รวมประสบการณ์สุดท้าทายกับ โตโยต้า ไฮลักซ์ รีโว่ (TOYOTA HILUX REVO)
ปี 2559 เป็นปีที่ผู้เขียนได้มีโอกาสร่วมทดสอบรถกระบะ
โตโยต้า ไฮลักซ์ รีโว่ (Toyota Hilux Revo) หลายครั้ง ทั้งในและต่างประเทศ รวมเส้นทางไม่ต่ำกว่า 7,000 กม. นับเป็นรุ่นรถที่มีประสบการณ์ร่วมกันมากที่สุดรุ่นหนึ่ง โดยมี 2 ช่วงสำคัญ คือ 1) การขับแบบคาราวาน ทริปอาเซียนมหัศจรรย์สุวรรณภูมิ (ไทย/ลาว/เวียดนาม/เขมร) และ 2) การขับแบบคาราวาน ทริปบทพิสูจน์จริงระดับโลก กรุงเทพฯ - อิตาลี ซึ่งทั้ง 2 ทริปให้ความรู้สึกการขับที่แตกต่างกันตามสภาพเส้นทางและภูมิประเทศ การผจญภัยไปกับ ไฮลักซ์ รีโว่ ที่จะกล่าวถึงนี้ น่าจะเป็นข้อมูลและแรงบันดาลใจในการเดินทางให้กับใครหลายคนได้ต่อไป
การขับแบบคาราวาน ทริปอาเชียนมหัศจรรย์สุวรรณภูมิ (ไทย/ลาว/เวียดนาม/เขมร)
ทริปนี้เป็นคาราวานระยะทางไกลกว่า 3,400 กม. เน้นขับท่องเที่ยวทางไกลผ่านสภาพแวดล้อมและภูมิประเทศที่แตกต่างกัน โดยต้องขับกันทั้งวันตั้งแต่เช้า-ค่ำและต่อเนื่อง 10 วัน เป็นการทดสอบสมรรถนะรถไฮลักซ์ รีโว่ ไปด้วย จุดเริ่มต้นจากศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร มุ่งสู่ บุรีรัมย์ ในวันแรก วันที่ 2 เราขับผ่าน อุบลราชธานี ข้ามแดนไปปากเซ-ลาว ช่วงนี้เส้นทางค่อนข้างลำบาก มีทางฝุ่นเยอะหลายช่วง และผิวถนนดินมักเป็นหลุม เราแวะชมปราสาทวัดภูและน้ำตกผาส้วม พร้อมขับผ่านโรงงานผลิตกาแฟดาว ที่ตอนนี้เข้ามาทำตลาดในบ้านเรา วันต่อมาเป็นการขับข้ามแดนไปเมืองยาลาย-เวียดนาม ทางส่วนใหญ่เป็นถนนเรียบขับง่าย แม้เส้นทางรอยต่อลาว-เวียดนามเป็นทางเขาเยอะ การควบคุมเข้า-ออกโค้ง เร่งขึ้น และเบาเบรก ทำได้ดี ขบวนฯ คาราวานสามารถตามกันได้ตลอด แม้เหนื่อยล้าแต่ก็สนุกเพราะได้ขับลุยเต็มที่
วันแรกในเวียดนามเราต้องทำตัวให้เคยชินกับเสียงแตรรถ เพราะที่นี่บีบกันเกือบตลอด วันต่อมาพวกเราขับจากยาลายไปดาลัด เมืองสวยที่อยู่สูงเหนือระดับน้ำทะเลประมาณ 1,500 เมตร อากาศเย็นสบาย ช่วงขับขึ้นเขาพื้นผิวถนนที่ไม่ค่อยเรียบ และเต็มไปด้วยความชื้น แต่ก็ขับผ่านสบายๆ ภายในเมืองดูสวยงามและโรแมนติก ในช่วงกลางคืนพวกเราได้ไปเดินไนท์มาร์เก็ต มีร้านขายของที่ระลึกและของกินมากมาย อากาศที่เย็นทำให้เดินได้นาน เรายังได้เจอแม่ค้าพูดไทยทักทายกับเราด้วย บรรยากาศของที่นี่ให้ความรู้สึกเหมือนยุโรปไม่น้อย อาจเพราะดาลัดเคยเป็นเมืองตากอากาศเก่าของฝรั่งเศส
