้กวาดรางวัลชนะเลิศมากกว่า 20 ครั้งจากการแข่งขันทั่วเอเชียตลอดระยะเวลา 25 ปีในวงการ
“จากการเก็บสถิติในชุมชน เราพบว่าเยาวชนในชุมชนที่อยู่ใกล้ชิดกับสำนักงานของศูนย์การเรียนรู้ฟอร์ดเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม กรุงเทพฯ (FREC Bangkok) มีข้อจำกัดในการมองหาโอกาสในการประกอบอาชีพต่างๆ เราจึงจัดค่ายเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับอาชีพและสอนทักษะที่จำเป็นเพื่อเตรียมความพร้อมให้พวกเขาประสบความสำเร็จในอนาคต เราอยากร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างทัศนคติที่ดีต่อการเลือกสาขาอาชีพ และเสริมสร้างแรงบันดาลใจในการพัฒนาตนเอง ซึ่งเราได้รับความร่วมมืออย่างดีทั้งจากโรงงานฟอร์ด และทีมนักแข่งของเรา” เจน ฮอลโลเวย์ ผู้จัดการกองทุนฟอร์ด ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และแอฟริกา กล่าว
ฟอร์ดร่วมมือกับศูนย์วิจัยชุมชนเมือง (Urban Study Labs) ซึ่งเป็นพันธมิตรของศูนย์การเรียนรู้ฟอร์ดเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม (FREC) เพื่อจัดงานนี้ ทั้งนี้ ศูนย์การเรียนรู้ฟอร์ดฯ ในกรุงเทพฯ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2562 เพื่อส่งเสริมการทำงานขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไร มีสำนักงานอยู่ที่โรงเรียนสตรีจุลนาค ในเขตป้อมปราบศัตรูพ่ายซึ่งเป็นหนึ่งในย่านที่เก่าแก่ที่สุดในกรุงเทพฯ โดยศูนย์การเรียนรู้ฟอร์ดฯ ได้ถูกออกแบบให้เป็นพื้นที่สาธารณะ และมีการจัดกิจกรรม แนะนำแนวคิดใหม่ ๆ ให้คนในชุมชนได้มีส่วนร่วมอยู่เสมอ
มร. วินโค้ ซาริค ผู้จัดการโรงงานฟอร์ด ไทยแลนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง กล่าวว่า “ที่ฟอร์ด เราเชื่อว่าทุกคน โดยเฉพาะเด็กๆ ล้วนมีศักยภาพ เราพร้อมให้การสนับสนุนเพื่อช่วยให้พวกเขาได้รับความรู้และมีประสบการณ์ใหม่ๆ ที่จะช่วยให้เขาพัฒนาตัวเองและสังคมต่อไป”