ประเมินวงเงินรู้ผลใน 3 นาที

กับ กรุงศรี ออโต้ พร้อมสตาร์ท

เริ่มประเมินวงเงินพร้อมสตาร์ท
ผ่านมือถือ สแกนเลย

ดูวงเงินพร้อมสตาร์ทที่ได้รับ

x
icon-filter ค้นหารถยนต์
product filter
product filter
product filter
product filter
product filter

เจาะลึก! เกียร์ CVT ทำไมฮิตจัง?

icon 25 พ.ค. 59 icon 158,997
เจาะลึก! เกียร์ CVT ทำไมฮิตจัง?

เจาะลึก! เกียร์ CVT ทำไมฮิตจัง?

เกียร์ CVT นับเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มความประหยัด อีกทั้งยังมีขนาดเล็ก น้ำหนักเบา ลดการบำรุงรักษา และมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน จึงไม่แปลกที่รถยนต์รุ่นใหม่ๆ จึงนิยมใช้ระบบเกียร์ CVT กันมากขึ้น แม้แต่รถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์เทอร์โบชาร์จ 
เกียร์ CVT (Continuously Variable Transmission) เป็นการใช้ความเร็วของเพลาขับและเพลาตามที่แตกต่างกัน เพื่อให้เกิดอัตราทดและส่งแรงขับเคลื่อน แต่เนื่องจากไม่มีเฟืองเกียร์จึงไม่มีการขบกันของฟันเฟืองทำให้การแปรผันอัตราทดนั้นราบรื่นไม่สะดุด และต่อเนื่องกว่า
Dual Clutch , Torque converter , CVT แตกต่างกันนะ อย่าสับสน..   
Dual Clutch คือ ระบบคลัตช์แห้งแบบแผ่นหรือชุดตัดต่อกำลังจากฟลายวิลไปยังชุดเกียร์ ซึ่งใช้ชุดคลัตช์ 2 ชุดทำงานสลับกัน โดยแต่ละชุดคลัตช์นั้นจะช่วยเข้าตำแหน่งเกียร์ 1,3,5 และชุดคลัตช์ที่ 2 จะคอยเข้าเกียร์ 2,4,6 ทำให้การตัดต่อกำลังและการเปลี่ยนเกียร์รวดเร็วทันใจ โดยมีกลไกไฟฟ้าหรือระบบไฮดรอลิกช่วยทำหน้าที่ในการกดคลัตช์แทนขาของผู้ขับนั่นเองครับ (ในรถบางรุ่นอาจสลับตำแหน่งเกียร์แตกต่างกัน)


Torque Converter คือ ชุดตัดต่อกำลังมีลักษณะคล้ายล้อกลมๆ ภายในมีชุดกังหันหรือใบพัด 2 ชุด และแผ่นรีดบังคับน้ำมันประกบอยู่ ทำงานโดยการใช้น้ำมันเกียร์ (สีแดงๆ นี่แหละ) เป็นตัวส่งผ่านกำลังจากใบพัดชุดที่รับกำลังมาจากฟลายวิล (ล้อช่วยแรง) ไป "ปั่น" ใบพัดอีกฝั่งที่ติดกับชุดเกียร์ให้หมุนตาม นึกถึงการเอาพัดลม 2 ตัวหันหน้าชนกันและเปิดเพียง 1 ตัว ตัวที่ไม่เปิดใบพัดจะหมุนตามแรงลม โดยที่ "ลม" ก็เปรียบเสมือนกับน้ำมันเกียร์ที่อยู่ภายในระบบทอร์คคอนเวอร์เตอร์นั่นเอง 

Torque Converter 
CVT คือ ชุดส่งกำลังที่ใช้ระบบสายพานโลหะหรือ "โซ่" ระหว่างชุดพูเล่ย์ขับกับพูเล่ย์ตาม ซึ่งร่องของพูเล่ย์ทั้งสองจะสามารถขยับเข้า-ออกได้ ตามโปรแกรมจากคอมพิวเตอร์หรือสมองเกียร์สั่งการว่าจะถ่างออกหรือหุบเข้ามากน้อยเพียงใด และในขณะเดียวกันก็สามารถแปรผันให้ความเร็วของพูเล่ย์ตัวตามนั้น เร็วขึ้นและช้าลงได้ และทำให้เกิดอัตราทดขึ้น ระบบ CVT จึงใช้การขยับเข้า-ออกของพูเล่ย์ทั้ง 2 ตัว แทนการใช้เฟืองเกียร์ ทำให้มีชิ้นส่วนน้อยกว่า น้ำหนักเบากว่า และการบำรุงรักษาน้อยกว่าเกียร์ทั่วไป  

