Nissan Pulsar 1.6 DIG TURBO สปอร์ตแฮตช์แบ็กแรงสั่งได้
Nissan Pulsar 1.6 DIG Turbo สปอร์ตแฮตช์แบ็ก 5 ประตู ทั้งหรูหรากว้างขวางกว่ารถระดับเดียวกัน อุปกรณ์อำนวยความสะดวกครบครัน มาพร้อมเครื่องยนต์รหัสร้อนแรงสเปคส่งจำหน่ายต่างประเทศ MR 16 DDT 190 แรงม้า แรงบิด 240 นิวตัน-เมตร เกียร์ CVT พร้อมโหมดสปอร์ต +/- ระบบช่วงล่าง และระบบเบรกปรับปรุงเพิ่มความมั่นใจในทุกความเร็ว อัตราเร่ง 0 - 100 กม./ชม. ในเวลา 9 วินาที (ไม่เป็นทางการ) เทียบเท่ารถขนาด 2.0 - 2.5 ลิตร ความเร็วปลายแตะที่ 215 กม./ชม. ความนุ่ม สวย แรง ดิบ ดุ ในคราบรถครอบครัวควักเพิ่มจากรุ่น 1.8 SV Sunroof ราคา 981,000 บาท อีก 106,019 เป็นราคา 1,070,00 บาทเท่านั้น คุณจะได้สมรรถนะอัตราเร่งเทียบเท่ารถยุโรปบางรุ่น และมีเพียง 350 คันในไทย !!!...
VIDEO
นิสสัน พัลซาร์ ในอดีตเคยเป็นชื่อรถยนต์รุ่นหนึ่งของนิสสันที่โด่งดังมาก เป็นรถแฮตช์แบ็ก 3 ประตู เครื่องยนต์ รหัสร้อนแรงที่วงการรถซิ่งรู้จักกันดี SR 20 DET ความจุ 2.0 ลิตร เทอร์โบ 230 แรงม้า แรงบิด 280 นิวตัน-เมตร ขับเคลื่อน 4 ล้อ ซึ่งเป็นรุ่นที่นิสสันจับลงแข่งรายการแรลลี่โลกและได้แชมป์มาในหลายๆ สนาม และยังผลิตเจนเนอเรชั่นใหม่ต่อเนื่องเรื่อยมา
SR 20 DET Turbo Intercooler 230 HP
ปัจจุบันนิสสัน จึงใช้ชื่อนี้เป็นชื่อทางการตลาดในประเทศไทย เนื่องจากความโด่งดัง และเป็นตำนานที่สานต่อความเป็นรถสปอร์ตในคราบรถธรรมดา
โดยเช็คราคา.คอม ได้รับอนุเคราะห์รถยนต์นิสสัน พัลซาร์ 1.6 ดีไอจี เทอร์โบสีดำจากบริษัท นิสสัน มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ในการนำมาทดสอบครั้งนี้ครับ
เส้นทางทดสอบนิสสัน พัลซาร์ เทอร์โบ กรุงเทพฯ - บางแสน โดยเวลา 10.00 น. รับรถจากอาคารนันทวัน ถนนราชดำริ (สำนักงานนิสสันฯ) แวะเติมน้ำมันให้เต็มถังที่ปั๊มเอสโซ่พระราม 4 ก่อนขึ้นทางด่วนขั้นที่ 1 ที่ด่านเก็บเงินท่าเรือคลองเตยและต่อด้วยทางด่วนบูรพาวิถีมุ่งหน้าสู่จังหวัดชลบุรี และใช้เส้นทางถนนสุขุมวิท-ชลบุรีสู่จุดหมายคือหาดบางแสน
ขาเดินทางกลับใช้เส้นทางเดิม กลับจากหาดบางแสนเข้ากรุงเทพฯ สิ้นสุดที่อาคารนันทวรรณ เวลาประมาณ 18.00 น. รวมระยะทางทั้งหมด 200.8 กิโลเมตร ปริมาณรถเบาบาง ลักษณะการขับขี่ใช้ความเร็วสูงบ่อยๆ และเร่งแซงด้วยการคิกดาวน์เมื่อทางโล่ง ความเร็วเฉลี่ยประมาณ 120 - 130 กิโลเมตร/ชั่วโมง ปริมาณน้ำมันเต็มถังจากกรุงเทพฯ จนสิ้นสุดการทดสอบระดับเข็มน้ำมันลดลงมาครึ่งถัง และเหลือระยะทางที่น้ำมันในถังวิ่งได้อีกถึง 234 กิโลเมตร
