BMW 330e M Sport ชาร์จได้ ซิ่งดี
BMW 330e M Sport เป็นรถพลังไฮบริด ปลั๊ก-อิน ที่เปี่ยมไปด้วยเทคโนโลยีจากผู้ผลิตเยอรมัน สะท้อนให้เห็นถึงการก้าวเข้าสู่ยุครถพลังไฟฟ้าที่ทำตลาดกันอย่างจริงจัง การใช้รถไฮบริดที่มีระบบ ปลั๊ก-อิน อาจทำให้วิถีชีวิตการขับรถเปลี่ยนไปบ้าง เพราะคุณต้องวางแผนล่วงหน้าสำหรับสถานที่เสียบไฟชาร์จแบต แม้จริงๆ ตัวรถสามารถยังวิ่งได้ด้วยเครื่องยนต์อย่างเดียวก็ตาม แต่ก็ได้ความประหยัดและพลังงานสะอาดเข้ามาทดแทน ส่วนสาระสำคัญคือ สมรรถนะของตัวรถนั้น ยังคงความยอดเยี่ยมในการขับเคลื่อนและควบคุมได้อย่างน่าพอใจ รายละเอียดรอบด้านของ 330e เป็นอย่างไรติดตามจากรายงานการทดสอบ
การออกแบบของรุ่นรหัสตัวถัง F30 ที่เริ่มผลิตตั้งแต่ปี 2012 จนถึงปัจจุบัน ทำให้ชินสายตาเมื่อเห็นบนถนนทั่วไป แต่สำหรับ 330e M Sport ดูหล่อเข้มขึ้นด้วยชุดแต่งและล้อแม็กขนาด 18 นิ้วที่ให้อารมณ์แบบตัวแรงสไตล์ M แต่การแยกแยะว่านี่คือรุ่น 330e ไฮบริด ปลั๊ก-อิน นอกจากโลโก้ 330e ตรงฝากระโปรงท้าย ที่มองไกลๆ คงคิดว่าเป็นรุ่นไหนก็ได้ ก็มีโลโก้ eDrive ที่เสา C และฝาเปิด-ปิดสำหรับเสียบปลั๊กไฟตรงแก้มหน้าซ้าย
สัญลักษณ์ eDrive บ่งบอกว่าคันนี้เป็นซีรีส์ 3 ไฮบริด ปลั๊ก-อิน
แม้เป็นซีรีส์ 3 ที่เสริมการขับเคลื่อนด้วยพลังมอเตอร์ไฟฟ้า แต่ก็ยังให้รูปลักษณ์สปอร์ตด้วยชุดแต่ง M
ไม่ต้องกลัวว่าขับรถไฮบริดแล้วจะดูติ๋มเหมือนทั่วไป การออกแบบตัวถังเน้นฝากระโปรงหน้ายาว โอเวอร์แฮงสั้น นับเป็นจุดเด่นของ ซีรีส์ 3 จากรุ่นสู่รุ่น ภายในห้องโดยสารหรูหราตามสไตล์ วัสดุที่เลือกใช้ล้วนเป็นเกรดพรีเมียมตามมาตรฐาน งานประกอบและเย็บเบาะทำได้ดีสมราคา การเข้า-ออกลุกนั่งสำหรับผู้เขียนลำบากไปนิด เพราะตัวเบาะเป็นทรงสปอร์ตและวางตำแหน่งค่อนข้างต่ำ แต่สัมผัสเยี่ยมเพราะหุ้มหนัง Dakota และนั่งถนัดเพราะสามารถปรับไฟฟ้าละเอียดหลายจุด เวลาขับมั่นใจดีเพราะเบาะให้ความกระชับลำตัวไม่ลื่นไถลง่าย ส่วนพวงมาลัยเป็นแบบมัลติฟังก์ชันทรงสปอร์ตสไตล์ M กระชับมือดี ที่เหลือพวกตำแหน่งการวางอุปกรณ์อำนวยความสะดวกล้วนอยู่ในจุดถนัดมือ มีแค่ปุ่ม eDrive แถวแป้นเกียร์เพิ่มเข้ามา ส่วนเบาะหลังรองรับผู้ใหญ่ได้ 2 คน มุมเบาะนั่งเอนสบาย มีช่องแอร์และแผงควบคุมระบบปรับอากาศให้ปรับแยกได้เอง