เกียร์ CVT

CVT มีขนาดและน้ำหนักน้อยกว่า

เกียร์ CVT มีขนาดตัว น้ำหนักและชิ้นส่วนเคลื่อนไหวน้อยกว่าเกียร์อัตโนมัติทั่วไป ทำให้มีต้นทุนต่ำ ชิ้นส่วนที่สึกหรอน้อย ใช้ระบบของเหลวหรือน้ำมันเกียร์น้อยกว่า ข้อดีทางด้านวิศวกรรมนี้ทำให้รถยนต์ที่ใช้เกียร์ CVT มีน้ำหนักเบาลง ชิ้นส่วนการสึกหรอน้อยลง แถมยังประหยัดน้ำมันมากขึ้น ในขณะที่ใช้รอบเครื่องต่ำลงที่ความเร็วเดียวกันกับระบบเกียร์อัตโนมัติทั่วไป

ส่วนประกอบหลักๆ มีเพียงพูเล่ย์ขับ-พูเล่ย์ตาม-สายพานโลหะ แค่นี้ก็ได้อัตราทดแปรผันแล้ว

การทำงาน

เกียร์ CVT มีส่วนประกอบหลักๆ 3 ชิ้นคือ

จากภาพ : ด้านบนพูเล่ย์ขับ ด้านล่างพูเล่ย์ตาม
พูเล่ย์ขับ (ต้นกำลัง) = รับกำลังจากฟลายวิล โดยจะมีร่องสายพานที่ขยับเข้า-ออก หรือ ถ่าง-หุบได้ และร่องที่สัมผัสกับขอบของสายพานนั้นจะมีความชันไล่ระดับจากขอบนอกเข้าด้านใน ต่อไปนี้จะเรียกว่า P1

ตัวอย่างของสายพานโลหะ ภาพจาก f.ptcdn.info
สายพานโลหะ = ทำหน้าที่ส่งแรงจากพูเล่ย์ขับไปยังพูเล่ย์ตาม โดยใช้ผิวสัมผัสด้านข้างหรือสันของสายพานเป็นจุดยึดจับกับร่องพูเล่ย์ที่มีความลาดชัน
พูเล่ย์ตาม = รับกำลังจากสายพาน และมีร่องที่สามารถขยับได้เช่นเดียวกับพูเล่ย์ตาม โดยจะขยับเข้า-ออกสวนทางกัน เช่น พูเล่ย์ขับถ่างออก พูเล่ย์ตามจะหุบเข้า เป็นต้น ต่อไปนี้จะเรียกว่า P2 

ภาพจาก www.media-tech.info
การทำงานของ CVT เริ่มจากการออกตัวหรือความเร็วต่ำ ร่องของ P1 จะอยู่ตำแหน่งกางออกมากที่สุด เพื่อให้สายพานหมุนในส่วนลาดชันที่เล็กที่สุด หรือเปรียบกับโซ่จักรยานก็คือ สเตอร์ขนาดเล็กสุดนั่นเอง ส่วนร่องของ P2 จะอยู่ตำแหน่งแคบสุดหรือหุบเข้ามากที่สุด เพื่อให้มีอัตราทดสูงๆ ในการออกตัวนั่นเองครับ
ส่วนความเร็วสูงหรือความเร็วที่เปลี่ยนระดับขึ้นไปเรื่อยๆ นั้น จะใช้วิธีการขยับเข้า-ของร่อง P1 ให้เคลื่อนที่แคบลงเรื่อยๆ และขยับให้ร่องของ P2 นั้นห่างหรือกว้างออกเรื่อยๆ ส่งผลให้ความเร็วที่ P2 เพิ่มขึ้นจนกว่าจะถ่างออกจนสุด
ตัวช่วยในการขยับร่อง P1 และ P2 ก็คือ ในชุดพูเล่ย์ทั้ง 2 จะมีกลไกน้ำมันอยู่ภายใน และสามารถเลื่อนเข้า-ออกได้ (ตามภาพบน) เมื่อน้ำมันถูกเปิดเข้าไปมากๆ ก็จะเอาชนะแรงดันสปริง ชุดพูเล่ย์ทั้งสอง ก็ขยับเลื่อนเข้า-ออกได้ ในส่วนของ และระบบน้ำมันภายในชุดพูเล่ย์นี้จะถูกสั่งการด้วยสมองกลหรือ "กล่องเกียร์" ที่ถูกโปรแกรมเอาไว้ว่า จะมีการขยับแบบรวดเดียวหรือจะ "ตั้งค่าล็อค" การขยับเข้า-ออกของร่องพูเล่ย์เอาไว้กี่จังหวะ เช่น CVT 7 สปีด ก็จะถูกตั้งค่าให้ล็อคการขยับเอาไว้เป็น 7 ระดับ 
 
