"ซื้อรถ" หรือ "เช่ารถ" สำหรับองค์กรอย่างไหนดีกว่ากัน?
หากคุณเป็นเจ้าของกิจการ กำลังกังวลเรื่องจัดหารถยนต์มาไว้ใช้ในกิจการสักจำนวนหนึ่ง แต่คิดไม่ตกว่าควรจะ "เช่าหรือซื้อ" อย่างไหนจะดีกว่า คุ้มกว่า และจัดการระบบเงินในบัญชีได้ดีกว่า เช็คราคา.คอมชวนมาหาคำตอบกันครับว่า แบบไหนที่จะช่วยให้ธุรกิจของคุณไม่สะดุด เพราะงบดุลจากการใช้รถบานปลาย
รถยนต์ที่ใช้ในองค์กร
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจว่า แทบทุกองค์กรที่มีรถยนต์ให้ใช้งาน ไม่ว่าจะเพื่อประจำตำแหน่งคนสำคัญๆ ไปจนถึงรถส่งสินค้า ล้วนเป็นรถยนต์ที่ให้บุคคลต่างๆ ใช้งานฟรี และไม่ใช่รถของบุคคลนั้น จึงมีโอกาสเกิดความคิดในบางกลุ่มคนที่ว่า "ไม่ใช่รถฉัน จะขับอย่างไรก็ได้" และในที่สุดเมื่อรถคันนั้นไม่ได้รับการดูแลดูบำรุงรักษาอย่างถูกต้องตามระยะทาง และขาดความทะนุถนอมในการใช้งาน รถยนต์คันนั้นๆ ย่อมมีการเสื่อมสภาพ โทรมเร็วกว่าปกติหรืออาจไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างเหมาะสมนัก เป็นเหตุให้ต้องบำรุงรักษาหนักกว่าปกติ และมีค่าใช้จ่ายที่อาจเพิ่มมากขึ้น และในขณะเดียวกันบางครั้งก็ไม่สามารถจะตัดรถยนต์ประจำตำแหน่งได้ จึงต้องทนกับค่าใช้จ่ายจุกจิกที่ไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งรถยนต์ที่ใช้ในองค์กรมักมี 2 ประเภทคือ ซื้อสดหรือผ่อนไฟแนนซ์ และการเช่ารถจากบริษัทที่น่าเชื่อถือ
ซื้อรถยนต์
การซื้อรถยนต์ในองค์กร ทั้งสดหรือผ่อน นับเป็นการซื้อทรัพย์สินมาเป็นของบริษัท ข้อดีคือ เป็นทรัพย์สิน และสามารถขายต่อให้กับคนภายในองค์กรได้ การซื้อรถยนต์มาใช้นั้น ทางบริษัทจะต้องเตรียมพร้อมกับค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นนอกเหนือจากการผ่อนชำระ, ค่าน้ำมัน ฯลฯ นั่นคือ การซ่อมบำรุง และการรับผิดชอบด้านประกันภัย รวมถึงเมื่อเกิดอุบัติเหตุ ทางบริษัทก็จะต้องเป็นผู้ดูแลทั้งหมด อาจทำให้เกิดความยุ่งยาก ไม่สะดวกทั้งการต่อภาษีประจำปี การต่อประกันภัย เป็นต้น โดยรวมแล้วอาจต้องจัดตั้งหน่วยงานหรือผู้รับผิดชอบดูแลด้านนี้โดยเฉพาะ ซึ่งอาจสิ้นเปลืองงบประมาณมากขึ้น
เช่ารถยนต์
การเช่ารถยนต์เพื่อใช้ในองค์กรนับว่าได้รับความนิยมมาอย่างยาวนานแล้ว โดยเฉพาะสถาบันการเงินใหญ่ๆ และบริษัทมหาชนระดับชาติ เพราะความสะดวกในการควบคุมค่าใช้จ่ายและระบบการดูแลรักษารถ โดยรถเช่านั้น บริษัทผู้ให้เช่ารถจะมีหน้าที่ดูแลให้ครบวงวร เริ่มตั้งแต่การรับ-ส่งมอบรถ, การนำรถเข้าเช็คระยะ, การเคลมต่างๆ พร้อมกับมีรถให้ใช้ทดแทน, บริการต่อภาษีประจำปีและประกันภัย และสุดท้ายสามารถปรับรุ่นรถได้ตามที่ระบุเอาไว้ในสัญญา เช่น ทุกๆ 3 ปี เป็นต้น และหมดห่วงในเรื่องขายรถต่อเพราะเป็นความรับผิดชอบของผู้ให้เช่ารถ ดังนั้น การเช่ารถจะมีความสะดวกและสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายดีกว่า