บรรยากาศในห้องโดยสารเมื่อเปิดไฟยามค่ำให้ความปลอดโปร่งด้วยเบาะหนัง Dakota หรูหราดี เบาะหลังนั่งสบาย ออกแบบเน้นนั่ง 2 คน ส่วนพื้นที่วางขามีไม่มากตามสไตล์ซีรีส์ 3 ตรงกลางมีแผงคุมแอร์แยกเฉพาะ
ระบบไฟส่องสว่างภายในห้องโดยสารมีมากมายหลายตำแหน่ง ไฟของอุปกรณ์ต่างๆ ก็เห็นชัดเจน
พื้นที่ภายในฝากระโปรงท้ายกว้างและลึกพอใช้ ข้างซ้ายไว้เก็บอุปกรณ์ชาร์จ ขุมพลังหลักของ 330e เป็นเครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบ ทวินพาวเวอร์ เทอร์โบ ให้กำลังสูงสุดที่ 184 แรงม้า ผสานการทำงานกับมอเตอร์ไฟฟ้าที่มีกำลังสูงสุด 88 แรงม้า คำนวณรวมแล้วได้สูง 250 แรงม้า และแรงบิดรวมกันแล้ว 420 นิวตันเมตร ทาง บีเอ็มดับเบิ้ลยูเคลมตัวเลขเวลาวิ่ง 0-100 กม./ชม. ทำได้ 6.1 วินาที ก็นับว่าดีพอสำหรับ 330e ที่แบกน้ำหนักมากกว่ารุ่น 320i ธรรมดาถึง 210 กก.โดยมีน้ำหนักตัวรวมอยูที่ 1,735 กก. ควบคุมการส่งถ่ายกำลังด้วยระบบเกียร์สเต็ปทรอนิค 8 สปีด และมีโหมดการขับให้เลือก 4 รูปแบบ Sport+, Sport, Comfort และ ECO PRO ที่เน้นความประหยัด จากการปรับเปลี่ยนค่าต่างๆ เช่น ระบบการจ่ายเชื้อเพลิง, อุณหภูมิระบบปรับอากาศ ฯลฯ ใหม่โดยกล่องคอมพิวเตอร์ สำหรับคนขับเมื่อปรับแล้วก็มองแค่เข็มที่วิ่งบนแถบบาร์สีฟ้าใต้มาตรวัดรอบไว้แค่นั้น เสมือนเป็นไกด์ให้เราเดินคันเร่งแบบประหยัด นอกจากนี้ยังมีลูกเล่นเป็นตัวเลขสีฟ้าแสดงว่าที่ขับประหยัดในโหมดนี้สามารถช่วยให้น้ำมันที่เหลือวิ่งได้ไกลขึ้นอีกกี่กิโลเมตร
การขับทดสอบ
ด้วยระบบขับเคลื่อนล้อหลังทำให้ BMW เป็นรถขับสนุก ให้การตอบสนองดีเยี่ยม โดยเฉพาะซีรีส์ 3 ที่มีความลงตัวและสมดุลเป็นเลิศ การขับในเมืองผู้เขียนเลือกใช้โหมด Comfort สลับกับ ECO PRO โดยเฉพาะช่วงเวลาที่เจอการจราจรติดขัด จริงๆ รถยุคนี้ที่มีสารพัดค่าให้ดูและเลือกติดตามทางหน้าปัด ทำให้เราหันมาสนใจกับเรื่องรายละเอียดการทำงานของระบบรถโดยไม่รู้ตัว ซึ่งก็เป็นเรื่องดี ส่วนอินเตอร์เฟสก็มีหลายช่องทาง ทั้งส่วนควบคุมและแสดงผล นับเป็นเทคโนโลยีก้าวล้ำ แต่สำหรับผู้ใช้ทั่วไปก็ต้องแลกด้วยการใช้เวลาศึกษาและทำความเข้าใจเช่นกัน
มุมมองด้านหน้าของรุ่นนี้ ให้ความชัดเจนและมองได้กว้างอย่างน่าพอใจ การขับแบบเร่ง ชะลอ หยุด และเปลี่ยนเลนบ่อยๆ ในเมืองทำได้คล่องตัว แต่ก็รู้สึกสะเทือนบ้างเวลาขับผ่านผิวถนนที่เป็นลอนหรือมีรอยต่อไม่เรียบ ส่วนหนึ่งคงเพราะยางแบบรันแฟลตขนาด 225/45 R18 ทางด้านหน้า และ 255/40 R18 ทางด้านหลัง
