ดีเซลควันดำ เกิดจากอะไร?
เครื่องยนต์ดีเซลในปัจจุบันใช้ในรถยนต์ทั่วไป ทั้งเก๋งขนาดเล็ก-กลาง-ใหญ่ รวมถึงรถยนต์ไฮบริด โดยเฉพาะรถกระบะส่วนมากจะใช้กันอย่างแพร่หลาย ยิ่งมีระบบอัดอากาศอย่างเทอร์โบ ยิ่งทำให้กำลังสูง และให้อัตราสิ้นเปลืองต่ำ เครื่องยนต์ดีเซลมักมีข้อด้อยในเรื่องของ "ควัน" จากระบบไอเสียเมื่อใช้งานไปนานๆ อาจมีควันดำออกมาในขณะเร่งเครื่องหรือแม้กระทั่งรถรุ่นใหม่ๆ ก็อาจมีโอกาสเกิดควันดำได้ ส่วนสาเหตุนั้นเกิดได้จากอะไรบ้างมาดูกันครับ
สาเหตุ : มักเกิดจากการที่ไส้กรองอากาศเริ่มเสื่อมสภาพจากการที่ดูดฝุ่นละอองเข้าไปสะสมจนเกิดการไหลของอากาศไม่สะดวก ทำให้ระบบควบคุมการฉีดน้ำมันและอากาศแปรปวน สั่งจ่ายน้ำมันมากเกินไป จนเกิดการเผาไหม้ไม่หมด และตกค้างภายในกระบอกสูบจนถูกคายปะปนออกมากับไอเสีย ควันลักษณะนี้จะมีสีน้ำเงินเข้มๆ อมดำ หรือถ้ามองตาเปล่าคือ ควันดำนั่นเอง
วิธีแก้ไข : หมั่นตรวจเช็คไส้กรองอากาศตามระยะทาง หรือทำความสะอาดเมื่อใช้ในเส้นทางที่มีฝุ่นละอองมากๆ

ภาพจาก au.bosch-automotive.com
สาเหตุ : เกิดจากระบบการไหลเวียนของท่อทางเดินน้ำมันเชื้อเพลิงต่างๆ รวมถึงระบบไส้กรองที่ไหลไม่สะดวก เกิดการอุดตันจนทำให้น้ำมันเชื้อเพลิงจ่ายไม่สม่ำเสมอหรือผิดพลาด และอาจเกิดจากระบบหัวฉีดที่ตันหรือจ่ายน้ำมันมากเกินไป, การเปิด/ปิดของเข็มหัวฉีดไม่ถูกต้อง ก็ส่งผลให้การเผาไหม้ไม่สมบูรณ์และเกิดควันดำได้ และอีกสาเหตุหนึ่งที่นักแต่งซิ่งรถกระบะทั้งหลายนิยมกันมากนั่นคือ การดันราง* ซึ่งควันในลักษณะนี้จะดำมากๆ
(*การใส่ชุดอุปกรณ์เพื่อควบคุมหรือกักแรงดันน้ำมันดีเซลในรางหัวฉีด (คอมมอนแรล) ให้มีแรงดันสูงๆ ให้จ่ายน้ำมันได้คราวละมากๆ ต่อการยกของเข็มหัวฉีดหรือไหลออกผ่านรูของหัวฉีดแต่ละครั้ง จนอาจเกิดการจ่ายน้ำมันที่หนาเกินไปจนเผาไหม้ไม่หมด)

ภาพจาก www.darwendiesels.com
วิธีแก้ไข : หมั่นตรวจเช็คตามระยะทางอย่างเคร่งครัด เปลี่ยนไส้กรองน้ำมันเชื้อเพลิงตามระยะ หากรถที่ใช้งานมากกว่า 1 แสนกิโลเมตรขึ้นไปก็ควรนำเข้าทดสอบระบบหัวฉีด (เทสต์หัวฉีด) เพื่อดูอัตราการไหลและความผิดปกติของหัวฉีดในแต่ละสูบ สุดท้ายคือ หากไม่จำเป็นต้องขับเร็วหรือ "ซิ่ง" ควรหลีกเลี่ยงการปรับแต่งเครื่องยนต์ที่อาจส่งผลในเรื่องระบบจ่ายน้ำมันที่ไม่สมบูรณ์

