รถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV Car ประเทศไทยพร้อมหรือไม่?
รถยนต์ไฟฟ้า นับเป็นพลังงานทางเลือกที่เริ่มได้รับความนิยมในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ด้วยกระแสการลดใช้พลังงานเชื้อเพลิงจากน้ำมันในรถยนต์และการปล่อยมลพิษต่ำ ช่วยให้อากาศสะอาด นอกจากนี้ยัง "เซฟ" เงินในกระเป๋าของผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าโดยไม่ต้องจ่ายค่าน้ำมันที่มีราคาผันผวนตามกระแสโลกตลอดเวลา การใช้ไฟฟ้าก็เพียงแค่เสียบปลั๊กเท่านั้น และค่าใช้จ่ายในการชารจ์ไฟก็นับว่าถูกกว่าเติมน้ำมันเป็นไหนๆ
แต่ทว่า...สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศนั้น ยังนับเป็น "ของใหม่ๆ สดๆ" ในหลายๆ องค์กร แม้กระทั่งค่ายรถยนต์ในประเทศไทย ก็ยังเพิ่งตื่นตัวกับการเริ่มหันมาผลิตและจำหน่ายในประเทศมากขึ้นในระยะ 2 - 3 ปี ที่ผ่านมานี้เอง ความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงในการปรับทั้งพฤติกรรมของผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์จึงเรียกว่าเพิ่งจะ "ขยับตัว" กันไม่นานนี้เอง
ความกังวลต่อการเปลี่ยนแปลง
ภาคอุตสาหรรมในการผลิตรถยนต์ทั่วไปมีองค์ประกอบมากมายทั้งระบบตั้งแต่ผู้ผลิตชิ้นส่วนต่างๆ ของเครื่องยนต์และที่เกี่ยวข้อง อะไหล่สิ้นเปลืองต่างๆ ซัพพลาเออร์ที่ผลิตอะไหล่ป้อนเข้ากับโรงงานผลิต ภาพรวมเหล่านี้อาจเริ่มมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนเมื่อเริ่มมีการใช้ไฟฟ้ามากขึ้น อย่างไรก็ตามในประเทศไทยนั้นยังมีผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าน้อยถึงน้อยมากที่สุด ซึ่งหมายถึงยังมีเวลาในการปรับตัวของผู้เกี่ยวข้องต่างๆ ให้เข้ากับการผลิตอุปกรณ์ที่ใช้ในรถยนต์ไฟฟ้า
การปรับตัวอาจทำได้ตั้งแต่การหันมาพัฒนาระบบประจุไฟหรือผู้ให้บริการจุดชาร์จไฟ การพัฒนาระบบแบตเตอรี่ในรถยนต์และแบบพกพาโดยสามารถสลับแบตเตอรี่ได้ทันทีไม่ต้องรถชาร์จให้เสียเวลา หรืออย่างเช่นการพัฒนาอะไหล่ชิ้นส่วนสำคัญๆ ในรถยนต์ไฟฟ้าให้ที่ขนาดเล็กลงน้ำหนักเบาและมีประสิทธิภาพดีขึ้น และราคาต้องถูกลงอีกด้วย
นอกจากนี้ค่ายรถยนต์ต่างๆ ย่อมรู้อยู่แก่ใจว่าการมีรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเท่ากับว่าการดูแลรักษาหรือการนัดเช็คระยะเข้าศูนย์อาจต้องปรับแผนกันขนานใหญ่ เนื่องจากรถยนต์เหล่านี้มีชิ้นส่วนที่หายไปเกือบครึ่งของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์เช่น ชิ้นส่วนภายในเครื่องยนต์ ลูกสูบ แหวน ข้อเหวี่ยง หัวเทียน หัวฉีด สายไฟ ชิ้นส่วนรอบๆ เครื่องยนต์อย่างมอเตอร์สตาร์ท ระบบเกียร์ รวมถึงระบบของเหลวอีกมากมายที่ไม่ต้องใช้อีกต่อไป มีเพียงระบบเบรค ปรับอากาศ ระบบควบคุมการทำงานของมอเตอร์ไฟฟ้า ชุดเฟืองกับช่วงล่าง ที่ยังต้องมีอยู่เท่านั้น อาจส่งผลให้ผู้ผลิตเสียรายได้หลักจากตรงนี้ไปอย่างมากมาย จึงต้องวางแผนอย่างรอบคอบและเปลี่ยนวิธีการดูแลรถยนต์ไฟฟ้าให้สอดคลองเพื่อไม่ให้ขาดดุล
ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าแล้วจะชารจ์ที่ไหน