การขับบนทางเปิดโล่งออกนอกเมือง 330e ตอบสนองการขับได้เต็มที่มากขึ้น การเร่งแซงที่ใช้พลังประสานจากทั้งเครื่องยนต์และมอเตอร์ไฟฟ้าให้ความเร้าใจมาก แต่บางจังหวะก็ต้องควบคุมพวงมาลัยและคันเร่งให้ดี เพราะตัวถังออกอาการบ้าง ช่วงเวลาขับเร็วและเจอถนนเป็นเนินก็เหมือนกัน การเข้าโค้งด้วยค้วยความเร็วปานกลาง-สูง ทั้งทางขึ้น-ลงเนิน พบว่าพวงมาลัยตอบสนองได้อย่างดีเยี่ยม แต่ไม่ถึงกับไวมาก การขับในโหมด eDrive หรือ EV ผู้เขียนเลือกใช้แบบ Auto ซึ่งเคลมไว้ว่าสามารถทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 80 กม./ชม. ส่วนโหมดอื่นๆ เช่น Max เน้นความแรงมากขึ้น เคลมไว้ว่าวิ่งได้ถึง 120 กม./ชม. และโหมด Save Battery ไว้ใช้ตอนแบตเตอรี่เหลือน้อย หรือต้องการลดใช้งานพลังไฟฟ้าจากแบตเตอรี่
โดยรวมแล้วเป็นรถที่มีสมรรถนะดี รู้สึกประทับใจเพราะขับสนุก และมีความทันสมัย ตัวรถสามารถตอบสนองการใช้งานจริงในชีวิตประจำวันได้ดี สำหรับผู้เขียนในวันทำงานคงขับหล่อๆ แบบประหยัด ส่วนวันหยุดก็หาทางโล่งซิ่งให้สนุกสไตล์สปอร์ต แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องแบ่งเวลาไว้ให้กับการชาร์จเข้าระบบปลั๊ก-อินด้วย สำหรับผู้เขียนเวลาขับแล้วเห็นข้อความเตือนให้ชาร์จเพราะไฟหมดนั้นก็อดพะวงไม่ได้ ไม่เหมือนรถเชื้อเพลิงหรือไฮบริดทั่วไปที่ไม่ต้องห่วงเรื่องเสียบปลั๊กชาร์จไฟ แต่ถ้าที่บ้านมีปลั๊กไฟใกล้ที่จอดรถก็สบาย
การขับไปพร้อมกับได้เห็นการจำลองสถานะการทำงานต่างๆ ของตัวรถผ่านทางหน้าจอ ทำให้เข้าใจมากขึ้น การขับด้วย eDrive เหมาะกับเส้นทางแบบนี้จริงๆ
ระยะทางรวมในและนอกเมือง 566 กม. ไม่เน้นขับประหยัด
เพราะต้องลองสมรรถนะเต็มที่ ได้อัตราสิ้นเปลือง 11.8 กม./ลิตร บรรดาอุปกรณ์อำนวยความสะดวกในรถระดับพรีเมียมมักไม่ต่างกันมากนัก ขึ้นกับการออกแบบของแต่ละแบรนด์ สำหรับ 330e พระเอกยังคงเป็นหน้าจอแสดงผลขนาด 8.8 นิ้ว กับ iDrive คอนโทรลเลอร์ ที่ถูกใช้งานเป็นหลัก เพราะช่วยให้การปรับเปลี่ยนค่าและการแสดงผลต่างๆ สะดวกมาก แทบไม่ต้องขยับแขนไป-มาเพื่อกดปุ่มต่างๆ ส่วนการเชื่อมต่อสมาร์ทโฟนผ่านบลูทูธติดง่ายไม่ซับซ้อน ส่วนปุ่มเลือกโหมดและอื่นๆ วางตำแหน่งไว้รอบแป้นเกียร์ ถ้าคุ้นเคยก็แทบไม่ต้องละสายตามองเลย แต่ที่ช่วยให้การขับสบายที่สุดก็คือ ระบบเกียร์ไฟฟ้า แทบไม่ต้องออกแรง ช่วยให้ปรับเปลี่ยนได้ไวขณะเดินหน้า-ถอยหลัง
