เราอยู่ในยุคที่ต้องเพิ่งข้อมูลต่างๆ จากสมาร์ทโฟน ไม่ว่าเรียน ทำงาน เที่ยว ตลอดจนการเดินทาง ด้วยความรุดหน้าด้านเทคโนโลยี ล้วนทำให้ทุกอย่างรอบตัวเปลี่ยนแปลงไป เช่นเดียวกับไลฟสไตล์ และแน่นอนรูปแบบการเดินทางเราก็เปลี่ยนไป เราสามารถทำรูทและรายละเอียดการเดินทางด้วยตนเองแบบง่าย ไม่ว่า ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว ฯลฯ ทำให้การเดินทางสะดวกสบายขึ้น แต่ก็ยังมีสิ่งสำคัญที่ควรทำความรู้ให้ลึกซึ้งก่อนทริปการเดินทางไกล โดยเฉพาะเมื่อต้องไปกับครอบครัวที่ผู้ขับต้องแบบความรับผิดชอบมากขึ้น ไม่งั้นทริปสนุกอาจกลายเป็นทริปสลด
1. กูเกิ้ลแมพ - กลายเป็นทุกสิ่งของนักเดินทางในชั่วโมงนี้ไปแล้ว ไม่ว่าใกล้หรือไกล เสมือนคัมภีร์การเดินทาง เพราะเป็นแอปพลิเคชั่นเรียลไทม์ที่เอาไว้อ้างอิงเส้นทาง นอกจากนี้ยังไว้สำรวจสถานที่ต่างๆ ที่เราต้องการจะไปไม่ว่า ร้านอาหารอร่อยในพื้นที่, คาเฟ่ยอดนิยม ฯลฯ กลั่นกรองได้จากเรตติ้งการรีวิว ในส่วนของทางเลือกเส้นทาง กูเกิ้ลแมพ มักจะเลือกตามค่าที่เราตั้งไว้หรือค่ากลาง โดยใช้เส้นทางที่ประหยัดเวลาสุด แต่สิ่งที่อยากให้เราทำความเข้าใจลึกๆ ก็คือ กูเกิ้ลแมพ ไม่รู้สกิลการขับขี่ของคุณหรอก และไม่รู้หรอกว่าเส้นทางนั้นจะเป็นทางเปลี่ยวหรือมีแต่รถใหญ่วิ่ง ตลอดจนสภาพผิวถนนเหมาะกับรถที่คุณขับหรือเปล่า และมันอาจไม่ใช่เส้นทางที่สวยงาม ถ้าการเดินทางของคุณคือ การแสวงหาความสุขตั้งแต่ขึ้นรถ สะดวกสบายกับการใช้สิ่งอำนวยความสะดวกในรถ ความสวยงามของเส้นทาง การจอดพักอย่างสบายใจ ทั้งหมดอาจเปลี่ยนไปถ้าคุณเลือกเส้นทางตามกูเกิ้ลแมพกับการเดินทางที่ใหม่ๆ ที่ไม่คุ้นเคย มันอาจไม่มีจุดจอดเติมน้ำมัน เข้าห้องน้ำเลยตลอด 100 กม. หรือเป็นเส้นทางที่เต็มไปด้วยโค้งอันคดเดี้ยว หรือเป็นทางแบบชนบทที่ไปได้แบบพอดีคัน
จริงๆ เราอาจลดความเสี่ยงได้โดยใช้สตรีทวิวดูก่อนการเดินทาง ซึ่งจะเป็นการช่วยให้เราเตรียมพร้อมได้ดีกว่า เอาเป็นว่า เราควรทำความเข้าใจจุดหมายและเส้นทางที่ต้องใช้ก่อนการเดินทางจริงโดยกูเกิ้ลแมพก่อน ที่อยากแนะนำคือ ไม่ว่าขับรถยนต์หรือขี่มอเตอร์ไซค์พยายามยึดเส้นทางถนนเส้นหลักไว้ก่อนเสมอ เราอาจไม่ได้แคร์กับเวลาที่เร็วกว่าไม่กี่นาทีจากการคำนวนของกูเกิ้ลแมพ เพื่อยอมเสี่ยงไปถนนสายรองหรือเส้นทางลัด ที่ไม่รู้ว่ามีปั้มน้ำมัน จุดจอดปลอดภัย หรือสัญญานโทรศัพท์ไหม ... สุดท้าย ระวังนักเดินทางกูเกิ้ลแมพ งงไหม เพราะเราก็อาจเป็นหนึ่งในกลุ่มนั้น ถ้างมไปตามทางที่ไม่คุ้นอาศัยซายน์จากกูเกิ้ลแมพอย่างเดียว อาจเลยแล้วเบรกหรือเลี้ยวกระทันหัน การตอบสนองตามกูเกิ้ลแมพทันทีโดยไม่ระวังสิ่งรอบข้างทำให้เกิดเคสอุบัติเหตุมามากแล้ว ดังนั้นถ้าไปตามกูเกิ้ลแมพในเส้นทางไม่คุ้น การตัดสินใจหยุดหรือเลี้ยวต้องดูสิ่งรอบข้างด้วยเสมอเพื่อความปลอดภัย ในทางตรงกันข้ามเราเองก็ต้องระวังรถคันหน้าที่ส่อแววขับตามกูเกิ้ลแมพ
