สำหรับการเลือกซื้อประกันให้กับ รถครอบครัว นั้นเป็นที่ควรจะต้องทำถึงแม้จะมี พ.ร.บ. หรือ ประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ ให้รถทุกคันต้องทำเพื่อจะได้คุ้มครองชีวิตของประชาชนที่เจออุบัติเหตุ แต่ไม่ได้ให้ความคุ้มครองตัวรถ อีกทั้งถ้ารถคันไหนไม่ทำ พ.ร.บ. แล้วล่ะก็จะไม่สามารถยื่นต่อภาษีประจำปี และผิดกฎหมาย (ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535) แต่ ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ ที่ซื้อจากบริษัทประกันภัยต่าง ๆ นั้นเป็นประกันที่ไม่ได้มีการบังคับจะซื้อหรือไม่ก็ได้ แต่เจ้าของรถส่วนใหญ่มักจะซื้อประกันเอาไว้ เพื่อรับความคุ้มครองให้กับรถครอบครัวซึ่งจะมีให้เลือกเป็นหลายชั้นประกัน ที่เราคุ้น ๆ กันก็ ชั้น 1, ชั้น 2 และ ชั้น 3 ต่อมาก็ได้มีการเพิ่ม ชั้น 2+, ชั้น 3+ เพิ่มตามมา
แต่ก่อนที่จะตัดสินใจเลือกซื้อประกันให้ รถครอบครัว ควรดูอะไรบ้างนั้น ตอบได้คร่าว ๆ ก็คือ เลือกซื้อกับบริษัทประกันที่เชื่อถือได้, เลือกชั้นประกันภัยกับความคุ้มครองที่เหมาะกับคุณมากที่สุด, ทำความเข้าใจกับประกันภัยที่กำลังจะซื้อ และ เปรียบเทียบราคากับบริษัทอื่น ๆ ก่อนตัดสินใจ
- เลือกซื้อกับบริษัทประกันที่เชื่อถือได้ : การซื้อประกันภาคสมัครใจก็ควรเลือกบริษัทที่มีบริการที่ดี ไม่มีปัญหาในการเคลม และมีศูนย์ซ่อมหรืออู่ครอบคลุม หรือมีอยู่ใกล้บ้าน ที่สำคัญเลยคือบริษัทนั้น ๆ จะต้องมีความมั่นคงน่าเชื่อถือในระยะยาว
- เลือกชั้นประกันภัยกับความคุ้มครองที่เหมาะสมมากที่สุด : ถัดจากการเลือกบริษัทประกันแล้วก็คือ การเลือกชั้นประกันและความคุ้มครองที่จะได้รับให้เหมาะกับตัวคุณ และครอบครัว
- ทำความเข้าใจกับประกันภัยที่กำลังจะซื้อ : ต่อมาคือการศึกษาเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัย ว่ามีความคุ้มครองอะไร มีการยกเว้นอะไรบ้าง เพราะบางคนเลือก จ่าย จบ แต่ไม่ได้้ทำความเข้าใจ ไม่ได้ศึกษาในรายละเอียดให้ดี ทำให้ความคุ้มครองไม่ตรงกับที่ต้องการ ก็จะเป็นเสียเงินไปโดยเปล่าประโยชน์ (จ่ายเกินจำเป็น) ฉะนั้น อ่านรายละเอียด และทำความเข้าใจในเงื่อนไขให้ดีก่อนตกลงทำประกัน
- เปรียบเทียบราคากับบริษัทอื่น ๆ ก่อนตัดสินใจ : ในจุดนี้ต้องอย่าลืมว่า บริษัทประกันภัยไม่ได้มีรายเดียว ควรจะเปรียบเทียบราคา ความคุ้มครอง ซึ่งในขณะนี้การซื้อประกันก็จะมีให้ซื้อกับทางตรงกับบริษัทประกัน หรือทางออนไลน์, ผ่านโบรกเกอร์, ผ่านตัวแทน จึงไม่ใช่เรื่องยากที่คุณจะสอบถามรายละเอียดเพื่อนำข้อมูลมาเปรียบเทียบกันเพื่อจะได้ราคาที่ดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการซื้อใหม่หรือต่ออายุประกัน