รุ่งเช้าวันที่ 6 คาราวานฯ เคลื่อนขบวนต่อไปยังมุ่ยเน่ การขับบนถนนช่วงนี้เต็มไปด้วยทรายที่ปลิวมาตามลมทะเล ต้องระมัดระวังมากขึ้น เมื่อถึงทะเลทรายมีการจัดช่วงทดสอบพิเศษ ให้เราได้ลองขับไฮลักซ์ รีโว่ในทะเลทราย โดยเลือกใช้รีโว่รุ่น 2.8G 4X4 ขับตามเส้นทางที่ร่างไว้ให้ นับเป็นประสบการณ์ครั้งแรกของผู้เขียนที่ได้ขับรถในทะเลทราย และเห็นถึงประสิทธิภาพของรีโว่กับระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ 4H ว่าดีขนาดไหน ซึ่งหลายคนสามารถบุกตะลุยผ่านกันได้อย่างสนุกสนาน จากนั้นก็มุ่งเข้าโฮจิมินห์ได้เจอสภาพการจราจรที่เป็นเวียดนามจริงๆ เพราะในเมืองเต็มไปด้วยมอเตอร์ไซค์วิ่งมาจากทุกสารทิศ จนต้องขับกันอย่างระมัดระวัง พวกเรามาถึงในช่วงบ่ายทำให้มีเวลาเหลือท่องเมือง จึงแวะไปที่น่าสนใจ อย่าง พิพิธภัณฑ์สงคราม, โบสถ์นอร์ทเธอดาม และตลาดเบนถั่น โฮจิมินห์ตอนกลางคืนมีเสน่ห์เหลือเกิน พวกเราแยกย้ายไปชมบรรยากาศแสงสีบนลานกว้างจากบริเวณรูปปั้นลุงโฮจิมินห์ไปจนสุดถึงแม่น้ำ ผู้คนส่วนใหญ่เป็นหนุ่มสาวออกมาเดินเล่นกัน
วันรุ่งขึ้นพวกเราได้เคลื่อนขบวนผ่านชายแดนเข้าสู่พนมเปญ-กัมพูชา เส้นทางช่วงเข้าเมืองพนมเปญ เป็นดินล้วนและเต็มไปด้วยแอ่ง ทำให้รถขับได้ช้ากว่าปกติ ไม่มีเลนแบ่งชัดเจน ช่วงนี้จึงต้องใช้สมาธิในการขับมาก เมื่อถึงโรงแรมบรรยากาศด้านนอกแทบไม่มีอะไรให้เราออกไปแสวงหาเลย จึงถือโอกาสพักร่างกายเต็มที่ วันที่ 9 จากพนมเปญเรามุ่งสู่เสียมเรียบ เมื่อพ้นตัวเมืองเส้นทางค่อนข้างโล่งสามารถใช้ความเร็วได้ดี บางช่วงสามารถเร่งจนถึง 180 กม./ชม. ตัวรถรีโว่ ยังให้การทรงตัวที่ดี
ระหว่างทางพวกเราแวะแหล่งท่องเที่ยวสำคัญคือ ปราสาทนครวัด ที่มีอาณาเขตกว้างขวางมาก จริงๆ ถ้าชมให้ครบถ้วนต้องใช้เวลาเป็นวัน แม้มีเวลาจำกัด แต่ก็สัมผัสได้ถึงความยิ่งใหญ่อลังการในอดีต เสียมเรียบในยามค่ำคืนมีที่ให้ไปไม่มากนัก ส่วนใหญ่เป็นผับบาร์ที่นักท่องเที่ยวฝรั่งชอบมานั่งกันยาวๆ วันรุ่งขึ้นชาวคาราวาน โตโยต้า ไฮลักซ์ รีโว่ ได้เวลากลับบ้าน จากเสียมเรียบสู่ปลายทางโรงแรมดุสิตธานีคิดเป็นระยะทางประมาณ 450 กม. เราขับเข้าที่ด่านปอยเปต อรัญประเทศ แต่เสียเวลากับการตรวจเอกสารผ่านแดนพอสมควร บรรยากาศแถวด่านคึกคักด้วยร้านค้าต่างๆ ทั้ง 2 ฝั่ง เมื่อพวกเราผ่านกันครบทุกคัน ก็ขับไปทานมื้อกลางวันที่ร้านเจ๊เง็ก อาหารเวียดนาม นับเป็นอาหารมื้อแรกในไทยหลังห่างเหินมากว่า 10 วัน พอเติมพลังเสร็จสรรพพวกเราก็ขับยาวจนถึงที่หมายโรงแรมดุสิตธานีโดยสวัสดิภาพทุกคัน นับเป็นประสบการณ์สุดท้าทายที่ได้ท่องไปกับโตโยต้า ไฮลักซ์ รีโว่ ครั้งแรก
การขับแบบคาราวาน ทริปบทพิสูจน์จริงระดับโลก กรุงเทพฯ - อิตาลี [จีน+คีร์กีซสถาน+อุซเบกิซสถาน]
ประสบการณ์ครั้งที่สองกับทริปประวัติศาสตร์สำหรับ "ไฮลักซ์ รีโว่ คาราวาน ทริป ... บทพิสูจน์จริงระดับโลก" กรุงเทพ-อิตาลี พร้อมบุกตะลุยผ่าน 2 ทวีป 17 ประเทศ รวมระยะทาง 2 หมื่นกว่ากิโลเมตร โดยแบ่งเป็น 5 ช่วง กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย - เมืองตุนหวง ประเทศจีน ระยะทางกว่า 4,970 กิโลเมตร, เมืองตุนหวง ประเทศจีน - เมืองทาชเคนต์ ประเทศอุซเบกิสถาน ระยะทางกว่า 3,140 กิโลเมตร, เมืองทาชเคนต์ ประเทศอุซเบกิสถาน - เมืองเตหะราน ประเทศอิหร่าน ระยะทางกว่า 3,990 กิโลเมตร, เมืองเตหะราน ประเทศอิหร่าน - เมืองอิสตันบูล ประเทศตุรกี ระยะทางกว่า 3,710 กิโลเมตร และเมืองอิสตันบูล ประเทศตุรกี - เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี ระยะทางกว่า 3,440 กิโลเมตร
