ครม.เคาะแล้ว กับมาตรการภาษีสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเร่งผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ รองรับแนวโน้มความต้องการยานยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้น ลดการนำเข้าชิ้นส่วนและอุปกรณ์สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งจะเป็นการสนับสนุนการผลิตรถยนต์/รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ มีผลในเดือนมีนาคม 65 และมี 2 ช่วง คือ
ช่วงแรกมีนาคม 65 เริ่มใช้ทันทีปี 65 - 68
ช่วงแรกกำหนดทิศทางการพัฒนาและขับเคลื่อนมาตรการสนับสนุนฯ ทั้งในส่วนของมาตรการทางภาษี (การนำเข้า) และไม่ใช่ภาษี (เงินสำหนับสนุนการผลิต) โดยเป็นมาตรการระยะสั้น ระหว่างปี 65 – 68 โดยในช่วง 2 ปีแรก (ปี 65 – 66) มาตรการสนับสนุนฯ จะให้ความสำคัญกับการสร้างแรงจูงใจให้เกิดการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศอย่างกว้างขวางโดยเร็ว ครอบคลุมทั้งการนำเข้ารถยนต์/รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าสำเร็จรูปทั้งคัน (CBU) และกรณีรถยนต์/รถยนต์กระบะ/รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศ (CKD) ผ่านการยกเว้นหรือลดอากรนำเข้า ลดอัตราภาษีสรรพสามิต และ/หรือให้เงินอุดหนุนตามเงื่อนไขที่กำหนด โดยได้รับสิทธิพิเศษทางอากรศุลกากรภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area: AFTA) ซึ่งมี 10 ประเทศได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม กัมพูชา อินโดนีเซีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มาเลเซีย เมียนมา สาธารัฐฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐสิงคโปร์ ราชอาณาจักรไทย และสาธารณรัฐประชาชนจีน และจากการนำเข้าทั่วไป ในปี 2565-2566 มาตรการปรับภาษีด้านแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ
1. ราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท
- ใช้สิทธิ์ FTA อากรไม่เกินร้อยละ 40 ให้ยกเว้นอากรหรือฟรี!
- ใช้สิทธิ์ FTA อากรเกินร้อยละ 40 ให้ลดลงอีกร้อยละ 40 เสียเท่าไหร่ลดไปอีก 40%
- สำหรับกรณีนำเข้าทั่วไป อากรร้อยละ 80 ให้ลดลงเหลือร้อยละ 40 จะเหลือ 40%
- ลดภาษีสรรพสามิตจากเดิม 8% เหลือ 2% ภาษีสิ้นเปลือง
2. ราคาตั้งแต่ 2-7 ล้านบาท
- ใช้สิทธิ์ FTA อากรไม่เกินร้อยละ 20 ให้ยกเว้นอากรฟรี!
- ใช้สิทธิ์ FTA อากรเกินร้อยละ 20 ให้ลดลงอีกร้อยละ 20 เสียเท่าไหร่ลดไปอีก 20%
- สำหรับอัตราอากรนำเข้าทั่วไปให้ลดลงเหลือร้อยละ 60 ไม่ว่าจะเสียเท่าไหร่คิดแค่ 60%
- ลดภาษีสรรพสามิตจากเดิม 8% เหลือ 2% ภาษีสิ้นเปลือง
นอกจากนี้ภาษีรถยนต์ไฟฟ้าประจำปีถูกแบ่งอีกเป็น
รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยกำลังไฟฟ้าเสียภาษีตามน้ำหนักของรถ ในอัตรารถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน ได้แก่
- น้ำหนักรถ 500 กิโลกรัม ไม่ต้องเสียภาษี
- น้ำหนักรถ 501-750 กิโลกรัม เสียภาษี 300 บาท
- น้ำหนักรถ 751-1,000 กิโลกรัม เสียภาษี 450 บาท
- น้ำหนักรถ 1,001-1,250 กิโลกรัม เสียภาษี 800 บาท
- น้ำหนักรถ 1,251-1,500 กิโลกรัม เสียภาษี 1,000 บาท
- น้ำหนักรถ 1,501-1,750 กิโลกรัม เสียภาษี 1,300 บาท
- น้ำหนักรถ 1,751-2,000 กิโลกรัม เสียภาษี1,600 บาท