นิสสัน พัลซาร์ 1.6 ดีไอจี เทอร์โบ นับเป็นรถพรีเมียมแฮตช์แบ็กสไตล์สปอร์ต 5 ประตูที่ใช้พื้นฐานเดียวกับพัลซาร์ในรุ่นปกติ แตกต่างเพียงอุปกรณ์อำนวยความสะดวกบางอย่างเช่น เพิ่มที่ฉีดล้างโคมไฟหน้า, ระบบเกียร์มีโหมดสปอร์ต( +/- ) เพิ่มความสนุกมากขึ้น, สติ๊กเกอร์ "DIG TURBO" คาดทั้ง 2 ข้างตัวรถ, สัญลักษณ์ตัวอักษร "DIG TURBO" ที่มุมขวาของฝากระโปรงท้าย, ระบบ VDC (VEHICLE DYNAMIC CONTROL) ระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัวขณะเข้าโค้ง, ระบบ TCS (TRACTION CONTROL SYSTEM) ระบบป้องกันล้อหมุนฟรี, มาตรวัดความเร็วมีถึง 260 กม./ชม. (รุ่นธรรมดามี 240 กม./ชม.) และเครื่องยนต์ที่มีระบบอัดอากาศเข้ามาช่วยเพิ่มกำลัง
มิติตัวถังเท่ากันกับพัลซาร์รุ่นธรรมดา ยาว 4,295 มม. กว้าง 1,760 มม. สูง 1,520 มม. และระยะฐานล้อ 2,700 มม. น้ำหนักประมาณ 1,200 ตันนิดๆ แต่สิ่งที่อดเสียดายไม่ได้นั่นคือ ถูกตัดหลังคาซันรูฟออกไป เพื่อให้ทำราคาได้ต่ำที่สุดเท่าที่จะไม่ขาดทุน ซึ่งเฉพาะเครื่องยนต์รุ่นนี้ ค่าตัวก็พุ่งสูงลิ่วแล้ว แต่ส่วนมากซันรูฟก็ไม่ได้ใช้งานเท่าไรนัก เพราะอากาศบ้านเรา ร้อนสุดๆ
ภายในเหมือนรุ่น 1.8 ตัวท็อปแทบทุกอย่าง แตกต่างเพียงที่ฐานของคันเกียร์มีช่องสามารถผลักให้เป็นโหมดเปลี่ยนเองได้ เพิ่มความมันได้อีกมากมาย ระบบเครื่องเสียง FM-AM/MP3/USB/AUX/Bluetooth/Navi/กล้องมองขณะถอยหลัง และระบบปรับอากาศอัตโนมัติแยกปรับซ้ายขวาได้กับช่องแอร์ตอนหลัง ซึ่งก็เป็นแบบเดียวกับพัลซาร์รุ่นเครื่องยนต์ธรรมดา
สิ่งที่โดดเด่นนอกเหนือจากภาพลักษณ์นั่นคือ ความแรง ความหนึบ เนื่องจากนิสสัน พัลซาร์ รุ่นเครื่องยนต์เทอร์โบนี้ เป็นผลพวงจากการที่ทางนิสสันต้องผลิตเพื่อส่งออกต่างประเทศอยู่แล้ว จึงเพิ่มรุ่นนี้เพื่อทำในตลาดบ้านเรา เริ่มต้นนั้นพัลซาร์ 1.6 เทอร์โบมีการผลิตจำนวนจำกัดเพียง 350 คันเท่านั้น เพื่อให้เป็นทางเลือกของผู้มีใจรักรถสปอร์ตสไตล์ครอบครัวที่เน้นใช้งานง่ายๆ คล่องตัว อเนกประสงค์และประหยัด พร้อมการบำรุงรักษาเทียบเท่ารถที่มีขนาดเครื่องยนต์ 1.6 ลิตร แต่ว่าได้ความแรงสะใจเหมือนเครื่องยนต์ 2.5 ลิตรที่ไม่มีระบบอัดอากาศ ราคาก็ไม่ต่างจากคู่แข่งระดับเดียวกัน ดังนั้นใครที่ชอบแรงๆ ขับสบาย เงินถึง จัดซักคันเลยครับ
นิสสัน พัลซาร์ 1.6 ดีไอจี เทอร์โบ ใช้เครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบ MR 16 DDT (DOHC - Direct injection - Turbocharger) ระบบฉีดเชื้อเพลิงตรงเข้าสู้ห้องเผาไหม้ หรือ DIG-Direct injection gasoline 16 วาล์วแปรผันทั้งไอดี-ไอเสีย TWIN C-VTC พร้อมด้วยเทอร์โบชาร์จ Mitsubishi TF-035HL-13T กำลังสูงสุด 190 แรงม้า ที่ 5,600 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 240 นิวตัน-เมตร ที่ 2,400 รอบต่อนาที และให้แรงบิดคงที่เป็น Flat Torque ไปจนถึง 5,200 รอบต่อนาที ผ่านระบบเกียร์แปรผัน Xtronic CVT พร้อมโหมดสปอร์ต +/- แบบ 6 จังหวะ ขับเคลื่อนล้อหน้า
