การนำรถยนต์มาใช้ในการขับรับจ้างนั้น ก็มีคำถามว่าเมื่อเกิดอุบัติเหตุแล้วประกันภัยรถยนต์ที่ทำไว้อยู่นั้นจะคุ้มครองหรือไม่ ซึ่งถ้าทำให้ถูกกฎหมาย ประกันภัยรถยนต์ที่ทำไว้ก็ต้องให้ความคุ้มครองอย่างแน่นอน ในปัจจุบันนี้ ก็มีแอปพลิเคชันที่ผ่านการรับรองจากกรมการขนส่งทางบกแล้ว ได้แก่ Hello Phuket Service, Bonku, Asia Cab, Robinhood, Grab, Air Asiฟa SuperApp และ Bolt เป็นต้น ซึ่งทางกรมการขนส่งทางบกได้ให้การรับรองแอปพลิเคชัน เพื่อเป็นทางเลือกในการเดินทาง และให้ภาครัฐสามารถควบคุม กำกับ ดูแลการให้บริการที่ปลอดภัย โดยทางกรมการขนส่งทางบกแนะนำให้ใช้บริการรถรับจ้างผ่านแอปพลิเคชันที่ได้รับการรับรองและจดทะเบียนถูกต้องแล้วเท่านั้น เพื่อความปลอดภัย
ซึ่งก็มีการแบ่งประเภทตามสีป้ายทะเบียนเอาไว้ ซึ่งแต่ละสี และรูปแบบมีความหมายที่แตกต่างกัน รวมถึงประเภทของรถยนต์คันนั้น ๆ ด้วยโดยมีรายละเอียด ดังนี้
- ป้ายทะเบียนสีแดงตัวอักษรสีดำ สำหรับ รถยนต์ หรือ รถจักรยานยนต์ที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า ป้ายแดง ซึ่งสามารถใช้งานบนถนนเพียงชั่วคราว
- ป้ายทะเบียนสีขาวตัวอักษรสีดำ สำหรับ รถยนต์ที่นั่งส่วนบุคคล (ไม่เกิน 7 ที่นั่ง) และรถจักรยานยนต์
- ป้ายทะเบียนสีขาวตัวอักษรสีน้ำเงิน สำหรับ รถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่เกิน 7 ที่นั่ง
- ป้ายทะเบียนสีขาวตัวอักษรสีเขียว สำหรับ รถบรรทุกส่วนบุคคล อาทิ รถกระบะ และ รถบรรทุกขนาดเล็ก
- ป้ายทะเบียนสีเหลืองตัวอักษรสีดำ สำหรับ รถจักรยานยนต์ หรือ รถยนต์ (ไม่เกิน 7 ที่นั่ง) ที่เป็นรถรับจ้างสาธารณะ
- ป้ายทะเบียนสีเหลืองตัวอักษรสีแดง สำหรับ รถยนต์ที่รับจ้างระหว่างจังหวัด
- ป้ายทะเบียนสีเหลืองตัวอักษรสีน้ำเงิน สำหรับ รถยนต์ 4 ล้อเล็กรับจ้าง เช่น รถกระป๊อ
- ป้ายทะเบียนสีเหลืองตัวอักษรสีเขียว สำหรับ รถยนต์ 3 ล้อรับจ้าง หรือ รถตุ๊กตุ๊ก
- ป้ายทะเบียนสีเขียวตัวอักษรสีขาว/สีดำ สำหรับ รถบริการทัศนาจร และ รถบริการให้เช่า
- ป้ายทะเบียนสีส้มตัวอักษรสีดำ สำหรับ รถพ่วง, รถแทรกเตอร์ และรถที่ใช้ในการเกษตร
- ป้ายทะเบียนสีขาวตัวอักษรสีดำขึ้นต้นด้วย ท สำหรับ รถยนต์ของคณะผู้แทนทางการทูต และจะตามด้วยรหัสประเทศขีดแล้วตามด้วยเลขทะเบียนรถ
- ป้ายทะเบียนสีฟ้าตัวอักษรสีขาว สำหรับ รถเฉพาะหน่วยงานพิเศษของสถานทูต โดยใช้ตัวอักษร ก หมายถึง รถคณะผู้แทนกงสุล, พ หมายถึง รถหน่วยงานพิเศษในสถานทูต, อ หมายถึง รถองค์กรระหว่างประเทศ
