Honda City Hatchback SV รถซิตี้คาร์รุ่นกลางออปชั่นมีให้คุ้มค่าตัว มาพร้อมสมรรถนะเครื่องยนต์ 1.0 ลิตร 122 แรงม้า แรงจัดจ้านพอตัว เรื่องความประหยัดหลังจากทดลองใช้งานจริงในเขตกทม. และรอบ ๆ นอกตัวเมืองยังเป็นรองรถอีโคคาร์หลายรุ่นที่เครื่องยนต์เบนซินล้วน ๆ แต่ก็ไม่แตกต่างต่างกันมาก เมื่อเทียบกับสิ่งที่ได้จากเครื่องพันโบคือ ความสนุกและแรงเวลาต้องการกำลังออกตัวและเร่งแซง แต่ความประหยัดสำหรับผมยังเฉย ๆ มากสุด 13 กม./ลิตร!!!
ในการนำ
Honda City Hatchback SV ใหม่ที่ปรับโฉมมาทดสอบขับอีกครั้ง ต้องเกริ่นก่อนว่า....ไม่มีความแตกต่างเลยในเชิงวิศวกรรม แต่ในทริปที่ฮอนด้าประเทศไทยได้จัดทดสอบกับสื่อมวลชนในการขับขี่เส้นทางต่างจังหวัด ยอมรับว่าเจ้า
Honda City Turbo ให้ความประหยัดแบบไม่น้อยหน้ารถระดับเดียวกัน บางคันขับได้มากถึง
18 - 20 กม./ลิตรก็มี แต่นั่นขึ้นกับลักษณะการขับและการทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองที่ประหยัดมากที่สุด ซึ่งอาจไม่ตรงกับการขับขี่ใช้งานจริงในชีวิตประจำวันเท่าไหร่นัก ด้วยความสงสัยเลยนำมาทดสอบด้วยตัวเองในแบบการใช้งานจริง ๆ ของแต่ละวันในเมืองให้หาย
"คาใจ" กันไปเลยครับ
รับรถทดสอบรวม 5 วัน ใช้งานตามปกติ ในเมืองเป็นหลัก การจราจรหนาแน่น และวิ่งชานเมืองเพื่อหาจุดถ่ายรูปบ้าง ลักษณะขับขี่แบบเน้นอัตราเร่ง ออกตัวและแซงตามความเหมาะสมและใช้ความเร็วปกติ ไม่คลานหรือย่อง ๆ เพื่อให้ได้อัตราสิ้นเปลิองบนมาตรวัดที่ปกติมากที่สุดและสามารถบอกเล่าความรู้สึกในการใช้งานได้อย่างตรงไปตรงมาครับ!
ฟังก์ชั่นใช้งานโดดเด่นมีอะไรบ้าง
การเชื่อมต่อ Apple CarPlay / Android Auto แบบไร้สาย ที่นับว่าสะดวกสบายและมีประโยชน์มาก เพราะไม่ต้องเสียบสายตลอดเวลา ในบางครั้งแบตฯ โทรศัพท์เต็มแล้ว การใช้สายอาจส่งผลต่อระบบแบตฯ ได้ การเชื่อมต่อแบบนี้สำหรับมุมมองส่วนตัวถือว่าดีกว่าครับ
ระบบเปิด-ปิดไฟหน้า อัตโนมัติ นี่มีความจำเป็นในปัจจบุันที่หลายคนชอบ "ลืมเปิด ไฟหน้ารถ" นอกจากจะมืดอันตรายแล้ว อาจก่ออุบัตเหตุได้ง่ายขึ้น แม้จะเป็นหลอดไฟแบบฮาโลเจนแต่อยู๋ในโคมโปรเจคเตอร์จึงทำให้รวมแสงได้พุ่งตรงและสว่างชัดเจนในระดับที่น่าพอใจ
ระบบความปลอดภัย Honda Sensing ครบถ้วนเหมือนในฮออนด้า รุ่นระดับ 1.8 ล้านบาท ในฮอนด้า ซิตี้ รุ่นรองท็อปนี้ ติดตั้งระบบความปลอดภัยมาครบถ้วนเทียบเท่ารุ่นใหญ่ ๆ ของฮอนด้า อย่าง ซีอาร์-วี โดยระบบที่สำคัญ ๆ อย่างเช่น ระบบเตือนออกนอกเลนพร้อมดึงกลับ, ระบบควบคุมความเร็วแปรผันตามคันหน้า (ขาดแค่ถึงความเร็วต่ำ), ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในช่องทางเดินรถ, ระบบเตือนการชนพร้อมระบบช่วยเบรก, ระบบปรับไฟสูงอัตโนมัติ และระบบเตือนเมื่อรถคันหน้าเคลื่อนที่
ภายในกว้างขวางใกล้เคียง Honda Jazz ที่ไม่ขาย ภายในต้องยอมรับว่ากว้างขวางในระดับที่น่าพอใจ เบาะด้านหลังทั้งเบาะรองนั่งที่ยกขึ้นเก็บและเบาะพิงเบาะ 60 : 40 ได้ เรียกว่ามาแทน JAZZ ได้ระดับหนึ่ง แต่ไม่ทั้งหมดนะครับ เพราะแจ๊ซถือเป็นรถขนาดคอมแพ็คที่ยังน่าใช้มากที่สุด ซึ่งก็ไม่เอามาขายอีกแล้วในไทย.....