เปรียบเทียบ "ซื้อรถ - เช่ารถยนต์"
มาดูตารางเปรียบเทียบกันชัดๆ ว่าการซื้อรถและการเช่ารถให้กับองค์กรอย่างไหนจะคุ้มค่า และดีกว่ากัน
ซื้อรถ / Leasing - Hire Purchase | เช่ารถ / Long Term Rental |
1. ต้องจ่ายเงินดาวน์ หรือวงเงินประกัน 2. ค่างวดเท่ากันทุกเดือน แต่ลูกค้าต้องรับผิดชอบเรื่องค่าซ่อมบำรุงเอง 3. ลูกค้าต้องดูแลเรื่องต่อทะเบียนและพรบ. เอง 4. ไม่มีรถใช้ขณะเข้าซ่อมบำรุง หรือเกิดอุบัติเหตุกะทันหัน 5. เปลี่ยนรุ่นและแบบรถได้ยากเพราะเป็นทรัพย์สิน 6. ลูกค้าต้องรับความเสี่ยงจากค่าเสื่อม และค่าซากรถที่ไม่แน่นอนในอนาคต 7. รถถูกระบุว่าเป็นทรัพย์สินโดยระบบหักค่าเสื่อมปีละ 20% เป็นเวลา 5 ปี และสามารถหักได้สูงสุด 1,000,000 บาทเท่านั้นซึ่งเป็นภาระทางบัญชีเนื่องจากต้องควบคุมทรัพย์สิน 8. ลูกค้าต้องจ่ายค่าซ่อมบำรุงเองซึ่งทำให้ยากต่อการคุมค่าใช้จ่ายหรืองบประมาณ 9. เข้าศูนย์บริการปกติ หรืออู่ซ่อม | 1. ไม่ต้องจ่ายเงินดาวน์ หรือเงินมัดจำ 2. ค่าเช่าคงที่ทุกเดือน สะดวกสบายด้วยระบบ Full Maintenance Service 3. ลูกค้าไม่ต้องกังวลเรื่องต่อทะเบียนประจำปี และ พรบ. 4. มีรถทดแทนในระดับเดียวกันหรือสูงกว่าเมื่อรถต้องเข้าศูนย์บริการ หรือมีอุบัติเหตุ 5. ลูกค้าสามารถเปลี่ยนรถได้ใหม่ตลอด ไม่ต้องขับรถตกรุ่น เพื่อความน่าเชื่อถือและภาพลักษณ์ 6. ลูกค้าไม่ต้องรับความเสี่ยงเรื่องของราคาซากสำหรับการขายต่อมือสอง 7. ในทางบัญชีรถเช่าไม่ถูกระบุว่าเป็นทรัพย์สิน แต่เป็นค่าใช้จ่าย จึงลดหย่อนภาษีได้ทั้งหมด หรือไม่เกิน 36,000 (นิติบุคคลเท่านั้น) 8. ลูกค้าไม่ต้องรับผิดชอบเรื่องค่าซ่อมบำรุง เพราะทางผู้ให้เช่าจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเอง 9. สาขาที่คอยให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศไทย และในบางแห่งมีศูนย์บริการมาตรฐานของยี่ห้อรถยนต์ พร้อมเป็นพันธ์มิตรกับศูนย์ B-Quik ทั่วประเทศ |
จะเห็นว่าข้อดีและข้อด้อยนั้นแตกต่างกันค่อนข้างมาก ดังนั้นก่อนจะตัดสินใจควรพิจารณาให้รอบคอบกันก่อนนะครับ
ก่อนเช่ารถ เช็คความพร้อมของบริษัทกันก่อน
เมื่อเริ่มเห็นความคุ้มค่าในการเช่ารถให้กับบริษัท องค์กรหรือห้างร้านแล้ว ถ้าตัดสินใจเลือกเช่ารถแทนการซื้อ เราก็ควรเลือกเช่ารถยนต์กับบริษัทเช่ารถที่มีความน่าเชื่อถือ มีความชำนาญ และมีรถยนต์พร้อมให้ใช้งานตามที่ต้องการ ซึ่งโดยส่วนมากบริษัทเช่ารถมักใช้รถยนต์ที่มีอายุตลาดระหว่าง 3 - 5 ปี อายุรถก็เป็นหนึ่งอย่างที่ต้องใส่ใจ เพราะยิ่งรถมีอายุมากก็ย่อมแสดงว่าเป็นรถที่มีการใช้งานมาอย่างยาวนานย่อมมีโอกาสเสียหาย หรือใช้งานได้ไม่เต็มสมรรถนะ ดังนั้นเราจึงควรเลือกบริษัทที่ใช้รถยนต์เช่าที่มีอายุตลาดโดยรวมไม่ควรเกิน 3 ปี หลังจากนั้นก็ควรเปลี่ยนคันหรือรุ่นใหม่ทันที เพื่อความสบายใจและความปลอดภัยของผู้เช่ารถ