รถยนต์เสียหลัก..ใครเป็นจำเลย??
จากข่าวสารต่างๆ ที่เกี่ยวกับการเกิดอุบัติเหตุของรถยนต์ทั้งเบาไปหาหนัก เหตุการณ์ที่อัตรายจนอาจถึงขั้นสูญเสียทรัพย์สินและชีวิต มักเกิดจากรถยนต์ที่เกินการควบคุม หรือที่เราเรียกกันบ่อยๆ ว่า "รถเสียหลัก" แล้วรถที่จะสามารถเกิดการเสียหลักนั้น เกิดจากอะไรได้บ้าง อะไรเป็นสาเหตุ อะไรเป็นจำเลย และจะป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้อย่างไร?..มาหาคำตอบกันครับ
รูปแบบของอุบัติเหตุ
โดยทั่วไปแล้วการเกิดอุบัติเหตุนั้นมีหลายรูปแบบ แต่หากลองจับมาแบ่งเป็นลักษณะกว้างก็คือ "เกิดจากตัวผู้ขับขี่เอง" และ "เกิดจากบุคคลอื่นมากระทำ" ในบทความนี้ขอเน้นไปทางด้านเกิดจากผู้ขับขี่เอง เพราะอุบัติเหตุที่เกิดจากผู้อื่นนั้นเราไม่อาจควบคุมได้ด้วยตัวเราเอง
การเกิดอุบัติเหตุจากผู้ขับขี่เอง เช่น ขับรถเร็วเกิดกำหนด ขับรถเร็วในสถานณะการคับขัน หรือขับเร็วในทางแคบๆ ในชุมชนต่างๆ โดยคิดไปเองว่า "ฉันฝีมือดี เอาอยู่ เก่ง ทำได้" หรือเรียกว่า "ประมาทนั่นเอง" และอุบัติเหตุจากการขับรถลักษณะนี้มักนำไปสู่การทำให้รถเสียหลัก เกิดการควบคุมไว้ หรือเกินสมรรถนะที่รถยนต์จะขับขี่ได้โดยปลอดภัย
การขับเร็ว ใครๆ ก็รู้ว่ายิ่งใช้ความเร็วสูงเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีความเสี่ยงมากเป็นเท่าตัวและยิ่งรุนแรงมากขึ้นหากเกิดการชน โดยเฉพาะเมื่อใช้ความเร็วสูงๆ ด้วยรถยนต์ที่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อใช้ความเร็วสูงๆ รถก็จะมีข้อจำกัดที่ไม่สามารถควบคุมการขับขี่ในย่านความเร็วมากๆ ได้ดี หรือการควบคุมรถยิ่งแย่ลง แม้ว่าจะปรับแต่งให้มีระบบช่วงล่าง เบรกที่ดีเพียงใด แต่โดยพื้นฐานแล้วรถยนต์ที่ออกแบบให้ใช้งานแบบครอบครัว ขนของ หรือรถใช้งานในดมืองเป็นหลัก ย่อมมีข้อจำกัดในเรื่องของสมรรถนะ
ภาพจาก www.autocarindia.com
รถยนต์ใช้งานในเมืองหรือ Eco Car ย่อมออกแบบมาให้วิ่งความเร็วต่ำ เขตตัวเมือง จึงเน้นการใช้งานแบบประหยัดน้ำมัน กำลังเครื่องยนต์ไม่มากแต่ใช้งานได้เพียงพอ จึงไม่เหมาะกับการใช้ความสูงๆ หรือเช่น รถยนต์กระบะ "ปิคอัพ" ทั้งหลาย ที่แม้จะมีสเปคเครื่องยนต์ที่แรงม้าสูงๆ แรงบิดมหาโหด แต่ก็ถูกออกแบบมาเพื่อการใช้งานบรรทุกเป็นหลัก ใช้ความเร็วสูงได้บ้างในทางตรงหรือโค้งไม่มากนัก ตัวรถมีความสูงระยะห่างจากพื้นเกินระดับ 200 มม. ขึ้นไป ความหลักการทางวิทยาศาสตร์ก็ทราบกันดีว่า ยิ่งห่างจากพื้นโลกความเกาะถนนของรถก็ยิ่งน้อยลง
จริงอยู่ที่รถปิคอัพบางคันถูกปรับปรุงเพิ่มสมรรถนะระบบช่วงล่างให้เกาะถนนมากขึ้นแม้ตัวรถจะสูงปรี๊ดแค่ไหนก็โฆษณากันว่า "เกาะ หนึบ ทุกโค้ง" แต่อย่าลืมว่ารถที่สูงๆ ยังมีข้อจำกัดอยู่ดี ทั้งความเร็วที่ต้องใช้ให้เหมาะสม สภาพผิวถนนที่กำลังขับขี่อยู่ รวมถึงปัจจัยอื่นๆ รอบๆ ตัวอีกมากมายที่เราควบคุมไม่ได้!
