รีวิว All-new Mazda BT-50 2021 สัมผัสพร้อมขับจริงก่อนเปิดตัว กับเครื่องยนต์ดีเซล 1.9 ลิตร และ 3.0 ลิตร
Mazda BT-50 2021 รถปิกอัพรุ่นล่าสุดที่พร้อมเขย่าตลาดปิกอัพเมืองไทยเร็วๆ นี้ เปิดให้สื่อมวลชนได้สัมผัสพร้อมขับก่อนเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ไปเมื่อวันที่ 19 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยมีทั้งรุ่น เครื่องยนต์ดีเซลเทอร์โบ 1.9 และ 3.0 ลิตร ระบบขับเคลื่อนสองล้อและ 4X4 ตัวถังแค็บและดับเบิ้ลแค็บ ให้ได้ลองสมรรถนะกันในสนามทดสอบ และนี่คือรายงานจากความรู้สึกที่ได้จากสัมผัสและขับตัวจริงครั้งแรกของทีมงาน Car GURU Thailand by CheckRaka.com
หลังจากเห็นภาพของ มาสด้า BT-50 ใหม่ จากโซเชี่ยลต่างๆ กันมาพอสมควร เพราะบางประเทศได้เปิดตัวไปแล้ว วันทดสอบได้เห็นภาพรถจริงในไทยกันเป็นครั้งแรก ให้ความรู้สึกทันทีว่า มาสด้า BT-50 ใหม่ เป็นรถปิกอัพที่ดูแตกต่างจากตลาด เพราะมีความหรูหรานำ สะท้อนดีเอ็นเอมาสด้าตามแนวคิด โคโดะ ดีไซน์ ที่ชัดเจน ผสานกับความแข็งแกร่งและความแน่นอนของพื้นฐานการผลิตรถอีซูซุ จึงทำให้ BT-50 ใหม่ ดูครบเครื่อง พร้อมเสริมไลน์อัพมาสด้ายุคใหม่ได้อย่างสมบูรณ์
ด้วยแนวคิดการออกแบบ BT-50 ใหม่ ให้เป็น "รถที่ยอดเยี่ยมในทุกสถานการณ์การขับและเป็นเพื่อนคู่ใจอันแสนวิเศษ ที่จะช่วยให้เจ้าของรถ บรรดาเพื่อนพ้อง และครอบครัวของพวกเขามีชีวิตชีวายิ่งขึ้น" สามารถใช้งานได้ทุกโอกาส จึงทำให้รถปิกอัพมาสด้า BT-50 ใหม่ โดดเด่นในทุกการใช้งาน ตั้งแต่การใช้งานในชีวิตประจำวันไปจนถึงการขับแบบออฟโร้ด
ความรู้สึกจากที่ได้เห็นคือ ด้านหน้าดูมีมิติ เส้นสายบนตัวรถช่วยให้ดูแข็งแกร่งแบบรถปิกอัพ พร้อมใส่ความเป็นมาสด้าด้วยซิกเนเจอร์วิงส์และไฟหน้าที่มีรูปทรงกระบอก ด้านภายในห้องโดยสารผสมผสานระหว่างคุณภาพชิ้นงานและความแข็งแกร่ง แผงหน้าปัดและองค์ประกอบต่างๆ เน้นมิติแนวนอน ภายในจึงให้ความรู้สึกกว้างขวาง พร้อมสอดแทรกชิ้นงานเมทัลลิกเพิ่มมุมมองแบบสามมิติ
ไฮไลท์ของ มาสด้า BT-50 ใหม่ ที่มีสเปคเหมือนกับแบรนด์จากโรงงานเดียวกัน เริ่มจากฟังก์ชั่นที่หลากหลาย ช่วยเพิ่มความสะดวกสบายและง่ายต่อการใช้งาน พวงมาลัยปรับระดับได้ 4 ทิศทาง กุญแจรีโมทอัจฉริยะ สามารถสตาร์ทเครื่องยนต์ด้วยรีโมทและมีฟังชั่นเปิดไฟในห้องโดยสารอัตโนมัติ (Welcome Light) รวมถึงมือจับช่วยให้ผู้โดยสารแถวหลังขึ้นและลงรถได้สะดวกสบายขึ้น นอกจากนี้ระบบ Infotainment (ระบบเอนเตอร์เทนเม้นต์ หรือ Infotainment ใช้หน้าจอแสดงผลแบบสัมผัส WXGA จอแสดงผลความละเอียดสูง WXGA ขนาด 7 นิ้ว หรือ 9 นิ้ว แล้วแต่รุ่นย่อย ตั้งอยู่บนคอนโซลหน้า และมีจอแสดงผล Multi-information Display ขนาด 4.2 นิ้ว ควบคุมระบบนำทางด้วยการสัมผัสได้ มี Apple CarPlay และฟังก์ชั่น Android Auto และบางรุ่นยังรองรับฟังก์ชั่นการควบคุมการทำงานด้วยเสียง) และฟังก์ชั่นการเชื่อมต่อสมาร์ทโฟน เป็นไปตามมาตรฐานความสะดวกสบายของรถยุคใหม่ แต่ในการทดสอบขับช่วงสั้น ผู้เขียนไม่มีโอกาสได้ลองระบบต่างๆ เหล่านี้ เพราะต้องเน้นไปที่การขับ และเวลาที่จำกัด
ส่วนขุมพลังมี 2 ขนาด คือ เครื่องยนต์ดีเซลขนาด 3.0 ลิตร ให้กำลังสูงสุด 190 แรงม้า ที่ 3,600 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 450 นิวตันเทตร ที่ 1,600-2,600 รอบต่อนาที และเครื่องยนต์ดีเซลขนาด 1.9 ลิตร ให้กำลังสูงสุด 150 แรงม้า ที่ 3,600 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 350 นิวตันเมตร ที่ 1,800-2,600 รอบต่อนาที ระบบเกียร์มาสด้า BT-50 ใหม่ มีทั้งเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด และเกียร์ธรรมดา 6 สปีด ตามรุ่นย่อย
ระบบขับเคลื่อนแบบ4ล้อในรุ่น 4x4 ใช้เพลาขับอลูมิเนียมน้ำหนักเบา และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเกียร์ส่งกำลัง สามารถสลับโหมดการขับเคลื่อนและการทำงาน 4H/4L ได้เร็วขึ้นเมื่ออยู่ในโหมดขับเคลื่อน 4 ล้อ นอกจากนี้รุ่นขับเคลื่อนสี่ล้อ หรือ 4x4 ยังมาพร้อมกับระบบล็อกเฟืองท้ายแบบไฟฟ้า
ระบบความปลอดภัยที่ช่วยให้เกิดความปลอดภัยในหลากหลายสถานการณ์นอกจากถุงลมนิรภัยฝั่งคนขับและฝั่งผู้โดยสารที่เป็นอุปกรณ์ความปลอดภัยขั้นพื้นฐาน เช่น ระบบเตือนเมื่อมีรถในจุดอับสายตาขณะเปลี่ยนเลน ABSM, ระบบเตือนเมื่อมีรถในจุดอับสายตาขณะถอยหลัง (RCTA), ระบบควบคุมความเร็วขณะลงทางลาดชัน Hill Descent Control (HDC), ระบบช่วยออกตัวรถขณะอยู่บนทางลาดชัน (HLA), ระบบช่วยจอด Parking Aid และม่านถุงลมนิรภัยและถุงลมนิรภัยด้านข้าง
สำหรับการขับทดสอบได้แบ่งออกให้ขับ 2 ช่วงกับ 2 รุ่นย่อย โดยช่วงแรกเป็นตัวถังแค็บ เครื่องยนต์ดีเซล 1.9 ลิตร ขับเคลื่อน 2 ล้อหลังปกติ เส้นทางวิ่งและสเตชั่นในสนามทดสอบ เริ่มจากเข้าสลาลอม ตามด้วยช่องทางเบี่ยงเลนกระทันหัน และเข้าสู่แทร็คทดสอบการเข้าโค้งในช่วงแรกก่อนวิ่งไฮสปีดรอบใหญ่ จากที่ขับรุ่นเครื่องยนต์ 1.9 ลิตร