รีวิว ทดลองขับ MG EXTENDER รถกระบะพันธุ์ยักษ์ 2.0 ลิตร เทอร์โบ 161 แรงม้า
รถกระบะ
MG EXTENDER กระบะพันธุ์ยักษ์จากเซกเมนต์ใหม่ค่าย MG มีความโดดเด่นพอตัวทั้งเรื่องรูปทรงบึกบึน ออปชั่นที่ไม่เป็นรองใคร และสมรรถนะที่เพียงพอต่อการใช้งาน แถมยังมีตัวถังที่ใหญ่โตกว้างขวาง แต่ยังไม่ปักใจเชื้อถ้าไม่ได้ลองขับจริง ซึ่งทีมงานเช็คราคาได้มีโอกาสร่วมขับทดสอบ
MG EXTERDER ใหม่ บนเส้นทางภูเก็ต - สุราษฎร์ธานี ด้วยรุ่นท็อปสุด
Double Cab 2.0 Grand 4WD X 6AT เกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ กับค่าตัว 1,029,000 บาท พร้อมกับผู้ร่วมโดยสารอีก 2 คน
รูปทรงภายนอกแล้วแต่มุมมมองของแต่ละคน แต่เท่าที่ได้สอบถามพูดคุยกับสื่อมวลชนท่านอื่นๆ ต่างก็มีความชอบในหน้าตาของ EXTENDER เพราะความบึกบึนดูมีสไตล์ "ลุยและทนทาน" ให้ความรู้สึกสมบุกสมบัน เหมาะสมกับความเป็นรถกระบะที่ใช้ลุยหรือบรรทุก สำหรับส่วนตัวทีมงานเช็คราคานั้นมองว่า ไม่ถึงกับสวยนัก แต่ได้ความรู้สึกแข็งแกร่งน่าจะทนทานตามรูปทรง
ไฟหน้าที่มาพร้อม LED Projector ปรับระดับได้สูงต่ำ และสามารถปรับลำแสงซ้าย-ขวาตามการหักเลี้ยวของพวงมาลัย อันนี้ถือว่าเป็น "ของเด็ด" ที่เหนือกว่าคู่แข่ง
ไฟท้ายดีไซน์สวยดี แต่ว่า! น่าเสียดายที่ยังไม่ใช้ LED ส่วนกันชนท้ายนับว่าออกแบบได้แหวกแนวมาก นอกจากจะมีที่เหยียบไว้ปีนขึ้นตรกลางแล้วยังมีร่องด้านข้างๆ เอาไว้ปีนและติดตั้งทับทิมสะท้อนแสงไว้ด้วย และล้อแม็กสไตล์คุ้นตาที่มองก็รู้ว่า MG แน่นอนขนาด 18 นิ้ว และยางขนาด 255/60R18 จาก Bridegstone Dueler
การออกแบบภายในรถเอ็มจี เอ็กซ์เทนเดอร์ ใหม่นี้ ขอบอกว่าดูแน่นๆ หนา สไตล์ยุโรปเรียบง่ายไม่หวือหวาหรือหรูหรานัก แต่จัดวางสวิตช์ควบคุมต่างๆ ให้ใช้งานง่ายไม่ต้องหาให้เหนื่อย มาตรวัดหรือหน้าปัด ยังดูเรียบง่ายคงเอกลักษณ์จากสีสรรสไตล์ MG ในหลายรุ่น แต่เพิ่มคิ้วโครเมี่ยมและจอแสดงผลการทำงานเอาไว้ทำให้ดูดีขึ้น
พวงมาลัยมัลติฟังก์ชั่นพร้อมปุ่มควบคุมระบบเครื่องเสียงและรับ-วางสายโทรศัพท์ และปุ่มครุซคอนโทรล คอนโซลกลางด้านบนมีที่วางของสามารถติดตั้งสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจได้สะดวกขึ้น
หน้าจอเครื่องเสียงขนาดใหญ่ 10 นิ้วแบบจิ้มติดมือด้วยระบบ "Soft Touch" รองรับการเชื่อมต่อสมาร์ตโฟนได้ และ AUX 1 ช่องและ USB อีก 2 ช่อง ลำโพง 6 จุดที่เสียงครบใสและหนักแน่นเพลินหู