ดังนั้นสาเหตุที่เกิดจากการเสียหลักนั้นก็มาจากผู้ขับขี่เอง และก็น่าจะแก้ไขได้ด้วยตัวของผู้ขับเองเป็นหลัก เช่น ใช้ความเร็วต่ำๆ ขณะขับผ่านที่ชุมชนหรือการจราจรคับขัน ไม่ใช้ความความเร็วเกินกำหนด เป็นต้น
สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ
สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับผู้ขับขี่เองคือ การควบคุมรถไม่ได้ เอารถไม่อยู่ หลุดโค้ง รถหมุน เบรกไม่อยู่ ถนนลื่น ฯลฯ และสารพัดข้ออ้างต่างๆ ล้วนมากจากที่ผู้ขับไม่สามารถควบคุมรถได้นั่นเอง
แล้วปัจจัยที่ส่งเสริมให้รถเสียการควบคุมมีอะไรบ้าง
1. ผู้ขับนั่นแหละ รถวิ่งเองไม่ได้ต้องมีคนขับ (ยกเว้นเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ใช้ AI ขับ..) หรือผู้ควบคุมที่เป็นมนุษย์ ขับช้าหรือเร็วอยู่ที่เท้าผู้ขับ การตัดสินใจต่อสถาณการณ์ต่างๆ ก็ขึ้นอยู่กับคนขับ ดังนั้น กรณีที่รถเสียการควบคุมโดยไม่มีรถหรือสิ่งอื่นจากภายนอกมากระทำก็นับเป็นการเกิดจากคนขับล้วนๆ ครับ เช่น ขับรถเร็วเกินไป แซงในจังหวะอันตราย ขับเปลี่ยนเลนบ่อยๆ จนเกิดการเสียหลัก ใช้ความเร็วในทางโค้งเกินลิมิตของรถและถนน เป็นต้น รวมถึงการบรรทุกน้ำหนักเกิดจนรถควบคุมไม่ได้อีกด้วยครับ
2. สภาพรถก็สำคัญมากไม่แพ้คนขับ ทั้งเครื่องยนต์ระบบเกียร์ที่ต้องทำงานได้สมบูรณ์ ระบบช่วงล่าง เบรก ล้อและยาง บางครั้งคนขับก็ขับอย่างปลอดภัยตามกฎกติกาทุกอย่าง แต่ว่าเกิดระบบเบรกรั่วหรือล้อแม็กคตขณะตกหลุมหรือว่ายางแตก นับเป็นสาเหตุที่เกิดจากสภาพความไม่พร้อมในอุปกรณ์ของรถเอง
3. สภาพถนนและการจราจร สภาพแวดล้อมทางกายภาพของถนนที่ต้องขับผ่านได้แก่ ถนนเปียกลื่น ถนนขรุขระชำรุด ไม่เท่กับ (โดยเฉพาะช่วงที่กำลังก่อสร้างรถไฟฟ้านี่แหละ) หรือขับอยู่ดีๆ มีฝาท่อนูนขึ้นมา ล้วนก่อให้เกิดอันตรายได้หมด รวมถึงสภาพการจราจรขณะนั้นที่หนาแน่น รถเยอะ ในเขตชุมชน คนและจักรยานยนต์ตัดไม่มาต่างๆ และการใช้ความเร็วผิดที่ผิดทางหรือขับแข่งในถนนสาธารณะ
อุปกรณ์ของรถยนต์ก็มีส่วนเป็นจำเลย