ดังนั้น เกียร์ CVT จึงไม่มีอาการกระตุก สะดุด จากการ "ขบ" กันของฟันเฟือง เพราะว่าไม่มีเฟืองเกียร์ ทำให้เวลาเร่งเครื่องยนต์จะรู้สึกว่ามันไปเรียบๆ เรื่อยๆ ไม่กระชาก หลังไม่ติดเบาะ (ถ้าเครื่องกำลังสูงๆ อาจมีอาการดึงๆ บ้าง) เหมือนเกียร์อัตโนมัติทั่วไป แต่ความเร็วนั้นจะไต่ระดับขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ให้ความนุ่มนวลมากขึ้น และในขณะเดียวกันรอบเครื่องยนต์จะค่อนข้างต่ำที่ความเร็วสูงๆ ทำให้ประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงได้มากขึ้น นอกจากนี้ CVT จะช่วยแปรผันอัตราทดให้เหมาะสมแม้เครื่องยนต์ที่มีกำลังไม่มากก็สามารถใช้งานได้อย่างสบายๆ

เกียร์ CVT จุดเด่นคือ รอบเครื่องยนต์ต่ำที่ความเร็วสูง ช่วยประหยัดน้ำมันได้เยอะ
ตัวอย่าง เช่น นิสสัน มาร์ช, มิตซูบิชิ มิราจ, โตโยต้า ยารีส วีออสใหม่ , ซูซูกิ สวิฟต์ หรือ ฮอนด้า บริโอ ที่แม้จะใช้เครื่องยนต์เพียง 1.2 ลิตร แต่กลับให้อัตราเร่งและความเร็วปลายที่ดีกว่ารถยนต์ขนาด 1.6 ลิตรในอดีตเมื่อ 10 ปีที่แล้วด้วยซ้ำไป และส่วนมากจะใช้ในรถยนต์ที่ขับเคลื่อนล้อหน้าเครื่องยนต์วางขวาง เพราะมีพื้นที่ห้องเครื่องจำกัด ส่วนรถยนต์ที่ขับเคลื่อน 4 ล้อ ก็มีใช้กันหลายรุ่น เช่น นิสสัน เอ็กซ์เทรล หรือว่า ซูบารุ เอ็กซ์วี เครื่องยนต์นอนยันที่มีพื้นที่ห้องเครื่องยนต์จำกัดก็ถูกนำไปใช้เช่นกัน 
อธิบายแล้วอาจจะงง..!? ลองชมภาพและวิดีโอประกอบจะช่วยให้เห็นการทำงานที่ชัดเจนขึ้นครับ 

ขอบคุณวิดีโอจาก www.jatco.co.jp 

ขอบคุณวิดีโอจาก Nissan โดย behindethescebe

ขอบคุณวิดีโอจาก TEAM Industries

ขอบคุณวิดีโอจาก Bosch Mobility Solutions
ยังมีระบบ CVT อีกแบบที่อาจไม่ค่อยถูกใช้งานในรถยนต์ขับเคลื่อนล้อหน้าสักเท่าไหร่นักก็คือ Half-Toroidal Continuously Variable Transmission แบบเอียงมุมของสายพาน แทนการขยับของพูเล่ย์ ซึ่งจะใช้การเอียงของสายพานให้ขยับไปตามความชันของตัวพูเล่ย์ทั้ง 2 ชุด ส่วนมากจะอยู่ในเกียร์ของรถขับเคลื่อนล้อหลัง



