ก่อนอื่นเลย...บทความนี้เน้นเฉพาะค่าใช้จ่าในการเดินทางประจำวันตามเส้นทางที่กำหนดและคำนวนเป็นตัวเลขง่าย ๆ เท่านั้นครับ อาจมีการคลาดเคลื่อนไปบ้าง และไม่รวมถึงค่าใช้จ่ายเรื่องบริการหลังการขาย เข้าศูนย์ เช็คระยะ ฯลฯ และไม่ใช่ข้อมูลอย่างเป็นทางการ
ในภาวะน้ำมันแพง ค่าแรงต่ำ ของขึ้นราคาทุกชนิดยกเว้นเงินเดือน!.. ผู้ที่มีความจำเป็นต้องใช้รถยนต์อาจเริ่มมองหา "ทางรอด" ต่อชีวิตไปเดือน ๆ ให้พอดีกับเงินเดือนที่เหลืออยู่ บางคนอาจมาหาพลังงานทางเลือกอื่นให้กับรถคันเดิม บางคนยอมเปลี่ยนมาใช้รถไฮบริด ไม่ว่าจะมือ 1 หรือมือ 2 ก็ยอมเพราะประหยัดกว่า และบางคนมีกำลังมากหน่อยก็ถอยรถยนต์ปลัคอินไฮบริดหรือไม่ก็ขยับไปเล่นรถยนต์ไฟฟ้าล้วนให้จบ ๆ ไป
แต่ก่อนที่จะคิดเลยไปไกล ลองมาดูกันก่อนว่าในการใช้งานรถยนต์แต่ละแบบแต่ละประเภทเชื้อเพลิงหรือแต่ละระบบนั้น แบบจะช่วยลดค่าใช้จ่ายให้ประหยัดได้มากสุด หรือแบบไหนคุ้มค่ามากที่สุด และแบบไหนที่เหมาะสมกับเงินในประเป๋ามากที่สุด
ผมขอยกตัวอย่างง่าย ๆ จากการใช้งานรถยนต์ส่วนตัวในชีวิตประจำวันจริง ทำงานออฟฟิศ 5 วันต่อสัปดาห์ขับรถเข้า-ออกชานเมืองและตัวเมืองทุกวัน และรถอีกรุ่นคือรถยนต์ไฮบริดที่ใช้ระยะทางจริง และการนำตัวเลขของรถยนต์ปลั๊คอินและรถยนต์ไฟฟ้าและคำนวนให้ระยะทางเท่ากัน ผ่านเส้นทางจราจรติดขัดสลับหยุดนิ่งใกล้เคียงกัน โดยที่จะคิดการใช้รถเฉพาะแค่ไป-กลับทำงานในแต่ละวันเท่านั้น ยังไม่นับรวมออกนอกเส้นทางและวันเสาร์-อาทิตย์และวันหยุดยาว ๆ นะครับ อ้างอิงราคาน้ำมันปัจุบัน E20 คือ 42.34 ขอปัดขึ้นเป็น 43 บาทต่อลิตร (ณ 27/05/2022)
น้ำมันเบนซินล้วน ICE
โตโยต้า โคโรลลา อัลติส 1.8 เอสสปอร์ต ปี 2015 อายุ 7 ขวบ ใช้ไปแล้ว 110,XXX กิโลเมตร ขับไป-กลับบ้านที่ทำงาน 5 วัน เส้นทางวัชรพล-รามอินทรา-ชิดลม ไม่ขึ้นทางด่วน ระยะทางรวมประมาณ 55 กิโลเมตร อัตราสิ้นเปลืองบนมาตรวัดเฉลี่ย 11 กิโลเมตรต่อลิตร *ไม่รวมนอกเส้นทางและเสาร์อาทิตย์
วิ่ง 55 กิโลเมตรต่อวัน
1 อาทิตย์ 5 วัน = 275 กิโลเมตร
1 เดือน 4 อาทิตย์ = 1,100 กิโลเมตร
อัตราสิ้นเฉลี่ย 11 กิโลเมตรต่อลิตร
1,100 / 11 = 100 ลิตรต่อเดือน
100 X 43 = 4,234 บาทต่อเดือน
LPG
หากติดตั้งแก๊สแอลพีจี LPG ระบบหัวฉีดในรถยนต์เบนซิน 1.8 ลิตร เฉลี่ย 13 บาทต่อลิตร (ราคาแล้วแต่พื้นที่หรือจังหวัด)