อย่างที่บอกไว้ว่าปัจจัยที่ทำให้เกิดเหตุนั้นมีทั้งผู้ขับ สภาพรถและสภาพถนนและการจราจร แต่สิ่งที่ผู้ขับรถหรือเจ้าของสามารถควบคุมความเสี่ยงได้นอกจากการขับรถให้ปลอดภัยแล้วก็คือ ตรวจสอบสภาพรถยนต์ให้พร้อมในการใช้งาน
เครื่องยนต์และระบบขับเคลื่อน นับเป็นต้นกำเนิดของแหล่งกำลังทำให้รถยนต์วิ่งไปข้างหน้าหรือถอยหลังได้ จะช้าหรือเร็วขึ้นกับ "คนขับ" (อีกแล้ว) สภาพเครื่องยนต์และระบบขับเคลื่อนต้องอยู่ไม่ใช่แค่ "ใช้ได้" หรือ "ดี" แต่ต้อง "ดีมากๆ" หากขับขึ้นเนินแล้วเครื่องดับหรือเกียร์เปลี่ยนผิดจังหวะก็เรียบร้อย หรือเครื่อง+เกียร์ดีมากๆ แต่เพลาหรือระบบส่งกำลังพังรถก็ไม่สามารถขับไปได้อย่างสมบูรณ์
ระบบช่วงล่างต้องเฟิร์มเสมอ ความเฟิร์มไม่ได้หมายความว่าต้องเกาะหรือหนึบโดยการต้องไม่ปรับแต่งใดๆ เพียงแต่ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานมากๆ ก็พอ ต้องไม่มีการหลุดหลวม โยกคลอนของระบบบังคับเลี้ยว บูชปีกนก หรือโช้คอัพรั่วซึม เพื่อการควบคุมทิศทางได้อย่างแม่นยำตามพวงมาลัยนั่นเอง
ระบบเบรกที่ต้องอยู่ในสภาพดีมากๆ ถึงมากที่สุด เพราะเป็นตัวช่วยชีวิตหากเกิดต้องใช้อย่างกระทันหัน อย่างน้อยสุดระบบ ABS ที่น่าจะต้องมีในรถเกือบทุกรุ่นต้องทำงานได้ดีปกติ ผ้าเบรกต้องเหลือเยอะมีความหนาของเนื้อผ้าเบรกไม่ต่ำกว่า 60% จากเดิม จานเบรกอยู่ในสภาพดีมากๆ ไม่แตกร้าว หรือเป็นรอย และท่อทางต่างๆ ของระบบน้ำมันเบรกต้องไม่มีการรั่วซึมเด็ดขาด เบรกต้องดีมากที่สุดก็ยิ่งดีครับ
ยางรถยนต์
การเลือกใช้ยางรถยนต์ก็สำคัญมากที่สุดเช่นกัน เพราะเป็นสิ่งที่สัมผัสพื้นถนน ทำหน้าที่เยอะมากทั้งให้รถติดกับถนน บังคับทิศทาง ทำให้รถเคลื่อนที่ได้ หากรถที่มีสมรรถนะดีเลิศแค่ไหน จะโมดิฟายด์มีแรงม้าเยอะเพียงใด ถ้ายางไม่มีมาตรฐานก็ จบ! ออกตัวก็ลื่นฟรีทิ้ง เข้าโค้งก็ลื่น เบรกก็ไม่อยู่ เจอแอ่งน้ำขังก็ไถล ยางนับว่าสำคัญมากจริงๆ การเลือกยางให้เหมาะสมกับประเภทรถ ลักษณะการขับขี่ก็ยิ่งต้องเลือกให้ถูกกับการใช้งานด้วย เช่น รถเก่งใช้ความต่ำถึงกลางก็ให้เลือก นุ่มเงียบ ดอกมีร่องระบายน้ำเยอะหน่อย ใช้งานได้ทุกสภาพถนน หรือรถสปอร์ตก็เลือกยางที่ผลิตเพื่อรถสมรรถนะสูง
