สุดล้ำ! รถขยะที่ (ไทย) ควรมีใช้ในอนาคต "Morita Press Master"
สุดล้ำ! รถขยะที่ (ไทย) ควรมีใช้ในอนาคต "Morita Press Master" เป็นรถขยะที่ทาง Morita Econos ได้ออกแบบและผลิตออกจำหน่ายมาตั้งแต่ปี 2016 ซึ่งล่าสุด ได้รับรางวัลผลิตภัณฑ์ดีเด่นจากงาน iF Design Award 2017 ที่ประเทศเยอรมนีมาด้วยครับ ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของรถขยะที่ได้รับรางวัลนี้
สำหรับงาน iF Design Award เป็นงานแจกรางวัลสำหรับวงการออกแบบผลิตภัณฑ์ ที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดรางวัลหนึ่งของโลก จัดขึ้นในประเทศเยอรมนีตั้งแต่ปี 1953 มีมาตรฐานการตัดสินที่เที่ยงธรรม น่าเชื่อถือ ภายใต้การสนับสนุนจากองค์กร International Forum Design GmbH ประเทศเยอรมนี โดยในแต่ละปีคณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยนักออกแบบที่มีชื่อเสียงระดับโลก จะคัดเลือกผลงานที่ได้รับรางวัล โดยพิจารณาทั้งในด้านความปลอดภัยและความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยการประกวดแบ่งออกเป็น Product, Packaging, Communication, Interior Architecture, Professional Concept, Service Design / UX และ Architecture
Morita Group หลายคนอาจไม่รู้จักว่าเป็นกลุ่มบริษัทอะไร? บริษัทนี้ถือกำเนิดขึ้นในปี 1907 ดัดแปลงและผลิตรถดับเพลิงออกจำหน่ายในประเทศญี่ปุ่นและส่งออกไปยังต่างประเทศ รวมไปถึงรถบรรทุกเพื่องานอื่นๆ เช่น รถขยะ รถน้ำ เครื่องดับเพลิง เครื่องรีไซเคิลขยะ เครื่องทำลายรถยนต์เก่า และชุด Lumbar Support เป็นต้น โดย Morita Econos นั้นเป็นบริษัทในเครือ Morita Group
สำหรับรถขยะที่ทาง Morita Econos ผลิตออกมาจำหน่ายมีหลายแบบ แต่ที่เด่นๆ มีอยู่ 3 แบบ นั่นคือระบบการทำงานแบบ Press-type Garbage Collector (Press Master), Rotary Extrusion Garbage Collector (Pack Master) และ Rotary Dump Garbage Collector (Pack Master) โดยในครั้งนี้เราขอนำเสนอเฉพาะตัว Motira Press Master เท่านั้น
Motira Press Master รูปทรงภายนอกดีไซน์ดูทันสมัยและปกปิดมิดชิด เรียบและกลมกลืนต่างจากรถขยะแบบก่อนๆ มีฝาปิดด้านท้ายขนาดใหญ่ ลากขึ้น-ลง ได้ เพื่อป้องกันกลิ่นและชิ้นส่วนของขยะหลุดรอดออกมา ดูแล้วก็สวยดีทีเดียว ต่างจากรถขยะของประเทศไทยอย่างเห็นได้ชัด อีกทั้งรถขยะเป็นรถบรรทุก 6 ล้อขนาดเล็ก ให้ความคล่องตัวเวลาเข้าในซอยแคบๆ มาพร้อมชุดไฟท้ายแบบ LED บริเวณด้านบน ให้ความสว่างแต่ไกล อีกทั้งยังมีตัวหนังสือคันจิ ที่แปลว่า "กำลังทำงาน" ให้ผู้ที่ตามหลังมาได้ทราบ
ระบบอัดขยะนั้นดูไม่ต่างจากรถขยะของบ้านเราเท่าใดนัก ใช้ชุดอัดขยะด้วยกระบอกไฮดรอลิกเป็นตัวอัดขยะ และชุดยกชุดอัดขยะเป็นกระบอกไฮดรอลิก ตัวรถสามารถรับน้ำหนักได้มากถึง 1,750-2,050 กิโลกรัม ซึ่งมากกว่าเดิมถึง 20% (ขึ้นอยู่กับขนาดตัวรถ และขนาดถังเก็บขยะ) พร้อมกับปุ่มควบคุมการทำงาน ความจุถังเก็บขยะมีให้เลือกตั้งแบบขนาด 4.1 ลบ.ม. ไปจนถึงขนาด 10 ลบ.ม.
ขณะทำงานนั้นระบบไฟเตือนจะกะพริบเองอัตโนมัติ รวมถึงมีกล้องมองภาพด้านหลังเพื่อให้คนขับตรวจสอบความเรียบบร้อยได้
ถือได้ว่าเป็นรถขยะของประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างแท้จริง ซึ่งช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้คนเก็บขยะทำงานได้สะดวกสบายมากขึ้นด้วย ส่วนในบ้านเรานั้น คนเก็บขยะก็ยังต้องทนยืนโหนอยู่ทางด้านท้าย เพื่อจะเก็บขยะจากถังขยะ ที่ผ่านการคัดแยกน้อยมากมาเทรวมๆ กัน ลงท้ายรถ จากตามถนนหรือตามตรอกซอกซอยกันต่อไป