เตรียมรถเตรียมร้อน! ก่อนเดินทาง
การขับรถในช่วงอากาศหน้าร้อนของประเทศไทย โดยเฉพาะระยะหลังอากาศเริ่มร้อนขึ้นเรื่อยๆ บางครั้งมาตรวัดระดับอุณหภูมิในรถวัดได้ถึง 40 องศา (ซึ่งที่จริงก็ร้อนตลอดปี) เมื่อจำเป็นต้องขับรถไปทำธุระหรือท่องเที่ยวในสภาพอากาศเช่นนี้ มาดูกันครับว่า ทั้งคนและรถต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง
การเตรียมรถ
ตรวจเช็คการทำงานต่างๆ ของระบบเครื่องยนต์ง่ายๆ คือ
1. สังเกตุพื้นที่จอดรถว่ามีของเหลวหรือคราบน้ำอะไรหยดบ้าง หากเป็นน้ำที่มีสีเข้มๆ เช่น แดงเข้ม (น้ำมันเกียร์อัตโนมัติ), ดำหรือน้ำตาล (น้ำมันเครื่อง-เฟืองท้าย), เขียวหรือฟ้า(น้ำมันเบรก-น้ำยาหล่อเย็นหม้อน้ำ) เป็นต้น ให้รีบนำรถเข้าศูนย์บริการทันที ส่วนคราบน้ำใสๆ อาจเป็นน้ำทิ้งจากระบบปรับอากาศซึ่งมักจะหยดบริเวณใต้ท้องตำแหน่งเดียวกับระบบปรับอากาศในรถ
2. น้ำในหม้อน้ำหรือในกระบอกพักน้ำควรอยู่ในระดับปกติ (MAX) และหากระดับน้ำขาดก็ไม่ควรเต็มจนล้น ให้เต็มแค่ขีดระดับ MAX เท่านั้น เพื่อให้น้ำมีการขยายตัวเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น
3. น้ำมันเบรกต้องเต็มในระดับ MAX หรือขีดที่กำหนดไว้ด้านบน (แล้วแต่รุ่นรถว่าจะใช้คำว่าอะไร) และสังเกตุ "ผ้าเบรก" เบื้องต้นจากการ "ส่อง" ดูที่ล้อว่ามีความหนาที่เนื้อผ้าเบรกเกินกว่า 5 มิลลิเมตรหรือไม่ สำหรับล้อหน้าที่เป็นดิสก์เบรกมักจะเห็นง่าย ส่วนถ้าล้อหลังเป็นดรัมเบรกอาจต้องเข้าศูนย์บริการให้ช่างช่วยเช็คอีกครั้งนึง
4. ลมยางอาจต้องไปเช็คที่สถานีบริการน้ำมัน โดยควรเติมตามคู่มือหรือเลขความดันลมยางที่ระบุไว้ข้างประตุด้านในของรถ (ขึ้นกับแต่ละรุ่น) รวมถึงสภาพดอกยางด้วยว่าต้องมีสภาพสมบูรณ์และหนายางกับแก้มยางยังนิ่มอยู่
5. ภายในห้องโดยสาร ควรหลีกเลี่ยงการวางสิ่งของที่อาจมีผลเมื่อถูกความร้อนได้ เช่น ของเหลวต่างๆ, วัตถุไวไฟ, ขนมที่ละลายได้ เป็นต้น นอกจากนี้ไม่ควรวางสิ่งของ เอกสาร หรือกระดาษไว้บริเวณด้านบนคอนโซลหน้ารถ เพราะแสงแดดแรงๆ อาจสะท้อนเข้าตาผู้ขับขี่ทำให้วิสัยทัศน์ลดน้อยลง
การเตรียมคน
การจัดเตรียมอุปกรณ์ช่วยในการเดินทางสู้แดดแรงๆ เมื่อต้องนั่งในรถ ได้แก่
1. แว่นตากันแดด ช่วยถนอมสายตาและเพิ่มการมองเห็นได้ชัดเจนมากขึ้น
2. เสื้อแขนยาวหรือปลอกแขน เมื่อความร้อนจากแสงแดดทะลุผ่านกระจก โดยเฉพาะรถที่ติดฟิล์มความเข้มน้อยหรืออาจเป็นฟิล์มเกรดมาตรฐานทั่วไป อาจทำให้เสียสมาธิในการขับรถเพราะต้องคอยหลบแสงแดด ทำให้ลดประสิทธิภาพในการขับขี่หรือควบคุมรถน้อยลง
