รถยนต์มีระบบขับเคลื่อนกี่แบบ อย่างไหนดีที่สุด?
รถยนต์โดยทั่วไปส่วนใหญ่ใช้ระบบการขับเคลื่อนแบบ 2 ล้อหลัง (รถเพื่อการพาณิชย์) หรือ 2 ล้อหน้า (รถเก๋งทั่วไป) ซึ่งทั้ง 2 แบบก็จะมีคาแร็คเตอร์ในการขับขี่ที่แตกต่างกัน หากเปรียบเทียบก็เหมือนว่ารถที่ขับเคลื่อนล้อหลังนั้น ล้อคู่หลังจะเป็นตัวดันส่งกำลังให้รถเคลื่อนที่ไปได้ ส่วนรถที่ขับเคลื่อนล้อหน้าก็จะลากหรือดึงให้รถเคลื่อนที่ไปได้ นับว่ามีความแตกต่างอยู่พอสมควร ส่วนระบบที่นับว่ามีจุดเด่นกว่านั่นคือ ขับเคลื่อน 4 ล้อ ซึ่งในแง่ของสมรรถนะการขับขี่โดยรวมแล้วดีกว่ารถยนต์ที่ขับสองอยู่มากมาย เพราะเป็นการตะกาย 4 ล้อ ทำให้การควบคุมรถที่แม่นยำมากขึ้นโดยเฉพาะเมื่อเข้าโค้งหรือการหักหลบสิ่งกีดขวางต่าง ๆ อย่างกระทันหัน
แล้วแบบไหนดีกว่ากัน?
รถขับล้อหลัง - รถยนต์ที่ใช้ระบบขับเคลื่อนล้อหลังมักจะมีชิ้นส่วนในการขับเคลื่อนมากกว่าระบบขับเคลื่อนล้อหน้า เช่น ระบบส่งกำลังเริ่มตั้งแต่ชุดเกียร์ที่มีขนาดใหญ่ เพลากลางส่งกำลังไปยังชุดเฟืองท้ายและแกนล้อด้านข้างที่ส่งกำลังไปหมุนดุมล้อ นอกจากนี้ยังมีจุดยึด จุดรองรับน้ำหนักการเคลื่อนไหวอีกมากมาย ข้อดีคือ แข็งแรงทนทาน มีอายุการใช้งานยาวนาน โดยมักจะนิยมใช้ในรถยุโรป รถปิคอัพ รถเพื่อใช้ในการขนส่งจนไปถึงรถบรรทุก
จะเห็นว่าการมีชิ้นส่วนต่าง ๆ มากมายนั้น ต้องใช้กำลังจากเครื่องยนต์เอาชนะน้ำหนักของชิ้นส่วนต่าง ๆ กว่าจะกำลังที่เหลือจะถึงล้อหลังได้และบวกกับน้ำหนักตัวรถเข้าไปด้วย จึงทำให้รถที่ขับเคลื่อนล้อหลังส่วนมาก มีอัตราเร่งด้อยกว่ารถที่ขับเคลื่อน 2 ล้อหน้า
ในส่วนของรถขับเคลื่อนล้อหลังนั้นผู้ผลิตก็มักจะต้องคิดค้นหาวิธีการทำให้ลดภาระของเครื่องยนต์ให้น้อยที่สุด โดยในรถบางรุ่นใช้วัสดุน้ำหนักเบาในชิ้นส่วนต่าง ๆ รวมถึงลดน้ำหนักตัวรถและช่วงล่างลง นอกจากนี้ยังมีการใช้ระบบเทคโนโลยีผลิตเครื่องยนต์ให้มีหนักเบาแต่เพิ่มกำลังได้มากขึ้น และในบางรุ่นก็ใช้ระบบอัดอากาศหรือเทอร์โบเข้ามาเสริมให้มีพละกำลังดีขึ้นไปจนปัจจุบันรถขับเคลื่อนล้อหล้งก็ไม่อืดอีกต่อไปแล้ว