ผู้เขียนมีโอกาสขับร่วมขบวนคาราวานช่วง 2 จากเมืองตุนหวง ประเทศจีน - เมืองทาชเคนต์ ประเทศอุซเบกิสถาน ใช้เวลาเดินทาง 10 วัน กับ 3 ประเทศ โดย 7 วันแรกเป็นการเดินทางภายในประเทศจีน 2 วันใน คีร์กีซสถาน และวันสุดท้ายใน อุซเบกิสถาน การเดินทาง 7 วันในจีนนั้น 6 วันแรกมีความคล้ายคลึงกันมากทั้งเส้นทางและสภาพอากาศ คาราวานเราเลือกใช้เส้นทางวิ่งหมายเลข G7 เป็นหลัก
หลังจากบินมาถึงปักกิ่งแล้วเปลี่ยนเครื่องมาลงตุนหวง สมาชิกคาราวานชุด 2 รวมถึงผู้เขียนมาถึงสนามบินตุนหวงในช่วงสาย ประเดิมความร้อน ลมทราย และแสงแดดตั้งแต่วันแรก โดยนั่งรถบัสไปโรงแรมเพื่อทานอาหารกลางวันและรอสมาชิกกลุ่มแรกขับรถโตโยต้า ไฮลักซ์ รีโว่มาสมทบ พร้อมทัวร์เมืองตุนหวงด้วยกัน ไฮไลท์สถานที่เที่ยวก็มี ทะเลทรายหมิงซาซาน และถ่ำม่อเกาคู แม้ตุนหวงจะอยู่ตอนตะวันตกเฉียงเหนือของจีนและไม่ค่อยมีใครพูดถึงแต่ก็มีนักท่องเที่ยวไทยเดินทางมากันตลอด วันที่เราไปก็ได้พบกับทัวร์คนไทยด้วย ในช่วงเย็นผู้เขียนกับสมาชิกบางส่วนและทีมงานได้ออกไปทดสอบสมรรถนะ ไฮลักซ์ รีโว่ ในทะเลทรายหมิงซาซาน โดยขับบุกตะลุยทรายอย่างสนุก นับเป็นการวอร์มอัพผู้ขับกับตัวรถจริง ก่อนที่การเดินทางจริงจะเริ่มในวันรุ่งขึ้น
เช้าวันแรกของการขับไฮลักซ์ รีโว่ คาราวาน พวกเราใช้เส้นทางด่วนบนภาคพื้นดินระหว่างเมือง บรรยากาศสองข้างทางเริ่มเปลี่ยนเป็นความเวิ้งว้าง รถร่วมทางก็ไม่ค่อยมี ขบวนฯ พักกันเป็นระยะ ในขบวนมีรถเซอร์วิส 2 คัน แยกเป็นเซอร์วิสรถและคน เรามาถึงฮามี่ในช่วงเย็น นับเป็นการคุมเวลาที่ดีสำหรับวันแรก
วันที่สองเราขับจากฮามี่เพื่อไปยังทูลู่ฟาน สถานที่ขึ้นชื่อเรื่ององุ่น แต่เมื่อไปถึงพบว่าองุ่นไม่ใช่เรื่องที่น่าพูดถึงเท่าไหร่ แต่เป็นเรื่องความร้อนระดับ 40-50 องศาเซลเซียสมากกว่า แอบห่วงรถเหมือนกันว่าจะไหวหรือเปล่า แต่เท่าที่สังเกตดูเครื่องยนต์และระบบต่างๆ ยังทำงานได้ปกติ แหล่งท่องเที่ยวของที่นี่อย่าง Grape Valley แม้เต็มไปด้วยร้านค้า แต่ก็เงียบเหงาเหลือเกิน แม้แต่พิพิธภัณฑ์อุโมงค์ทางน้ำคาเรซ ที่ขึ้นชื่อ ก็แทบไม่มีคนเดิน เข้าใจว่าเมืองเหล่านี้ไม่ใช่ที่นักท่องเที่ยวนิยมนัก เพราะมาลำบากและมีเมืองทางตะวันออกน่าเที่ยวกว่า ผ่านมา 3 วัน 3 เมือง เรายังไม่เห็นฝรั่งมาเที่ยวเลย