ภาพจาก www.sae.org , dbnst.nii.ac.jp

การบำรุงรักษา

การดูแลเกียร์ CVT ขั้นแรกให้ปฎิบัติตามคู่มือรถยนต์รุ่นที่ใช้อยู่ หมั่นเข้าตรวจเช็ตระยะทางตามที่คู่มือระบุ ในกรณีที่รถยนต์หมดประกันจากศูนย์ฯ หากมีกำลังเงินพอก็สามารถเข้าศูนย์บริการรถยนต์ตามยี่ห้อนั้นได้เช่นเดิม แต่ถ้าจำเป็นต้องเข้าอู่นอกอย่างน้อยควรเข้าอู่หรือศูนย์บริการที่น่าเชื่อถือ พร้อมกับการดูคู่มือประกอบและให้ใช้น้ำมันเกียร์ CVT ที่ระบุไว้ในคู่มือรถเท่านั้น เพื่ออายุที่ยืนยาว เพราะเกียร์ CVT แต่ละรุ่นผู้ผลิตรถยนต์มักจะมีการคำนวนค่าความหนืด ความร้อน ฯลฯ ที่เหมาะสมตามรุ่นของตนเอง หากเปลี่ยนไปใช้น้ำมันนอกเหนือจากที่ระบุอาจเกิดความเสียหายตามมาได้
  
ภาพจาก PTT.com , amsoil.com , 
www.lelong.com.my 

เทคนิคการขับ CVT ให้สนุก

เกียร์ CVT แม้จะไม่มีอาการดึงหน้าหงาย หลังติดเบาะ แต่ถ้าเรียนรู้การทำงานและเข้าใจจังหวะของระบบแล้วรับรองว่าขับสนุกไม่แพ้เกียร์อัตโนมัติแบบทั่วไปแน่นอน

เมื่อต้องการออกตัวให้สนุกกับอัตราเร่ง ควรเหยียบคันเร่งในลักษณะคล้ายคิกดาวน์ แต่กดลงเกือบสุดให้เหลือพื้นที่อีกเล็กน้อย และเมื่อรถเคลื่อนที่ออกตัวไปแล้วก็กดคันเร่งเพิ่มจนสุด ให้รอบเครื่องยนต์กวาดไปที่ช่วง "กำลัง" หรือ เพาเวอร์แบนด์ ที่เครื่องยนต์ให้กำลังสูงสุด จากนั้นเมื่อเร่งจนพอใจก็ให้ถอนคันเร่งเล็กน้อย จะรู้สึกถึงแรงดึงขึ้นอีกนิดนึง เนื่องจากอัตราทดถูกปรับให้แปรผันตามความเร็วและรอบเครื่องยนต์ หรือรุ่นที่มีโหมด "Sport" ให้กดใช้งานได้ ระบบจะคำนวณความเร็วรถและคงรอบเครื่องยนต์ให้อยู่ในระดับพร้อมใช้งานได้ทันที แต่ในโหมดสปอร์ตนี้อาจต้องแลกกับอัตราสิ้นเปลืองที่เพิ่มขึ้นมาบ้าง

หากต้องการแซงแบบไล่ระดับความเร็วให้ค่อยๆ เพิ่มน้ำหนักเท้ามากขึ้นเรื่อยๆ จนสังเกตได้ว่าความเร็วเพิ่มขึ้น เมื่อได้ความเร็วที่ต้องการก็ให้ผ่อนน้ำหนักเท้าช้าๆ การแซงแบบนี้จะทำให้รอบเครื่องยนต์ไม่สูงจนเกิดเสียงเครื่องดังเกินไป และช่วยให้กินน้ำมันไม่มากเกินจำเป็นอีกด้วย   

ในจังหวะเร่งแซงที่ความเร็วสูง เมื่อต้องการแซงควรเว้นระยะห่างรถคันหน้าเอาไว้ และเมื่อได้จังหวะปลอดภัยให้คิกดาวน์เพื่อเรียกกำลังเครื่องยนต์พร้อมกับ CVT ที่จะคำนวนการแปรผันให้อยู่ตำแหน่งที่พร้อมเร่งแซงก่อน (ให้ระบบเกียร์และเครื่องยนต์ได้ปรับเปลี่ยนอัตราทดให่เหมาะสม) แล้วจึงค่อยเบี่ยงแซงรถคันหน้า วิธีนี้ช่วยให้มั่นใจมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ควรขับในย่านความเร็วต่างๆ กัน การเร่งเครื่องยนต์ในหลายรูปแบบเพื่อให้ผู้ขับคุ้นเคยและให้ระบบกล่องควบคุมได้เรียนรู้และจดจำพฤติกรรมการขับในหลายรูปแบบ แล้วรถคุณจะเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายคุณ! 