- น้ำหนักรถ 2,001-2,500 กิโลกรัม เสียภาษี 1,900 บาท
- น้ำหนักรถ 2,501-3,000 กิโลกรัม เสียภาษี 2,200 บาท
- น้ำหนักรถ 3,001-3,500 กิโลกรัม เสียภาษี 2,400 บาท
- น้ำหนักรถ 3,501-4,000 กิโลกรัม เสียภาษี 2,600 บาท
- น้ำหนักรถ 4,001-4,500 กิโลกรัม เสียภาษี 2,800 บาท
- น้ำหนักรถ 4,501-5,000 กิโลกรัม เสียภาษี 3,000 บาท
- น้ำหนักรถ 5,001-6,000 กิโลกรัม เสียภาษี 3,200 บาท
- น้ำหนักรถ 6,001-7,000 กิโลกรัม เสียภาษี 3,400 บาท
- น้ำหนักรถ 7,001 กิโลกรัมขึ้นไป เสียภาษี 3,600 บาท
รถไฟฟ้าประเภทอื่น เช่น รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ให้เก็บภาษีอัตรากึ่งหนึ่งของข้อกำหนดการจัดเก็บตามน้ำหนัก หรือจัดเก็บเป็นรายคัน ดังนี้
- รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล คันละ 100 บาท
- รถจักรยานยนต์สาธารณะ คันละ 100 บาท
- รถบดถนน คันละ 200 บาท
- รถแทรกเตอร์เพื่อใช้ในการเกษตร คันละ 50 บาท
โดยในช่วงแรกนี้หลังมีนาคม 2565 เป็นต้นไปรถยนต์ที่เข้าข่ายนี้จะได้รับการปรับอัตราภาษีนำเข้าและเมื่อรวมกับมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีกรมสรรพสามิตจะมีช่วยเงินอุดหนุนแบ่งได้เป็น
- สำหรับรถยนต์นั่งที่มีขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 10 กิโลวัตต์ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 30 กิโลวัตต์ชั่วโมง อุดหนุน 70,000 บาทต่อคัน
- สำหรับรถยนต์นั่งที่มีขนาดแบตเตอรี่ ตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป ครอบคลุมทั้งกรณีรถยนต์ที่ผลิตในประเทศ (CKD) และการนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูปทั้งคัน (CBU) อุดหนุน 150,000 บาทต่อคัน
- สำหรับรถยนต์กระบะ ประเภท BEV (EV) ที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท ให้เงินอุดหนุน 150,000 บาทต่อคัน เฉพาะรถยนต์กระบะที่ผลิตในประเทศ (CKD) และมีขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป
- รถจักรยานยนต์ ประเภท BEV (EV) ที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 150,000 บาทต่อคัน กำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตตามมูลค่า 1% สำหรับรถจักรยานยนต์ประเภท BEV ที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่กรมสรรพสามิตประกาศกำหนด พร้อมเงินอุดหนุน 18,000 บาทต่อคัน สำหรับรถจักรยานยนต์ ประเภท BEV ครอบคลุมทั้งกรณีรถจักรยานยนต์ที่ผลิตในประเทศ (CKD) และการนำเข้ารถจักรยานยนต์สำเร็จรูปทั้งคัน (CBU)
โดยส่วนลด ตั้งแต่ 70,000-150,000 บาท ให้บริษัทรถยนต์ที่ทำสัญญาเข้าร่วมโครงการกับกรมสรรพสามิต นำไปจัดแคมเปญได้เอง และกรมสรรพสามิตจะคืนเงินให้เป็นรายไตรมาสต่อไป นับว่าเป็นการให้ทดลองนำตลาดก่อนที่จะผลิตในประเทศเอง และใน 3-4 ปี จะต้องผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) ใช้ในประเทศตามคืนกัลบตามจำนวนที่นำเข้ามาและต้องใช้ในประเทศเท่านั้น ซึ่งหากไม่ทำตามสัญญาก็จะมีบทลงโทษเสียค่าปรับอีกด้วย
ช่วงที่ 2 อนาคตไทยผลิตเอง 30% - กระบะ/มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า