รถขับล้อหน้า - รถยนต์ที่ใช้ระบบขับเคลื่อนล้อหน้านับว่าได้รับความนิยมในผู้ผลิตรถยนต์ส่วนใหญ่ เนื่องจากมีระบบและชิ้นส่วนที่น้อยกว่ารถขับหลัง ซึ่งมีเพียงชุดเกียร์ที่รวมเอาชุดเฟืองท้ายไว้ด้วยกัน เพลาส่งกำลังไปล้อคู่หน้าจบ! .. รถขับเคลื่อนล้อหน้าจึงมีน้ำหนักรวมของระบบขับเคลื่อนน้อย มีชิ้นส่วนที่ต้องรองรับการเคลื่อนไหวน้อยลง ทำให้ลดภาระของเครื่องยนต์ลงไปได้มากกว่า แต่ก็มีข้อเสียอยู่บ้างเช่น ความทนทานของชิ้นส่วนที่มีการเคลื่อนไหวในหลายองศาลดลง เช่น เพลาส่งกำลังก็มีอายุการใช้งานน้อยลง เพราะชิ้นส่วนที่ต้องรองรับทั้งกำลัง การบังคับทิศทางและขยับตัวตลอดเวลา ต้องทำงานหลายหน้าที่พร้อม ๆ กัน ทำให้ชุดลูกปืนเพลา ชุดยางกันฝุ่น และลูกปืนล้อ รวมถึงชิ้นส่วนในระบบกันสะเทือนมีอายุการใช้งานน้อยกว่ารถขับเคลื่อนล้อหลัง
แต่สิ่งที่ได้กลับมาในรถขับหน้านั้นมากมายและมีประสิทธิภาพสม่ำเสมอกว่า ได้แก่ การควบคุมทิศทางเนื่องจากใช้ล้อหน้าควบคุมทั้งแรงและทิศทาง ความประหยัดน้ำมันจากการที่มีชิ้นส่วนน้อยลง พื้นที่ภายในห้องโดยสารกว้างขึ้นเพราะไม่มีอุโมงค์เพลากลางแล้ว การดูแลรักษาที่ง่าย และตอบสนองการขับขี่หรืออัตราเร่งทันใจ เป็นต้น
รถขับ 4 ล้อ - รถยนต์ที่ใช้ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ นับว่ามีให้สมรรถนในด้านการเกาะถนนที่ดีกว่า ควบคุมรถได้ในสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ดีกว่ารถขับสองล้อ เพราะการถ่ายกำลังได้ครบทุกล้อที่สัมผัสผิวถนนย่อมได้เปรียบ รถยนต์ขับเคลื่อน 4 ล้อ นั้นแบ่งได้ 2 ประเภทคือ Part time เช่น รถปิคอัพหรือรถอเนกประสงค์ PPV และ Full time เช่น รถอเนกประสงค์รถครอสโอเวอร์อย่าง
Honda CR-V,
Subaru XV /
Forester หรือ
Nissan Xtrail รถยนต์ขับ 4 ล้อ แม้ว่าจะได้สมรรถนะด้านการเกาะถนนกว่า แต่ก็มีชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนที่มากกว่าตามไปด้วย เช่น ชุดขับเคลื่อนล้อหน้าทั้งเพลาขับ ชุดเฟืองท้ายที่อยู่ในชุดเกียร์ส่งกำลังหลักและยังมีชุดขับเคลื่อนล้อหลังทั้งเพลากลาง เฟืองท้าย เพลาข้าง นอกจากนี้ยังมีระบบชุดคลัตช์ที่ทำงานช่วยแปรผันกำลังไปยังล้อทั้ง 4 ให้หมุนตามสภาพถนนที่แตกต่าง ซึ่งอาจอยู่ในทั้งชุดเกียร์หรือในชุดเฟืองท้ายอีกด้วย นับว่ามีชิ้นส่วนปรีกย่อยอีกเพียบ เพราะชิ้นส่วนที่เยอะมากมายจึงทำให้รถขับ 4 มีค่าตัวที่สูงกว่าชาวบ้านเค้านั่นเอง
ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อทั้ง 2 แบบแตกต่างกันอย่างไร?
