MG พาชมศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ภาพจาก www.ldd.go.th
MG น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 หาที่สุดมิได้ จึงได้จัดกิจกรรม One Day Trip with MG ในตอน "เยือนเมืองแปดริ้ว สัมผัสแม่น้ำบางปะกง เดินตามรอยพ่อหลวง" พร้อมสัมผัสสมรรถนะรถยนต์ เอ็มจี จีเอส อีกครั้ง พร้อมสื่อมวลชนเข้าชม "ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ" ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา
ภาพจาก www.khaohinsorn.com
ความเป็นมาของศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
"เป็นสถานที่แห่งหนึ่งที่คนทุกระดับ สามารถจะมาดู จะว่าเป็นโรงเรียนก็ไม่ใช่ แต่ว่าเป็นที่มาดูมาศึกษาก็ได้.. คือหมายความว่าทุกหน้าที่สามารถมาดูได้ ในแห่งเดียวกันวิธีการที่จะพัฒนาในสายต่างๆ ของวิชาการ อันนี้เท่ากับเหมือนพิพิธภัณฑ์ที่จะมาดูอะไร มีวิชาการใดที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา...."
เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พุทธศักราช 2522 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้เสด็จพระราชดำเนิน ไปทรงเปิดศาลบวรราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ราษฎรได้น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินหมู่ที่ 2 ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา จำนวน 264 ไร่ พระองค์ได้เสด็จฯ ทอดพระเนตรที่ดินดังกล่าว และทรงมีพระราชดำริกับอำเภอ จังหวัด และหน่วยราชการต่าง ๆ ได้แก่ กรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน กรมป่าไม้ กรมปศุสัตว์ ให้ร่วมกันพัฒนาพื้นที่แห่งนี้จัดทำเป็นศูนย์ศึกษาตัวอย่าง สาธิตการพัฒนาด้านการเกษตรกรรมและงานศิลปาชีพ เพื่อเป็นแหล่งให้เกษตรกรตลอดจนผู้สนใจได้เข้าชมศึกษา ค้นคว้า หาความรู้เพิ่มเติมได้
ภาพจาก www.khaohinsorn.com ซึ่งก่อนหน้านี้ราษฎร 7 ราย ได้น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินจำนวน 264 ไร่ เพื่อต้องการให้สร้างพระตำหนัก ด้วยเห็นว่าทรงเสด็จมาหลายครั้ง แต่พระองค์ทรงถามกลับว่า "ถ้าหากไม่สร้างตำหนัก แต่ว่าสร้างเป็นสถานที่ที่จะศึกษาเกี่ยวกับการเกษตรจะเอาไหม เขาก็บอกยินดีก็เลยทำในที่นั้น..."
ด้วยความที่พระองค์ทรงมองการไกลและเล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาพื้นดินที่แห้งแล้งนั้น จึงเกิดเป็นโครงการนี้ขึ้นมาและเป็นแบบอย่างของโครงการอื่นๆ ทั่วประเทศอีกหลายแห่ง นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งเรียนรู้แก่ประชาชนให้พึ่งพาตนเองได้อีกด้วย
นับแต่เริ่มตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน ได้มีราษฎรที่มีจิตศรัทธาน้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินเพิ่มเติมอีก 497 ไร่ ผนวกกับที่ดินบริเวณสวนรุกขชาติและสวนพฤกษศาสตร์ รวมเป็นเนื้อที่ทั้งหมดของศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน 1,895 ไร่เศษ เพื่อสาธิตให้เป็นตัวอย่างและให้บริการแก่ราษฎรด้วย โดยต่อมาได้พระราชทานนามว่า "ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา" อีกประการหนึ่งนับว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างใหญ่หลวง คือ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานพื้นที่ส่วนที่ติดกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนประมาณ 655 ไร่ ให้เป็นพื้นที่ทำการศึกษาวิจัยและทดสอบการพัฒนาทางด้านเกษตรกรรมเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องแน่นอนขึ้น เป็นการสนับสนุนศูนย์ศึกษาฯ อีกด้านหนึ่งด้วย
ภาพจาก www.khaohinsorn.com
คลิกที่รูปเพื่อขยาย ภาพจาก www.khaohinsorn.com วัตถุประสงค์