ช่วง 2 ปีถัดไป (ปี 67 – 68) มาตรการสนับสนุนฯ จะให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศเป็นหลัก โดยยกเลิกการยกเว้นหรือลดอากรนำเข้า รถยนต์สำเร็จรูปทั้งคัน (CBU) แต่ยังคงมาตรการลดอัตราภาษีสรรพสามิต และหรือให้ เงินอุดหนุนตามเงื่อนไขที่กำหนดต่อไป เพื่อทำให้ต้นทุนรถยนต์ไฟฟ้าสำเร็จรูปทั้งคันที่นำเข้าสูงกว่ารถยนต์ รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศ
พร้อมพิจารณามาตรการส่งเสริมการผลิตหรือประกอบรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
- การยกเว้นอากรชิ้นส่วนและส่วนประกอบของยานยนต์ไฟฟ้า ได้แก่ แบตเตอรี่ Traction Motor คอมเพรสเซอร์สำหรับยานพาหนะไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ ระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่ (BMS) ระบบควบคุมการขับขี่ (DCU) On-Board Charger PCU inverter DC/DC Converter และ Reduction รวมทั้งส่วนประกอบของชิ้นส่วนต่าง ๆ
- การผลิตหรือประกอบยานยนต์ไฟฟ้า (BEV) ในเขตปลอดอากรหรือเขตประกอบการเสรี ให้มีการนับมูลค่าของเซลล์แบตเตอรี่จากต่างประเทศเป็นต้นทุนการผลิตที่เกิดขึ้นในประเทศสำหรับการคำนวณมูลค่าเพิ่มในประเทศได้ไม่เกินร้อยละ 15 ของราคายานยนต์ไฟฟ้า (BEV)
โดยเสนอปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ดังนี้
1.การปรับลดเกณฑ์การปล่อย CO2 เพื่อส่งเสริมให้รถยนต์นั่ง รถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน รถยนต์กระบะ และรถจักรยานยนต์ มีการลดการปล่อย CO2 และประหยัดพลังงานเพิ่มมากขึ้น
2.การกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ประเภท HEV และ PHEV ให้มีความแตกต่างกัน เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาเทคโนโลยีที่สูงขึ้นของ PHEV และการพัฒนาไปสู่รถยนต์ BEV ซึ่งมีการพิจารณาถึงสมรรถนะของเทคโนโลยี PHEV ในเรื่องระยะทางการวิ่งด้วยพลังงานไฟฟ้า (Electric Range : ER) โดยสามารถวิ่งได้ไม่น้อยกว่า 80 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง และขนาดถังบรรจุน้ำมัน (Oil Tank) เพื่อลดการใช้พลังงานจากน้ำมัน
3.การทยอยปรับอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ประเภท ICE, HEV และ PHEV ให้เหมาะสม โดยกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตเพิ่มขึ้นแบบขั้นบันได 3 ช่วง ได้แก่ ปี พ.ศ.2569 พ.ศ.2571 และ พ.ศ.2573 ตามลำดับ เพื่อสร้างแรงจูงใจในการพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีการผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า และส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์/ชิ้นส่วนสำคัญของรถยนต์ และปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ประเภท BEV จากอัตราร้อยละ 8 เหลืออัตราร้อยละ 2 เพื่อส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า และสร้างแรงจูงใจในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นตามมติคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ
4.การส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของรถยนต์กระบะ และอนุพันธ์ของรถยนต์กระบะ (Product Champion) เพื่อให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตต่อไป โดยคำนึงถึงการลดการปล่อย CO2 และสนับสนุนพลังงานเชื้อเพลิงทดแทน Biodiesel และยังส่งเสริมให้เกิดการใช้และผลิตรถยนต์กระบะไฟฟ้า (BEV) ในประเทศโดยกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตร้อยละ 0 เป็นการชั่วคราวจนถึงปี พ.ศ.2568
