5 สิ่งควรเตรียมตัวก่อนขับรถเที่ยวปีใหม่
การเตรียมตัวเตรียมใจเตรียมรถให้พร้อมก่อนการเดินทางในวันหยุดสุดสัปดาห์หรือจะวันหยุดยาวของเทศกาลต่างๆ ทั้งปีใหม่ สงกรานต์ เชงเม้ง ตรุษจีน รถยนต์นับเป็นส่วนหนึ่งในการใช้เดินทาง มาดูหลักง่ายๆ 5 สิ่งที่ควรจำให้ขึ้นใจก่อนการเดินทางไกลกันเลย
1. เตรียมรถ
ระบบเครื่องยนต์
- ตรวจเช็คระบบของเหลวทั้งระบบตั้งแต่ระบบน้ำหล่อเย็น (หม้อน้ำ) ต้องอยู่ในระดับถูกต้องหรือระดับน้ำอยู่ในระดับขีด "MAX" โดยดูได้จากกระบอกน้ำข้างๆ หม้อน้ำสีขาวขุ่น ซึ่งในรถยนต์รุ่นใหม่ๆ มักจะเป็นจุดที่เอาไว้เติมน้ำหม้อน้ำ แทนการเปิดเติมจากฝาปิดบนหม้อน้ำ เพื่อป้องกันน้ำที่อาจพุ่งออกมาเมื่อเติมขณะเครื่องยนต์ยังร้อน หรือหลังเติมเสร็จแล้วอาจปิดฝาไม่สนิท
- ตรวจเช็คท่อยางทางเดินของระบบน้ำหม้อทุกจุดว่ามีสภาพปกติหรือมีการแตกร้าวหรือไม่ หากจุดที่มองไม่เห็นให้นำรถเข้าศูนย์บริการหรืออู่ที่ได้มาตรฐาน
- ระบบจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง ตรวจเช็คระบบท่อทางเดินน้ำมันทั้งระบบให้ละเอียด โดยจุดนี้อาจจำเป็นต้องเข้าศูนย์หรืออู่มาตรฐานเพื่อให้ผู้มีความชำนาญตรวจดูอย่างจริงจัง
- สายพานด้านหน้าเครื่องยนต์หรือสายพานที่อยู่นอกเครื่องยนต์ ได้แก่ สายพานแอร์, ไดชาร์จ, ปั้มเพาเวอร์ เป็นต้น เพราะสายพานเหล่านี้มักมีผลต่อการทำงานของเครื่องยนต์ เพราะจะไม่ขับเคลื่อนระบบปั้มน้ำหล่อเย็นระบายความร้อน ไดชาร์จ หรือรถที่ใช้ระบบพวงมาลัยเพาเวอร์แบบไฮดรอลิกส์หรือรถที่มีกระปุกน้ำมันเพาเวอร์นั่นเอง
- ระบบไฟที่เกี่ยวข้องกับเครื่องยนต์ต่างๆ เช่น หัวเทียน สายหัวเทียน คอยล์จุดระเบิด และสายไฟรอบๆ เครื่องยนต์หรือในห้องเครื่องว่ามีชำรุด หรือร่องรอย "หนูแทะ" หรือไม่ รวมถึงแบตเตอรี่สามารถดูที่ "ตาแมว" กระจกใสๆ หากเป็นสีแดงแสดงว่าว่าไฟอ่อนหรือหมดควรรีบเปลี่ยนทันที
- ระบบนำมันเครื่องและน้ำมันเกียร์ทั้งอัตโนมัติและเกียร์ธรรมดา ต้องอยู่ในระดับที่ถูกต้อง โดยน้ำมันเครื่องยนต์นั้นเช็คจากเหล็กก้านวัดระดับ เมื่อดึงขึ้นมาให้อยู่ในระดับที่ถูกต้อง เช่น ในขณะเครื่องยนต์เย็นให้ดูที่ระบุว่า "COLD" หากดึงขณะเครื่องยนต์ร้อนให้ดูที่ระบุว่า "HOT" ส่วนระบบน้ำมันเกียร์อาจจำเป็นต้องเข้าศูนย์หรืออู่มาตรฐานเพื่อตรวจเช็คอีกครั้งเพื่อตัวก้านวัดจะอยู่ลึกกว่าทำให้ยากต่อการตรวจเช็คเองหากไม่ชำนาญพอ
ข้อควรระวัง
- ไม่ควรเติมขณะเครื่องยนต์ยังมีอุณหภูมิสูงๆ หลังจากกดับเครื่องยนต์แล้วควรทิ้งไว้สักพักประมาณ 15 - 20 นาทีขึ้นไป
- ไม่ควรเติมน้ำในกระบอกพักน้ำ (สีขาวขุ่น) จนล้นหรือเกินขีดระดับ "MAX" เพราะว่าต้องมีที่ว่างเผื่อให้น้ำได้ขยายตัวในขณะเครื่องยนต์ร้อนด้วย
- ควรปิดฝาทั้งกระบอกเติมน้ำและเช็คฝาบนหม้อน้ำให้ให้แน่น
คลิกอ่านเพิ่มเติม
ตรวจรถก่อนขับทางไกล ระบบไฟฟ้าทั่วไป
ได้แก่ ไฟหน้า ไฟท้าย ไฟเลี้ยว และไฟถอดหลังต้องติดครบทุกดวง!