วันต่อมาเราเปลี่ยนจุดหมายปลายทางจากอัคซูเป็นคูเชอ ซึ่งใกล้กว่า และเป็นการแบ่งระยะทาง 2 วันสู่คัชการ์ให้ใกล้พอๆ กัน การขับมาเมืองคูเชอที่เราไม่เคยได้ยินมาก่อน (อีกแล้ว) ความประทับใจอยู่ที่เส้นทางมากกว่า เพราะการขับผ่านช่วงเขาเทียนซานใต้ มีความสวยงามมากแม้เป็นเขาหิน จนต้องพากันจอดแวะบันทึกภาพ ส่วนตัวเมืองคูเชอ โซนที่พักเป็นเมืองสร้างใหม่ดูเหมือน ดูไม่ค่อยมีชิวิตชีวา แต่โรงแรมที่พักระดับ 3 ดาว ดีจนน่าแปลกใจ
วันต่อมาเป็นการเดินทางสู่คัชการ์เมืองใกล้ชายแดนจีนฝั่งตะวันตกติดกับประเทศคีร์กีซสถาน เป็นเมืองที่มีสถานการณ์บอบบางด้านความมั่นคง ช่วงกลางคืนเราออกไปเดินท่องเมือง สังเกตเห็นทหาร ตำรวจ กระจายอยู่เยอะมาก คอยตั้งด่าน และเดินตรวจตรากันอย่างเข้มงวด การที่เมืองแห่งนี้อยู่สูงกว่าที่ผ่านมา ทำให้อุณหภูมิลดลงอยู่ระดับ 20 กว่าองศา เราถือโอกาสพักเมืองนี้ 2 คืน เพราะถึงระยะเช็คและซ่อมบำรุงรถ วันรุ่งขึ้นพวกเราจึงเช่ารถบัสไว้ท่องเมืองกัน จากภาพรวมเป็นเมืองที่ดูแตกต่างจากหลายเมืองในประเทศจีน เพราะที่นี่มีภาษาและเวลาของเขาเอง ผู้คนส่วนมากในเมืองเป็นเชื้อสายอุยกูร์ และคนจีนที่เห็นมักเป็นนักท่องเที่ยวหรือเจ้าหน้าที่รัฐมากกว่า แหล่งท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อคือ เมืองเก่าดั้งเดิม และเมืองเก่าที่สร้างใหม่ ซึ่งพวกเราได้มีโอกาสไปเดินทั้งตลาดและเมืองเก่า ได้เห็นวิถีชีวิตของผู้คนที่นี่ บรรยากาศของเมืองคัชการ์ดูแตกต่างจากเมืองที่ผ่านมา จนคิดว่าที่นี่เป็นอีกประเทศ มีเพียงอนุสาวรีย์ท่านประธานเหมาที่ตอกย้ำว่าที่นี่คือ ผืนแผ่นดินจีน
วันรุ่งขึ้นเราเดินทางกันแต่เช้าเพื่อขับข้ามแดนไปประเทศคีร์กีซสถาน เป็นการขับไต่ความสูงขึ้นไปเรื่อยๆ จนเริ่มสัมผัสถึงความเย็นได้ชัดเจน เหลือบมองอุณหภูมิที่หน้าปัดก็เริ่มลดต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียส เมื่อถึงด่านตรวจตม. อยู่ก่อนชายแดน พวกเราก็ต้องลงจากรถพร้อมสัมภาระตามคำแนะนำของไกด์เพื่อตรวจและประทับตราออก หลังจากเรียบร้อยทุกคน ขบวนก็ออกเดินทางต่อ ทัศนียภาพสองข้างทางเปลี่ยนเป็นพื่นที่โล่งอีกครั้ง อุณหภูมิเริ่มลดลงจนเหลือ 11-13 องศาฯ
เมื่อถึงหน้าด่านประตูข้ามแดนจีน ช่วงนั้นเป็นถนนแคบๆ มองข้างหน้ามีประตูบานทึบกั้น ข้างทางเป็นร้านค้ารกร้าง เราได้รับการแจ้งจากไกด์ว่าประตูเปิดเป็นรอบเวลา ทำให้ต้องรอคอยพร้อมกับคนอื่นๆ เมื่อประตูเปิดก็มีเทหารเข้ามาตรวจ แต่ยังต้องไปขับเจอด่านตม.ของคีร์กีซสถานข้างหน้าอีก เมื่อถึงด่านทุกคนต้องลงจากรถไปแสดงตัวและผ่านการตรวจพาสปอร์ต แม้จะเข้มงวด แต่ก็ใช้เวลาไม่นานนัก เว้นแต่รถที่ต้องผ่านการตรวจอย่างละเอียด ช่วงนี้ฝนเริ่มเทลงมาอย่างหนัก กว่าทุกอย่างจะผ่านครบขั้นตอนก็ใช้เวลาไป 2 ชั่วโมงกว่า การเดินทางก็เริ่มต้นอีกครั้งสู่เมืองเล็กๆ ที่เรียกว่า ซารี-แทช ความสวยงามเริ่มปรากฎให้เห็นตามเส้นทางที่วิ่งไต่เขาขึ้นมา