ช่วงล่างด้านหน้าแม็คเฟอร์สันสตรัท พร้อมเหล็กกันโคลง ด้านหลังทอร์ชั่นบีม แต่ที่พิเศษเพิ่มจากรุ่นไม่มีเทอร์โบคือ ความแข็งหรือความหนืดของสปริงและโช้กอัพถูกปรับให้มีมากขึ้น เพิ่มความเกาะถนนและรองรับกำลังเครื่องยนต์และความเร็วสูงๆ ได้ดียิ่งขึ้น ส่วนระบบเบรกดิสก์ 4 ล้อนั้นหยุดม้า 190 ตัวได้สบายๆ แถมด้วยระบบ ควบคุมเสถียรภาพการทรงตัวขณะเข้าโค้ง VDC (VEHICLE DYNAMIC CONTROL) และระบบป้องกันล้อหมุนฟรี TCS (TRACTION CONTROL SYSTEM) ยิ่งมั่นใจในทุกความเร็ว และล้อแม็กลายเดียวกันกับรุ่น 1.8 ขนาด 17 นิ้ว ส่วนยางคันที่ขับทดสอบเป็นของ Continental continental contipremium contact 2 ขนาด 205/50 R17
จุดสังเกตง่ายๆ อีกอย่างคือ ขนาดปลายท่อจะใหญ่กว่ารุ่นธรรมดา นิสสัน พัลซาร์ 1.6 ดีไอจี เทอร์โบ รุ่นนี้ มองผ่านๆ แทบไม่มีความแตกต่างกับรุ่นธรรมดามากนัก ยกเว้นเพียงสติ๊กเกอร์คาดข้างตัวรถ "DIG TURBO" และตัวหนังสื่อโลหะที่แปะท้ายเท่านั้น หรือถ้าสังเกตดีๆ ก็เห็นตัวฉีดน้ำล้างโคมไฟหน้าที่เก็บอย่างมิดชิดตรงกันชนหน้า แม้ว่าจะมีสติ๊กเกอร์ แต่ก็ทำให้ผู้พบเห็นต่างมองตามกันแบบงงๆ แอบสงสัยว่ามีรุ่นนี้ด้วยหรือนี่!
สำหรับในวันที่ทดสอบมีผู้ใช้นิสสัน พัลซาร์รุ่นธรรมดาขับผ่านต่างก็มองด้วยความหลงใหล และคงอยากสัมผัสเจ้าพัลซาร์ 1.6 เทอร์โบคันนี้ และบางครั้งก็แอบมีรถแต่งซิ่งมาเทียบเคียงอยาก "ลองของ" เป็นครั้งคราว
ซึ่งเจ้าพัลซาร์ เทอร์โบคันนี้ก็ไม่ทำให้ผิดหวัง เพราะอัตราเร่งดีตั้งแต่ออกตัวไปจนถึงความเร็วปลายแตะ 200 กม./ชม. แต่ปริมาณรถหนาแน่นจึงต้องรีบผ่อนลดความเร็วลงมา และแม้จะขับความเร็วระดับ 80, 90 กม./ชม. เมื่อต้องการเร่งแซงก็เพียงคิกดาวน์เท่านั้น ไม่กี่วินาทีเข็มวัดรอบเครื่องยนต์ก็กวาดไปนิ่งที่ 6 - 7 พันรอบ/นาที ที่ความเร็ว 180 กม./ชม. แบบไม่ต้องลุ้นเลย เรียกว่ามาตามสั่ง
เนื่องจากระบบเกียร์ของพัลซาร์นั้นเป็นแบบ CVT ดังนั้นอาการกระชากขณะเร่งแซงเมื่อเทอร์โบเริ่มทำงาน อาจไม่หวือหวาจนหลังติดเบาะครับ แต่เชื่อเถอะครับว่าเข็มความเร็วนั้นขึ้นพรวดพราดราวกับรถสปอร์ต และแม้จะไม่สามารถรับรู้ถึงการเปลี่ยนอัตราทดเกียร์ CVT แต่มันทำอัตราเร่งจนคุณจะลืมระบบเกียร์แบบเดิมไปเลย
เปิดฝาครอบเครื่องออกมาจะเห็น "หอยพิษ" นอนสงบนิ่งอยู่ด้านหลัง Intercooler ใบไม่เล็กไม่ใหญ่บูสต์มาไว้ ถูกติดตั้งหลังกระจังหน้า สำหรับความเร็วรอบเครื่องยนต์เมื่อขับคงที่ 80 กม./ชม. อยู่ที่ 1,500 รอบ/นาที และที่ 120 กม./ชม. อยู่ที่ 2,500 รอบ/นาที นับว่าประหยัดในระดับเครื่องยนต์ขนาด 1,600 ซีซี ทั่วไป