ด้วยเงื่อนไขเดียวกับข้างบนนี้ ใช้รถเดิอนละ 1,100 กิโลเมตร รถติดแก๊สจะกินจุกว่าน้ำมันเดิมประมาณ 10% อัตราสิ้นเปลืองลงมาอยู่ที่ 9 กิโลเมตรต่อลิตร (แล้วแต่รุ่นรถ) อธิบายง่าย ๆ ว่าเนื่องจากหัวฉีดจ่ายแก๊สนั้นจะถูกเจาะรูฝั่งเอาไว้ที่คอไอดี ทำให้มีระยะทางห่างจากห้องเผาไหม้มากกว่าระบบหัวฉีดน้ำมันเดินติดรถจึงใช้ปริมาณเยอะกว่าครับ
1,100 / 9 = 122.22 ขอปัดขึ้นเป็น 123 ลิตรต่อเดือน
123 X 13 = 1,599 บาท หรือ 1,600 บาทต่อเดือน ส่วนต่าง 2,634 บาทต่อเดือน จากน้ำมันล้วนจาก 4,234 บาท
*ในส่วนของการติดตั้งแก๊สนั้นมีค่าใช้จ่ายในการลงทุน 20,000 - 40,000 บาทขึ้นกับระบบยี่ห้อ, คุณภาพและร้านติดตั้ง นอกจากนี้จำเป็นต้องเพิ่มการดูแลและตรวจสอบเป็นพิเศษเพิ่มขึ้นมาจากปกติ เพราะต้องหมั่นตรวจเช็คดูแลและเข้าร้านติตดั้งแก๊สตามกำหนดอย่างเคร่งครัดเพื่อความปลอดภัย และยังต้องยอมรับถึงเสียประโยชน์จากราคาขายต่อของรถที่ต่ำลงกว่าปกติ
Hybrid
รถยนต์ไฮบริด - รถตัวอย่างคือโตโยต้า โคโรลลา อัลติส 1.8 ลิตรไฮบริด ปี 2020 อายุ 2 ปี ใช้ไปแล้ว 70,000 กิโลเมตร ขับไป-กลับบ้านที่ทำงาน 5 วัน เส้นทางนอร์ทปาร์ค - สาทร - ชิดลม (ขึ้นทางด่วน) ระยะทางรวมประมาณ 55 กิโลเมตร อัตราสิ้นเปลืองบนมาตรวัดเฉลี่ย 20 กิโลเมตรต่อลิตร *ไม่รวมนอกเส้นทางและเสาร์อาทิตย์
วิ่ง 55 กิโลเมตรต่อวัน
1 อาทิตย์ 5 วัน = 275 กิโลเมตร
1 เดือน 4 อาทิตย์ = 1,100 กิโลเมตร
รถอัลติส เฉลี่ย 20 กิโลเมตรต่อลิตร
1,100 / 20 = 55 ลิตรต่อเดือน
55 X 43 = 2,365 บาทต่อเดือน ส่วนต่าง 1,869 บาทต่อเดือน จากน้ำมันล้วนจาก 4,234 บาท
Plug-in Hybrid
รถยนต์ลูกครึ่ง ปลั๊กอิน-ไฮบริด ขอใช้เงื่อนไขเดียวกับรถใช้อัลติส 1.8 เอสสปอร์ตเส้นทางและระยะทางรวมที่ 55 กิโลเมตร เท่ากับเดือนละ 1,100 กิโลเมตร อัตราสิ้นเปลืองบนมาตรวัดเฉลี่ยขึ้นกับรุ่นรถความจุแบตเตอรี่อย่างเช่น MG HS PHEV แบตเตอรี่ขนาด 16.6 kWh จากสเปควิ่งด้วยไฟฟ้าล้วนได้ประมาณ 67 กิโลเมตร ก็ถือว่าแทบไม่ต้องใช้น้ำมันเลย ซึ่งก็ขึ้นกับสภาพการจราจรแต่ละวันด้วย สมมุติว่าวิ่งด้วยไฟฟ้าล้วนจริงได้ 60 กิโลเมตร ซึ่งรถปลั๊คอินไฮบริดถ้าใช้โหมดไฮบริดวิ่งปกติก็จะมีอัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ยราว ๆ 19 - 22 กิโลเมตรต่อลิตร และขึ้นกับว่าไฟในแบตเตอรี่เหลือมากน้อยแค่ไหน
วิ่ง 55 กิโลเมตรต่อวัน
1 อาทิตย์ 5 วัน = 275 กิโลเมตร
1 เดือน 4 อาทิตย์ = 1,100 กิโลเมตร
อัตราสิ้นเฉลี่ย 19 กิโลเมตรต่อลิตร (ตัวเลขกลางๆ)
1,100 / 19 = 57.89 หรือ 58 ลิตร ต่อเดือน