ช่วงล่าง - ล้อและยาง
- ระบบช่วงล่างขณะขับตกหลุมมีเสียงดังผิดปกติหรือไม่ ขณะยุบตัวลงและขึ้นมีอาการกระเด้งผิดปกติหรือไม่ ตรวจดูที่กระบอกโช้คว่ามีการรั่วซึมหรือมีคราบน้ำมันหรือไม่
- ตรวจดูสภาพล้อรถยนต์ว่ามีร่องรอยแตกร้าวตามขอบหรือก้านล้อหรือไม่ ตัววงล้อมีการบิดเบี้ยวผิดรูปหรือไม่ ส่วนยางให้ตรวจแรงดันลมให้ตรงกับสเปคผู้ผลิตรถยนต์เป็นหลัก เช่น สเปคเดิมระบุว่า 28 PSI ก็ให้เติมเผื่อไปอีก 2 PSi เป็น 31 PSI หรือ 32 PSI เอาไว้ แต่ไม่ควรเติมมากหรือน้อยเกินไปเพราะจะทำให้สมรรถนะของยางลดลง และเติมลมยางอะไหล่ให้เต็มไว้เสมอด้วย
ระบบเบรก
ระบบเบรก ได้แก่ ระดับน้ำมันเบรกในกระปุกต้องอยู่ในระดับ "MAX" และตรวจเช็คการทำงานของเบรกว่าปกติหรือไม่โดยการเหยียบเบรกแรงๆ ค้างไว้ แป้นเบรกต้องไม่จม ควรหยุดในระดับที่กดเท้าลงไปเท่านั้น หากพบว่าแป้นเบรกค่อยๆ จมลงไปเรื่อยๆ จนสุดแสดงว่ามีการรั่วในระบบเบรกให้รีบนำรถเข้าศูนย์หรืออู่มาตรฐานโดยด่วน นอกจากนนี้ให้เช้คความหนาของผ้าเบรกโดยสามารถส่องดูใด้ที่จานเบรกกับตัวก้ามเบรกซึ่งจะมีตัวผ้าเบรกคั่นกลาง ให้สังเกตุว่าความหนาของแผ่นที่สัมผัสกับจานเบรกนั้นบางลงต่ำกว่า 3 มม. หรือไม่ หากต่ำกว่าให้รีบไปให้ช่างเปลี่ยนทันที
ระบบปัดน้ำฝน ได้แก่ ยางปัดต้องอยู่ในสภาพดีปัดได้เกลี้ยงเกลารวมถึงน้ำในกระบอกฉีดกระจกต้องเต็ม เพื่อใช้ฉีดล้างในกรณีกระจกสกปรกจนบังการมองเห็น สามารถฉีดล้างและปัดกระจกให้ชัดเจนขึ้นและขับขี่ได้อย่างปลอดภัยมากขึ้นด้วย
2. เตรียมตัว (ผู้ขับ)
นอกจากรถพร้อมแล้วคนขับก็ต้องพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ ด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอก่อนการเดินทาง หรือตรวจเช็คสุขภาพทั่วไปว่ามีอาการป่วยอื่นๆ หรือไม่ เช่น เป็นไข้ โรคลมชัก หรือ อาการปวดเมื่อยต่างๆ ที่อาจรบกวนสมาธิในการขับรถจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายได้
การปรับท่านั่งขับไม่ควรไกลหรือชิดพวงมาลัยมากเกินไป โดยมีวิธีง่ายๆ คือ ให้ยืดแขนวางบนพวงมาลัยโดยส่วนข้อมือต้องวางบนพวงมาลัยได้พอดี หลังจากนั้นก็ปรับเบาะให้ได้ระยะตามที่วัดไว้ ซึ่งข้อศอกจะต้องงอประมาณ 50 - 60 องศา ไม่ตึงหรืองอมากไป จะช่วยการขับรถเป็นไปอย่างสะดวกและคล่องตัว การนั่งชิดพวงมาลัยมากเกินไปอาจก่อให้เกิดอันตรายจากระบบถุงลมนิรภัยทำงานเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นได้