ความเร็ว 80 กม./ชม. ที่ 1,500 รอบ/นาที ความเร็ว 120 กม./ชม. ที่ 2,500 รอบ/นาที แต่สิ่งที่ให้ความรู้สึกแตกต่างจากรุ่นเครื่องยนต์ธรรมดาอีกอย่างนั้นคือ ช่วงล่างที่หนึบแน่นขึ้น และการทรงตัวในขณะออกตัวเร่งแซงแรงๆ หรือแม้ในขณะเข้าโค้งลงสะพานทางเบี่ยงต่างระดับก็ไม่รู้สึกน่ากลัว สามารถขับเข้าได้อย่างมั่นใจ ขณะเปลี่ยนช่องทางในความเร็ว 140 - 160 กม./ชม. ช่วงล่างของพัลซาร์เทอร์โบคันนี้ยังรับไว้ แต่หากเจอลมปะทะหรือเพิ่มความเร็วมากขึ้นไปอีกก็เริ่มมีอาการโคลงบ้างเล็กน้อย แต่ถ้าขับตรงๆ นิ่งๆ ในช่วงความเร็วสูงกว่า 160 กม./ชม. นั้นสบายๆ รถแทบไม่โยนหรือยวบยาบเลย
ระบบเบรกยิ่งมั่นใจ แม้จะลึกไปสักหน่อย แต่ผู้ผลิตน่าจะเน้นให้ความรู้สึกนุ่มเท้า และควบคุมง่ายกว่าแป้นเบรกที่แข็งและดื้นแบบว่าแตะนิดเดียวหัวทิ่ม ในช่วงเร่งความเร็วเพื่อแซงบางจังหวะระหว่างทดสอบนั้นก็เกิดเหตุการณ์รถคันด้านหน้าเบรกกะทันหัน ในขณะที่กำลังเร่งจากความเร็ว 80 - 140 กม./ชม. ซึ่งก็ต้องรีบแตะเบรกทันที และสามารถลดระดับความเร็วได้ โดยไม่ต้องเกร็ง เพราะสามารถชะลอความเร็วได้ดีแม้กำลังเร่งเต็มที่ จึงเป็นสิ่งที่มั่นใจว่าความปลอดภัยของนิสสัน พัลซาร์ เทอร์โบที่เครื่องแรงๆ ก็พร้อมที่จะสยบได้อย่างง่ายดายเช่นกัน
ระหว่างทางเจอญาติพี่น้องวิ่งอยู่หลายคัน
นิสสัน พัลซาร์ 1.6 ดีไอจี เทอร์โบ มีอัตราสิ้นเปลืองโดยรวมตลอดทริปบนมาตรวัด 7.8 กม./ลิตร นับว่าดุไม่น้อยเนื่องจากความสนุกบวกกับอัตราเร่งที่มาได้ดั่งใจ จึงทำให้พอมีจังหวะถนนโล่งก็กดคันเร่งสุดทุกทีตอบสนองความเร้าใจได้ตลอดทาง ไปกลับกรุงเทพฯ - บางแสน รวมกว่า 200 กม. ความเร็วเฉลี่ยที่ใช้งานจริงราวๆ 120 -140 กม./ชม. ที่สามารถทำความเร็วได้ค่อนข้างสูงก็เพราะใช้เส้นทางบางนา - บูรพาวิถีที่รถไม่มาก และเป็นวันธรรมดาถนนโล่งขับสบาย
ระดับน้ำมันในถังลดลงมากครึ่งหลังจากขับไปกลับ กรุงเทพฯ - บางแสน 200 กม.และขับเร่งแซงบ่อยๆ
แต่ในความแรงของเครื่องยนต์เทอร์โบนั้น สามารถขับให้ประหยัดสุดๆ ได้เหมือนกันครับ! เพียงแค่เราใช้น้ำหนักเท้ากดคันเร่งแบบค่อยๆ ไต่ระดับความเร็วรอบเครื่องยนต์ขึ้นไปตามธรรมชาติ ระบบเกียร์ CVT จะแปรผันให้ความเร็วของรถเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนอยู่ในจุดที่เราต้องการเอง และยิ่งขับแบบที่เทอร์โบแทบไม่ทำงาน (บูสต์) เครื่องยนต์เทอร์โบก็จะไม่มีพิษสงใดๆ เลย เปรียบได้กับเครื่องยนต์ขนาด 1,600 ซีซี เท่านั้นเอง ดังนั้นการขับแบบเนียนๆ ไม่เร่งมากจนเกินจำเป็นจะยิ่งทำให้ประหยัดกว่ารถในระดับเดียวกันที่เครื่องยนต์ 1.8 หรือ 2.0 ลิตร
อัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ยบนหน้าปัด 7.8 กม./ลิตร กินจุเพราะเท้าหนักไปหน่อย!
