รีวิว All-New Mazda 3 รถยนต์ Sedan ดีไซน์ล้ำ เทคโนโลยีแน่น ขับสนุก
All-New Mazda 3 เจนเนอเรชันใหม่ ยังคงมี 2 ตัวถังให้ได้เลือก ฟาสต์แบค และ ซีดาน ที่มี 3 รุ่นย่อยเหมือนกัน ขุมพลังเดียวกัน แตกต่างกันด้านรายละเอียดออปชั่น ด้วยการออกแบบที่เรียบหรู โฉบเฉี่ยวด้วยแนวคิด
Less is More ทำให้ถูกใจหลายคนที่ชอบรถยนต์ที่โดดเด่นทั้งด้านรูปลักษณ์และสมรรถนะ บทพิสูจน์การใช้งานครั้งนี้ ทีมงาน Car Guru โดย CheckRaka.com ได้เลือกเอารุ่น 2.0 SP ซีดานมาขับทดสอบให้ได้ทราบกัน ว่าจะคุ้มค่าน่าประทับใจแค่ไหน ?
All-New Mazda 3 ซีดาน ภายนอกเน้นความหรูหรา สุขุมนุ่มลึก ต่างไปจากแฮทช์แบคที่เน้นอิมเมจสปอร์ตมากกว่า แม้ว่าขุมพลังและรายละเอียดต่างๆ เหมือนกันหมด มองจากด้านข้างแล้วให้ความสลีค สง่างาม คล้ายรถคูเป้ และการที่ดูไม่เยอะ แต่ดูดี ปล่อยให้ลายเส้นของตัวถังแสดงความโดดเด่น ยิ่งเวลาสะท้อนความเงาแล้วยอมรับว่าสวยจริงๆ ยิ่งถ้าได้รับการดูแลรักษาเคลือบสีด้วยน้ำยาคุณภาพสูงด้วยแล้ว เชื่อว่าจอดไว้ที่ไหนใครก็ต้องเหลียวมอง ส่วนล้ออัลลอยขนาด 18 นิ้ว ที่ให้มาเป็นขนาดที่ออกแบบมาแล้ว ดูรับและเหมาะสมกับตัวถังที่สุด แต่การเปลี่ยนยางชุดใหม่ อาจจะเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่น้อย สำหรับผู้เขียนที่ยังไม่ค่อยถูกใจกับลวดลายของล้อติดรถในเจนเนอเรชั่นนี้เท่าไหร่ ถ้าเป็นเจ้าของเองอาจเปลี่ยนล้อเป็น 17 นิ้ว กับลายที่ชอบแล้วเลือกทดขนาดยางให้ใกล้เคียงกับเดิมแทน
ภายในห้องโดยสารของ
All-New Mazda 3 ได้รับการออกแบบอย่างลงตัว และเป็นไปตามแนวคิดของมาสด้าที่เน้นตำแหน่งการขับเป็นศูนย์กลาง เพื่อขับได้อย่างมั่นใจ ช่วยให้การควบคุมและใช้งานฟังก์ชันต่างง่าย ตลอดจนมีสมาธิตอนขับมากขี้น จากการพิจารณาและใช้เวลาอยู่กับรถมาพอสมควรพบว่า ตำแหน่งการใช้งานของปุ่มต่างๆ ต่อผู้ขับสะดวกมาก พื้นที่การนั่งในแถวหน้าก็สบาย และยังรู้สึกกลมกลืนไปกับเบาะมากกว่ารถทั่วไปในกลุ่มเดียวกัน วัสดุที่ใช้ในการประกอบดูพรีเมียมมาก และทำได้อย่างเรียบร้อยโดยเฉพาะการเดินด้ายตรงจุดสัมผัสนุ่มของคอนโซล โดยรวมให้อารมณ์เหมือนรถสปอร์ตยุโรปไม่น้อย ด้านแถวหลังที่หลายคนเห็นมักบอกว่าดูแคบไปไหม แต่พอลองนั่งจริงผู้เขียนที่สูง 171 ซม. ก็ไม่ได้รู้สึกอึดอัดหรือติดขัดอะไร คือเป็นรถที่เหมาะกับการไปแบบ 2+2 หรือ 2+3 กรณีเป็นเด็กเพิ่มเติมเข้ามา มันก็ไม่ได้เป็นจุดที่น่ากังวลอะไรมากนัก แม้มักโดนเปรียบเทียบกับคู่แข่งในคลาสเดียวกัน เพราะปกติคนใช้รถกลุ่มนี้ เชื่อว่ามักขับไปไหนส่วนใหญ่ไม่เกิน 2 คน ต่อให้ไปกันแบบครอบครัว 4 คน ก็ยังโอเค และจุดเด่นที่สำคัญของภายในมาสด้า 3 ใหม่ ที่ชอบมากคือ ความเงียบ การตัดเสียงรบกวนจากภายนอกทำได้ดีเยี่ยมจริงๆ