3. ครีมกันแดด อันนี้ก็สำคัญ แม้จะอยู่ในรถแต่รังสี UV ก็อาจทะลุผ่านได้
4. ร่ม ใช้เมื่อต้องออกจากรถไปทำธุระต่างๆ
5. วางแผนการเดินทางหรือศึกษาเส้นทางลัดอย่างละเอียดด้วย Google Map หรือ Navigator เพื่อลดระยะทางและเวลาในการ "ตากแดด" บนถนนให้น้อยที่สุด
6. แวะสถานีบริการหรือร้านอาหารบ่อยๆ เพื่อคลายร้อน พร้อมติดน้ำเปล่าเอาไว้จิบระหว่างเดินทางเอาไว้ด้วยครับ
ข้อแนะนำเพิ่มเติม
เมื่อขึ้นรถเปิดระบบปรับอากาศให้ทำงานเต็มประสิทธิภาพมากที่สุดสักระยะเวลาหนึ่ง เพื่อเร่งความเย็นในห้องโดยสารให้เร็วขึ้น และเมื่อเริ่มรู้สึกกำลังสบายตัวแล้วให้ปรับลดลงมาอยู่ในระดับกลางๆ การเร่งให้ทำความเย็นจะช่วยให้ระบบปรับอากาศทำงานหนักในระยะเวลาสั้นๆ กว่า การเปิดระดับความเย็นปานกลาง เพราะกว่าที่จะถึงอุณหภูมิที่ตั้งไว้ จะใช้เวลานานมากขึ้นไป ทำให้ระบบปรับอากาศทำงานหนักเป็นเวลานาน (แอร์ไม่ตัด) และส่งผลให้สิ้นเปลืองน้ำมันเพิ่มขึ้นได้
การจอดรถกลางแจ้งให้หาจดที่มีร่มเงาของตึก, ต้นไม้ ฯลฯ เพื่อช่วยลดความร้อนที่จะเข้ามาในรถโดยตรง หรือหากมีร่มเงาเล็กๆ ก็ให้เลือกจอดหันส่วนด้านหน้ารถเข้าร่ม เพราะกระจกบังลมหน้ารถมักมีขนาดใหญ่และแสงแดดล่องได้มากกว่าบานอื่นๆ นอกจากนี้หากติดตั้งคิ้วกันสาดก็ให้ลดกระจกลงเล็กน้อยเพื่อระบายความร้อนสะสมเอาไว้ด้วย
ควรระวังไม่ให้ลมเย็นเป่าถูกส่วนสำคัญของร่างกายโดยตรง เพราะอุณหภูมิภายนอกและภายในแตกต่างกันมากๆ อาจทำให้รู้สึกไม่สบายและเป็นไข้ได้
รถที่ไม่มีฟิล์มหรือมีความเข้มที่ป้องกันความร้อนได้น้อย ไม่ควรใช้ผ้าบังกระจกด้านข้าง เพราะเป็นการบดบังทัศนะวิสัยของผู้ขับขี่ และอาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายขึ้น
นอกจากนี้ หลังจากการเดินทางไกลก็ควรกลับมาสำรวจความเรียบร้อยของรถยนต์อีกครั้ง เช่นเดียวกับการตรวจเช็คก่อนเดินทาง ส่วนการขับในระยะไม่ไกลนักก็อาจตรวจเช็ควิธีเดียวกันนี้สัปดาห์ละครั้ง
ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงการเตรียมเบื้องต้น และการตรวจเช็คความพร้อมของรถและคนขับเพื่อให้ถึงจุดหมายอย่างปลอดภัย นอกจากนี้อาจมีส่วนช่วยให้ผู้ขับขี่และผู้โดยสารเดิยทางได้อย่างเพลิดเพลินและมีความสุขไม่ว่าจะร้อนแค่ไหนก็จะไปถึงจุดหมายอย่างสนุกและปลอดภัยครับ