เบาะคู่หน้าปรับไฟฟ้าฝั่งคนขับ 6 ทิศทางข้างคนขับ 4 ทิศทาง นับว่ามีให้มากกว่ารถระดับเดียวกันหลายรุ่น และยังปรับได้ 150 องศาอีกด้วย แต่ด้วยความที่เป็นหนังสังเคราะห์บางส่วนทำให้ผิวสัมผัสเวลานั่งและพิงหลังนั้น ยังรู้สึก "แข็ง" ยังไม่ค่อยนุ่มนวลสักเท่าไหร่นักแต่ยังได้ความกระชับเวลาขับขี่ และบริเวณรอบๆ ตัวที่นั่งตำแหน่งด้านหน้านั้นกว้าง โปร่งสบายไม่อึดอัด มีเพียงตำแหน่งคนขับที่เข่าซ้ายจะชนกับคอนโซลกลางเล็กน้อยเท่านั้น
เบาะตอนหลังบอกเลย "กว้างใหญ่อลังการ" ราวกับว่าเป็นรถ SUV/PPV (ที่ได้แต่หวังว่าจะรีบทำตามออกมา) ด้วยพื้นที่ทั้งด้านบนศรีษะ วางขา เหลือเยอะมาก ด้านข้างก็กว้างสบาย นั่งแล้วรู้สึกหลวมๆ แต่ติดตรงที่วัสดุเบาะ "แข็ง" เช่นเดียวกับคู่หน้า จึงได้เรื่องความกว้างขวางสะดวกไม่อึดอัด แต่ "แข็งก้น" ไปสักหน่อย นอกจากนี้เบาะตอนหลังยังพับพนักพิงหลังหรือจะใช้เพิ่มพื้นที่วางสัมภาระต่างๆ ก็สะดวกดี
ความสะดวกสบายหรือว่า "ออปชั่น" ใน MG EXTENDER" นับว่ามีให้เล่นเยอะโดยในบางฟังก์ชั่นนั้น เยอะกว่ารถระดับเดียวกัน เช่น ระบบ i-Smart ที่เชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟน พร้อมคำสั่งเสียงวลีเด็ด "HELLO MG" ที่เมื่อใช้งานจริงในคันที่ทดสอบนั้น มีทั้งรับคำสั่งได้แม่นยำจริงและไม่ได้ เช่น สั่งเปิดแอร์หรือเบาแอร์ทำได้ทันที แต่เมื่อสั่งให้ค้นหาแผ่นที่หรือคำสั่งอื่นๆ ที่อาจจะนอกเหนือการป้อนโปรแกรม็จะงงทันที แต่ข้อดีของ i-Smart ก็ยังมีนั่นคือ แสดงสถานะการทำงาน ตำแหน่งที่อยู่ และการสั่งล็อค-ปลดล็อคและสตาร์ทเครื่องยนต์เปิดแอร์ได้ที่มีเพียงหนึ่งเดียวในรถกระบะราคาไม่เกิน 1.2 ล้านบาท
ระบบแอร์อัตโนมัติ ยังไม่แยกปรับซ้าย-ขวา พร้อมช่องแอร์ผู้โดยสารตอนหลังและพลังการทำความเย็นที่ดีเยี่ยม ขนาดวันทดสอบจอดตากแดดแรงๆ ขึ้นรถมาไม่นานก็เย็นฉ่ำ
นอกจากนี้ยังมีปุ่มรับและวางสายโทรศัพท์ ระบบปัดน้ำฝนแบบอัตโนมัติตามปริมาณน้ำฝน ระบบเชื่อมต่อโทรศัพท์สมาร์ทโฟน และมีเนวิเกเตอร์ที่มีกราฟิกสวยงามและมีการแจ้งเตือนเมื่อใกล้ๆ ถึงสถานที่สำคัญต่างๆ ความเร็วที่จำกัดและรวมถึงกล้องจับความเร็วด้วย! แต่ว่าการป้อนข้อมูลเส้นทางนั้นต้องจอดรถสนิทเท่านั้นจึงจะใช้งานได้เพื่อความปลอดภัยครับ