นอกจากนี้การขับขี่รถในระยะทางยาวๆ นั้น สวมใส่รองที่เหมาะสมต่อการขับขี่ ไม่ควรถอดรองเท้า หรือว่าใส่รองเท้าส้นหนาเกินไป โดยรองเท้าที่ใส่ก็ควรต้องมีความกระชับไม่หลวมหรือคับเกินไปอีกด้วย เพราะจะส่งผลทำให้สมาธิในการขับรถแย่ลง
เตรียมระบบเชื่อมต่อโทรศัพท์ให้พร้อมทั้งบลูธูท ชุดหูฟังต่างๆ หรือตั้งระบบเนวิเกเตอร์ก่อนขับรถเพื่อความปลอดภัยและหากหลีกเลี่ยงการใช้งานไม่ได้ก็แนะนำว่าไม่ควรวางโทรศัพท์ไว้ในจุดที่ต้องเอื้อมหรือช่องเล็กๆ ที่มองไม่เห็น เพราะหากจำเป็นต้องรับสายจะได้เห็นง่ายหยิบง่ายไม่ต้องละสายตาจากด้านรถมากเกินไป
สิ่งของหรือสัมภาระในรถต้องวางในจุดที่ปลอดภัยและไม่บดบังการมองเห็นทั้งด้านรถและกระจกด้านหลังรถ เช่น ตุ๊กตา ลูกโป่ง หรือหมอน เป็นต้น
3. เตรียมตังค์
พกเงินติดตัวให้เพียงพอกับการเดินทางไม่มากหรือน้อยเกินไป เพราะเสี่ยงต่อการถูกชิงทรัพย์หรือหากต้องแวะกดเงินบ่อยๆ ก็อาจเป็นที่สังเกตุต่อมิจฉาชีพได้ด้วย นอกจากนี้ควรเผื่อเงินไว้ยามฉุกเฉินอื่นๆ ในระหว่างเดินทาง เช่น รถเสีย, ค่าปะยาง, ค่าจ้างช่วยเติมน้ำมันรถ เป็นต้น
4.เตรียมเส้นทาง
ศึกษาดูเส้นทางที่จะใช้ว่าต้องผ่านจุดใดเป็นหลักสำคัญบ้างหรือสภาพการจราจรโดยรวม และอาจค้นหาเส้นทางเลี่ยง - ลัด ให้ร่นระยะทางได้มากขึ้นจะประหยัดเวลาได้ รวมทั้งการวางแผน "พักรถ พักคน" ณ จุดแวะพักต่างๆ และเติมน้ำมัน เพื่อให้พอดีกับระยะยที่ใช้งาน โดยแนะนำว่าอาจแวะเข้าสถานีบริการน้ำมันที่ไม่ใหญ่มากๆ คนน้อยๆ เพื่อความสะดวกสบายโดยไม่ต้องแย่งกัน และหากใครใช้งานระบบ Google Map ก็ยิ่งช่วยให้การเดินทางง่ายและสะดวกมากขึ้นอีกด้วย
5. เตรียมติดต่อ
จด-บันทึก เบอร์โทรศัพท์ในกรณีฉุกเฉินเอาไว้ให้สามารถใช้งานได้อย่างสะดวกและรวดเร็วที่สุด ไม่ว่าจะเกิดอุบัติเหตุ เจ็บป่วย หรือรถเสียต่างๆ หรือหลงทาง อย่างน้อยเราก็สามารถติดต่อกับผู้ให้บริการได้ทันท่วงที
วิธีการเตรียมตัวก่อนเดินทางไกล 5 สิ่งนี้นับเป็นการเตรียมความพร้อมเบื้องต้น และนำไปใช้ในการดูแลรถด้วยตนเองอย่างง่ายๆ แต่หากมีสิ่งผิดปกติมากกว่านี้ควรรีบนำรถไปเข้ารับบริการโดยเร็วที่สุด และควรพักผ่อนเตรียมความของร่างกายให้มีความฟิต เมาไม่ขับ ง่วงไม่ขับ โทรไม่ขับ และจะไปกลับอย่างปลอดภัยนะครับ