อีกกรณีหนึ่งหากรถยนต์ในขนาดตัวถังและน้ำหนักที่เท่าๆ กัน ระบบเทอร์โบจะยิ่งช่วยให้ประหยัดขึ้นได้นั่นคือ ในขณะต้องการกำลังเร่งแซง เทอร์โบจะช่วยปั่นอากาศเข้าเครื่องยนต์ให้เร็วที่สุด เครืองยนต์ก็เริ่มต้นมีกำลังเพื่อฉุดให้ตัวรถเคลื่อนที่ไปได้ในเวลาอันสั้นๆ โดยที่เราเหยียบคันเร่งไม่ต้องลึกมากก็สามารถแซงขึ้นไปได้โดยง่ายได้ ส่วนเครื่องยนต์ขนาด 1,600 ซีซีที่ไม่มีเทอร์โบนั้น เมื่อต้องเร่งแซงจะต้องเพิ่มแรงกดคันเร่งมากขึ้นหรือลึกกว่า เพื่อให้เครื่องยนต์มีกำลังที่จะแซงได้และยังใช้เวลานานกว่าจะแซงผ่านพ้นไปได้ หรือแม้กระทั่งเครื่องยนต์ขนาด 1.8, 2.0 ลิตรขึ้นไปที่มีอัตราเร่งดี แต่อย่าลืมว่าในขณะขับใช้งานในชีวิตประจำวันเราไม่ได้ใช้กำลังเครื่องตลอดเวลา เช่น เมื่อขับความเร็วคงที่หรือเมื่อจอดนิ่งๆ เครื่องยนต์ที่มีความจุสูงๆ ย่อมใช้น้ำมันเข้าไปผสมในห้องเผาไหม้มากกว่าเครื่องยนต์ที่มีความจุน้อยกว่าเสมอ
ในการทดสอบครั้งนี้เติมน้ำมันเต็มถังจากกรุงเทพฯ และขับผ่านสภาพวจรจรติดขัดเล็กน้อยแถวถนนหลังสวนและถนนพระราม 4 จนไปถึงแยกซอยอารีย์และเลี้ยวเข้าถนนเกษมราษฐร์ผ่านหน้ากรมศุลกากรและขึ้นทางด่วนท่าเรือ หลังจากขึ้นบนทางด่วนก็คิกดาวน์เร่งแซงตลอดทาง แต่ก็พยายามไม่ให้เกิน 120 กม./ชม. ตามกฏหมาย แต่เมื่อต่อทางด่วนบูรภาวิถีก็แอบแรงแซงตลอดในบางช่วงความเร็วโดดไปกว่า 180 กม./ชม. อยู่บ่อยๆ แต่ก็ลดความเร็วลงมาในบางช่วงเพื่อถ่ายทำคลิปวิดีโอ แต่เมื่อมีโอกาศถนนโล่งก็กดคันเร่งจมตลอด เพราะชอบอัตราเร่ง แม้ไม่มีรถให้แซงก็อยากจะขอกดคันเร่งสัมผัสแรงดึงแบบนุ่มๆ ตลอดทาง และเร่งแซงทุกครั้งที่มีโอกาสจนมุ่งหน้าถึงหาดบางแสน และในขากลับก็ขับโหดๆ แบบเดิมจนถึงกรุงเทพฯ รวมระยะทางทั้ง 200.8 กม. จากน้ำมันเต็มถัง (แบบหัวจ่ายตัดเองนะครับ) ระดับเข็มน้ำมันลดลงมาครึ่งถังเท่านั้น นับว่าประหยัดกว่าที่คิด เพราะเมื่อเทียบกับรถบางรุ่นที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลเทอร์โบ ระยะใกล้เคียงกันขับในลักษณะเดียวกัน 1 ถัง เหลือไม่เกินครึ่ง แสดงว่านิสสัน พัลซาร์ 1.6 ดีไอจี เทอร์โบ สามารถขับให้ประหยัดกว่านี้ได้อีกเยอะ!
แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณคิดจะขับพัลซาร์เทอร์โบคันนี้ รับรองว่าคุณเลือกที่จะสนุกกับมันแน่ๆ และเมื่อคุณเหยียบคันเร่งมากขึ้น เครื่องยนต์ต้องใช้อากาศเข้าไปในกระบอกสูบมากขึ้น ก็ย่อมจะต้องจ่ายน้ำมันเพิ่มขึ้น เพื่อเข้าไปผสมกับอากาศในสัดส่วนที่เหมาะสมด้วย สรุปได้ว่า "ขับแบบไหน ได้แบบนั้น"
ความสะดวกสบายในนิสสัน พัลซาร์ รุ่นนี้มีมาให้แบบครบคันแบบเดียวกันกับพัลซาร์รุ่นเครื่องยนต์ธรรมดา แต่เพิ่มความพิเศษตรงมาตรวัดความเร็วจาก 240 กม./ชม. เป็น 260 กม./ชม. คันเกียร์โยกมาทางขวาเพื่อเปลี่ยนจังหวะเองแบบ Manual Mode 6 Speed โดยล็อกชุดมู่เล่ย์ CVT เอาไว้ 6 จังหวะ (อันที่จริงไม่จำเป็นต้องใช้เลย เพราะแค่กดคันเร่งก็พุ่งพรวดแล้ว) หลังคาซันรูฟ - ไม่มีครับถูกตัดออกลดต้นทุน แต่ก็ไม่น่าจะจำเป็นนักสำหรับในประเทศไทยที่ร้อนๆ แดดแรงๆ ควันเยอะๆ
