สิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่า "ไฟเลี้ยว"
การขับรถยนต์บนถนน สิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าการเคารพกฎจราจรนั่นคือ การให้สัญญาณ "ไฟเลี้ยว" เพื่อบอกสิ่งที่เราคิด สิ่งที่เรากำลังจะทำหรือบอกทิศทางที่เราจะไปในขณะขับรถ ให้คนอื่นๆ รับทราบ ทั้งรถที่ขับตามมา รถมอเตอร์ไซค์ รวมถึงคนเดินถนนด้วย
การไม่ให้สัญญาณไฟเลี้ยว บางครั้งอาจนับได้ว่าเป็นการไม่เคารพและไม่มีน้ำใจในการใช้รถใช้ถนนร่วมกัน เพราะการไม่ให้สัญญาณไฟเลี้ยว เป็นสิ่งที่อันตรายต่อผู้อื่น ถึงแม้ว่าการเลี้ยวหรือการเปลี่ยนช่องทางนั้นจะดูว่าเป็นจังหวะรถว่างแล้วก็ตาม แต่ในบางสถานการณ์ อาจมีปัจจัยอื่นๆ เช่น รถที่ใจตรงกันเปลี่ยนช่องทางหรือเลี้ยวในทิศทางเดียวกัน ก็อาจเกิดอุบัติเหตุได้
รถตระกูลยุโรปส่วนใหญ่ก้านไฟเลี้ยวอยู่ทางซ้ายนะครับ
การไม่ใช้สัญญาณไฟเลี้ยวยิ่งเป็นอันตรายต่อรถมอเตอร์ไซค์ที่วิ่งผ่านมาระหว่างช่องทางอีกด้วย ในบางครั้งมอเตอร์ไซค์มีความจำเป็นต้องวิ่งระหว่างกลางของรถ เมื่อรถยนต์เปลี่ยนช่องทางโดยไม่ให้สัญญาณไฟเลี้ยว จึงเป็นเหตุให้เกิดอันตรายได้
การจอดรถริมทางหรือเลี้ยวในแยกต่างๆ หากไม่เปิดไฟเลี้ยวก็อาจเป็นเหตุให้รถคันที่ตามมา หรือรถคันที่อยู่ฝั่งตรงข้ามไม่รับรู้ทิศทางของเรา และอาจไม่ทันระวังจนเกิดอันตรายได้เช่นกัน
"ไฟผ่าหมาก" หรือ "ไฟฉุกเฉิน" ที่หลายคนเข้าว่าต้องเปิดเมื่อต้องการขับตรงผ่านระหว่าง 4 แยกนั้น เป็นการใช้สัญญาณไฟที่ผิด! เพราะการเปิดไฟเลี้ยวพร้อมกันทั้ง 2 ฝั่ง (ไฟฉุกเฉิน) นั้น รถที่มาจากฝั่งซ้ายหรือขวา จะไม่สามารถมองเห็นไฟเลี้ยวอีกฝั่งได้อย่างชัดเจนนัก จึงคิดว่ารถที่เปิดไฟนั้นจะเลี้ยวมาหาฝั่งที่มองเห็นเท่านั้น และก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้
(หมายเหตุ : รถรุ่นใหม่ๆ ไฟเลี้ยวมักจะอยู่ในชุดเดียวกับโคมไฟหน้าและมีมุมที่ลู่ไปด้านข้างตัวรถมากขึ้น จึงทำให้มองเห็นได้ยากมากขึ้นหากอยู่ฝั่งตรงข้ามกับไฟเลี้ยวที่เปิดอยู่)
การใช้ไฟเลี้ยวที่ถูกต้องนั้น ควรเปิดให้สัญญาณไฟเลี้ยว "ไม่น้อยกว่า 30 เมตร" ก่อนถึงจุดที่ต้องการเลี้ยวหรือจะจอดข้างทาง และหากต้องการเปลี่ยนช่องทางจราจรเพียงเล็กน้อยหรือเบี่ยงรถออกเพื่อหลบหลีกสิ่งกีดขวางก็ควรให้สัญญาณไฟเลี้ยว เพื่อรถคันที่ตามมาจะได้ทราบ และปลอดภัยแก่ผู้ใช้รถใช้ถนนร่วมกันนะครับ