จากกรณีอุบัติเหตุของรถกระบะ Isuzu D-max ที่ชนท้ายเข้ากับรถหรูอย่าง Rolls-Royce บนทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หรือ มอเตอร์เวย์ ตามที่เป็นข่าวดังในสื่อโซเชียล เนื่องจาก Rolls-Royce นั้นเป็นรถยนต์ที่มีราคาแพงหลายสิบล้านบาท
โดยตามข่าวที่ออกมาก็มีหลายกระแสว่า รถ Isuzu นั้นมีการทำประกันภัยรถยนต์อยู่ บ้างก็ว่าประกันเพิ่งขาดไปไม่นานก่อนเกิดเหตุ และที่พีคที่สุดคือ เจ้าของรถ Rolls-Royce ใจดีไม่เอาเรื่อง แต่ในความเป็นจริงแล้วกลับกลายเป็นเป็นปัญหาทางการสื่อสารระหว่างคู่กรณี
เพราะล่าสุดทางเจ้าของรถ Rolls-Royce ได้ออกมาให้ข่าวพร้อมล่ามและทนายว่า "จะเอาเรื่องตามกฎหมาย" และที่ตกลงกันไม่ได้ในตอนแรกนั้นเพราะเป็นชาวต่างชาติที่ไม่สามารถเจรจากันได้เรียกได้ว่า กรณีนี้ถือเป็น "งานเข้า" รถกระบะ Isuzu เต็มๆ เลยทีเดียว
ในกรณีนี้ถ้า Isuzu D-max คันเกิดเหตุมีประกันภัยชั้น 1 ก็จะมีวงเงินในการซ่อม/เคลม ในกรณีที่เป็นฝ่ายถูกบริษัทประกันก็จะทำการซ่อมให้ แล้วจะไปเรียกร้องค่าเสียหายกับเอากับฝ่ายผิด (แต่ไม่เกินวงเงินที่ประกันคุ้มครอง) แต่ถ้าเป็นฝ่ายผิดเสียเอง ไม่เพียงต้องซ่อมรถเอง (ภายในวงเงินที่ประกันกำหนด) แต่ถ้ามีค่าใช้จ่ายส่วนเกินจากทุนประกัน ต้องทำการตกลงกับทางบริษัทประกันเองว่า จะยอมจ่ายเองสำหรับค่าซ่อมส่วนต่างหรือไม่ ถ้ายอมก็จบ แต่ถ้าไม่ยอม อาจต้องจัดการซ่อมรถเอง แล้วขอรับเป็นเงินค่าซ่อมตามทุนประกันมาจัดการ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับบริษัทประกันภัย หรือทางสุดท้ายคือทำการขายซากนั่นเอง แต่ถ้า Isuzu D-max ไม่มีประกันภัย หรือ เกิดอุบัติเหตุในตอนที่ประกันขาดขึ้นมาล่ะก็จะต้องซ่อมรถเองรวมถึงรถของคู่กรณีด้วย
ในกรณีเป็นฝ่ายผิด รู้หรือไม่ว่าคู่กรณีสามารถเรียกร้องอะไรได้บ้างนอกจากการซ่อมรถ
- ค่าทำขวัญ : เมื่อเราเป็นฝ่ายผิด คู่กรณีก็มีสิทธิเรียกร้องค่าทำขวัญ ถ้าคุณมีประกันภัยควรรอเจ้าหน้าที่ประกันไกล่เกลี่ยดีที่สุด โดยระหว่างรอเจ้าหน้าที่นั้น คุณสามารถถ่ายรูปหรือวิดีโอของรถที่เสียหาย, สถานที่เกิดเหตุ หรือถ้ามีกล้องหน้ารถก็สามารถใช้ไฟล์นั้นได้เลย เพื่อใช้เป็นหลักฐานเพื่อนำไปไกล่เกลี่ยต่อไป แต่ถ้าเป็นรถที่ไม่มีประกันภัยทั้งคู่ ให้นำรูปถ่ายและคลิปกล้องหน้ารถไปแจ้งความที่สถานีตำรวจในพื้นที่เกิดเหตุ และเจรจาตกลงกันต่อหน้าตำรวจ โดยค่าทำขวัญนี้จะจ่ายหรือไม่ก็ได้ แต่เรื่องอาจยืดเยื้อไปถึงศาลให้เป็นผู้ตัดสินให้
- ค่าเสียหาย : แน่นอนเมื่อรถยนต์ 2 คันเกิดอุบัติเหตุย่อมต้องมีความเสียหายเกิดขึ้น ซึ่งคู่กรณีจะเรียกร้องทันทีถ้าคุณมีประกันภัยโดยให้เจ้าหน้าที่ประกันเป็นคนกลางในการเจรจา แต่ถ้าไม่มีประกันภัยก็ต้องเจรจาว่าค่าเสียหายตรงนี้ยอมรับได้ที่เท่าไหร่ จะชดใช้ให้เมื่อใด
- ค่ารักษาพยาบาล : ในกรณีที่คู่กรณีได้รับบาดเจ็บ ก็จะมี พ.ร.บ. หรือ ประกันรถยนต์ภาคบังคับที่กฎหมายกำหนดให้รถทุกคันต้องมี และจะใช้งบตรงส่วนนี้เป็นอันดับแรก ถ้ามีส่วนเกินก็จะตัดเข้าไปใช้ค่าใช้จ่ายของประกันภัย หรือ ประกันรถยนต์ภาคสมัครใจ
- ค่าทรัพย์สินเสียหาย หรือ สูญเสียในอุบัติเหตุ : คู่กรณีสามารถเรียกร้องค่าเสียหายจากทรัพย์สินต่างๆ ที่อยู่ในรถ แต่การชดเชยจะพิจารณาจากค่าเสื่อมสภาพของทรัพย์นั้นๆ และต้องพิสูจน์ความเป็นเจ้าของ ซึ่งเจ้าหน้าที่บริษัทประกันก็จะทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยให้คุณเอง ถ้าไม่มีก็ต้องเจรจากันต่อหน้าเจ้าหน้าที่ตำรวจ
- ค่าขาดประโยชน์จากรถยนต์ : หากคู่กรณีของคุณต้องใช้รถคันเกิดเหตุทุกวัน ไม่ว่าจะไปทำงาน, หรือเหตุจำเป็นอื่นๆ ก็มีสิทธิที่จะเรียกร้อง ค่าขาดประโยชน์จากรถยนต์ ได้
- ค่ารถลาก, รถสไลด์ : กรณีที่รถไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ จำเป็นต้องเรียกรถลาก หรือ รถสไลด์ มาทำการเคลื่อนย้ายรถไปทำการซ่อม ซึ่งคุณก็ต้องออกค่ารถลากให้คู่กรณีด้วยนั่นเอง
ซึ่งค่าต่างๆ เหล่านี้ คู่กรณีสามารถเรียกร้องได้ ถ้าเกิดคุณเป็นฝ่ายผิด ถ้าคุณมีประกันก็ให้เจ้าหน้าที่บริษัทประกันไกล่เกลี่ยให้ได้เลย แต่ถ้าไม่มีประกันรถยนต์ก็ต้องไปไกล่เกลี่ยผ่านเจ้าหน้าที่ตำรวจก่อนถ้าตกลงกันไม่ได้ขึ้นต่อมาคงต้องขึ้นศาลเพื่อจบเรื่องราวดังกล่าว
ภาพจาก :
FB คนข่าวบางปะกง,
FB THAI PRESS,
rolls-roycemotorcars.com