58 X 43 = 2,494 บาท ต่อเดือน ส่วนต่าง 1,740 บาทต่อเดือน จากน้ำมันล้วนจาก 4,234 บาท *หากสามารถขับไป-กลับได้โดยใช้มอเตอร์ไฟฟ้าล้วนตามที่เคลมไว้ที่ 67 กิโลเมตรได้จริงก็เท่ากับว่าไม่ต้องใช้น้ำมันเลย
ค่าไฟฟ้ารถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดกรณีมีแท่นชาร์จที่บ้าน
ค่าไฟฟ้าในการชาร์จขึ้นกับขนาดของแบตเตอรี่แต่ละรุ่น เช่นเบนซิน 1.5 ลิตร เทอร์โบ
(MG HS PHEV) ขนาดความจุ 16.6 kWh ชาร์จด้วย Wallbox(กำลังชาร์จ 3.7 kWh) ที่บ้านจาก 0- 100% ใช้เวลาประมาณ 4 - 5 ชั่วโมง และ MG Charging Cable 5 - 6 ชั่วโมง ชาร์จแบบเวลาปกติไม่เกิน 200 บาทต่อการชาร์จจาก 0 - 100% ส่วนชาร์จในช่วงเวลา TOU** หรือแบบได้ส่วนลดในเวลาหลัง 4 ทุ่ม ก็จะต่ำลงอีก ซึ่งโดยปกติคงไม่มีใครปล่อยให้แบตเตอรี่หมดถึง 0% และส่วนมากรถยนต์ก็จะมีระบบเก็บไฟฟ้าไม่ให้ต่ำกว่า 20 - 30% อยู่แล้วครับแสดงว่าอาจเสีนเงินค่าไฟไม่ถึง 100 บาทก็เป็นได้
BEV/EV
รถยนต์ไฟฟ้าล้วน BEV/EV แล้วแต่จะเรียกกัน ส่วนมากรถยนต์ไฟฟ้ามักจะมีการติดตั้งแท่นชาร์จหรือ Wallbox ไว้ที่บ้านด้วย เมื่อใช้กำลังมอเตอร์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ในการขับเคลื่อน ก็เท่ากับว่าค่าน้ำมันเป็น 0 บาท จะมีเพียงค่าไฟฟ้าในการชาร์จ โดยหากเป็นรถที่วิ่งได้ระยะทาง 300 - 400 กิโลเมตร มักมีแบตเตอรี่ลูกใหญ่อย่างเช่น
MG ZS EV มีแบตเตอรี่ขนาด 50.3 kWh สามารถวิ่งได้สูงสุด 403 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง ขึ้นกับการใช้งานจริงที่อาจวิ่งได้ต่ำกว่าตัวเลขจากโรงงานราว ๆ 40 - 50 กิโลเมตร สมมุติว่าวิ่งได้จริงที่ 350 กิโลเมตร ก็เท่ากับว่าจะต้องชาร์จแบบ 0 - 100% ทั้งหมด 3 ครั้งนิด ๆ ต่อเดือน
MG ZS EV การชาร์จไฟฟ้าด้วยท่านชาร์จที่บ้านจาก 0- 100% ใช้เวลา 7 ชั่วโมง 15 นาที เมื่อเต็มก็ไม่เกิน 300 บาท แต่ส่วนมากแบตเตอรี่จะตั้งค่าไม่ให้ลดลงต่ำกว่า 20% เพื่อป้องกันแบตเตอรี่เสื่อมเร็วครับ นั่นก็แสดงว่าการชาร์จจาก 20 - 100% ชาร์จไฟเต็มน่าอยู่ประมาณ 150 - 200 บาท สำหรับการใช้แท่นชาร์จที่บ้านและขึ้นกับช่วงเวลาในการชาร์จว่าช่วงดึก (แบบ off Peak มิเตอร์แบบ TOU** ก็จะถูกลงอีก) หรือเวลาปกติอีกด้วย สมมุติอีกว่าชาร์จช่วงเวลาปกติตก 5.2674 บาท ต่อหน่วย*** ชาร์จเต็ม 50.3 kWh นั่นคือการเอา 50.3 X 5.2674 = 264.95 บาท ชาร์จ 3 ครั้งต่อเดือน 264.95 X 3 =
794.85 บาท ต่อเดือนเท่านั้น ส่วนต่าง 3,439.15 บาทต่อเดือน จากน้ำมันล้วนจาก 4,234 บาท ส่วนค่าใช้จ่ายในการชาร์จไฟนอกบ้านก็ขึ้นกับว่าเป็นเจ้าที่ให้บริการฟรีหรือเสียเงินครับ และราคาแตกต่างกันขึ้นกับผู้ให้บริการอีกด้วย