แล้วความคุ้มครองที่คุณจะเลือกซื้อ เพื่อที่จะได้ประกันภัยรถยนต์ที่ตรงกับความต้องการมากที่สุด ก็จะถูกแบ่งย่อยออกมาได้คร่าว ๆ ดังนี้
- ประกันภัยชั้น1 : เป็นชั้นประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองสูงสุดแก่รถยนต์ทั้ง 2 ฝ่าย (เมื่่อคุณหรือผู้เอาประกันเป็นฝ่ายทำผิด) ทั้งยังให้ความคุมครองครอบคลุมมากที่สุด และยังคุ้มครองไปถึงการชนแบบไม่มีคู่กรณี แต่ก็มีข้อเสียตรงที่จะมีราคาค่าเบี้ยประกันแพงกว่าชั้นประกันอื่น ๆ แต่ก็จะเหมาะสำหรับรถใหม่ป้ายแดง, ผู้ขับมือใหม่ที่มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
- ประกันภัยชั้น 2 : เป็นชั้นที่ให้ความคุ้มครองคู่กรณีในกรณีบาดเจ็บ ทรัพย์สิน แต่ก็ให้ความคุ้มครองตัวรถจากเหตุหาย, ไฟไหม้ แต่ไม่คุมครองกรณีอุบัติเหตุถ้าคุณเป็นฝ่ายผิด แต่ชั้นประกันนี้เหมาะกับผู้ขับขี่ที่มีประสบการณ์(ชำนาญ) หรือไม่ค่อยได้ใช้รถ
- ประกันภัยชั้น 2+ : สำหรับผู้ที่อยากได้คุ้มครองแบบชั้น 1 แต่ดีกว่าตรงที่ค่าเบี้ยถูกกว่า เพราะจะให้ความคุ้มครองทั้งคุณ และคู่กรณี (ไม่คุ้มครองการชนแบบไม่มีคู่กรณี)
- ประกันภัยชั้น 3 : ในชั้นนี้จะให้ความคุ้มครองในส่วนชีวิต และทรัพย์สินของคู่กรณี หากคุณเป็นฝ่ายผิด แต่จะไม่มีการคุ้มครองคุณ (เจ้าของรถ) ในทุกกรณี แต่ก็มีข้อดีตรงที่เป็นประกันที่มีราคาถูกที่สุด เหมาะกับรถที่ไม่ค่อยได้ใช้งาน และปลอดภัยจากโจรกรรมและไฟไหม้
- ประกันภัยชั้น 3+ : เป็นประกันที่เพิ่มเติมความคุ้มครองรถของผู้เอาประกันเมื่อเกิดอุบัติเหตุ จึงเป็นทางเลือกที่จ่ายน้อยกว่า แต่ได้ความคุ้มครองมากขึ้น
เมื่อตัดสินใจได้แล้วว่าจะทำประกันชั้นไหนแล้ว ก็มาดูกันต่อว่าจะเลือกทำประกันกับบริษัทประกันภัยรายเดิมดี หรือจะทำประกันกับบริษัทรายใหม่ดี?
สำหรับการเลือกซื้อประกันภัยกับบริษัทเดิมนั้นมีข้อดีตรงที่มีความคุ้นเคยอยู่แล้วว่าการบริการเป็นอย่างไร ตอบโจทย์ของคุณมั้ย ข้อดีคือคุณจะได้รับส่วนลดเบี้ยประกันภัยเพิ่มเติมจากการมีประวัติดี ถ้ายังรู้สึกดีก็ซื้อต่อได้แต่ถ้าไม่โอเคก็เปลี่ยนบริษัทที่มักจะมีโปรโมชัน ข้อเสนอ และรายละเอียดปลีกย่อยอื่น ๆ ให้คิดก่อนเลือกว่าะบริษัทไหน แต่ควรเลือกซื้อในช่วงก่อนประกันหมดอายุ 1-3 เดือน (จะได้มีเวลาเปรียบเทียบ) และซื้อให้มีความคุมครองต่อเนื่องจากกรมธรรม์เดิมทันทีเพื่อไม่ให้มีช่วงรอบต่อที่ประกันไม่คุ้มครอง เพราะไม่รู้ว่าอุบัติเหตุจะเกิดเมื่อไหร่