สิ่งที่ยังต้องปรับปรุงเพิ่มเติมล่ะ....!
ความเห็นส่วนตัวคือ ในรถระดับและราคาประมาณนี้บางรุ่นอาจมีฟังก์ชั่นบางจุดที่ให้มากกว่า และอาจเป็นจุดเล็ก ๆ ที่ยิ่งใหญ่ในการช่วยตัดสินใจซื้อไม่ลังเลได้ จึงเป็นสิ่งที่ City SV ควรต้องมีแล้วได้แก่.....
- ไฟหน้าเป็นหลอดแบบ LED ในโคมโปรเจคเตอร์ก็ได้นะ ถ้าจะให้เพิ่มมายิ่งทำให้ดีไซน์ที่ตั้งใจดูพรีเมี่ยมเรียบหรูยิ่งขึ้นไปอีก เขากับทรงซิ่ง ๆ สปอร์ตได้ดีขึ้น
- ช่องแอร์ผู้โดยสารตอนหลัง ให้มาเถอะ เพราะพื้นที่ภายในค่อนข้างใหญ่ดีอยู่แล้ว ยิ่งได้แอร์หลังช่วยทำความเย็นได้เร็ซขึ้นยิ่งดี
- ที่วางแก้วน้ำ หากต้องการเป็นตัวตายตัวแทน "แจ๊ซ" ควรมีสิ่งอำนวยความสบายในรถ เช่น ช่องวางแก้วน้ำที่ช่องแอร์หน้า ซ้าย-ขวา ด้วย
ความจริงยังมีระบบอีกเยอะที่อยากให้ติดตั้งในรุ่นนี้ เอาแบบคุ้มจริง ๆ ยิ่งกว่าคุ้ม ๆ ทุกสิ่ง แต่อาจจะส่งผลให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นราคาก็จะขยับตาม จึงหยุดไว้แค่นี้ก่อนครับ...
สิ่งที่คิดในใจ.............
"กระจกมองหลังปรับแสงอัตโนมัติ
ช่องเก็บแว่นตา
เซ็นเซอร์กะระยะหน้าหลัง 4 จุดก็ยังดี
เบรกมือไฟฟ้า ไม่ต้อง ไม่จำเป็น....นน.น.....(เสียงสูง)
ดิกส์ 4 ล้อ มีไหมน้าาาา"
1.0 ลิตร แรงดีแต่ยังไม่เนียน...!
ขุมพลังแรงดีขับได้ตามสั่ง แอบขัดใจเบา ๆ ตอนออกตัว เพราะเครื่องยนต์เล็ก 3 สูบ ความจุน้อย และต้องอัดอากาศผ่านโข่งหลังเทอร์โบ กว่าจะปั่นลมดูดใบพัดโข่งหน้าผ่านแกนกลางมีอาการ "รอรอบ" เล็กน้อย ทั้งตอนออกตัวและเร่งแซงแบบใช้การ "คิกส์ดาวน์" ยิ่งตอนเติมคันเร่งช่วงลอยลำไปแล้ว มีการรอเปลี่ยนอัตราทดสายพาน CVT อีกนิดนึง ทำให้ยังไม่ค่อยสมูทเท่าที่ควร ถือเป็นอาการปกติของรถเครื่องเล็กยัดโบเดิม ๆ โรงงาน การจะเร่งให้ทันใจไม่รอรอบและไม่มีอาการ "Turbo lag" จะต้องค่อย ๆ ไล่คันเร่งช้า ๆ ไม่กดทีเดียวจมมิด ซึ่งแรงกระชากอาจรู้สึกต่างแต่ทำความเร็วได้ไม่ต่างกันมากนัก และลดอาการ "รอรอบ" หรืออาการ "หอย" ไปได้เยอะลดความหงุดหงิดไปได้ดีขึ้นครับ
ระบบช่วงล่างและเบรก สิ่งคัญ......