- เพื่อยกระดับรายได้ของเกษตรกรในบริเวณลุ่มน้ำห้วยเจ็กและห้วยน้ำโจน ซึ่งอยู่ในเขตตำบลเขาหินซ้อนและตำบลเกาะขนุน มีพื้นที่ปริมาณ 56,000 ไร่ มีรายได้พอเพียงต่อการยังชีพ คือ ประมาณ 20,000 บาทต่อครอบครัวต่อปี และจะใช้พื้นที่เป็นพื้นที่พัฒนาตัวอย่าง เพื่อให้ศึกษาแนวทางการพัฒนาท้องที่อื่นๆต่อไป
- เพื่อเป็นแหล่งศึกษาทางวิชาการ ในการหาลู่ทางพัฒนาการเกษตร และอาชีพของเกษตรกรในภาคตะวันออกโดยเฉพาะในจังหวัดฉะเชิงเทราและจังหวัดปราจีนบุรี
- เพื่อเป็นแหล่งฝึกอบรม ให้ความรู้ทางวิชาการด้านการเกษตรและด้านศิลปาชีพพิเศษแก่เกษตรกร
ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา
- จัดทำการเกษตรทฤษฎีใหม่ และการเกษตรผสมผสาน
- จัดทำพื้นที่นำร่องการปลูกพืชสมุนไพร
- สาธิตและส่งเสริมการเพิ่มศักยภาพของที่ดินเพื่อปลูกมันสำปะหลัง
- สาธิตและผลิตกล้าหญ้าแฝกเพื่อปลูกและเพื่อแจกจ่าย
- จัดระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ
- ขุดลอกลำห้วยธรรมชาติ
- จัดทำทางลำเลียงในไร่นา บ่อน้ำประจำไร่นา อาคารชะลอน้ำล้นท่อลอดระบายน้ำ ซ่อมแซมทางลำเลียงในไร่นา
- ปรับรูปแบบแปลงนา ปรับปรุงพื้นฟูพื้นที่บ่อทรายร้าง
- อบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร การทำบัญชีฟาร์ม และอบรมการทำขนมจากแป้งฟลาวมันสำปะหลัง
ภาพจาก www.ldd.go.th
ภายในศูนย์ฯ ประกอบด้วยหน่วยงานมากมาย คือ
- งานพัฒนาที่ดิน
- งานวิชาการเกษตร
- งานส่งเสริมและพัฒนา
- งานส่งเสริมสหกรณ์
- งานส่งเสริมการเกษตร
- งานปศุสัตว์
- งานประมง
- งานชลประทาน
- งานสวนพฤกษศาสาตร์
- งานสวนรุกขชาติ
- งานเพาะชำกล้าไม้
- งานพัฒนาชุมชน
- วิทยาลัยเกษตรฯ
ให้บริการความรู้แก่ประชาชนได้แก่ พิพิธภัณฑ์ดิน การศึกษาดูงาน ประชุมสัมนา บริการที่พัก บริการวิเคราะห์ดิน และโครงการฝึกอบรม
ภาพจาก www.khaohinsorn.com การเดินทางมาเยี่ยมชมศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริครั้งนี้ นับว่าไม่ไกลจากกรุงเทพฯ มากนัก ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ไม่กี่ร้อยกิโลเมตรเท่านั้น สามารถเดินทางมาเป็นครอบครัวหรือหมู่คณะก็ได้ ยินดีต้อนรับเต็มที่ พร้อมให้คำแนะนำและข้อมูลต่างๆ เพื่อนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ ตามหลัก "เศรษฐกิจ พอเพียง"
ตึกศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนหรือ "บ้านของพ่อ"
แบบจำลองบริเวณศูนย์ฯ
แปลงนาสาธิตที่เพิ่งเกี่ยวข้าวไปแล้ว ระบบปั๊มน้ำพลังงานแสงอาทิตย์พร้อมค่าใช้จ่ายในการสร้างเพียง 20,000 กว่าบาท
แปลงพืชผักต่างๆ
โรงเลี้ยงไก่
โรงเลี้ยงเป็ด
ต้นถั่วฝักยาว
พลับพลาพระรามใช้ทรงงาน
พื้้นที่ใช้ทรัพย์ส่วนพระองค์ที่ใช้เป็นแหล่งศึกษาทางการเกษตร
บรรยากาศร่มรื่น
พระตำหนักสามจั่วที่ดูเรียบง่ายในเขตส่วนพระองค์ที่ทรงออกแบบเองโดยใช้หลักการเข้าลิ่มของไม้และไม่ใช้ตะปู
โรงสีข้าวพระราชทาน
ภาพการพัฒนาพื้นที่เขาเชิงซ้อนตั้งแต่ พ.ศ.2522
แทบไม่น่าเชื่อสายตาว่า พื้นที่แห่งนี้เคยเป็นดินทรายมาก่อน แม้แต่จะปลูกมันสำปะหลังก็ยังไม่ขึ้น เพราะดินเสียหมดแล้ว แต่เพราะพ่อหลวงของเราที่ทรงงานหนักและมีสายพระเนตรอันกว้างไกล แม้หลายฝ่ายทูลเกล้าว่าพัฒนาไปก็เสียเวลาเปล่าเพราะดินเสียหมดแล้ว ซึ่งในวันนั้นทรงได้ตรัสกับข้าราชบริพารทั้งหลายเหล่านั้นในทำนองว่า "หากไม่มีคนเริ่มก็ไม่สำเร็จ ฉะนั้นเราจะเป็นผู้เริ่มเอง" จากปี 2522 ถึงปัจจบัน (2559) นับเป็น 37 ปี ที่คนในพื้นที่เห็นประโยชน์ที่พระองค์ได้ทรงริเริ่มไว้แล้ว นับเป็นพระมหากรุณธิคุณอันหาที่สุดมิได้
MG GS 2.0 Tubo
ขอขอบคุณบริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์ - ซีพี จำกัด และ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายรถยนต์เอ็มจีในประเทศไทย ที่ได้จัดกิจกรรม One Day Trip with MG ให้สื่อมวลชนร่วมสัมผัสประสบการณ์ดีๆ "เยือนเมืองแปดริ้ว สัมผัสแม่น้ำบางปะกง เดินตามรอยพ่อหลวง" พร้อมสัมผัสสมรรถนะรถยนต์ เอ็มจี จีเอส กันอย่างจุใจอีกครั้ง