สำหรับส่วนลดเบี้ยประวัติดีคืออะไรนั้น ก็ต้องบอกว่าต้องขอบคุณ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ. ที่ระบุว่าผู้ที่ไม่มีประวัติการเคลมตลอดระยะเวลาที่กรมธรรม์ให้ความคุ้มครอง ก็จะมีสิทธิ์ได้รับส่วนลดค่าเบี้ยประกันในปีถัดไป เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ใช้รถใช้ด้วยความระวัง และลดการสูญเสีย รวมถึงเป็นประโยชน์กับผู้ที่ทำประกันภัยรถยนต์ด้วย โดยถ้ามีประวัติดีในปีที่ 1 ก็จะได้รับส่วนลด 20% แต่ถ้าประวัติดีต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ก็จะเพิ่มเป็น 30% จากนั้นปีที่ 3 ก็จะเป็น 40% และปีที่ 4 ปีขึ้นไปได้ส่วนลด 50% ไปจนกว่าจะมีการเคลมและเป็นฝ่ายผิด (ส่วนลดสำหรับเบี้ยประกันภัยปีถัดไป) แต่ถ้าในระหว่างนั้นเกิดมีการเคลม 1 ครั้ง ก็จะลดขั้นประวัติดีล 1 ขั้นในปีต่อไปของการต่อประกัน
นอกจากนี้การระบุชื่อผู้ขับลงไปในกรมธรรม์ประกันภัยของรถยนต์ที่คุณทำไว้ก็เป็นอีกช่องทางนึงที่จะทำให้บริษัทประกันนั้นมีความเสี่ยงน้อยลง จึงมีการให้ล่วนลดตามอายุดังนี้ (สามารถระบุกี่คนตามแต่ละกรมธรรม์ของบริษัทนั้น ๆ เป็นผู้กำหนด) เริ่มด้วยผู้ที่มีชื่อระบุมีอายุเกิน 50 ปีขึ้นไป ลด 20% (จะถือว่ามีความเสี่ยงน้อยสุด ทำให้ได้ส่วนลดมาก) จากนั้นก็จะเป็นกลุ่มอายุ 36-50 ปี ลด 15%, กลุ่มอายุ 25-35 ปี ลด 10% และกลุ่มอายุ 18-24 ปี ลด 5% (ในกลุ่มนี้จะถือว่าเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงมากสุด จะได้ส่วนลดน้อยที่สุด) หากมีการระบุชื่อผู้ขับขี่มากกว่า 1 คน จะใช้อายุของผู้ขับขี่ที่มีอายุน้อยกว่า (ความเสี่ยงสูง) มาใช้ในการคำนวณ (ขึ้นอยู่กับประเภทรถ และประเภทประกันภัยของบริษัทนั้น ๆ ว่าสามารถระบุได้หรือไม่) แต่ถ้ารถที่คุณทำประกันภัยแบบระบุชื่อไว้เกิดอุบัติเเหตุแล้วไม่ใช่บุคคลที่ระบุชื่อเอาไว้ก็จะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ แต่ถ้าเป็นฝ่ายถูกก็ไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายส่วนนี้
จากเนื้อหาที่กล่าวมาสรุปได้สั้นๆ ว่า การทำประกันภัยชั้น 1 เป็นประกันภัยที่ครอบคลุมที่สุดแล้ว ทั้งยังมีตัวช่วยอย่างการระบุชื่อผู้ขับ, ส่วนลดประวัติดี, ส่วนลดอายุ ให้อีกด้วย เพราะถึงยังไงก็ตามประกันยังจำเป็นต่อการใช้รถใช้ถนน เพราะไม่ว่าคุณจะเป็นฝ่ายถูก-ผิด ประกันภัยก็จะช่วยแบ่งเบาภาระ ถึงแม้บางทีมีแล้วไม่ได้เคลมมันก็ยังดีกว่เวลาจะเคลมแล้วไม่มี แต่ถ้างบของคุณไม่ถึงประกันชั้น 1 ก็ยังยีประกันชั้นอื่น ๆ ให้เลือก เชื่อเถอะ มีไว้อุ่นใจกว่า และที่สำคัญดีกับครอบครัวคุณด้วย
หมายเหตุ - รายละเอียดความคุ้มครอง เงื่อนไข และข้อยกเว้น เป็นไปตามที่บริษัทประกันภัยนั้นเป็นผู้กำหนด