เบาะนั่งคนขับที่กล้าบอกได้ว่าสบายที่สุดในรถเซกเมนต์นี้ที่เคยขับมา ขับยาวๆ ทางไกลไม่รู้สึกเมื่อยเลย กลับนุ่มสบายชดเชยระบบช่วงล่างที่แข็งขึ้น แต่ก็แปลกที่เวลาเข้าโค้งหรือเปลี่ยนช่องทางกะทันหันเบาะนั่งยังคงล็อคลำตัวได้อย่างมั่นใจ ทำให้ควบคุมรถได้ดียิ่งขึ้น
เบาะหลังขนาดใหญ่นั่งเหมือนโซฟาที่บ้าน พับได้แบบ 60 : 40 และยังมีพื้นที่วางขาที่คนสูงขนาด 170 ซม. ลงไปนั่งกองกับพื้นได้เลยครับ
ห้องเก็บสัมภาระท้ายมาพร้อมถาดปิดป้องกันคนอยากรู้อยากเห็น และยังมีขนาดกว้างขวาง ยิ่งพับเบาะหลังสามารถขนของได้เยอะขึ้น
ความสะดวกที่ชอบที่สุดน่าจะเป็นระบบกุญแจที่ไม่ต้องกดปุ่มเปิดล็อค เพียงเดินใกล้ประตูฝั่งคนขับและกดปุ่มที่มือจับประตู เมื่อเข้ามานั่งในรถก็เหยียบเบรกและกดปุ่มสตาร์ตเครื่องเท่านั้นช่างสะดวกสบายจริงๆ
ทางด้านเพดานมีลูกเล่นเยอะตามแบบรถหรูหราด้วยไฟส่องแผนที่ตอนหน้าทั้งซ้าย-ขวา ที่เก็บแว่นตา แผ่นบังแดดมีกระจกพร้อมไฟส่อง ที่คอนโซลกลางมีช่องวางแก้วน้ำ แต่หยิบยากสักหน่อยต้องระวังข้อศอกไปโดนแก้วน้ำที่วางอยู่ ส่วนกล่องเก็บของตรงกลางมีขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่เกินไป และติดตั้งจุดเชื่อมต่อ AUX และ USB เอาไว้ด้านใน แถมใส่ที่วางแขนแบบสไลด์หน้า-หลังได้ตามต้องการ
สำหรับความสะดวกสบายของรถตระกูลนิสสัน โดยเฉพาะในทีด้ารุ่นก่อนจนถึงพัลซาร์ทุกรุ่นย่อยนับว่าออกแบบมาให้นั่งสบายทุกที่นั่ง ไม่เน้นให้เฉพาะตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง เรียกว่าสบายอย่างทั่วถึงครับ เพราะว่าการออกแบบเบาะนั่งหรือแม้แต่พื้นที่ส่วนที่นั่งของรถในรุ่นบางค่ายอาจเน้นคนขับ บางค่ายเน้นคนนั่ง แต่สิ่งหนึ่งที่พัลซาร์ให้มาคือ นั่งสบายทุกที่นั่งครับ
ลิ้นชักเก็บของลึกและกว้างจุได้มากพอสมควร มุมมองเมื่อนั่งตำแหน่งคนขับในพัลซาร์ ไม่ต่างจากรถ SUV ขนาดกลาง นั่นคือ ขับง่าย มองส่วนด้านหน้ารถชัดเจนบริเวณเสา A ทั้ง 2 ข้างที่ผอมๆ ทำให้ไม่บังมุมเลี้ยว ส่วนกระจกประตูด้านข้างทั้งหน้าและหลังก็ขนาดใหญ่ เพียงหันไปชำเลืองดูกระจกข้างก็มองเห็นรถที่วิ่งมาด้านข้างเลยไปจนถึงส่วนท้ายรถ ทำให้มั่นใจเวลาเปลี่ยนช่องทาง
กระจกมองข้างทั้งซ้ายและขวามองชัดเจน เป็นกระจกกึ่งๆ โค้งนิดๆ จึงเห็นได้กว้างขึ้น แต่ไม่หลอกตาจนเกินไป ในส่วนกระจกด้านหลังแม้จะเป็นบานแบนๆ แต่ความกว้าง และช่องกระจกเล็กตรงระหว่างเสา C และ D ตรงมุมท้ายก็ใหญ่พอที่จะช่วยให้มองเห็นรถที่วิ่งมาในแนวทแยงได้อย่างดี
เมื่อมองที่มาตรวัดต่างๆ บนหน้าปัดจะเห็นตัวเลขชัดเจนทั้งรอบวัดเครื่องยนต์และความเร็ว รวมทั้งเข็มน้ำมัน ความร้อน และสัญลักษณ์เตือนสถานะต่างๆ และสามารถปรับความมืดหรือสว่างเพิ่มขึ้นได้