เมื่อการตื่นตัวของภาครัฐและเอกชนเพิ่งเกิดไม่นานปัญหาการวางพื้นฐานของจุดชาร์จหรือสถานบริการจึงมีน้อย และยังไม่รองรับตามถนนสายรองมีเพียงสายหลักหรือจังหวัดใหญ่ๆ เท่านั้น และในบางพื้นที่ก็มีเพียงไม่กี่ถานที่ที่มีระบบชาร์จไฟ ซึ่งไม่กระจายตัวทำให้เกิดความไม่สะดวกในการใช้งาน แม้จะมีบริษัทเอกชนเริ่มเดินหน้าเพิ่มสถานีชาร์จไฟฟ้ามากขึ้น แต่ก็ต้องยอมรับว่ายังไม่มีความสะดวกเพียงพอ หากมีปริมาณรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มจำนวนมากขึ้นกว่านี้คาดว่าสถานีชาร์จไฟจะวุ่นวายไม่แพ้เมื่อยุคที่เคยรณรงค์ให้รถยนต์ใช้ก๊าซ NGV/CNG จะเห็นว่าต่อแถวยาวทะลุออกถนนใหญ่และใช้ระยะเวลาเติมนานกว่า 5 นาทีขึ้นไป คิดดูว่าการชาร์จไฟต้องเวลาเกินกว่านั้นจะโกลาหนแค่ไหน
โดยทั่วไปแล้วรถยนต์ไฟฟ้าที่จำหน่ายในประเทศไทย ณ ปัจจุบัน วิ่งได้ระยะทาง 250 - 300 กิโลเมตรต่อการชาร์จเต็มที่ 1 ครั้ง ยังไม่รวมปัจจัยอีกหลายอย่างทั้งการจราจรติดขัด จุดชาร์จที่ไม่เพียงพอ ระยะเวลาในการชาร์จที่นานไม่ต่ำกว่า 30 นาที จึงสามารถวิ่งต่อได้อีกไม่เกิน 200 กิโลเมตร สิ่งเหล่านี้ เป็นการบ้านให้ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนต้องสุมหัวกันเคาะนโยบายและวางแผนออกมาให้ครอบคลุมมากที่สุด
รถยนต์ไฟฟ้าประหยัดจริงหรือ?
แน่นอนว่ารถยนต์ไฟฟ้าช่วยให้ผู้ใช้ประหยัดอยู่แล้ว (ไม่รวมค่าตัวที่ซื้อมานะ) แต่กระแสไฟฟ้าที่ใช่จ่ายมาล่ะมาจากไหน? ในประเทศไทยยังคงใช้โรงงานผลิตไฟฟ้าด้วยเชื้อเพลิงฟอสซิลหรือน้ำมันดิบและถ่ายหินอยู่ เชื้อเพลิงเหล่านี้ย่อมปล่อยก๊าซหรือควันลอยสู่อากาศ ปัจจุบันการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้ทั้งภาคอุตสาหกรรม ตึกสูงใหญ่ระบบรถไฟฟ้าที่สร้างเพิ่มขึ้นอีกไม่รู้กี่สาย และยังครัวเรื่อนประชาชนทั่วไปก็แทบจะไม่เพียงพอแล้ว ดังนั้น ผู้เกี่ยวข้องต้องหารือกันให้ดีว่าการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามีส่วนช่วยเรื่องลดมลพิษโดยรวมของโลกหรือว่าช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายของกลุ่มผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าเท่านั้นหรือไม่?
ที่แน่ๆ รถยนต์ไฟฟ้ามีความดีในทางอ้อม เพราะว่าการที่มีชิ้นส่วนน้อยลงประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ของรถยนต์ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน ลดอะไหล่ที่สิ้นเปลือง อะไหล่ที่ใช้วัตถุดิบในการผลิตจากทรัพยากรที่ใกล้จะหมดไปบนโลกนี้ แถมผลพลอยได้ของเจ้าของรถคือ ตัดรายจ่ายค่าบำรุงรักษาออกไปได้หลายรายการ
ตกลงรถยนต์ไฟฟ้าน่าใช้หรือไม่
อย่างไรก็ตามอนาคตย่อมต้องมาถึงการเลือกใช้รถยนต์ไฟฟ้าอาจไม่ใช่คำตอบของทุกคน แต่นับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถจะช่วยลดการใช้พลังงานน้ำมันและลดการปล่อยมลพิษบนท้องถนนได้ และในอนาคตภาครัฐกำลังมีการวางแผนที่จะสร้างโรงงานผลิตไฟฟ้าจากวัตถุดิบอื่นๆ ที่ลดมลพิษให้มากที่สุดควบคู่กันไป เช่น พลังลม, พลังน้ำหรือคลื่น, พลังงานจากแสงอาทิตย์ และถึงแม้จะไม่มีรถยนต์ไฟฟ้าให้ใช้ก็ตาม ในอนาคตก็ต้อง "ลด ละ เลิก" การใช้ถ่านหินหรือน้ำมันเพื่อมาผลิตไฟฟ้าเพื่อไม่ให้เป็นการผลักภาระการปล่อยมลพิษจากรถยนต์ไปกองอยู่ที่โรงไฟฟ้าเพียงแห่งเดียว
