แม้มี COVID-19 แต่ยอดขายเมอร์เซเดส-เบนซ์ ทั่วโลกกลับเติบโตกว่า 20% ภายในไตรมาสที่ 1 ส่งมอบรถไปแล้วกว่า 590,999 คัน
"เมอร์เซเดส-เบนซ์ ทำยอดขายทั่วโลก 590,999 คัน (เพิ่มขึ้น 22.3%)ในไตรมาสแรกของปี 2564 อันเป็นผลมาจากยอดขายในประเทศจีนและสหรัฐอเมริกา รวมถึงความต้องการที่สูงขึ้นอย่างมากในกลุ่มรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) และรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าล้วนจากแบตเตอรี่ ในยุโรปยอดขายรถยนต์ 1 ใน 4 ภายใต้แบรนด์เมอร์เซเดส-เบนซ์และแบรนด์สมาร์ท เป็นรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (xEV) สำหรับในตลาดโลก รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดและรถยนต์ไฟฟ้า 100% มีสัดส่วน 10% ของยอดขายทั้งหมด หรือประมาณ 59,000 คัน ในจำนวนนี้ เป็นรถยนต์ไฟฟ้า 100% จำนวน 16,000 คัน โดยรถยนต์รุ่น EQA ที่เพิ่งเปิดตัวในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ประสบความสำเร็จอย่างดีเยี่ยม และได้รับเสียงตอบรับจากลูกค้าด้วยยอดจองประมาณ 20,000 คัน นับเป็นสัญญาณที่ดีในการเริ่มต้นปีสำหรับแบรนด์ Mercedes-EQ ซึ่งเป็นแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าของเมอร์เซเดส-เบนซ์สำหรับปี 2564" มร.บริตตา ซีเกอร์ กรรมการในคณะกรรมการบริหารเดมเลอร์ เอจี และเมอร์เซเดส-เบนซ์ เอจี ซึ่งกำกับดูแลงานด้านการตลาดและการขาย กล่าว ทั้งนี้รถยนต์ไฟฟ้า 100% รุ่น EQA มีกำหนดส่งมอบปลายเดือนมีนาคม 2564
"นอกเหนือจากรถยนต์รุ่น EQS, EQB และEQE เมอร์เซเดส-เบนซ์ จะนำเสนอรถยนต์ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องในปี 2564 โดยเปิดตัวรถในกลุ่มรถไฟฟ้าใหม่อีก 3 รุ่น รวมเป็น 6 รุ่น และล่าสุดเราได้นำเสนอรถยนต์ EQS ในฐานะรถยนต์รุ่นแฟลกชิพของเรา ซึ่งเราเชื่อมั่นว่า จะเป็นรถยนต์ที่ผู้ใช้ทั่วโลกจะชื่นชอบเป็นอย่างยิ่ง และจะเป็นรุ่นที่พลิกประสบการณ์การขับขี่ รวมถึงเรื่องการเชื่อมต่อกับบริการต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น" มร.บริตตา ซีเกอร์ กล่าวเพิ่มเติม ทั้งนี้ เมอร์เซเดส-เบนซ์จะยังคงขยายการเติบโตและสร้างความน่าสนใจให้กับกลุ่มรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าด้วยการนำเสนอรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดที่หลากหลายรวมแล้วราว 30 รุ่นจนถึงสิ้นปีนี้
มร. โรลันด์ โฟล์เกอร์ ประธานบริหาร บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า "เมอร์เซเดส-เบนซ์มีความภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้เห็นการฟื้นตัวของตลาดรถยนต์ลักชัวรีในไทย โดยในไตรมาสแรกของปี 2564 ด้วยความเชื่อมั่นของลูกค้าที่มีต่อแบรนด์เมอร์เซเดส-เบนซ์ ทั้งในเรื่องนวัตกรรม บริการที่ยอดเยี่ยม ตลอดจนวิสัยทัศน์ในการสร้างสรรค์ยานยนต์ รวมถึงเครือข่ายดิจิทัลของเทคโนโลยีแห่งอนาคต ทั้งหมดนี้ส่งผลให้เมอร์เซเดส-เบนซ์มียอดขายรถยนต์ที่จดทะเบียนที่กรมการขนส่งทางบกแล้วทั้งสิ้นถึง 3,178 คัน ครองส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 1 ของกลุ่มรถยนต์ลักชัวรี ทั้งนี้ยังเป็นผลมาจากการที่เราสามารถเพิ่มปริมาณรถยนต์ให้เพียงพอต่อการส่งมอบในเดือนมีนาคม โดยยังรวมถึงการนำเสนอรถยนต์รุ่นใหม่ ๆ ออกมาได้อย่างหลากหลายรุ่นมากที่สุดในตลาดรถยนต์ไทย โดยรถที่ได้ความนิยมสูงอยู่ในกลุ่มรถยนต์ Mercedes-AMG รถยนต์เอสยูวี และกลุ่มรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด ทั้งนี้ ยอดขายในไตรมาสที่ 1 ของปีนี้ ยังไม่รวมยอดจองในงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ 2021 ที่ผ่านมา ซึ่งเมอร์เซเดส-เบนซ์มียอดจองเป็นอันดับ 1 ของตลาดรถยนต์ลักชัวรีด้วยเช่นกัน และเช่นเดียวกับในตลาดโลก เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จะยังคงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยผลักดันการเติบโตของอุตสาหกรรมและตลาดรถยนต์ในประเทศไทย โดยเรามีแผนที่จะเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ 15 รุ่น ซึ่งรวมถึงรถยนต์รุ่นปลั๊กอินไฮบริดอีกหลายรุ่นด้วย เพื่อตอบรับกับความต้องการของลูกค้าได้อย่างตรงใจในปีนี้"
ยอดขายรถยนต์เมอร์เซเดส-เบนซ์ ในภูมิภาคและรายตลาดเป็นดังนี้
ยอดขายในตลาดเอเชีย-แปซิฟิกเพิ่มขึ้น 46.6% เป็นผลมาจากการเติบโตอย่างต่อเนื่องในประเทศจีนที่มีการส่งมอบรถยนต์ 222,520 คันในไตรมาสที่ 1 คิดเป็นการเติบโตถึง 60.1% เฉพาะในเดือนมกราคมที่ผ่านมาสร้างสถิติยอดขายถึงเกือบ 100,000 ภายในเวลาเพียง 1 เดือน ขณะที่ในยุโรป ท่ามกลางการมาตรการล็อกดาวน์ต่อเนื่องในช่วงต้นปีนี้ เราสามารถทำยอดขายได้สูงกว่าไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้วคือเพิ่มขึ้น 1.8%
ในเยอรมนี เมอร์เซเดส-เบนซ์ ทำยอดขาย 54,446 คัน (ลดลง 15.4%) ตลาดอเมริกาเหนือมียอดขายรวม 88,318 คัน (เพิ่มขึ้น 12.5%) ในจำนวนนี้ 78,256 คัน เป็นรถยนต์ที่ส่งมอบในตลาดสหรัฐอเมริกา (เพิ่มขึ้น 15.5%) นอกจากนี้ ในตลาดสหรัฐอเมริกา เมอร์เซเดส-เบนซ์ยังเป็นแชมป์ยอดขายสูงสุดของตลาดรถยนต์ลักชัวรีในไตรมาสแรกอีกด้วย
สรุปจำนวนยอดขายรถยนต์นั่งและรถตู้ของเมอร์เซเดส-เบนซ์ในตลาดโลก
จำนวนยอดขายทั่วโลก 581,270 คัน เพิ่มขึ้น 21.8% ระหว่างเดือนมกราคมถึงมีนาคม โดยยอดขายของรถยนต์ New S-Class ได้รับความนิยมจากลูกค้าเป็นอย่างดีด้วยสถิติยอดจองมากกว่า 50,000 คัน นอกจากนี้ การเติบโตของยอดขายของรถยนต์รุ่นต่าง ๆ ยังแบ่งออกได้ดังนี้ รถยนต์รุ่น S-Class เพิ่มขึ้น 17% กลุ่มรถยนต์อเนกประสงค์ SUV เพิ่มขึ้น 54.3% รถยนต์รุ่น E-Class ทั้งแบบรถยนต์นั่ง 4 ประตูและแบบเอสเตท เพิ่มขึ้น 23.9% ทั้งหมดนี้จึงเป็นที่มาของอัตราการเติบโตของยอดรถยนต์ส่งมอบยังแข็งแกร่งในระดับเลขสองหลัก สำหรับกลุ่มไฟฟ้าขนาดเล็กแบรนด์สมาร์ท (Smart) มียอดขายทั้งรถแบบ 2 ประตูและ 4 ประตูรวม 9,729 คัน มีอัตราการเติบโตรวมสูงถึง 65.9% จากความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นในเยอรมนี
จากสถานการณ์ที่หลายประเทศในยุโรปยังมีการล็อกดาวน์ กลุ่มรถตู้เพื่อการพาณิชย์มีอัตราเติบโต 18.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่แล้ว ยอดขายรวมของรถตู้สปรินเตอร์ วีโต้ วีโต้ทัวเรอร์ และ ซีตัน มีจำนวน 76,328 คัน ในสหรัฐอเมริกาและในยุโรปทำยอดขายรถตู้เพื่อการพาณิชย์ได้ดีกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ในยุโรปรถตู้ไฟฟ้าสปรินเตอร์ โดยรถยนต์รุ่น eSprinter และ eVito ถือเป็นรุ่นที่ช่วยเพิ่มการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ
"ยอดขายรถตู้ไฟฟ้า 1,200 คันในไตรมาสแรกนับว่าได้สร้างสถิติใหม่ของอัตราการเติบโตที่สูงถึง 150%เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เป็นการตอกย้ำเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ที่จะผลักดันการรถใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เมอร์เซเดส-เบนซ์จะเปิดตัวรถตู้รุ่นซีตัน (Citan) ใหม่ โดยจะมีรุ่นที่เป็นรถไฟฟ้าตามมาในปีหน้า นั่นหมายความว่า เมอร์เซเดส-เบนซ์จะเป็นแบรนด์รถยนต์ที่มี รถตู้ไฟฟ้าในทุกเซกเมนต์" มร. มาร์คุส ไบรท์ชแวท หัวหน้ากลุ่มรถยนต์ตู้ กล่าวแสดงความมั่นใจ