2. ร้านอาหารริมทาง - ถ้าคิดเร็วๆ ร้านระหว่างทางที่เราไม่ได้แพลนไว้ อย่าง ฟาสต์ฟู๊ด, อาหารกล่องในร้านสะดวกซื้อ, อาหารทำใหม่ร้อนๆ ในปั้มน้ำมัน มักจะเป็นการเติมพลังที่ดีและไว้ใจได้เสมอ แม้อาจไม่ใช่รสชาติแปลกใหม่ก็ตาม หลายคนมักประหยัดเวลาการเดินทางโดยการจบทุกอย่างที่ปั้มทั้งอาหาร เครื่องดื่ม ห้องน้ำ แต่บางคนก็เลือกที่จะแวะร้านอาหารข้างทางที่สะดวก ณ เวลานั้นๆ เอาเป็นว่าถ้าเป็นร้านที่อยู่ในระหว่างการเดินทาง ไม่ใช่ร้านในตัวเมืองที่ขายให้กับคนเมืองอยู่แล้ว คือ อาจเป็นร้านที่ไว้ดักนักเดินทางโดยเฉพาะ กลุ่มร้านเหล่านี้มักมีความเสี่ยงหลายอย่าง ตั้งแต่ อาหารไม่สด เพราะถ้าไม่ใช่ช่วงวันหยุดยาวก็ต้องเก็บกันหลายวัน ความสะอาดการจัดเก็บวัตถุดิบ จานชาม และเครื่องปรุง มักเทียบไม่ได้กับร้านอาหารในตัวเมือง หรือชุมชน
ถ้าเจออร่อยและสะอาดก็นับเป็นความโชคดี แต่ถ้าไม่แล้วทำให้คุณท้องเสียระหว่างการเดินทาง ประกอบกับอยู่บนเส้นทางแสนเปลี่ยวที่กูเกิ้ลแมพแนะนำให้ บันเทิงแน่นอน
3. รอบเครื่องยนต์ - ว่าด้วยเรื่องกล้องจับดักความเร็วที่เป็นสิ่งกังวลของนักเดินทาง นับเป็นเรื่องดูเหมือนง่ายแต่ไม่ง่ายเลยที่จะรักษาความเร็วรถบนถนนเปิดโล่งทางไกลให้ได้อยู่ภายใต้ความเร็ว 120 กม./ชม. ยิ่งถ้าขับแบบเพลินๆ คุยกับสมาชิกในรถไปด้วยมีโอกาสเกินสูงมาก เคล็ดลับง่ายๆ คือ ขับที่เกียร์สุดท้ายให้รอบเครื่องยนต์ไม่เกิน 3,000 รอบต่อนาที
ซึ่งในรถส่วนใหญ่ความเร็วที่ได้ก็มักไม่เกิน 120 กม./ชม. การดูแต่รอบทำให้เรามองง่ายขึ้นขณะขับ นอกจากไม่โดนกล้องถ่าย หรือหน่วยซุ่มยิงก่อนเข้าด่านแล้ว ยังช่วยให้เรื่องความปลอดภัย ทุกคนรู้ดี ว่ายิ่งเร็วยิ่งอันตราย 110 กับ 130 กม./ชม. เมื่อเบรกฉุกเฉิน ระยะเบรกแตกต่างกันมาก และความต่างแค่ 1 เมตรก็มีผลต่อความเป็นความตายบนถนน นอกจากเบรกการบังคับเลี้ยวหักหลบก็คุมได้ยากตามไปด้วยเช่นกัน สุดท้ายคือ ความประหยัด ที่จะได้จากการขับไม่เกิน 3,000 รอบต่อนาที รถขับทางไกลที่มีผู้โดยสารเต็มที่นั่ง สัมภาระแน่นท้าย ทำให้ฟิลการขับต่างไปจากในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว เมื่อหนักขึ้น เร่งออกตัว แซง ก็ต้องใช้พลังมากขึ้น เบรกก็ต้องแบกภาระมากกว่าเดิม การบังคับเลี้ยวต้องรับการถ่ายน้ำหนักที่มากขึ้น กินนำมันมากขึ้น ยิ่งถ้าเป็นเส้นทางขึ้นลงทางชัน มีโค้งซ้ายขวาตลอด สิ่งที่เกล่ามายิ่งส่งผลชัดเจนกว่าทางราบ ดังนั้นการขับภายใต้ 3,000 รอบ คือ สมดุลง่ายๆ ของการขับทางไกล