ภาพจาก www.coindesk.com
รถยนต์ไฟฟ้าจึงเป็นทางเลือกที่มีความน่าสนใจในอนาคตและจะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากนี้ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าก็เริ่มพัฒนาให้รถของตนเองมีสมรรถนะที่ดีขึ้น วิ่งได้ระยะทางมากขึ้น ใช้เวลาในการชาร์จน้อยลง รวมถึงราคารถและอะไหล่แบตเตอรี่ถูกลง
รถยนต์ไฟฟ้า EV Car ที่มีจำหน่ายในประเทศไทย
ปัจจุบันรถยนต์ไฟฟ้าล้วนๆ ที่มีจำหน่ายในประเทศไทย (ณ วันที่ทำบทความ ก.ค.2562) ค่ายชั้นนำต่างทยอย "ชิมลาง" ปล่อยออกมาเรื่อยๆ ซึ่งแต่ละรุ่นก็มีความน่าใช้งานอยู่ไม่น้อย ส่วนราคาก็เริ่มต้นตั้งแต่ 1 ล้านต้นๆ ไปจนถึง 2 ล้านกว่าบาท
MG ZS EV ราคา 1,190,000 บาท
รถยนต์ไฟฟ้าที่เปิดตัวด้วยราคาที่ต้องตะลึง รถยนต์ SUV มอเตอร์ไฟฟ้าแบบ PM synchronous motor ให้กำลังสูงสุด 150 แรงม้า แรงบิด 350 นิวตันเมตร ติดตั้งแบตเตอรี่ Lithium-ion จำนวน 3 แผง ใช้เวลา 6 ชม. และ หัวชาร์จแบบ Quick Charge ใช้เวลา 30 นาที ระดับแบตเตอรี่ 80% สามารถวิ่งได้เป็นระยะทาง 428 กิโลเมตร (ความเร็วไม่เกิน 60 กม./ชม.)
Hyundai IONIQ EV ราคา 1,749,000 บาท
รถยนต์ซีดานไฟฟ้าล้วนที่กำลังสูงสุด 120 แรงม้า (88kW) แรงบิดสูงสุด 295 นิวตัน-เมตร เชื่อมต่อผ่านระบบเกียร์แบบ single-speed ความเร็วสูงสุดที่ 165 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เวลาในการชาร์จไฟแบบปกติอยู่ที่ 4 ชั่วโมง 25 นาที ระยะทางที่วิ่งได้ต่อการชาร์จ 1 ครั้ง ราวๆ 280 กิโลเมตร
Hyundai KONA electric SE ราคา 1,849,000 บาท และ
SEL ราคา 2,259,000 บาท
รถยนต์ครอสโอเวอร์ที่ให้พลังงาน 64 กิโลวัตต์ชั่วโมง ขับได้ระยะไกลถึง 482 กิโลเมตร (จากการทดสอบ WLTP) ให้กำลังสูงสุด 204 แรงม้า แรงบิดสูงถึง 395 นิวตันเมตร อัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตรใช้เวลาเพียง 7.6 วินาที โดย 2 รุ่นนี้แตกต่างกันที่ออปชั่น
BYD E6 ราคา 1,890,000 บาท
รถยนต์อเนกประสงค์ MPV ที่ตั้งใจนำเข้ามาเพื่อเป็นรถเพื่อเน้นการพานิชย์ เริ่มโดยการนำไปเป็นรถยนต์สาธารณะ ใช้ Battery ขนาด 80kWh วิ่งได้กว่า 320 กิโลเมตรต่อชาร์จ ระยะเวลาชาร์จมี 2 ขนาด คือ 7kW ซึ่งใช้เวลาชาร์จจาก 0-100% ประมาณ 11 ชั่วโมง และ 40 kW ใช้เวลาประมาณ 2.30 ชั่วโมง
Nissan LEAF ราคา 1,990,000 บาท
นิสสัน ลีฟ แอบซุ่มทดลองวิ่งในไทยมาตั้งแต่รุ่นก่อนปรับโฉม จนมีวันที่ได้ขายจริงซักที และไม่ธรรมดากับสมรรถนะที่สมการรอคอย ด้วยเทคโนโลยีอันโดดเด่น e-Pedal ระบบขับเคลื่อนพลังงานไฟฟ้า (e-powertrain) กับชุดแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนชุดใหม่ ให้กำลัง 110 กิโลวัตต์ หรือ 150 แรงม้า มีแรงบิด 320 นิวตัน-เมตร เพิ่มขึ้น 26% ส่งผลให้มีอัตราเร่งจาก 0-100 กม./ชม. ในเวลา 7.9 วินาที