5.การกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ทุกประเภท ยังสนับสนุนมาตรฐานด้านความปลอดภัย โดยให้มีการติดตั้งระบบ Advanced Driver - Assistance Systems (ADAS) มาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ต้องมีการติดตั้งระบบ ADAS อย่างน้อย 2 ระบบจาก 6 ระบบ ยกเว้น BEV ต้องมีอย่างน้อย 4 จาก 6 ระบบ และรถยนต์กระบะ ต้องมีการติดตั้งระบบ ADAS อย่างน้อย 1 ระบบจาก 6 ระบบ ยกเว้น BEV ต้องมีอย่างน้อย 2 จาก 6 ระบบ
และปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถจักรยานยนต์ เพื่อส่งเสริมการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าและสร้างแรงจูงใจในการผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น และจะทยอยปรับอัตราภาษีสรรพสามิตรถจักรยานยนต์ประเภทพลังงานเชื้อเพลิงให้เหมาะสมแบบขั้นบันได 2 ในช่วงปี 2569 - 2573 โดยรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับสิทธิอัตราภาษีสรรพสามิตร้อยละ 1 มีเงื่อนไขคือ
1.ต้องใช้แบตเตอรี่ประเภทลิเธียมไอออนที่มีแรงดันไฟฟ้าตั้งแต่ 48 โวลต์ขึ้นไป
2.ต้องมีขนาดความจุของแบตเตอรี่ตั้งแต่ 3 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป หรือวิ่งได้ระยะทางตั้งแต่ 75 กิโลเมตรขึ้นไปต่อการอัดประจุไฟฟ้า 1 ครั้ง โดยผ่านการทดสอบตามมาตรฐาน WMTC
3.ต้องใช้ยางล้อที่ผ่านการทดสอบตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ยางล้อแบบสูบลมสำหรับรถจักรยานยนต์และโมเปด มาตรฐานเลขที่ มอก.2720-2560 หรือที่สูงกว่า หรือ UN Regulation No.75 หรือที่สูงกว่า
4.ต้องผ่านการทดสอบความปลอดภัยของรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรมยานยนต์ประเภท L: คุณลักษณะเฉพาะสำหรับระบบส่งกำลังด้วยไฟฟ้า มาตรฐานเลขที่ มอก.2952-2561 หรือ UN Regulation No.136 หรือที่สูงกว่า หรือเอกสารรับรองการผ่านมาตรฐานนี้ตามประกาศกรมการขนส่งทางบก
*สำหรับค่ายรถยนต์ที่เข้าร่วมในมาตรการณนี้ยังไม่ชัดเจนในวันทำบทความคือ วันที่ 1 มีนาคม 2022 เพราะเพิ่มจะเคาะ และต้องรอดูว่าบริษัทรถยนต์จะประกาศเป็นทางการอีกครั้งว่าจะมีรุ่นไหนเข้ากับมาตรการลดภาษีในครั้งนี้ แต่ที่พอจะคาดเดาได้อาจจะมีรออยู่แล้ว 2 ค่ายคือ Toyota และ MG
ซึ่งครม.ได้เคาะงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 3,000 ล้านบาท ให้กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลังดำเนินการตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ และเห็นชอบให้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จัดหาแหล่งงบประมาณในปีงบประมาณ 2566-2568 วงเงินประมาณ 40,000 ล้านบาท จากแหล่งงบประมาณที่เหมาะสมเพื่อดำเนินการตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า และอนุมัติให้กรมสรรพสามิตคืนเงินสำหรับผู้รับสิทธิตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ตลอดจนให้ออกประกาศกระทรวงการคลังเพื่อดำเนินการตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์
สอบถามรายละเอียดได้ที่....
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ส่วนสื่อสารองค์กร กรมศุลกากร โทร.09-9446-9915
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมสรรพสามิต โทร.1713 ต่อ 552302