- ป้ายทะเบียนที่มีพื้นหลังเป็นลายกราฟิก สำหรับ ป้ายทะเบียนรถหมายเลขพิเศษที่มาจากการประมูล โดยลายกราฟฟิกจะแตกต่างกันไปตามสัญลักษณ์ของจังหวัดนั้นๆ
เมื่อได้รับป้ายทะเบียนจากขนส่งแล้ว ก็ควรใช้งานให้ตรงกับประเภทของแผ่นป้าย และที่สำคัญผู้ที่เป็นเจ้าของรถจะต้งดูแลรักษาป้ายทะเบียนเอาไว้ หากแต่ถ้าป้ายทะเบียนขำรุด หรือสูญหายก็สามารถยื่นคำร้องขอรับแผ่นป้ายทะเบียนรถทดแทนต่อสำนักงานขนส่งในจังหวัดนั้น ๆ
จากนั้นมาถึงคำถามที่ว่า รถส่วนบุคคลมาขับรับจ้าง ประกันรถยนต์จะคุ้มครองไหม ? คำตอบของคำถามนี้อาจมีผลเสียหลายข้อ เพราะการใช้รถไม่ตรงกับป้ายทะเบียนหรือไม่ตามวัตถุประสงค์ที่ระบุไว้เมื่อจดทะเบียนรถยนต์อาจนำไปสู่ปัญหาต่างๆ ที่มีกฎหมาย หรือข้อบังคับเข้ามาเกี่ยวข้อง อาทิ หากคุณใช้รถยนต์ไม่ตามประเภทที่ระบุในป้ายทะเบียนอาจมีโทษปรับจากการใช้รถไม่ตรงประเภท/ป้ายทะเบียน อาจถูกปรับหรือถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย เพราะการนำรถส่วนบุคคลมาใช้ในการขับรับจ้าง มีความผิดตาม พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 21 ประกอบมาตรา 60 ปรับไม่เกิน 2,000 บาท ฐานใช้รถไม่ตรงตามประเภทที่จดทะเบียนไว้ การที่จะนำรถมาใช้รับจ้างขนส่งผู้โดยสารได้นั้น จะต้องจดทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย ในกรณีที่มีความเสียหายรุนแรงอาจจะโดนยึดรถยนต์ไปเลยก็ได้ ท้ายที่สุดการที่ไม่ทำตามกฎหมายอาจส่งผลต่อสิทธิ์ในการใช้รถยนต์ หรืออาจถูกจำกัดสิทธิ์ในการจดทะเบียนรถยนต์ หรือการทำประกันภัยรถยนต์คันนั้น
ที่สำคัญที่สุด การใช้รถไม่ตรงตามประเภทที่ระบุไว้อาจทำให้ความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัยของรถยนต์คันดังกล่าวไม่ครอบคลุมในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ เนื่องจากมักจะมีข้อความระบุเอาไว้ว่ารถยนต์ที่ทำประกันภัยนั้นจะต้องใช้งานตามประเภทที่จดทะเบียนเป็นเงื่อนไขอยู่ด้วยเพื่อป้องกันการใช้รถผิดประเภท ในส่วนนี้คุณอาจจะไปแจ้งเพื่อเปลี่ยนป้ายทะเบียนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องตรงกับการใช้งานรถยนต์ของคุณ รวมถึงควรติดต่อบริษัทประกันภัย เพื่อสอบถามเงื่อนไขกรมธธม์ หรืออาจเปลี่ยนแปลงความคุ้มครองให้เหมาะสม โดยทั่วไปกรมธรรม์สำหรับรถยนต์ที่ใช้ในการรับจ้าง จะมีอัตราค่าเบี้ยประกันภัยที่สูงกว่าประกันภัยรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ดังนั้นการแจ้งข้อมูลให้บริษัทประกันภัยอน่างถูกต้อง และครบถ้วนก็จะทำให้รถยนต์ของคุณได้รับความคุ้มครองที่เหมาะสม แต่ถึงอย่างไรก็ตามก็สามารถเบิกค่าใช้จ่ายจาก พ.ร.บ.รถยนต์ ได้ตามสิทธิ์