เครื่องยนต์ SKYACTIV-G 2.0 DOHC 4 สูบ 16 วาล์ว มีระบบวาล์วแปรผันคู่อัจฉริยะ Dual S-VT พร้อมระบบ i-Stop แม้เป็นเครื่องยนต์บล็อคเดิมจากเจเนอเรชั่นที่แล้ว แต่ได้รับการปรับปรุงใหม่ในหลายจุด ให้กำลัง 165 แรงม้า ที่ 6,000 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 213 นิวตันเมตร ที่ 4,000 รอบต่อนาที ส่งกำลังผ่านเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด พร้อม Activematic ที่ชิฟต์เกียร์เองได้ แม้ว่าหลายคนที่ใช้เกียร์ออโต้มักไม่รู้จะชิฟต์เองไปทำไม ตอนไหนดี ผู้เขียนก็เป็นเช่นกัน เว้นแต่ตอนขับไปตามเส้นทางขึ้น-ลงเขาผ่านโค้งซ้าย-ขวานั่น ส่วนเชื้อเพลิงเติมได้หมดตราบใดที่เป็นเบนซิน ง่ายๆ ก็คือถึง E85 ที่ราคาตอนนี้ทำให้รถใช้ NGV ร้องไห้หนักมาก
การขับทดสอบที่ผ่านมากว่า 800 กม. มีทั้งขับใช้งานในเมืองและเดินทางต่างจังหวัดเพื่อให้เสมือนการใช้ของเจ้าของจริงๆ เริ่มจากการขับใช้งานในเมือง เน้นกลางเมืองที่สภาพการจราจรหนาแน่นช่วงก่อนมีให้หยุดทำงานที่บ้านกับเคอร์ฟิว สำหรับการขับในเมืองความเร็วในแต่ละวันมักไม่เกิน 30 กม./ชม. เพราะส่วนใหญ่ใช้ความเร็วต่ำสลับหยุดนิ่ง สมรรถนะตัวรถจึงแทบไม่มีบทบาทมากนัก นอกจากอัตราเร่งและการตอบสนองเบรกช่วงความเร็วต่ำซึ่งรถคลาสนี้ก็ไม่ได้มีอะไรแตกต่างกันมากจนเป็นนัยสำคัญ สิ่งที่วัดกันสำหรับการขับในชีวิตประจำวันก็มักเป็น เรื่องความสะดวกสบายภายในห้องโดยสาร สิ่งอำนวยความสะดวก อัตราสิ้นเปลือง ดังนั้นจากที่ได้ขับช่วงในเมืองก็รู้สึกโอเค ฟังเพลงเพลินๆ จากวิทยุหรือ Spotify เพลินๆ เหมือนรถที่ตัวเองที่ใช้งานประจำซึ่งผู้เขียนมักใช้ไว้อ้างอิง คุณภาพเสียงเพลงจาก Bose นับว่าดี แต่ก็ไม่ได้เหนือกว่าชุดเครื่องเสียงของผู้เขียนที่ติดตั้งเองภายหลัง ท่ามกลางรถติด และการออกตัวสลับหยุดนิ่ง มอเตอร์ไซด์ที่วิ่งลัดเลาะผ่านตัวรถ ทำให้เซนเซอร์เตือนระงมบ่อย จนต้องปิด แต่ระบบช่วยเหลือบางอย่างเข้ามามีบทบาทมาก เช่น ระบบเตือนเมื่อมีรถอยู่ในจุดอับ, ระบบแสดงภาพ 360 องศา และกล้องหมองหลัง เหล่านี้ช่วยให้การขับรถในเมืองง่ายขึ้นจริงๆ