ฮอนด้า ซีวิค เทอร์โบ ยังเลือกใช้เกียร์ CVT ดึงมันไม่ใช่น้อย

นิสสัน พัลซาร์ และ ซิลฟี่ เทอร์โบ ก็ใช้ CVT และขับมันไม่แพ้เกียร์อัตโนมัติทั่วไป

ข้อดี-ข้อเสีย

อย่างไรก็ตามแม้ระบบเกียร์ CVT จะถูกนำมาใช้มากขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ยังมีทั้งข้อดีและข้อเสียอยู่บ้าง คือ 
ข้อดี - ให้ความนุ่มนวลในการเปลี่ยนเกียร์ อัตราเร่งดีต่อเนื่อง มีระบบช่วยหน่วงความเร็วเมื่อลงทางชัน แปรผันกำลังในการเข้าโค้ง ทางขึ้น-ลงเนินได้แม่นยำไม่เสียจังหวะ ควบคุมคันเร่งในการขับขี่ทางไกลๆ ได้ง่าย รอบเครื่องยนต์ที่ความเร็วสูงจึงให้ความประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิง และมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน (บางรุ่นการันตีตลอดอายุการใช้งาน) เป็นต้น
ข้อเสีย - รอบเครื่องยนต์สูงเกิดเสียงดังเวลาเร่งแรงๆ หากขับในลักษณะ "เท้าหนัก" เครื่องยนต์มักจะค้างไว้ที่รอบสูงบ่อย อาจกินน้ำมันเพิ่มขึ้น อัตราเร่งที่ราบรื่นทำให้ไม่ได้รับ "ฟีลลิ่ง" ในสไตล์สปอร์ตหรืออาการเร่งของแต่ละเกียร์ ระบบเกียร์มีความซับซ้อนแม้ว่าอายุการใช้งานยาวนาน แต่ถ้าใช้งานผิดวิธีอาจเกิดความเสียหายเร็วขึ้น รวมถึงต้องใช้ช่างที่มีความชำนาญพร้อมกับค่าอะไหล่ที่ราคาค่อนข้างสูง เป็นต้น 

กาลครั้งหนึ่งเกียร์ CVT ถูกใช้ใน F1 ทีม Williams' CVT FW15
เกียร์ CVT ถ้ารู้จักใช้ รู้จักขับ ผู้ใช้รถจะได้ประโยชน์ ได้สมรรถนะที่ดีอย่างคุ้มค่า แม้อรรถรสในความดิบๆ ของการเปลี่ยนเกียร์จะเปลี่ยนไป แต่ก็แลกกับความประหยัด ทนทาน นุ่มนวล จนลืมเกียร์อัตโนมัติแบบทั่วไปก็เป็นได้ และในอนาคตเกียร์ CVT อาจถูกติดตั้งในรถยนต์ทุกขนาดทุกไซส์มากขึ้นก็เป็นได้
แท็กที่เกี่ยวข้อง รถยนต์ เกียร์อัตโนมัติ เกียร์ cvt
CAR GURU
เขียนโดย เช็คราคา.คอม CAR GURU

พูดคุยกับกูรูได้ที่




เว็บไซต์นี้มีการเก็บคุกกี้เพื่อเพิ่มความพึงพอใจในการใช้งานเว็บไซต์ และช่วยให้เราปรับปรุง และนำเสนอเนื้อหาตรงตามความสนใจของท่าน ท่านสามารถดู Privacy Notice และ ดู Cookies Policy ของเราได้ ที่นี่ ทั้งนี้ ท่านจะยินยอมให้เราเก็บคุกกี้ทั้งหมด หรือให้เก็บแค่บางส่วนโดยการคลิกเลือก ตั้งค่า

ท่านสามารถเลือกให้ความยินยอมการเก็บคุกกี้เป็นเรื่องๆ ได้ที่นี่

เมื่อคุณเข้าชมเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชั่น checkraka เราอาจจัดเก็บ หรือดึงข้อมูลจากเบราว์เซอร์ของคุณในรูปแบบของคุกกี้ และเทคโนโลยีอื่นที่คล้ายคลึง เช่น tag และ pixel (เรียกรวมกันว่า “คุกกี้”) ซึ่งมักเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้โดยตรง แต่ช่วยให้คุณใช้งานเว็บไซต์ได้ปลอดภัย และตรงตามความต้องการมากขึ้น คุณอาจไม่ยินยอมให้เราเก็บคุกกี้บางประเภทได้ โดยการคลิกตามหัวข้อข้างล่างนี้

ประเภทคุกกี้
อ่านเพิ่มเติม ที่นี่
ยินยอม / ไม่ยินยอม
คุกกี้ที่จำเป็นต้องมีเสมอ
(Strictly Necessary)
คุกกี้สำหรับการใช้งานเว็บไซต์
(Functionality)
คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและวิเคราะห์
(Performance & Analytics)
คุกกี้เพื่อการตลาด
(Marketing)