ยกเลิกรถตู้สาธารณะ 1 ก.ค.นี้ เปลี่ยนมาใช้ไมโครบัส
ภาพจาก www.thairath.co.th
กระทรวงคมนาคมเตรียมยกเลิกรถตู้ขนส่งสาธารณะพร้อมทยอยใช้ไมโครบัสแทน ทั้งการขนส่งระหว่างจังหวัดและในจังหวัดก่อนสิ้นปี 60 หลังจากเกิดเหตุการณ์รถตู้พุ่งข้ามฝั่งประสานงากับรถปิคอัพและมีผู้เสียชีวิต 25 ราย และไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะการเกิดอุบัติเหตุจากรถตู้ขนส่งสาธารณะนั้น มักมีข่าวอยู่บ่อยครั้ง ทั้งจากการผู้ขับขี่ที่ประมาท ใช้ความเร็วสูงเกินกำหนด หรือสภาพรถไม่พร้อมใช้งาน เช่น ดอกยางสึก เบาะนั่งไม่มีเข็มขัดนิรภัย การบรรทุกผู้โดยสารเกินจริงหรือการไม่ตรวจเช็คความพร้อมของรถตู้เองก็ตาม จึงกลายเป็นจำเลยหลักในการยกเลิกการขนส่งสาธารณะโดยรถตู้ในวันนี้
นายพิชิต อัคราทิตย์ รมช.คมนาคม เผยว่า การจัดระเบียบรถตู้โดยสารสาธารณะโดยการเปลี่ยนไปเป็นรถไมโครบัส เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการโดยสารและลดการสูญเสียจากอุบัติเหตุ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.นี้ เป็นต้นไป จะต้องเริ่มทยอยปรับเปลี่ยนรถตู้โดยสารสาธารณะหมวด 2 วิ่งให้บริการ กทม.-ต่างจังหวัด และหมวด 3 วิ่งให้บริการระหว่างจังหวัดกับจังหวัด เป็นรถไมโครบัส ให้เริ่มพร้อมกันทั้ง 2 หมวด สำหรับรถตู้หมวด 2 ปัจจุบันมี 6,431 คัน เบื้องต้นได้หารือกับบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ในฐานะเจ้าของสัมปทานแล้ว และกำหนดให้ บขส.ต้องเร่งรัดให้ผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนเป็นรถไมโครบัสให้แล้วเสร็จทั้งหมด ภายในสิ้นปี 60 เนื่องจากเป็นรถหมวดที่มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุบ่อยและเกิดความสูญเสียรุนแรง บขส.รับปากว่าจะปรับเปลี่ยนรถหมวด 2 ทั้งหมดให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้
ภาพจาก www.sakhononline.com แม้ว่าหลายฝ่ายจะมองว่ารถไมโครบัสจะมีราคาแพงกว่ารถตู้ แต่มีความปลอดภัย อายุการใช้งานมากกว่าบรรทุกผู้โดยสารได้มากกว่าคือประมาณ 20 ที่นั่ง ขณะที่รถตู้บรรทุกได้แค่ 14 ที่นั่ง ทำให้ต้นทุนผู้ประกอบการถูกลง รวมทั้งการใช้รถตู้เป็นรถโดยสารสาธารณะยังเป็นการใช้รถที่ผิดวัตถุประสงค์อีกด้วย จึงต้องเร่งรัดเปลี่ยนรถหมวด 2 ให้เสร็จก่อน
รถตู้หมวด 3 ปัจจุบันมี 2,771 คัน ส่วนใหญ่อยู่ในความดูแลของกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ตั้งเป้าให้ทยอยเปลี่ยนพร้อมกับหมวด 2 แต่จะยืดหยุ่นกรอบเวลาแล้วเสร็จให้นานกว่า เพราะมีจำนวนเส้นทางเดินรถ ความถี่ในการเดินรถ และสถิติการเกิดอุบัติเหตุที่น้อยกว่าหมวด 2 แต่จะต้องเริ่มทยอยเปลี่ยนพร้อมกันทั้ง 2 หมวด
ทั้งนี้ยอมรับว่าการเร่งรัดให้ปรับเปลี่ยนรถตู้เป็นไมโครบัสอาจจะกระทบต้นทุนของผู้ประกอบการ แต่เป็นสิ่งจำเป็นต้องทำเพราะเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของผู้โดยสาร ซึ่งต่อไปผู้ประกอบการจะต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วย อาจจะออกมาตรการจูงใจให้มีการปรับเปลี่ยนรถ ด้วยการขยายอายุสัมปทานการเดินรถให้ จากปกติที่ให้สัมปทาน ครั้งละ 3 ปี การประสานกับสถาบันการเงินของรัฐบาลในการปล่อยกู้เพื่อจัดซื้อรถไมโครบัส และการช่วยประสานเรื่องการนำรถตู้เก่าขายทอดตลาด ส่วนมาตรการขอยกเว้นภาษีนำเข้ารถไมโครบัสอาจยังไม่จำเป็นในขณะนี้
ภาพจาก www.toyota.com
กระทรวงคมนาคมจะปรับเปลี่ยนระบบการบริหารจัดการรถตู้โดยสารสาธารณะ มีแนวคิดจะยกเลิกการออกใบอนุญาตประกอบการรถตู้โดยสารสาธารณะส่วนบุคคล โดยกำหนดให้การประกอบการรถตู้โดยสารสาธารณะจะต้องดำเนินการในลักษณะของนิติบุคคลเท่านั้น เนื่องจากต้องการให้ผู้ประกอบการมีส่วนในการกำกับดูแลกันเองและให้มีความรับผิดชอบต่อการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้นๆ ด้วย
ภาพจาก www.toyota.com.au
อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนประเภทรถยนต์ขนส่งสาธารณะให้มีความปลอดภัยมากขึ้นนับว่าเป็นสิ่งที่ดีและจำเป็นต่อประชาชน แต่รถยนต์เหล่านั้นถูกควบคุมโดยคนขับ ฉะนั้นควรมีมาตรการขั้นเด็ดขาดเอาผิดกับผู้ขับหรือผู้ประกอบการที่ไม่มีความรับผิดชอบ ปล่อยปละละเลยความปลอดภัยของรถยนต์และผู้โดยสาร พร้อมกับจัดอบรมจิตสำนึกที่ดีให้มีความเป็นสาธารณะมากขึ้นกว่าปัจจุบันนี้