พวงมาลัยมัลติฟังก์ชันพร้อมแพดเดิ้ลชิฟท์ช่วยให้การขับสบายขึ้น และปรับเปลี่ยนเกียร์เพื่อขับแบบสปอร์ตได้เอง จุดศูนย์รวมการสั่งงานทั้งหมดอยู่ตรงคอนโซนกลาง ห้องโดยสารที่ไม่ได้ใหญ่มากของซีรีส์ 3 แต่ยังมีแอร์หลังให้ช่วยคลายร้อนเวลารถติด
และรุ่น 330e อาจมีเรื่องความร้อนจากแบตเตอรี่ของระบบไฮบริด
ปุ่ม Start/Stop อุปกรณ์ให้ความสะดวกที่ควรเป็นมาตรฐานของรถระดับนี้ทั้งหมด
นี่สิเทคโนโลยีใหม่ ! ระบบปลั๊ก-อิน เสียบชาร์จไฟที่บ้านได้เลย งานนี้เพื่อนบ้านอาจต้องเกาะกำแพงมองกันบ้าง
ชุดชาร์จ ปลั๊ก-อิน ให้สายไฟมายาวพอสมควร ถ้าในโรงรถหรือด้านนอกตัวบ้านมีปลั๊กไฟอยู่แล้วจะสะดวกมาก
ถ้าไม่มีต้องหาช่องทางไปเสียบปลั๊กในบ้านให้ได้ และไม่ควรใช้รางปลั๊กต่อ
เทคโนโลยีความปลอดภัยใน 330e M Sport มีครบถ้วนตามมาตรฐานรถระดับนี้ แต่ที่สัมผัสได้โดยตรงจากการขับก็มี กล้องมองหลังขณะถอย ที่ให้ความคมชัดและมีเส้นนำสายตาให้ จริงๆ กล้องมองหลังควรเป็นมาตรฐานให้กับรถรุ่นใหม่ได้แล้ว เพราะการถอยบางครั้งมีข้อจำกัดและจุดบอดที่มองไม่เห็น ไม่ว่าสิ่งของขนาดเล็ก, หมาแมว และเด็ก นอกจากนี้ก็ชอบระบบเตือนการชนด้านหน้า ที่คำนวณจากการใช้ความเร็วขณะนั้นและระยะห่างระหว่างรถคันข้างหน้าว่าผู้ขับสามารถเบรกทันไหม ถ้าเข้าระยะเสี่ยงระบบก็จะเตือน ช่วยให้ชะลอหรือเบรกได้ทัน สุดท้ายที่ประทับใจคือ ระบบช่วยจอดอัตโนมัติแม้ผู้เขียนไม่คุ้นเคย และไม่ค่อยมีปัญหากับการจอดรถเอง แต่สำหรับผู้สูงวัยหรือผู้หญิงที่การจอดรถเองมักเป็นเรื่องยากในบางครั้ง ระบบนี้จึงช่วยได้มาก
การรายงานความพร้อมของส่วนที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย ทำให้เราสบายใจมากขึ้น และช่วยเตือนให้มีเวลาแก้ไขปรับปรุงได้ทัน ความคุ้มค่าเมื่อเทียบกับราคา
สรุป ท่ามกลางการแข่งขันด้านเทคโนโลยีเครื่องยนต์อย่างเข้มข้นของค่ายรถยุโรป
BMW 330e M Sport ใหม่ คือ ดาวเด่นของตลาดรถซีดานระดับนี้ และยังช่วยกระตุ้นให้ตระกูลซีรีส์ 3 กลับมามีสีสัน ด้วยเครื่องยนต์ทันสมัยสมรรถนะสูง ผสานการทำงานกับระบบไฮบริด ปลั๊ก-อิน พร้อมรูปทรงสปอร์ตสไตล์ M นับเป็นความลงตัวที่น่าชื่นชม เมื่อมองราคา 3,099,000 บาท ก็นับว่าถูกกว่าคู่แข่งหลายยี่ห้อไม่น้อย ทั้งยังให้พลังที่แรงกว่าด้วย ถ้าพิจารณากันที่งบ 3 ล้านบวกลบ แลกกับรถซีดานพรีเมียมลุคสปอร์ต พร้อมเทคโนโลยีทันสมัย
330e M Sport คือ ตัวเลือกที่ชัดเจนมาก