ความปลอดภัยกับโครงสร้างตัวถังแบบ FSF (Full Space Frame) แบบ Ultra-high Strength Body ที่เห็นตัวจริงคิดว่าหนักแน่ๆ คงเร่งอืดๆ แต่กลับเร่งดีเกินคาด และระบบอื่นๆ อีกเพียบ
- ระบบป้องกันล้อล็อกขณะเบรกฉุกเฉิน ABS (Anti-lock Braking System)
- ระบบช่วยเสริมแรงเบรกด้วยอิเล็กทรอนิกส์ EBA (Electronic Brake Assist)
- ระบบช่วยกระจายแรงเบรก EBD (Electronic Brake Force Distribution)
- ระบบควบคุมการทรงตัว SCS (Stability Control System)
- ระบบป้องกันล้อหมุนฟรีและควบคุมการลื่นไถล TCS (Traction Control System)
- ระบบตรวจสอบความผิดปดติของลมยาง TPMS (Tire Pressure Monitor System)
- ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน HAS (Hill Start Assist System)
- ระบบควบคุมความเร็วขณะลงทางลาดชัน HDC (Hill Descend Control System)
- ระบบช่วยเตือนมุมอับสายตา BSD (Blind Spot Detection)
- ระบบช่วยเตือนเมื่อรถออกนอกเลน LDW (Lane Departure Warning System)
ซึ่งระบบที่ใช้งานและขยันเตือนสุดๆ ก็คือ ระบบช่วยเตือนเมื่อรถออกนอกเลนที่ดังตลอดทางหากขับเข้าไปทับเส้นถนนโดยไม่เปิดไฟเลี้ยว แต่สามารถกดปิดระบบได้และระบบเซ็นเซอร์รอบคันเวลาจอดติดไฟแดงมักเตือนเมื่อมีรถจักรยานยนต์เข้าใกล้ ส่วนระบบช่วยเตือนมุมอับสายตานั้นหากสภาพอากาศปกตินับว่าใช้งานได้ดี แต่เมื่อฝนตกหนักๆ จะค่อยข้างรวนๆ จึงได้แจ้งทางฝ่ายเทคนิคของ MG ให้ตรวจเช็คในจุดนี้
จากหน้าตาดูคันใหญ่โตน้ำหนักของรุ่นท็อปนี้ราวๆ 2 ตันเศษๆ แว๊บแรก "อืดแน่ๆ" แต่เมื่อลองขับจริงนั้นการตอบสนองคันเร่งในช่วงเริ่มเดินคันเร่ง เป็นอย่างคิดเอาไว้จริงๆ ซะด้วย แต่ครับแต่! เมื่อเพิ่มน้ำหนักลงไปอีกหน่อย กลับพุ่งขึ้นอีกและยังคงมีกำลังเร่งต่อเนื่องได้จนรอบกวาดไปที่ราวๆ 3,500 รอบต่อนาที จะเริ่มตื้อระบบเกียร์จึงเปลี่ยนจังหวะต่อไปให้
จากการที่ได้ขับระยะทางยาวๆ ประมาณ 80 กิโลเมตร อาจไม่ไกลนักแต่ก็พอจับความรู้สึกได้ว่า ที่ความเร็วรอบต่ำจะมีการหน่วงๆ ของคันเร่งเล็กน้อย แต่ไม่นานก็มีกำลังเร่งขึ้นมา ส่วนรอบสูงๆ นั้นไม่มีปัญหาใช้งานได้ปกติ กำลังเครื่องยนต์ดีเซลบล็อคนี้จากในเครือ SAIC ที่ใช้ในรถประเภทนี้มานานหลายรุ่นกำลัง 161 แรงม้า แรงบิดที่ 375 นิวตัน-เมตรนั้น เรียกว่าใช้งานได้สบายๆ แรงแซงอาจต้องขับให้คุ้นเคยเพราะว่าระบบเกียร์จะมีเวลาคิดนิดนึงก่อนเปลี่ยนเกียร์ ซึ่งก็นับว่าไม่ช้าเกินไปและไม่ได้ต่างจากรถระดับเดียวกันนัก