**อัตราค่าไฟฟ้า TOU หรือ อัตราค่าไฟฟ้าตามช่วงเวลาของการใช้ (Time of Use Tariff : TOU Tariff) เป็นอัตราค่าไฟฟ้าที่สะท้อนถึงต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าแบ่งเป็น 2 ช่วงเวลา คือ
- On-Peak อัตราค่าไฟฟ้า 5.2674 บาท*** ต่อหน่วย เวลา 09.00 น. – 22.00 น.วันจันทร์ - ศุกร์ และวันพืชมงคล คือ ช่วงที่ค่าไฟฟ้ามีราคาสูง เนื่องจากประเทศมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง การไฟฟ้าต้องจัดหาเชื้อเพลิงทุกชนิด ทั้งราคาสูงและราคาต่ำในการผลิตไฟฟ้า เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการในช่วงนี้
- Off-Peak อัตราค่าไฟฟ้า 2.1827 บาท ต่อหน่วย เวลา 22.00 น. – 09.00 น.วันจันทร์ - ศุกร์ และวันพืชมงคล คือ ช่วงที่ค่าไฟฟ้ามีราคาต่ำ เนื่องจากประเทศมีความต้องการใช้ไฟฟ้าต่ำ โรงไฟฟ้าสามารถเลือกใช้เชื้อเพลิงที่มีราคาต่ำกว่ามาผลิตไฟฟ้าได้ จึงทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าในช่วง Off-Peak ต่ำกว่าช่วง Peak
สรุปค่าใช้จ่าย ด้วยเงื่อนไขที่ใกล้เคียงกันมากที่สุดจากข้างต้นก็คือ ใช้รถ 1,100 กิโลเมตร ต่อเดือน
- รถยนต์น้ำมันล้วนเครื่องยนต์เบนซิน 1.8 ลิตร ค่าเดินทาง 4,234 บาท ต่อเดือน
- รถยนต์เบนซิน 1.8 ลิตร ติดแก๊ส LPG ค่าเดินทาง 1,599 บาท ต่อเดือน (*ไม่รวมค่าติดตั้ง)
- รถยนต์เบนซินไฮบริด 1.8 ลิตร ค่าเดินทาง 2,365 บาท ต่อเดือน
- รถยนต์ปลั๊คอินไฮบริดเบนซิน 1.5 ลิตร เทอร์โบ (MG HS PHEV) ค่าเดินทาง 2,494 บาท ต่อเดือน
- รถยนต์ไฟฟ้าล้วน BEV/EV ค่าไฟฟ้า 794.85 บาท ต่อเดือน
อย่างไรก็ตามค่าใช้จ่ายเหล่านี้เป็นเพียงค่าเชื้อเพลิงหรือพลังงานในการใช้เติมกับรถยนต์ ตัวเลขการใช้งาน ระยะทาง ราคา น้ำมันและไฟฟ้าอาจเปลี่ยนแปลงได้อีก ส่วนใครที่กำลังมาหาทางเลือกว่าจะหนี้ไปใช้รถยนต์อะไรดีก็ควรศึกษาข้อมูลของระบบต่าง ๆ ให้มั่นใจก่อนตัดสินใจนะครับ แต่ถ้าเป็น ณ เวลานี้ที่พลังงานหลายอย่างพุ่งสูงขึ้น ประหยัดได้ก็ควรประหยัด ใช้รถเท่าที่จำเป็น ไม่ขับเร็วจนเปลืองน้ำมัน เดินหรือใช้รถสาธารณะบ้าง ก็เพื่อเงินในประเป๋าคุณเอง เพราะทุกวันนี้ก็เหมือน "ทำงานแลกค่าน้ำมันแล้ว"
++++++++หมายเหตุตัวโตว่า! บทความนี้เป็นเพียงการประมาณและคำนวนอย่างไม่เป็นทางการ ระยะทาง การใช้งาน อาจแตกต่างหรือมีการเปลี่ยนแปลงได้ ราคาน้ำมัน ราคาแก๊สแอลพีจี หรือค่าไฟฟ้า ก็อาจผันผวนได้อีกในอนาคต วันเขียนบทความ ณ วันที่ 27 พ.ค.2565