หลังจากที่ได้ลองขับนิสสัน พัลซาร์ ทั้งในแบบความเร็วต่ำๆ ไปจนถึงความเร็วสูง ทั้งถนนเรียบบนทางด่วน และขรุขระมีหลุมบ่อในบางส่วน นับว่าให้ความรู้สึกนุ่มนวลไม่ต่างจากซีดานขนาดใหญ่ มีเพียงการโยนตัวที่ระยะสั้นกว่ารถระดับสุดหรูอย่างเทียน่า หรือออกแนวกระด้างกว่า แต่โดยรวมก็นับว่านุ่มนวลอยู่ดี แม้ว่าระบบช่วงล่างในรุ่นเครื่องยนต์เทอร์โบจะปรับให้แข็งขึ้นจากรุ่นเครื่องยนต์ธรรมดา แต่ก็ไม่รู้สึกว่าเด้งเป็นรถโหลดแต่อย่างใด และยังได้ความสูงใต้ท้องเท่ากับรุ่นปกติ ทำให้ขับซิ่งได้ไม่ต้องหยอดหลุมเบาๆ หรือไม่ต้องกังวลเมื่อขึ้นหลังเต่าสูงๆ มากนักเหมือนพวกรถแต่งสปริงโหลด
พวงมาลัยแบบ 3 ก้านทรงหนาหุ้มหนังแท้ของพัลซาร์จับกระชับมือ และนุ่มมากเช่นกัน ขนาดวงเล็กๆ สไตล์สปอร์ตควบคุมง่ายๆ แม่นยำ น้ำหนักเมื่อจอดกับที่ก็เบาจนไม่ต้องออกแรง และในความเร็วสูงขึ้นก็ปรับความหนืดได้เหมาะสมดี
ปุ่มมัลติฟังก์ชั่นต่างๆ บนพวงมาลัยมีให้ครบ ทั้งครูซคอนโทล-ปรับตั้งความเร็ว-ยกเลิก, ปุ่มควบคุมเครื่องเสียง, ปุ่มปรับสถานะต่างๆ บนจอข้อมูลบนหน้าปัด เป็นต้น
แต่ก็มีข้อด้อยเล็กน้อยคือ เนื่องจากพวงมาลัยวงเล็ก แต่ส่วนตรงกลางและแกนมีขนาดใหญ่ ทำให้ช่องว่างเล็กไปด้วย เมื่อเอามือสอดเข้าไปเพื่อหมุนพวงมาลัยบางครั้งติด จึงต้องจับเพียงแต่วงด้านนอกเท่านั้น เรียกว่าสาวพวงมาลัยจากด้านในลำบากไปหน่อย
สรุปว่าขับทดสอบคันนี้มีแต่เร่งแซงบ่อยๆ เพราะชอบอัตราเร่งและความคล่องตัว ที่ไม่ทำให้ผิดหวัง บวกกับช่วงล่างที่เพียงพอกับระดับความแรง 190 แรงม้า และที่สำคัญเบาะนั่งรับสรีระได้อย่างดีไม่มีการเมื่อยล้าแม้ขับต่อเนื่องระยะทางไกลๆ
ระบบแอร์ของพัลซาร์ 1.6 ดีไอจี เทอร์โบ เป็นอัตโนมัติ ปรับอุณหภูมิแยกซ้ายขวาได้ พร้อมช่องแอร์สำหรับที่นั่งตอนหลัง ซึ่งทำความเย็นได้รวดเร็ว และควบคุมอุณหภูมิตามที่ตั้งเอาไว้ได้อย่างแม่นย้ำ พร้อมโหมดควบคุมการเลือกกระแสลมที่เป่าด้านบน, เป่าลมเฉพาะส่วนเท้า และเป่าลมทั้ง 2 ส่วน
การเก็บเสียงของพัลซาร์ นับว่าเงียบถึงเงียบมาก เสียงลมไม่ได้ยิน ยกเว้นเมื่อขับที่ความเร็ว 140 กม./ชม. ขึ้นไปเริ่มมีเสียงลมปะทะกระจกบังลมหน้า หรือมองข้างบ้าง แต่ก็ไม่รำคาญ ส่วนเสียงเครื่องยนต์ที่ตอนแรกคิดว่าขอแบบมันๆ ตามแบบฉบับเครื่องเทอร์โบ แต่ก็น่าผิดหวัง เพราะเงียบเหลือเกิน แม้ขณะถอดคันเร่งยังไม่มีเสียงของวาล์วกันแรงดันย้อนกลับ (Blow off Valve - วาล์วกันแรงดันเกินย้อนกลับเข้าใบพัดของเทอร์โบขณะถอดคันเร่งอย่างรวดเร็ว/ถูกต่อท่อระบายไหลกลับเข้าปากทางเข้าของเทอร์โบอีกที) ของระบบอัดอากาศเลย
เสียงของยางจะได้ยินก็ต่อเมื่อใช้ความเร็วสูงๆ ระดับ 140 กม.ชม.ขึ้นไปเช่นกัน แต่เมื่อวิ่งผ่านตะเข็บถนนที่สูงๆ จะได้ยินเสียงกระทบค่อนข้างดังหน่อย อาจเป็นเพราะใช้ยางแก้มเตี้ย (205/50R17) จึงรับรู้ถึงแรงสะเทือนได้บ้าง
ระบบเครื่องเสียงเป็นแบบจอสัมผัสขนาด 5.8 นิ้ว FM-AM/MP3/CD/DVD/USB/AUX/Bluetooth/Navi/กล้องมองขณะถอยหลัง ลำโพง 6 ตัว เสียงไพเราะและหนักแน่นพอสมควร พร้อมกับติดตั้งปุ่มควบคุมเครื่องเสียงบนพวงมาลัย ใช้งานง่ายเพียงปลายนิ้วโป้งมือซ้ายก็เพลิดเพลินกับระบบเอ็นเตอร์เทนเมนต์ได้โดยไม่ต้องละมือจากพวงมาลัย