ช่วงล่างนี้สิ ของจริง! ระบบช่วงล่างที่ค่อนข้างปรับมาดีให้ทั้งความนุ่มนวลที่ไม่เด้งจนปวดหัว แต่ได้ความเกาะหนึบจากโช้คอัพ SAHCS จากการได้ลองเข้าทางโค้งในความเร็วระดับปลานกลางนั้น ให้ความมั่นใจได้มาก นับว่าอยู่ในระดับใกล้เคียงกับคู่แข่งทั่วไป ส่วนระบบเบรคที่เป็นดิสก์ 4 ล้อนั้นยอมรับว่ายังมีอาการ "หวืด" เมื่อแตะครั้งแรกจะหนักๆ และมีระยะฟรีมากสักหน่อย ต้องเพิ่มน้ำหนักลงไปอีกจึงเอาอยู่แม้จะใช้ระบบจาก BOSCH ก็ตาม ในส่วนนี้ก็ได้แจ้งทางฝ่าย MG แล้วเช่นกัน
สมรรถนะโดยรวม MG Extender นั้นไม่แพ้รถคู่แข่งจากค่ายใหญ่ๆ เลย งานประกอบดูดีขึ้นกว่ายุคแรกๆ ที่เข้ามาทำตลาดในไทยมากขึ้น อัตราเร่งดีพอตัว ช่วงล่างเกาะ นุ่ม หนึบ ฟังก์ชั่นอำนวยความสะดวกต่างๆ บางระบบมีมาให้มากกว่ารถกระบะเจ้าตลาดในราคาต่ำกว่า แต่ถ้าราคาสวยกว่านี้ (ต่ำกว่าล้าน) ได้จะนับว่าเป็นรถกระบะที่คุ้มค่าที่สุดในประเทศได้ทีเดียวครับ
ช่วงทดสอบพิเศษ "ประหยัดน้ำมัน" โดยในทริปนี้มีการให้สื่อมวลชนร่วมกันแข่งขับประหยัดคันไหนทำตัวเลขได้มากที่สุด ซึ่งรถคันทีมงานเช็คราคาขับนั้นถึงจุดสลับคนขับ และก็ไม่ถนัดเรื่องการขับประหยัดสักเท่าไหร่นัก เน้นลองอัตราเร่งมากกว่า จึงคิดว่าจะขอขับตามๆ ไปเรื่อยๆ โดยการแข่งมีเงื่อนไขเพียงระยะทาง 90 กิโเมตร ภายในเวลาเพียง 1 ชั่วโมงครึ่ง และให้เติมน้ำมันแบบเขย่าเติมถัง และมาเติมอีกทีเมื่อถึงจุดหมายที่กำหนด
ผลออกมาผู้ที่ขับได้อัตราประหยัดเฉลี่ยดีที่สุดทำได้ 16 กิโลเมตรต่อลิตรกว่าๆ ส่วนรถคันที่ทีมงานเช็คราคาทดสอบนั้นอยู่ที่ราวๆ 11 - 12 กิโลเมตรต่อลิตร ถือว่าไม่ประหยัดแต่ก็ไม่กินจนซดเกินไป เพราะรถกระบะในปัจจุบันคันใหญ่โต ระบบเยอะมากขึ้นและแบกน้ำหนักเยอะย่อมให้อัตราสิ้นเปลืองระดับนี้เป็นปกติครับ
ความคุ้มค่าเมื่อเทียบกับราคา
รถกระบะ MG EXTENDER ตัวโตพันธุ์ยักษ์พลังเพียงพอใช้งาน ฟังก์ชั่นทันสมัย เทคโนโลยีเยอะ สื่อสารเชื่อมต่อกับเจ้าของได้ด้วย i-Smart ช่วงล่างเด่น ภายในกว้างราวกับรถ SUV ราคาสำหรับรุ่นท็อปไม่แรงนักสัมผัสได้เพียง 1,029,000 บาท อย่าเพิ่งเชื่อ!.. ให้ไปลองทดสอบขับขี่ด้วยตัวเองก่อนแล้วมาตัดสินใจว่าที่อ่านมามันจริงหรือไม่ครับ..