รถขับเคลื่อน 4 ล้อ Part Time (ทำงานบางเวลา) เมื่อใช้งานจะต้องเลือกระบบขับเคลื่อนโดยปัจจุบันเป็นระบบชุดเกียร์แบบไฟฟ้าแทบหมดแล้ว จึงง่ายมากเพียงกดสวิทช์หรือหมุนปุ่มปรับเลือกระบบการทำงาน H2 , H4 , L4 เป็นต้น และในรถบางรุ่นอาจมีโหมดย่อยให้เลือกอีกเช่น 4HLc หรือ 4 LLc ใช้เฉพาะเส้นทางเจาะลึกเข้าไปอีกขั้นหรืออาจใช้เป็นโหมด "Snow" ซึ่งบ้านเราคงไม่มีหิมะแต่ก็ใช้ขับขี่ผ่านเส้นทางเปียกลื่นได้เช่นกัน หรืออาจเป็น "Rock" ชาวร็อคที่ชอบปีนโขดหินต่างๆ ต้องการกำลังตะกุยขอลล้อทั้ง 4 มากกว่าปกติ หรือว่าในโหมด Gravel กรวด ทราย สำหรับขับทางลูกรัง เป็นต้น
โดยทั้งหมดทั้งมวลนี้ระบบ Part Time จะขับเคลื่อน 2 ล้อหลังอย่างเดียวเป็นพื้นฐานหรือ (บางรุ่นอาจขับล้อหน้า) เรียกว่า Default เพื่อให้ประหยัดน้ำมันและขับขี่ในสภาพถนนปกติอย่างคล่องตัวนั่นเอง ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อแบบนี้นับว่ายังคงให้ความประหยัดได้ระดับหนึ่งเมื่ออยู่ในโหมดขับ 2 ล้อ แต่ถ้าต้องการใช้งานระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ 4WD เพื่อ "ตะลุยทุกอำเภอ..เพื่อเธอคนเดียว" เมื่อไหร่เข็มน้ำมันจะค่อยๆ ขยับลงเร็วกว่าเดิมเลยทีเดียวครับ
รถขับเคลื่อน 4 ล้อ Full Time (ตลอดเวลา) ไม่ใช่เพลงพี่ปู-พงษ์สิทธิ์ คำภีร์!.. แต่เป็นการทำงานของระบบขับเคลื่อนที่จะส่งกำลังไปที่ล้อทั้ง 4 แต่จะแปรผันให้กำลังไปที่ล้อคู่หน้ามากกว่าล้อคู่หลังประมาณ 60 / 40 หรืออาจจะ 80 / 20 และบางครั้งก็ 90 / 10 ขณะเร่งออกตัว ซึ่งในขณะขับขี่นั้นระบบนี้จะทำการ "คิด..วิเคราะห์..คำนวน" ว่าล้อทั้ง 4 นั้น สัมผัสผิวถนนและ "กลิ้ง" ไปอย่างสมดุลย์เท่ากันหรือไม่ เมื่อมีล้อใดเริ่มเสียอาการ เช่น "ลื่นไถล" ระบบก็จะลดทอนกำลังล้อนั้นและใช้ระบบเบรกช่วยลดความเร็วของล้อ พร้อมกับเพิ่มกำลังไปยังล้อที่เหลือให้ช่วย "ประคอง" จนกว่าล้อทั้ง 4 จะวิ่งได้ปกติ
ยกตัวอย่างง่าย ๆ คือ เมื่อรถเข้าโค้งที่ความเร็วสูง ผิวถนนเปียกลื่น ล้อด้านนอกของโค้งเกิดอาการ "ดื้อ" ไม่สามารถยึดเกาะผิวถนน ระบบก็จะตัดกำลังล้อนั้นให้น้อยลงพร้อมกับจับเบรกให้ล้อหมุนช้าลงเท่ากับความเร็วจริงๆ ที่สัมผัสผิวถนนและเพิ่มกำลังไปล้ออื่นๆ ที่ยังคงหมุนได้ปกติให้สามารถบังคับรถผ่านไปได้อย่างปลอดภัย หรือว่าเมื่อขับผ่านผิวถนนเป็นโคลนลื่นๆ เมื่อมีล้อใดเกิด "หมุนฟรี" ระบบก็จะลดกำลังที่ล้อนั้นร่วมกับระบบเบรกช่วยชะลอให้ล้อหมุนช้าลงพร้อมกับเพิ่มกำลังล้อที่เหลือให้ช่วย "ตะกาย" ให้รถผ่านอุปสรรคไปได้อย่างง่ายดาย เรียกว่า ล้อเสียการควบคุมไป 1 ล้อ ยังมีอีก 3 ล้อช่วยให้ผ่านไปได้อย่างปลอดภัย