ตัดมาในช่วงขับทางไกลผู้เขียนมีโอกาสได้ลองสมรรถนะและระบบต่างๆ ได้สะดวกมากขึ้น ในด้านขุมพลัง 165 แรงม้า นับว่าให้ความพึงพอใจต่อการขับทางไกลโดยสัมผัสจากการเร่งแซงรถช้า อย่างไรก็ตามการทำความเร็วสูงเกินกว่า 120 กม./ชม. ในการทดสอบรถช่วงหลังเป็นไปได้ยากมาก เพราะด้วยการจำกัดความเร็วบนถนนทั่วประเทศ อีกทั้งกล้องคอยตรวจจับ ทำให้วิถีการขับรถและการเดินทางเปลี่ยนไปไม่น้อย เช่น การขับไปเที่ยวเชียงใหม่ ที่บางคนอาจใช้เวลา 6-7 ชั่วโมง จากกรุงเทพฯ ในตอนนี่้ก็อาจทำเวลาแบบนั้นไม่ได้ การขับรถทางไกลปัจจุบันจึงต้องมีการวางแผนที่ดีเผื่อเวลาไว้ล่วงหน้า เพราะเส้นทางส่วนใหญ่ทำความเร็วได้ไม่เกิน 120 กม./ชม. หรือการขับผ่านชุมชนก็ต้องน้อยกว่านั้น อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. จึงกลายเป็นตัวเลขสำคัญที่ควรพิจารณา
สำหรับผู้เขียนการขับบนเส้นทางเปิดโล่งทำให้ใช้ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติได้มากขึ้น แม้บางจังหวะต้องคอยเปิดไฟเลี้ยวเปลี่ยนเลนเพื่อหนีรถช้าด้านหน้า นอกจากนี้ยังต้องปรับความเคยชินในการเปลียนเลน โดยเปิดไฟเลี้ยวมากขึ้นด้วย อย่างไรก็ตามการใช้ระบบควบคุมความเร็วฯ นับเป็นความสะดวกสบายที่แท้ทรูของการขับทางไกล ช่วยให้วางเท้าสบายขึ้นลดการเมื่อยล้า ยิ่งเป็นระบบ adaptive อย่างในมาสด้ายิ่งดี
จริงๆ ผู้เขียนมีโอกาสขับทดสอบมาก่อนหน้านี้ช่วงเปิดตัวใหม่ พอได้ขับยาวอย่างต่อเนื่องแบบนี้ก็ชอบน่ะไม่ผิดหวัง โดยเฉพาะผู้ที่รักการขับรถแบบเน้นสมรรถนะดี ช่วงล่างดี สนุกกับโค้ง นับเป็นอีกรุ่นที่นอกจากประทับใจเรื่องดีไซน์ภายนอกภายในแล้ว ยังชอบฟิลลิ่ง คาแรคเตอร์ของรถ
ความสะดวกสบาย นอกจากพวงมาลัยมัลติฟังก์ชันที่ชอบเพราะว่างปุ่มควบคุมสำคัญๆ ได้ครบถ้วนจริงๆ ยังชอบ Mazda MZD Connect พร้อมกับจอแสดงผลใหม่แบบกว้างขนาด 8.8 นิ้ว ซึ่งแบบกว้างมันเหมาะสมกับการแสดงข้อมูลต่างๆ ดีนะ เหมือนอย่างในรถบีเอ็มดับเบิลยูนั่นไง ส่วนปุ่ม Center Commander ก็ยังเป็นจุดที่ชอบเราะวางมือใช้งานง่าย การเชื่อมต่อบลูทูธที่เป็นเรื่องธรรมดาของรถยุคปัจจุบันก็ทำได้เร็ว ง่ายสะดวก มาวัดกันอีกทีที่คุณภาพเสียงเวลาเล่นเพลง ซึ่งผู้เขียนชอบฟังจาก Spotify แอปฯ ในสมาร์ทโฟน ซึ่งรุ่น 2.0 SP ที่ทดสอบใช้ชุดเครื่องเสียง Bose ลำโพง 12 ตำแหน่ง เยอะไปไหนไม่รู้ ให้เสียงรอบทิศทาง ไม่ต้องอัพเกรดอะไรเพิ่มแล้ว แต่ด้วยจอแบบกว้างกับการไม่มีช่องใส่แผ่นซีดีและดีวีดีอาจทำให้บางคนผิดหวัง โดยเฉพาะคนที่มีแผ่นซีดีเพลงหายาก หรือไฮเอนด์ไว้ฟัง