ส่วนรถปิคอัพหรือบรรดา SUV ทั้งหลายก็เลือกให้เหมาะกับการใช้งานในชีวิตประจำวันเช่น ใช้งานในเมืองทุกวันแทบไม่ได้ลุยป่าเลย ก็ใช้ยางรุ่นหรือแบบเดิมที่ติดรถมาจากโรงงานนั่นแหละครับดีที่สุด หรืออาจเพิ่มสมรรถนะอัพเกรดยางให้ดีขึ้นไปอีกก็ย่ิมได้แต่ต้องเป็นยางประเภทเดิม หรือบางคันลุบป่าบ่อยกว่าขับในเมืองก็เลือกประเภท All Terrain หรือวันๆ วิ่งแต่ในทางกรวด หิน ดิน ทรายก็ Mud Terrain ไปเลย และยางแต่ละประเภทมีข้อดีข้อด้อยแตกต่างกันไปด้วย
หากเลือกยางแบบ Mud Terrain ดอกยางบั้งใหญ่ แต่งยกสูง ชอบวิ่งในตัวเมืองนั้นต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะยางแบบนี้ไม่เกาะถนนเรียบๆ เลยครับ แต่ถ้าเอาไปลุยล่ะก็ "บังเทิงแน่นอน" ครับ
อ้อ! ลืมไปว่านอกจากเลือกยางที่เหมาะสมกับการใช้งานแล้ว ยังต้องเลือกยางรถยนต์ที่ได้มาตรฐาน บริษัทผู้ผลิตที่มีประวัติยาวนานและใช้กันอย่างแพร่หลาย เป็นที่ยอมรับทั่วโลก โดยเฉพาะในสนามแข่งขันระดับโลก
ประเทศไทยในปัจจุบันมียางรถยนต์แบรดน์ใหม่ๆ เข้ามาจำหน่ายมากมายหลายหลายที่มาและหลายประเทศต้นทาง ดังนั้นอย่าเห็นแก่ "ของถูก" ควรใส่ใจและ "ลงทุน" ใช้ยางที่ดีมีคุณภาพสูงๆ เพิ่มงบจากการตกแต่งระบบเบรกแบรนด์ดังช่วงล่วงระดับเทพอีกนิดแล้วใช้ยางรถยนต์ดีๆ มาขับดีกว่านะครับปลอดภัยกว่าเยอะ เพราะถนนและสภาพอาการในประเทศไทยนั้น ปราบเซียนมาเยอะแล้ว!!
ขับขี่ปลอดภัยและเคารพกติกาบ้างเมือง
ความจริงแล้วการเกิดอุบัติเหตุในทุกรูปแบบอาจไม่ใช้การหา "จำเลย" มารับผิด แต่สิ่งสำคัญที่สุดก็คือจิตสำนักการขับขี่ให้ปลอดภัย การดูแลสภาพรถและคนให้พร้อมทุกการเดินทาง การใส่ใจผู้คนรอบๆ ข้างที่ร่วมทาง ความมีน้ำใจ ไม่ประมาท และไม่เห็นแก่ตัว พร้อมเคารพกฏหมายการจราจร คงไม่ยากไปสำหรับนักขับรถทั้งมือใหม่ มือเก่า มือเก๋า ปรับพฤติกรรมและนิสัยการขับให้ดีขึ้น เชื่อว่าอุบัติเหตุจะลดลงไปเยอะเลย เดี้ยนรับรอง!!!!