ระบบขับเคลื่อนแบบตลอดเวลานี้จำเป็นต้องใช้กำลังจากเครื่องยนต์และสูญเสียกำลังผ่านชิ้นส่วนมากมายไปยังล้อทั้ง 4 จึงอาจทำให้ "กินจุ" กว่าขับ 2 ล้ออยู่บ้าง ซึ่งในปัจจุบันผู้ผลิตรถแบบ 4WD Full Time ก็เริ่มออกแบบการทำงานของชิ้นส่วนต่างๆ เหล่านี้ให้มีน้ำหนักน้อยลง ชิ้นส่วนเคลื่อนไหวง่ายมากขึ้นลดความฝืด ทำให้ลดภาระกำลังเครื่องยนต์ลงไปได้มาก มีพลังเหลือพอที่จะเบ่งกล้ามได้แบบไม่อายใคร ทำให้รถขับ 4 ตลอดเวลาบางรุ่นประหยัดเทียบเท่ากับรถขับเคลื่อน 2 ล้อในพิกัดเครื่องยนต์ใกล้เคียงกันได้อย่างสบาย
เลือกให้ตรงกับที่ใช้งานจริง
จากการดูข้อได้เปรียบเสียเปรียบแล้วหากเป็นด้านสมรรถนะการเกาะถนนนั้นรถยนต์ขับเคลื่อน 4 ล้อ ชนะใส ๆ แต่หากในแง่การใช้งานแบบทั่วไปนั้นยังเป็นรองรถขับเคลื่อน 2 ล้อ ในหลายด้าน ดังนั้นระบบขับเคลื่อนแต่ละแบบนั้นมีจุดเด่นและด้อยที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์การใช้งาน งบประมาณ ความจำเป็นและนิสัยของผู้ขับขี่รถว่าชอบรถในสไตล์ไหน รถยนต์ขับเคลื่อน 2 ล้อ (ไม่ว่าหน้าหรือหลัง) เหมาะกับใช้งานทั่วไปในเมืองเกินกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ อาจมีขับต่างจังหวัดบ้าง ขับขึ้นเขาบ้าง แต่เป็นเส้นทางปกติไม่มีลุยขับเคลื่อน 2 ล้อก็เพียงพอแล้ว ประหยัดน้ำมัน ดูแลง่าย ค่าใช้จ่ายไม่สูง ส่วนระบบขับเคลื่อน 4 ล้อนั้น น่าจะเหมาะกับผู้ที่เดินทางไกลบ่อย ขับขี่ผ่านเส้นทางธุระกันดานมากเป็นพิเศษ ขึ้นดอย ลงห้วย เป็นชีวิตจิตใจ การเต้นนอนตามป่าเขา ชอบขับรถเร็ว ก็จัดขับ 4 ล้อ สบายใจไปได้ทุกที่ แต่ก็ต้องขับรถไม่ประมาทและเคารพกฎจราจรด้วยนะครับ
สรุปง่ายๆ ว่าเลือกซื้อรถที่ใช้ระบบขับเคลื่อนให้ตรงกับชีวิตประจำวันหรือไลฟ์สไตล์ของครอบครัว เพราะรถที่ยิ่งมีระบบมากย่อมมีค่าดูแลรักษามากตามไปด้วย รถยนต์ขับเคลื่อน 2 ล้อในปัจจุบันก็นับว่าเทคโนโลยีช่วยควบคุมการทรงตังต่าง ๆ มากมาย เพียงพอให้สามารถควบคุมรถและขับผ่านสภาพถนนเลวร้ายได้อย่างปลอดภัย หรือหากซื้อรถขับเคลื่อน 4 ล้อ ได้เรื่องของการยึดเกาะถนนเพิ่มขึ้นอีก ควบคุมรถได้ดีในทางโค้งหรือผิวถนนเปืยกลื่น และขับผ่านเส้นทางแบบ Off-Road ได้ง่ายขึ้น
ทั้งนี้หากใช้รถที่มีระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ โดยที่แทบไม่ได้ใช้ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อเลยก็จำเป็นต้องบำรุงรักษาระบบที่เพิ่มมา และสำหรับแบบ Part Time ถ้าไม่ได้ใช้งานระบบ 4WD ก็อาจเสื่อมสภาพเร็วกว่าใช้งานเป็นประจำด้วยซ้ำไปครับ
รถขับ 2 ดูแลง่าย ประหยัด ใช้งานทั่วไป รถขับ 4 สมรรถนะการเกาะถนนดีขึ้น ผ่านอุปสรรคได้สบายแลกกับค่าดูแลสูงขึ้นกินน้ำมันขึ้นอีกนิด "ไหวไม่บอกมา!"