ตลอดจนการดูหนังแผ่นก็เป็นอันจบกัน เข้าใจว่ายุคนี้การดูหนัง คลิป ฯลฯ หลายคนมักดูผ่านสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตส่วนตัวกันหมดแล้วก็ตาม แต่บางคนยังชอบดูรายการทีวีหรือหนังแผ่นฆ่าเวลารถติด หรือช่วงจอดทำธุระอยู่ อีกอย่างที่นับเป็นมาตรฐานใหม่ของรถยุคนี้ก็คือ ระบบ Apple Carplay พอดีผู้เขียนใช้สมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ เลยลองระบบ android auto ที่ยังใช้ได้อย่างไม่เป็นทางการก็ได้ผลที่น่าพอใจอยู่ โดยเฉพาะการใช้แผ่นที่นำทาง และเล่นแอปฯ ได้อีกหลายตัว
ระบบความปลอดภัยจัดว่าเต็มเหนี่ยวมาตั้งแต่รุ่นก่อน สารพัดระบบช่วยเหลือ ช่วยกันทำ ทำให้ลดความเสี่ยวเกิดอุบัติเหตุได้มาก ผู้ขับสบายขึ้นแต่ก็ต้องปรับตัวเรียนรู้ให้ใช้เป็นและคุ้นเคยกับการทำงานของระบบเหล่านี้เช่นกัน โดยเฉพาะระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ ที่เวลาโดนลดความเร็วจากรถช้าด้านหน้า แล้วเราต้องการแซงรถช้าคันหน้าต้องเปิดไฟเลี้ยว แล้วเปลี่ยนเลนความเร็วถึงเพิ่มมาเท่าที่ตั้งไว้ เรื่องการเปลี่ยนเลนนี่ก็ต้องเปิดไฟเลี้ยวก่อนตลอด ไม่อย่างนั้นระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในเลนจะทำงาน เพราะคิดว่าผู้ขับอาจง่วงจนคลายมือจากพวงมาลัย บางระบบช่วยเหลือเหมาะกับการใช้งานบางช่วง หรือถ้ายังไม่ชินก็ต้องหาโอกาสเรียนรู้ในสถานการณ์ที่เหมาะสม ผู้เขียนเจอเคสระบบช่วยเบรกอัตโนมัติทำงาน (Advanced Smart Brake Support) ตอนขับเข้าใกล้รถช้าด้านหน้าเกินไป ก็ทำเอาตกใจเหมือนกันนึกว่าโดนชนหลัง ดังนั้นโจทย์ใหม่ของผู้ใช้รถยุคนี้คือ ต้องเรียนรู้ทำความเข้าใจและคุ้นชินกับระบบช่วยเหลือต่างๆ ของรถให้ดี
ความคุ้มค่าเมื่อเทียบกับราคา
All-New Mazda 3 ใหม่ รุ่นท็อป 2.0 SP กับเพดานราคา 1,198,000 บาท ได้ความครบเครื่องสมบูรณ์แบบในทุกส่วน ทั้งฟังก์ชัน และเทคโนโลยีต่างๆ ของตัวรถ แบบไม่มีอะไรให้คาใจว่าถ้าเพิ่มอีกจะได้โน่นนี่นั่น ค่างวดอาจต่างจากรุ่นกลาง
2.0 S เพียงแค่หลักร้อย ถ้าไม่เน้นประหยัดกับรุ่นเริ่มต้น
2.0 C ที่ได้สาระสำคัญครบถ้วน ขาดรายละเอียดที่หลายคนมองว่าไม่จำเป็นหรือไม่มีก็ได้ ซึ่งนับเป็นรุ่นที่คุ้มค่าตัวสุดๆ ก็แนะนำรุ่นท็อป ถ้างบวางไว้ไม่เกินล้านสอง ซึ่งพอๆ กับรุ่นท็อปแบรนด์อื่นในคลาสนี้ เอาให้ชัวร์ไปลองลูบคลำ ทดลองขับก่อนที่โชว์รูมมาสด้าใกล้บ้านหรือที่ไหนแล้วแต่ชอบ สัมผัสแล้วชอบ ขับแล้วใช่ เซลน่ารักก็จัดเลย