KIA Soul EV ราคา 2,297,000 บาท
รถยนต์อเนกประสงค์ 5 ประตู ทรงกล่องที่มาก่อนใครแบบเงียบๆ มาพร้อมมอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 375 โวลต์ กำลังสูงสุด 81.4 กิโลวัตต์ ที่ 2,730 - 8,000 รอบต่อนาที (ประมาณ 110 แรงม้า) แรงบิด 285 นิวตันเมตร ที่ 0 - 2,730 รอบต่อนาที สามารถทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 145 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีอัตราสิ้นเปลือง 142 วัตต์ชั่วโมงต่อกิโลเมตร และสามารถวิ่งได้ 250 กิโลเมตรต่อการชาร์จเต็ม 1 ครั้ง แต่มีจุดเด่นกว่าใครคือการชาร์จเร็วและมีถึง 2 ระบบ 5 รูปแบบคือ กระแสสลับ (ไฟบ้านทั่วไป)
- ชาร์จธรรมดาเต็ม 100% 230 โวลต์ / 8 แอมป์ ระยะเวลา 25 ชั่วโมง
- ชาร์จธรรมดาเต็ม 100% 230 โวลต์ / 10 แอมป์ ระยะเวลา 20 ชั่วโมง
- ชาร์จธรรมดาเต็ม 100% 230 โวลต์ / 27.6 แอมป์ ระยะเวลา 5 ชั่วโมง 40 นาที
กระแสตรง
- ชาร์จเร็ว 80% 375 โวลต์ / 125 แอมป์ / 33 นาที
- ชาร์จเร็ว 80% 375 โวลต์ / 172 แอมป์ / 23 นาที
รถยนต์เอสยูวีพรีเมียม 5 ที่นั่ง ที่แพงแต่คุ้มกับเทคโนโลยีขั้นเทพ ระบบการขับเคลื่อน 4 ล้อ quattro มีมอเตอร์ไฟฟ้าติดตั้ง 2 ตำแหน่งที่ด้านหน้าและด้านหลังส่งกำลังไปล้อโดยตรง ตอบสนองที่ฉับไว ทั้งออกตัวและเร่งแซง โดยมอเตอร์ไฟฟ้าทั้ง 2 ตัว ให้กำลังสูงสุด 266 กิโลวัตต์ หรือ 360 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 561 นิวตันเมตร เมื่บูสต์ จะเพิ่มเป็น 408 แรงม้า และ 664 นิวตันเมตร ทำอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม.ในเวลา 6.6 วินาที และ 5.7 วินาที เมื่อบูสต์ และทำความเร็วสูงสุดได้ 200 กม./ชม.
Jaguar I-PACE EV ราคา 5,499,000 บาท
จากัวร์รถยนต์ไฟฟ้าแพงสุดในไทยขณะนี้แต่พลังโดดเด่นด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า 90 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง กำลังสูงสุด 400 แรงม้า แรงบิด 696 นิวตันเมตร สามารถขับได้ระยะทางสูงสุด 470 กิโลเมตร ต่อการชาร์จไฟเต็ม 1 ครั้ง และใช้เวลาในการชาร์จไฟกลับแบตเตอรี่จนถึง 80% เพียง 20 - 40 นาที เมื่อผ่านเครื่องประจุไฟกระแสตรง (DC Quick charge) หรือ 10 ชั่วโมงเมื่อชาร์จด้วยไฟกระแสสลับ (AC Home Wall Box ) ให้อัตราเร่ง 0 - 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในเวลาเพียง 4.8 วินาทีเชียวนะ
ความจริงยังมีรถยนต์ไฟฟ้าอีกหลายยี่ห้อที่มีจำหน่ายจากผู้ผลิตและจำหน่ายอิสระมากมายอีกเพียบ แต่ในบทความนี้ขอนำเสนอเฉพาะรถที่มีจากบริษัทผู้ผลิตชั้นนำเท่านั้น
สรุปว่ารถยนต์ไฟฟ้านับเป็นทางเลือกให้ผู้ต้องการเทคโนโลยีความประหยัด ขี้เกียจเข้าศูนย์บ่อย มีรถยนต์ในครอบครอง 2 - 3 คันขึ้นไป และต้องมีเงินเหลือพอที่จะ นอกจากนี้ต้องศึกษาเส้นทางที่มี "จุดชาร์จไฟ" เมื่อขับขี่ไปในชีวิตประจำวัน แต่ก็มีสิ่งหนึ่งที่รถยนต์ไฟฟ้าน่าสนใจนอกจากไม่ต้องเติมน้ำมันแล้วนั่นคือ อัตราเร่งที่ปรู้ดปราดมาก และความเงียบที่สามารถแอบขับออกจากบ้านได้โดยคนที่บ้านอาจไม่รู้.....