และเมื่อขับถึงข้างบน พวกเราก็จอดเพื่อถ่ายรูปบรรยากาศเขาหิมะไกลๆ อุณหภูมิบนหน้าปัดรีโว่แสดงเลข 7 องศาฯ แต่ก็ไม่เป็นอุปสรรคต่อการออกไปชมธรรมชาติอันสวยงามแห่งนี้ เรารู้ว่าคืนนี้ต้องนอนโฮมสเตย์ในซารี-แทช อากาศที่เย็นแบบนี้ทำให้เราหลายคนปรับตัวไม่ค่อยทัน เพราะไม่กี่วันที่ผ่านมาเพิ่งเจออุณหภูมิร้อนจัดขนาด 50 องศาฯ แต่ค่ำคืนในซารี-แทช พวกเราต้องนอนขดกันในโฮมสเตย์แน่ๆ
เมื่อถึงซารี แทช (sary-tash) ชุมชนของเมืองนี้ มีขนาดไม่ใหญ่มาก ความเจริญมีเพียงไฟฟ้าส่องสว่างเท่านั้น น้ำที่ใช้ดื่มและล้างหน้า (ไม่มีใครกล้าอาบน้ำได้แต่ใช้ทิชชู่เปียกเช็ดแทน) คาดว่าเป็นน้ำต้มจากลำธารเอามาเติมให้ เพราะไม่มีระบบประปา ห้องน้ำเป็นส้วมแบบไร้อุปกรณ์อำนวยความสะดวก เว้นร่องว่างไว้ให้แค่นั้น ตอนนั้นผู้เขียนคิดว่า ถ้าไม่เข้าคนแรกๆ ในเช้าวันรุ่งขึ้นก็ต้องทนไปเข้าในเมือง สำหรับโฮมสเตย์เป็นบ้าน 2 ชั้น แต่งไว้ดีมาก ถ้าเทียบกับบ้านในละแวกนี้ ข้างบนมีนอน 3 ห้องนอน เรามีทั้งหมด 20 กว่าคน กระจายนอนรวมกัน
เมื่อถึงมื้อค่ำเป็นช่วงเวลาที่เราได้กลับไปสู่วิถีชีวิตเก่าๆ ไม่มีทีวี สัญญาณโทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต แม้แต่วิทยุ พวกเราพากันนั่งพื้นล้อมโต๊ะกินข้าวคุยกันถึงเรื่องราวที่ผ่านมาอย่างสนุก ไม่รู้สึกว่าขาดอะไรไป ชุมชนที่นี่สงบเงียบ หลายบ้านเลี้ยงวัวและสุนัขไว้ ช่วงเวลาค่ำคืนอันเย็นยะเยือกและอาการหวัดก็เริ่มถามหา ทำให้ผู้เขียนต้องอัดยาแล้วนอนเร็วเพื่อเตรียมพร้อมกับการเดินทางในวันต่อไป
เช้าวันรุ่งขึ้นเราต้องอำลาสวรรค์เมืองสวย ซารี-แทช ลงไปสู่ออช (OSH) เมืองใหญ่สุดรองจากบิชเคกเมืองหลวงของคีร์กีซสถาน การขับลงจากซารี-แทช สวยไม่แพ้ขาขึ้นจากคัชการ์ นอกจากอากาศที่เย็นก็ได้เห็นธรรมชาติอันสวยงามดูมีชีวิตชีวามากขึ้น มีกระโจมอาศัยขนาดใหญ่ ปักกระจายหลายจุดตามเชิงเขา อยู่กันเป็นครอบครัว เห็นเด็กๆ ออกมาวิ่งเล่นกันสนุกสนาน บนพื้นมักเป็นหญ้าเขียวสั้นๆ ตัดกับฟ้าใสๆ ฝูงแกะก็มีกระจายตามเชิงเขาให้เห็นตลอด นับเป็นช่วงเวลาที่มหัศจรรย์มาก จนอยากพักแถวนี้ต่อ เมื่อลงไปที่ราบเพื่อเข้าสู่เมืองออช ผู้คนส่วนใหญ่เป็นมุสลิม และเป็นช่วงถือศีลอดทำให้ร้านอาหารส่วนมากไม่เปิดบริการ จึงต้องไปหาทานกันในโรงแรม โดยจอดพักรถไฮลักซ์ รีโว่ ไว้ที่โรงแรม ก่อนนั่งรถบัสเล็กที่เหมามารับ พาไปทานอาหารกลางวัน จากนั้นก็ไปเดินชมตลาดใกล้ๆ ซึ่งมีผลเชอร์รี่ต่างๆ มาขายมากมาย อร่อยและราคาถูกกว่าบ้านเรา ก่อนกลับโรงแรมยังได้แวะไปชมถ้ำสุไลมาน สถานที่ถูกยกให้เป็นมรดกโลก ภายในถ้ำมีแท่นหินศักดิ์สิทธิ์ซึ่งมีความสำคัญต่อชาวมุสลิม เมื่ออยู่ด้านบนแล้วมองลงมาก็เห็นเมืองออชยามเย็นในมุมกว้าง จากนั้นเรานั่งรถบัสแวะทานมื้อเย็นและกลับเข้าโรงแรมที่มีแต่คณะคาราวานเราเข้าพัก พร้อมเก็บแรงก่อนเผชิญภารกิจสำคัญขับข้ามแดนไปอุซเบกิสถานในวันรุ่งขึ้น