ความสวยงาม
นิสสัน พัลซาร์มีความโดดเด่นในเรื่องการออกแบบตั้งแต่รูปทรงที่ดูสวยมากขึ้นกว่ารุ่นก่อน (ทีด้า) มีความโค้งมนมากขึ้น จุดที่สะดุดตาที่สุดน่าจะเป็นโคมไฟหน้าที่สวยงามลงตัว พร้อมโคมโปรเจ็กเตอร์ และกระจังหน้าที่สอดรับกับกันชนยิ่งดูมีสเน่ห์
ในส่วนท้ายประตูบานหลังโค้งมนมากขึ้น ไฟท้ายขนาดใหญ่โดดเด่นเห็นชัดเจน ด้านข้างตกแต่งด้วยเส้นโครเมี่ยมรอบๆ กระจกทั้ง 4 บานดูหรูหราขึ้นไปอีก แต่ยังแอบมีความเป็นสปอร์ตด้วยลายล้อแม็กที่กลมกลื่นระหว่างความหรูหราและสปอร์ต
ภายในคอนโซลหน้า-กลาง รวมถึงพวงมาลัยที่ดีไซน์ให้ดูคล้าย Luxury Car รุ่นใหญ่อย่างนิสสัน เทียน่า และสิ่งที่ประทับใจอีกอย่างคือ ความกว้างขวางและอเนกประสงค์ของเบาะหลังทำให้นึกถึงโซฟานุ่มๆ ที่นั่งดูหนังที่บ้าน และส่วนเก็บสัมภาระท้ายก็มีแผ่นปิดกันคนแอบมองมาให้ยิ่งดูคล้ายรถซีดานสุดหรูเข้าไปอีก เรียกว่าไม่ผิดหวังจริงๆ ครับ
ความปลอดภัย
นิสสัน พัลซาร์ 1.6 ดีไอจี เทอร์โบรุ่นนี้เพิ่มอุปกรณ์ความปลอดภัยจากรุ่นเครื่องยนต์ธรรมดา เช่น ถุงลม SRS คู่หน้า ถุงลมด้านข้าง ม่านถุงลมรวมเป็น 6 ใบ, ระบบ VDC (VEHICLE DYNAMIC CONTROL) - ระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัวขณะเข้าโค้ง, TCS (TRACTION CONTROL SYSTEM) - ระบบป้องกันล้อหมุนฟรี, ระบบทำความสะอาดไฟหน้า, ไฟหน้าเปิด/ปิดอัตโนมัติ
นอกจากนั้นยังมีระบบความปลอดภัยมาตรฐานอีก เช่น ระบบเบรกกันล้อล็อค - ABS และ ระบบเสริมแรงเบรก - BA ระบบกระจายแรงเบรก - EBD, กุญแจอัจฉริยะป้องกันการโจรกรรมด้วยระบบ Immobilizer และ Panic Alarm
ความคุ้มค่าเมื่อเทียบกับราคา
หากเทียบความคุ้มค่าแล้ว นิสสัน พัลซาร์ 1.6 ดีไอจี เทอร์โบ นอกจากจะให้อุปกรณ์ครบ ความปลอดภัยเพียบพร้อมแล้ว ยังได้เครื่องยนต์ระดับ 190 แรงม้า ซึ่งราคาของรถในเซกเมนต์เดียวกันยังเป็นเครื่องยนต์ที่ไม่มีระบบอัดอากาศมาให้และในรุ่นท็อปของแต่ละยี่ห้อก็แตะที่หนึ่งล้านบาทอยู่แล้ว ซึ่งพัลซาร์ เทอร์โบก็เป็นรุ่นท็อปในไลน์การผลิตเช่นกัน
ถ้าใครนึกไม่ออกว่า ความแตกต่างที่เราต้องจ่ายเงินเพิ่มเป็นอย่างไรให้ลองเทียบง่ายๆ กับนิสสัน เทียน่ารุ่น 2.0 และรุ่น 2.5 ว่าทำไมถึงมีคนต้องการซื้อรุ่น 2.5 ลิตร ทั้งที่จ่ายแพงกว่า.... ก็เพราะว่าคุณจะได้อุปกรณ์อำนวยความสะดวก ความปลอดภัย ความแรงที่เพิ่มและความหรูหรามากกว่าเช่นกันครับ
Nissan Pulsar 1.6 DIG Turbo เป็นรถที่เหมาะกับทุกเพศทุกวัยที่ชอบความตื่นเต้นเร้าใจดุจรถสปอร์ต พร้อมความอเนกประสงค์และความปราณีตในการออกแบบของนิสสัน และโดดเด่นด้านสมรรถนะเกินกว่าคู่แข่งจนกล้าบอกได้ว่า "แรงกว่าเครื่องยนต์ 2,000 แต่ประหยัดน้ำมันเทียบเคียงเครื่องยนต์ 1,600" และราคา 1,070,000 บาท ซึ่งอยู่ช่วงกลางๆ ของรถรุ่นท็อปๆ ยี่ห้ออื่นในเซกเมนต์เดียวกัน