คปภ.คลอดมาตรการห้ามแอลกอฮอล์เกิน 50 มิลลิกรัม เริ่ม 1 มิ.ย.นี้
สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ปรับมาตรการใหม่ "เมาแล้วขับ" หากตรวจพบว่ามีปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จากเดิมที่ 150 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ บริษัทประกันภัยของรถคันที่เอาประกันภัยฝ่ายผิดจะต้องให้ความคุ้มครองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้ที่ได้รับความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน โดยบริษัทประกันภัยจะไปไล่เบี้ยเรียกคืนค่าสินไหมทดแทนที่บริษัทจ่ายไปจากผู้ขับขี่ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกว่า 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ต่อไป
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันอุบัติเหตุบนถนนในประเทศไทย มีสถิติผู้เสียชีวิตสูงเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคอาเซียน จำเป็นต้องใช้หลายมาตรการในการขับเคลื่อนและมีการบูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยจากสถิติข้อมูลพบว่าสาเหตุการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่พบอันดับต้นๆ คือ การเมาแล้วขับ เนื่องจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ทำให้ความสามารถในการขับขี่ลดลง ที่ผ่านมาสำนักงาน คปภ. ทำงานร่วมมือกับหลายฝ่ายและหน่วยงานต่างๆ เช่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มูลนิธิเมาไม่ขับ คณะกรรมการวิสามัญขับเคลื่อนการปฏิรูประบบความปลอดภัยทางถนน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ฯลฯ เพื่อรณรงค์ประชาสัมพันธ์ ตลอดจนร่วมกันหาแนวทางและมาตรการต่างๆ เพื่อลดอุบัติเหตุบนท้องถนน ซึ่งหลายฝ่ายเห็นตรงกันว่า ลำพังมาตรการเดิมๆ ที่เคยใช้รณรงค์ลดอุบัติเหตุ ในช่วงเทศกาลวันหยุดเพียงอย่างเดียวนั้น ไม่สามารถลดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ จึงจำเป็นต้องมีมาตรการใหม่ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างจริงจัง และหนึ่งในกลไกสำคัญคือการใช้มาตรการทางด้านประกันภัยอย่างเต็มศักยภาพเพื่อช่วยลดอุบัติเหตุ
ประกอบกับการศึกษาข้อมูลต่างๆ ทั้งข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย รวมทั้งรับฟังข้อเสนอแนะต่างๆ เกี่ยวกับข้อดี ข้อเสีย อย่างรอบคอบแล้ว สำนักงาน คปภ. เห็นว่า การปรับแก้ข้อยกเว้นในกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์เรื่องลดปริมาณแอลกอฮอล์ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบกกำหนด จะเป็นผลดีต่อประชาชนมากกว่า โดยจะเป็นมาตรการที่ช่วยส่งเสริมการรณรงค์เมาไม่ขับ และช่วยสนับสนุนความปลอดภัยทางถนนตามแผนการปฏิรูประบบความปลอดภัยทางถนนอย่างยั่งยืน อันจะช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนอย่างเป็นรูปธรรม
ดังนั้นเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2560 ตนในฐานะนายทะเบียนอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 29 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ.2535 โดยออกคำสั่งนายทะเบียนที่ 11/2560 เรื่องให้แก้ไขแบบ ข้อความกรมธรรม์ประกันภัย และเอกสารแนบท้ายของกรมธรรม์ประกันภัย ทั้งนี้เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนมาตรการส่งเสริมความปลอดภัยทางถนน และเสริมสร้างวินัยจราจรแก่ประชาชน โดยเป็นการปรับแก้ข้อยกเว้นตามคำสั่งนายทะเบียนที่ 22/2551 ลงวันที่ 29 กันยายน พ.ศ.2551 ข้อ 2 และ ข้อ 3 (เดิม) "การขับขี่โดยบุคคลซึ่งในขณะขับขี่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเส้นเลือดไม่น้อยกว่า 150 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์และเอกสารแนบท้ายของกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ที่บริษัทได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียน แก้ไขข้อความเป็น "การขับขี่โดยบุคคลซึ่งในขณะขับขี่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกว่า 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นไปตามกฎกระทรวงฉบับที่ 16 (พ.ศ. 2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 กำหนดให้ถือว่า "เมาสุรา" ซึ่งคำสั่งนี้ให้มีผลใช้บังคับสำหรับการทำสัญญาประกันภัยกับบริษัทประกันภัยตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2560 เป็นต้นไป ทั้งนี้เพื่อให้สำนักงาน คปภ. และบริษัทประกันภัยได้มีระยะเวลาในการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน และให้บริษัทประกันภัยได้มีเวลาเตรียมความพร้อมในการปรับแก้เอกสารเกี่ยวข้องกับการเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยให้กับผู้เอาประกันภัย ตลอดจนความพร้อมด้านข้อมูลที่จะต้องแจ้งให้ผู้เอาประกันภัยทราบ เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนเกี่ยวกับเงื่อนไขที่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
สำหรับสาระสำคัญของคำสั่งนายทะเบียนนี้ คือ กรณีที่ผู้ขับขี่รถเอาประกันภัยภาคสมัครใจ มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกว่า 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ประสบอุบัติเหตุจะไม่ได้รับความคุ้มครองทั้งชีวิตและทรัพย์สินจากกรมธรรม์ แต่ในส่วนของผู้ประสบภัยหรือบุคคลภายนอกที่ได้รับความเสียหายจากรถคันที่เอาประกันภัยดังกล่าวยังคงได้รับความคุ้มครอง โดยบริษัทประกันภัยของรถคันที่เอาประกันภัยฝ่ายผิดจะต้องให้ความคุ้มครองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้ที่ได้รับความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน โดยบริษัทประกันภัยจะไปไล่เบี้ยเรียกคืนค่าสินไหมทดแทนที่บริษัทจ่ายไปจากผู้ขับขี่ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกว่า 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ต่อไป ทั้งนี้การปรับเปลี่ยนปริมาณแอลกอฮอล์ดังกล่าว ไม่กระทบต่อความคุ้มครองของการประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.)
มาตรการต่างๆ ด้านประกันภัย ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการลดเบี้ยประกันภัยให้กับผู้เอาประกันภัยที่ติดกล้อง CCTVภายในรถยนต์ และในเรื่องการปรับลดปริมาณแอลกอฮอล์ให้เป็นไปตามกฎหมายจราจรทางบก ทั้งสองมาตรการที่ออกมาในช่วงนี้ก็เพื่อเป็นกลไกที่ช่วยลดอุบัติเหตุทางถนน โดยจะทำให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญในการใช้รถใช้ถนนอย่างระมัดระวังและมีความปลอดภัย ซึ่งจะส่งผลให้สามารถลดจำนวนอุบัติเหตุบนท้องถนน อีกทั้ง ยังเป็นการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ประชาชนมีความปลอดภัยจากอุบัติเหตุบนท้องถนน