ช่วงที่ได้พักรถเมื่อวาน ทีมเซอร์วิสได้เข้ามาตรวจเช็คเตรียมความพร้อมของรถโตโยต้า ไฮลักซ์ รีโว่ ทุกคัน เพราะยังต้องขับเดินทางกันอีกไกลกว่าจะถึงอิตาลี เช้าวันรุ่งขึ้นไม่มีใครคิดว่าระยะทางจากออชถึงทาชเคนต์ (Tashkent) ขับข้ามแดนที่ด่านแอนดิแจน (Andijan) เพียง 420 กม. ต้องใช้เวลาทั้งสิ้นเกือบ 11 ชั่วโมง ! เราออกเดินทางกันแต่เช้าเพราะทีมงานหลายคนมีประสบการณ์ขับข้ามแดนไปอุซเบกิสถานมาก่อน จึงทราบดีว่ายุ่งยากและใช้เวลามาก โดยเฉพาะการเดินทางข้ามประเทศโดยรถส่วนตัว
เราออกเดินทางจากโรงแรมราว 8.30 น. ถึงด่านราว 9 โมงเศษๆ แต่รั้วยังไม่เปิด มีทหารเวรยืนคุมเข้มอยู่ แม้แต่หมาเดินใกล้รั้วยังโดนไล่ ผู้คนที่พากันมารอข้ามแดนมีทั้งผู้หญิง และเด็ก แต่รอนานมากกว่ารั้วจะเปิดก็เกือบเที่ยง การข้ามแดนก็เหมือนครั้งที่ข้ามจากจีน คือ จอดรถและลงเดินเข้าไปตรวจ ทหารคีร์กีซฯ ให้เราเดินเข้าไปในอาคารเล็กๆ ด้านขวาเพื่อตรวจเอกสารผ่านแดน โดยเป็นไปตามขั้นตอนปกติทั้งคนและรถ เมื่อผ่านไปแล้วก็ต่อด้วยด่านตม. ของอุซเบกิสถาน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นช่วงเวลาสุดโหดในการขับวันสุดท้าย
เริ่มจากคนที่แยกมาผ่านด่าน หลังจากกรอกเอกสารผ่านแดนอันซับซ้อนแล้ว ก็ถูกสั่งให้นั่งรอเรียงแถว และลองถามแบบจิตวิทยา โดยเจ้าหน้าที่คนหนึ่งเรียกผู้เขียนไปถามว่า I love you ภาษาไทยพูดอย่างไร ก็ได้บอกไปว่า ผมรักคุณ เจ้าหน้าที่หนุ่มลองพูดจนพอฟังได้ จึงหันหน้าตะโกนไปทางพวกเราว่า ผมรักคุณ พวกเราที่นั่งอยู่ก็ได้แต่ยิ้มพยักหน้ากันหมด สักพักก็เข้าใจว่าทำไม จากนั้นก็เรียกมาตรวจพาสสปอร์ตและประทับตราให้ทีละคน พร้อมให้เจ้าหน้าที่กระจายเข้ามาตรวจทุกอย่างในกระเป๋าของพวกเราแบบละเอียด ถ้าเจอยาก็ต้องอธิบายได้ว่ารักษาอาการอะไรบ้าง ที่สำคัญ กล้องถ่ายรูป โทรศัพท์มือถือ และคอมพิวเตอร์แลปท็อป ต้องเปิดให้ดูภาพที่บันทึกไว้ทั้งหมด ว่ามีรูปต้องห้ามหรือไม่ เช่น ภาพโป๊เปลือย สถานที่ราชการ และศาสนสถานที่ดูไม่เหมือนรูปท่องเที่ยว และยังถามถึงบางภาพที่บันทึกว่า ไปทำอะไร ที่ไหน ใครถ่าย นับเป็นช่วงเวลาแห่งความตึงเครียดเพราะกว่าจะเสร็จแต่ละคนใช้เวลานานมาก ผู้เขียนและเพื่อนสมาชิกอีก 7 คน หลุดออกมาจากด่านเป็นชุดแรกก่อน และไม่รู้จะทำอย่างไรกันต่อ จึงเดินเท้าไปรอเพื่อนที่เหลือในร้านอาหารที่หน้าด่าน ภายในเป็นร้านแบบเปิดโล่งขนาดใหญ่ เหมือนไว้รองรับคณะผู้เดินทาง แต่แทบไม่มีคนนั่ง เราพากันไปนั่งนอนรอกันตามม้านั่งด้านหน้าร้าน จนบ่ายสองกว่าหลายคนเริ่มหิวจึงปรึกษากันว่าจะสั่งอาหาร บรรยากาศเหมือนหนังสยองขวัญที่กลุ่มหนุ่มสาวหลุดเข้าไปในสถานที่แปลกๆ ในร้านมีคนท้องถิ่นอยู่ 3 คน ชาย 2 หญิงแก่ๆ 1 