Honda City Hatchback SV ใช้เครื่องยนต์เทอร์โบแม้จะความจุน้อยแต่มีกำลังเยอะเกินตัวระดับ 122 แรงม้า และแรงบิดนี้ระดับ 172 นิวตันเมตร ก็แถว ๆ รถเครื่องยนต์เบนซิน 1.6 ซีซี แต่วางในร่างรถเล็กเบา ๆ เหมือน
สมัยก่อนที่วัยรุ่นยุค 80s, 90s ชอบนำรถเล็ก ๆ เครื่องเดิมติดรถ 1.2 ลิตร ไปวางเครื่องใหม่ขนาด 1.8 หรือ 2.0 ลิตร บางที่ก็เครื่องเทอร์โบกันไปเลย กลับมาที่ซิตี้ ที่น้ำหนักไม่เยอะมาก
1,1xx -1,2xx กก. เท่านั้น เล็กเบาคล่องตัว บวกเครื่องแรงเยอะก็ปลิวสิครับ ดังนั้นระบบช่วงล่างและเบรกเดิม ๆ แม้ทางโรงงานคำนวนมาแล้วว่า "เอาอยู่นะจ๊ะ" แต่อาจจะอยู่ในช่วงความเร็วการขับขี่ในบางสถานการณ์
แต่ในความจริงแล้ว การขับขี่บนถนนจริงมีสิ่งเร้าใจมากกว่าที่คิด เช่น รถตัดหน้า รถปาดเบียด แทรก ระยะกระชั้นชิด เป็นต้น แม้จะมี HondaSensing ช่วยแต่ก็แค่ระดับหนึ่งเท่านั้น หากปรับเรื่องเบรกหน้าโตขึ้น ไล่ระบบหม้อลม ผ้าเบรกเกรดดี ๆ และเพิ่มดิสก์เบรกหลังมีช่วยก็น่าจะปลอดภัยมากขึ้น รวมถึงระบบช่วงล่างที่อาจเซตให้หนึบและแน่น ๆ ขึ้นอีกนิด เผื่อได้ทั้งบรรถทุกและแอบบซิ่งในบางลีลาได้อีกด้วยครับ
ส่วนตัวคิดว่า ช่วงล่างยังไม่จบ ต้องไปอัพเดท เพราะเมื่ออัตราเร่งมาแบบเต็ม ๆ แล้ว อาจจะเอาไม่อยู่หรือบางจังหวะจำเป็นต้องใช้การควบคุมพวงมาลัยและเบรกอย่างรวดเร็วเพื่อหักหลบหรือเปลี่ยนเลนกระทันหันในความเร็วสูง ๆ อาจจะช่วยให้ปลอดภัยมากขึ้น โดยเฉพาะระบบเบรกที่อาจเจอจังหวะกดคันเร่งมากเกินไปเพื่อให้รถเร่งให้ทันใจ แต่ด้านหน้าชะลอหรือหยุดกระทันหัน เบรกต้องเอาอยู่จริง ๆ นี้ยังไม่นับยางที่ติดรถมาเป็นเกรดกลาง ๆ ทั่วไป อาจยังไม่ค่อยลงตัวกับรถยนต์เครื่องเทอร์โบท่าไหร่นัก ดังนั้น Honda City Turbo ควรขับให้เข้าใจลิมิตรถและสามารถควบคุมได้อย่างปลอดภัย ไม่ควรขับเร็วหรือซิ่งเกินตัวแม้ว่าเครื่องจะไปได้ถึง 200 กม./ชม. ก็ตามครับ
***ข้อควรระวังนี้ จากอาการรอรอบของเครื่องยนต์ตัวนี้คือ .... "คันเร่งกับการตอบสนองจะมีความหน่วง" แต่หลังจากนั้นเมื่อระบบเทอร์โบทำงานก็จะพุ่งแบบกระชากออกไปทันที ทำให้มือใหม่หรือคนที่เพิ่งกระโดดมาขับรถแบบนี้ควรฝึกใช้คันเร่งให้ชิน กะน้ำหนักและระยะห่างรถคันหน้าให้เหมาะสม ปรับน้ำหนักเท้าในการเติมคันเร่งให้คุ้นเคย ทั้งการออกตัวและเร่งแซง เพราะ เมื่อจุ่มคันเร่งแบบรถ "NA" หรือ เครื่องยนต์ไม่มีเทอร์โบจะแตกต่างกัน กล่างคือ อาการรอรอบจากเครื่องยนต์ความจุน้อย ๆ ในซิตี้เทอร์โบคันนี้ เมื่อเทียบกับรถทั่วไปความจุประมาณ 1.2 - 1.6 ลิตร จะแตกต่างกัน รถทั่วไปแตะปุ๊บจะรู้สึกตอบสนองรวดเร็วได้ตามน้ำหนักเท้ากว่าในซิตี้เทอร์โบที่จะรอ 1 - 2 วินาที ค่อยพุ่งออกไปนั่นเองครับ
อัตราสิ้นเปลืองระดับกลาง ๆ แรงตามเท้าก็กินตามเท้าไปด้วย