พบว่ามุมมองจากตำแหน่งเบาะคนขับดูต่างไปจากที่คุ้นเคยในรถปิกอัพทั่วไป ด้วยการออกแบบฝากระโปรงที่เน้นเชฟลอยตัวขึ้นจากแนวราบ สังเกตุภายในมีความต่างในรายละเอียดพอสมควร แต่คงตำแหน่งการใช้งานหลักเอาไว้ ที่เสริมเพิ่มเติมคือ ซอฟต์ทัชคอนโซลกลางไว้พักเข่าเวลาเลี้ยว และยังช่วยให้ดูพรีเมียมขึ้น แต่ที่ขาดหายไปจากที่คาดหวังคือ ที่วางแก้วแบบซ่อนใต้ช่องแอร์ซ้าย-ขวา จริงๆ ตำแหน่งผู้ขับสามารถวางแก้วตรงคอนโซนกลางได้ ซึ่งใช้มือซ้ายจะปลอดภัยกว่าละมือขวาไปจับแก้ว ที่สำคัญวางตรงกลางไม่บดบังทิศทางลมแอร์ แต่ผู้เขียนยังชอบให้มีชิ้นชักวางแก้วใต้ช่องแอร์อยู่ เพราะยุคที่ใช้เกียร์ออโตเมติกเป็นหลักการละมือซ้ายหรือขวาไปจับแก้วไม่ต่างกันเท่าไหร่ ยิ่งใกล้ยิ่งดีด้วย
เบาะนั่งปรับตำแหน่งแบบแมนนวล เมื่อขับตามเส้นทางทดสอบจนจบได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า การออกตัวและทำความเร็วอยู่ในเกณฑ์ที่คาดไว้จากแบรนด์ร่วมโรงงาน เพียงพอและประหยัดดีสำหรับการใช้งานทั่วไป เป็นไปตามขนาดความจุเครื่องยนต์ ที่ชอบคือ ระบบกันสะเทือน แม้ช่วงล่างมีสเปคเหมือนกันจากที่เคลมไว้ แต่ขับจริงกับต่างกันจนพอจับความรู้สึกได้ว่า มาสด้า BT-50 ใหม่ นุ่มและนิ่ง ระบบเบรกดี ลองแบบฉุกเฉินมีระบบช่วยจนมั่นใจ การเข้าสลาลอมและเปลี่ยนเลยกระทันหันตัวรถให้ความรู้สึกนิ่ง ไม่โคลง เมื่อขับไหลเข้าสู่ทางตรงไปเรื่อยๆ จับได้ว่าไม่มีอาการเต้นของแชสซีส์เหมือนในรถปิกอัพทั่วไป และเมื่อใช้ความเร็วสูงเข้าโค้ง การชะลอเบรกจากการทำความเร็วทางตรงทำได้ดีอย่างน่าพอใจ ทำให้เข้าโค้งได้ต่อเนื่องและไหลลื่น สามารถควบคุมตัวรถผ่านเข้า-ออกโค้งได้อย่างมั่นใจ ตัวรถไม่มีอาการหน้าหรือท้ายดื้อให้รู้สึก (ความเร็วประมาณ 110-120 กม./ชม.)
สำหรับรุ่นเครื่องยนต์ 3.0 ลิตร เป็นตัวถังดับเบิ้ลแค็บ มีระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ แต่ขับทดสอบใช้แค่ 2 ล้อ สัมผัสที่ต่างจากรุ่น 1.9 ลิตร ก็คงเป็นเรื่องพละกำลังที่ตอบสนองได้ดีกว่า อัตราเร่งทางตรงดีอย่างอย่างน่าประทับใจเมื่อเทียบกับคลาสรถปิกอัพ 4X4 ด้วยกัน สรุปจากการขับ มาสด้า BT-50 ใหม่ ทดสอบในสนามแบบสั้นๆ คือ ชอบสมดุลของตัวรถที่เก็บอาการต่างๆ ได้ดี นิ่งและขับสบาย ส่วนหนึ่งน่ามาจากการกระจายน้ำหนักของพาร์ตตัวถังที่แตกต่างไปจากแบรนด์โรงงานเดียวกัน เพราะสเปคก็เหมือนกันหมด อย่างไรก็ตามต้องรอข้อมูลรอบด้านเพิ่มเติมมากกว่านี้ จากการขับทดสอบบนถนนจริงหลังการเปิดตัวของรถรุ่นนี้ในปี 2564