ผู้ชายเป็นพ่อครัว และผู้ช่วย ผู้หญิงสูงวัยทำหน้าที่รับลูกค้า การเจรจาด้วยภาษาอังกฤษไม่มีประโยชน์เพราะพวกเขาพูดไม่ได้ จึงต้องใช้ภาษามือ สุดท้ายได้ขอเข้าไปดูในครัวเอง ว่ามีอะไรทำกินได้บ้าง ซึ่งมีแต่เส้นคล้ายสปาเก็ตตี้ และซุบเนื้อที่ทำไว้ในกระทะใหญ่ จึงสั่งไปครบคน 8 จาน อาหารดูหน้าตาดี และรสชาติอร่อยจริงๆ เมื่อถามถึงค่าอาหารก็ต้องตกใจเพราะเขาเรียกเงินถึง 55 เหรียญยูเอส แบ่งเป็นค่าอาหาร 50 เหรียญ และค่าบริการ 5 เหรียญ เรารู้ว่าโดนเข้าแล้ว แต่ด้วยสถานการณ์ขณะนั้นทำให้ต้องเลยตามเลย
หลังจากนอนรอแล้วรอเล่า สมาชิกคาราวานและรถเริ่มทยอยออกมาตอน 6 โมงเย็นจนครบ ระหว่างนี้ผู้เขียนได้แจ้งถึงเรื่องค่าอาหารกับไกด์ที่เพิ่งออกมากับสมาชิกที่เหลือ เขาบอกยอมไม่ได้ แม้ผู้เขียนบอกว่าไม่เป็นไร แต่เขาบอกว่าแบบนี้ไม่ถูกต้อง ไกด์ชวนผมเดินกลับเข้าไปพร้อมต่อว่า ดูเหมือนว่าคนพวกนี้กลัวไกด์คนนี้พอสมควร และยอมคืนเงินมาให้เรา 20 เหรียญ ไกด์ยื่นเงินมาให้พร้อมบอกว่า อย่างนี้สิถึงถูกต้อง เราออกเดินทางต่อตอนทุ่ม โดยจุดหมายแรกคือ ร้านอาหารที่ใกล้ที่สุด เพราะหลายคนกินแค่มื้อเช้ามา มื้อนี้เลยจัดกันเต็มทุกคน กินแบบไม่กลัวง่วง หารู้ไม่ว่าหลังจากนี้เราจะต้องเผชิญการขับแบบมาราธอนข้ามคืนกัน
หลังจากขับมา 9 วัน คุมเวลาถึงที่หมายได้ดีทุกวัน ส่วนหนึ่งเพราะถนนดี ทางโล่ง ไร้อุปสรรคและอุบัติเหตุ ในค่ำคืนสุดท้ายเราออกจากร้านอาหารราว 2 ทุ่มกว่า เคลื่อนขบวนไปสักพักก็แวะเติมน้ำมันเพราะต้องขับกันอีกไกล ผ่านไป 2 ชั่วโมง เราทั้งแวะพักเติมน้ำมันและเข้าห้องน้ำกัน มีจุดพักเป็นตลาดขายของสำหรับนักเดินทาง คล้ายร้านขายของฝากริมทางต่างจังหวัดบ้านเรา
จริงๆ กว่ามาถึงตรงนี้ก็เจอด่านตรวจมาแล้ว 2 จุด เป็นด่านตรวจของทหาร ยิ่งเป็นรถต่างถิ่นยิ่งทำให้เสียเวลากว่ารถทั่วไป เพราะต้องตรวจเอกสารเพิ่ม ช่วงหลังเที่ยงคืนผู้เขียนเริ่มล้า เมื่อมาถึงเส้นทางขับขึ้นเขาที่กำลังทำถนน ทำความเร็วได้แค่ 20-40 กม./ชม. เริ่มทำให้อ่อนล้ามากขึ้น บางจังหวะด้านหน้าเป็นรถใหญ่ความเร็วเหลือแค่ 10 กว่า กม./ชม. พวกเราต้องหาจังหวะวิ่งเลนสวนแซงขึ้นหน้าเอง การแซงก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีแท่งปูนวางแบ่งเลนเป็นช่วงๆ ต้องหาช่องว่างเข้า-ออกเอง ยังไม่หมดแค่นั้น เพราะต้องระวังรถเจ้าถิ่นที่ขับเร็วและสวนเลนออกมามาแบบระห่ำ และพร้อมตบเข้าหน้ารถเราได้ตลอด เส้นทางจากแอนดิแจนสู่ทาชเคนต์คือ ช่วงที่โหดสุด เพราะการขับทางไกลบนเส้นทางไม่คุ้นเคยหลังพระอาทิตย์ตกดินเป็นความตึงเครียดอย่างยิ่ง อีกทั้งไฟถนนก็แทบไม่มี เมื่อขับลงถึงถนนด้านล่าง ผิวถนนกลับมาดีเหมือนเดิม ในใจคิดว่าคงเร่งได้เต็มที่เพื่อไปถึงทาชเคนต์ให้เร็วที่สุด เพราะวันรุ่งขึ้น หรือนับเวลาตามสากลก็วันนี้ ต้องบินกลับ !