เมื่อเครื่องยนต์ขนาดเล็ก พ่วงเทอร์โบเข้าไปแน่นอนว่าทำให้ขับสนุกขึ้นเยอะ จนบางครั้งลืมไปเลยว่านี่คือ รถประหยัดนะ... จากการใช้งานตลอด 5 วัน ผ่านสภาพการจราจรในเมืองหนาแน่นบ้าง โล่งบ้างบนทางด่วน ซึ่งผมกล้าบอกเลยว่า "ขับประหยัดไม่ได้สักที" ส่วนมากจะขอขับแบบสนุก ๆ ทั้งออกตัวหรือแซงแบบมัน ๆ บางครั้งก็ทดสอบความเร็วปลายว่าจะไหลไปได้แค่ไหน ทำให้ภาพรวมของการขับขี่ในเมืองได้ตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองบนมาตรวัดสูงสุด 13 กม./ลิตร แต่ค่าเฉลี่ยในหลาย ๆ วัน คือ ราว ๆ 11 - 12 กม./ลิตร เท่านั้นเอง
แต่ถึงอย่างไรนั้น แม้ตัวเลขจะดุดัน แต่ขับมันแบบนี้พอรับไหว และความจริงอีกเรื่องคือ น้ำมันเต็มถังตลอด 5 วัน ลดลงมาไม่ถึงครึ่งถัง ระยะทางที่ขับทั้งหมด 224.1 กม. ระยะทางคงเหลือที่ขับได้อีก 281 กม. เมื่อบวกแบบง่าย ๆ คร่าว ๆ ก็ได้ระยะทางรวมที่ 505 กม. ซึ่งตอนน้ำมันเต็มขีดวิ่งได้ 580 กม. นับว่าตัวเลขไม่ได้สวยหรูดูดี แต่ไม่ต้องเติมถี่มากแถมขับได้ราว ๆ 500 - 600 กม. ต่อ 1 ถัง สบาย ๆ เลยครับ
ราคาน่าลังเล สันดาปหรือไฟฟ้าดี?
สำหรับใครที่ยังตัดสินใจไม่ได้ว่า จะไปสันดาปหรือไฟฟ้าล้วนดี ต้องถามตัวเองว่า พร้อมจะเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้รถยนต์มากน้อยค่ไหน ในการเสียบปลั๊กชาร์จไฟ หรือต้องการความประหยัดน้ำมันเป็นหลัก แต่ก็อยากได้ความมันในการขับขี่ควบคู่ไปด้วย
Honda City Hatchback SV ดูจะเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจไม่น้อย เพราะตัวถังรถที่ให้ความอเนกประสงค์แบบฮอนด้า แจ๊ซ แต่ขับสนุกคล่องตัวเทียบเท่ารถยนต์เครื่องใหญ่ขนาด 1.6 ลิตร ขับให้แรงก็ได้จะขับแบบประหยัดก็ดี โดยเฉพาะเวลาจอดติดไฟแดง เครื่องยนต์เล็ก 3 สูบ 1.0 ลิตร ย่อยกินน้ำมันน้อยกว่ารถเครื่องโต ๆ ส่วนออปชั่นก็เยอะครบถ้วนในระดับเกินพื้นฐานทั่วไปในรถระดับเดียวกัน
แม้จะมีออปชั่นไม่เท่าหรือใกล้เคียงกับรถยนต์ไฟฟ้าที่ราคาใกล้ ๆ กันราว ๆ 5 - 7 แสนบาท แต่อย่างน้อย ไม่ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและกังวลเรื่องการใช้กับการชาร์จแบตเตอรี่ นอกจากนี้วัยรุ่นวัยมันยังสามารถนำไปจัดทรงต่อยอดต่อได้อีกด้วย และการบำรุงรักษาก็ง่ายสบาย ๆ เข้าศูนย์ไม่แพงมากและสามารถดูแลตามอู่ที่ไว้ใจได้อีกด้วย
แน่นอนว่า
Honda City Hatchback SV เป็นรถที่ยังน่าสนใจและยอดนิยมจนสามารถเอาตัวรอดจากสถานการณ์รถยนต์ไฟฟ้าล้วนเต็มไปหมดแถมราคาใกล้เดียงกันจนหลายคนลังเล แต่หากคนที่ยังไม่พร้อมข้ามไปรถยนต์เสียบปลั๊ก หรือปรับตัวนั่งรอชาร์จไฟในปั้มละก็ รถยนต์
City Hatchback SV ในราคาระดับ
679,000 บาท คันนี้อาจเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ และนับเป็นรุ่นที่ราคาไม่แรงเกินไป