เรามาเจออุปสรรคใหญ่อีกครั้ง หนนี้เป็นด่านทหารช่วงใกล้ประเทศทาจิกิสถาน พวกเราโดนเรียกให้ไปจอดในพื้นที่ควบคุม และทยอยลงเอาพาสปอร์ตมาตรวจละเอียดรายคน แค่รอเข้าแถวถึงคิวตรวจก็ใช้เวลาไปเกือบชั่วโมง นาฬิกาตอนนั้นบอกเวลาตีสองกว่าๆ ในใจคิดว่า คืนนี้มันช่างยาวนานเหลือเกิน กว่าทุกคนได้กลับขึ้นรถก็แทบสลบเพราะทั้งเหนื่อยและง่วงนอน
ถนนจากนี้เริ่มเป็นทางหลักทอดเข้าสู่ตัวเมือง พวกเราทำความเร็วชดเชยเต็มที่ เวลาบอกตีสามกว่าเราเริ่มเห็นแสงไฟของตัวเมืองที่อยู่ต่ำกว่าถนน ในใจคิดว่า ถึงเสียที แต่เมื่อได้ยินเสียงวิทยุสื่อสารแจ้งเข้ามาว่าเหลืออีก 100 กว่ากม. ผู้เขียนก็ได้แต่ถอนหายใจ นึกถึงตอนปั่นจักรยานทางไกล ในช่วงที่หมดพลังทุกอย่างแต่ต้องลากขาไปต่อ แม้ร่างกายย่ำแย่แต่รถไฮลักซ์ รีโว่ ในทริปไม่มีคันไหนงอแงให้เป็นภาระเลย จนในที่สุดขบวนทุกคันก็มาถึงโรงแรมเรดิสัน บลู ในเวลาตีสี่กว่าๆ ในใจนึกถึงแต่เตียงนอน แต่เมื่อถึงปากทางเข้าโรงแรม ก็ได้รับแจ้งว่าไม่ให้จอดด้านในเพราะมีการจัดประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงในช่วงนี้ จึงต้องขับไปจอดริมถนนหน้าโรงแรม แล้วลากสัมภาระเข้าไปเอง เมื่อถึงหน้าประตูล็อบบี้เจ้าหน้าที่โรงแรมให้เราเปิดสัมภาระเพื่อตรวจค้น ช่างเป็นการส่งท้ายที่สุดแสนจะบรรยาย แต่ตรวจได้ไม่กี่คนก็เริ่มผ่อนปรนปล่อยคนหลังๆ คงเห็นสภาพเราแต่ละคนว่าอิดโรยแค่ไหน ผู้เขียนรับกุญแจแล้วขึ้นไปจัดมาม่าคัพเป็นอาหารเช้า เสร็จก็อาบน้ำ กว่าจะนอนก็เกือบ 6โมงเช้า พวกเรามีเวลานอนแค่ 3 ชั่วโมงกว่าๆ เพราะนัดเจอกัน 10 โมงเช้า แต่ส่วนใหญ่ก็ทยอยลงมา กว่าจะครบก็เที่ยงเราร่ำลาสมาชิกที่ต้องเดินทางไปอิหร่านต่อกับสมาชิกชุด 3 ที่กำลังบินมา ช่วงระหว่างรอเวลาไปสนามบินตอนหัวค่ำ ก็ได้โอกาสไปทัวร์เมืองทาชเคนต์ ซึ่งสวยงามทันสมัย ผู้เขียนชอบศาสนสถานของที่นี่ และสถาปัตยกรรมยุครัสเซียดูมีเสน่ห์มากๆ ถ้าเราได้พักร่างกายต่ออีกสักวันคงมีอารมณ์ชื่นชมอะไรได้มากกว่านี้ หลังจากมื้อเย็นเราได้เวลาไปสนามบิน ในใจยังล้ากับเหตุการณ์เมื่อคืนและคิดว่าพวกเราแกร่งมากที่สามารถผ่านเหตุการณ์แบบนั้นมาได้
เมื่อได้ยินเสียงประกาศเรียกขึ้นเครื่อง ในใจผู้เขียนคิดว่าลาก่อนอุซเบกิสถาน ขณะเดินไปตามงวงเพื่อเข้าเครื่องช่วงใกล้ถึงเครื่องก็มีทหารถือปืนรออยู่ มองมาด้วยสายตาพร้อมเรียกตรวจ ผู้เขียนแทบกลั้นหายใจตอนเดินผ่าน และทหารก็เรียก .... แต่เป็นผู้โดยสารคนอื่นที่ดูไม่น่าไว้ใจ ป้ายหน้าเป็นกรุงโซล เพราะพวกเราต้องแวะเปลี่ยนเครื่องกันที่นั่น เครื่องบินกำลังออก ผู้เขียนมองผ่านหน้าต่างออกไปมาในใจคิดว่า "ลาก่อน ขอบคุณสำหรับประสบการณ์สุดท้าทาย และโชคดีที่รถเป็น โตโยต้า ไฮลักซ์ รีโว่ (Toyota Hilux Revo) "