ภาพจาก www.autoguide.com
สาเหตุ : เครื่องหลวมในที่นี้หมายถึง อุปกรณ์ชิ้นส่วนภายในกระบอกสูบ เช่น แหวนลูกสูบ ปะเก็นฝาสูบ ท่อตาน้ำมันเครื่อง ยางซีลวาล์วเสื่อมสภาพ และทำให้น้ำมันหล่อลื่นไหลลงมาปะปนภายในห้องเผาไหม้ หรือในรุ่นเครื่องยนต์มีเทอร์โบอาจเกิดจากแกนเทอร์โบหลวมจนน้ำมันเครื่องไหลออกไปผสมกับไอเสียที่โข่งหลังของเทอร์โบและก่อให้เกิดเขม่าขึ้นมา ซึ่งโดยทั่วไปควันลักษณะนี้มักมีสีเทาๆ

ภาพจาก en.wikipedia.org

ภาพจาก turbocharger.man.eu
วิธีแก้ไข : ตรวจเช็คเครื่องยนต์ตามจุดต่างๆ โดยช่างที่ชำนาญเพื่อรีบแก้ไขให้ถูกต้อง
ระบบกรองไอเสียอุดตัน (แคตตาไลติก คอนเวอร์เตอร์)
สาเหตุ : การอุดตันของชุดกรองไอเสียที่ผ่านการใช้งานมานานอาจเป็นสาเหตุทำให้เซ็นเซอร์ของชุดวัดปริมาณอากาศเกิดการผิดเพี้ยนได้ จึงทำให้การสั่งจ่ายน้ำมันจาก ECU ไม่เที่ยงตรง และเกิดควันดำออกมาได้เช่นกัน

ภาพจาก longislandcatalytic.com
วิธีแก้ไข : เปลี่ยนใหม่ โดยจะซื้อของใหม่เบิกห้างหรือถ้างบน้อยก็หาของเก่ามือสองจากเชียงกงให้ตรงรุ่นก็ย่อมได้

ภาพจาก www.quora.com
สาเหตุ : อันนี้อาจเกิดในช่วงเริ่มสตาร์ตเครื่องยนต์ใหม่ๆ มักจะมีควันจางๆ ออกมาเป็นก้อน ซึ่งถ้าหากใช้งานไปสักพักแล้วไม่เกิดควันอีกก็แสดงว่าเป็นควันที่ตกค้างในท่อไอเสีย นับว่าไม่เป็นอันตราย
วิธีแก้ไข : ไม่จำเป็นต้องทำอะไร และไม่ควรฉีดน้ำย้อนเข้าในท่อไอเสีย
ไม่เปลี่ยนถ่ายน้ำมันหล่อลื่นตามระยะ

ภาพจาก iselinc.com
สาเหตุ : การไม่เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องและไส้กรองตามระยะทาง ย่อมส่งผลเสียต่อชิ้นส่วนภายในเครื่องยนต์และอาจทำให้มีเขม่าจากการเสื่อมสภาพของน้ำมันเครื่องที่หมดอายุ ซึ่งเคลือบบนผิวผนังกระบอกสูบถูกเผาไหม้ปนออกมากับไอเสียได้
วิธีแก้ไข : ควรบำรุงรักษาด้วยการเช็คระยะตามคู่มือที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด

ภาพจาก blog.precisioncode.works
การปรับแต่งเครื่องยนต์ก็นับเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดควันดำ และก่อให้เกิดมลพิษ เพราะการปรับเครื่องยนต์ให้มีกำลังและสมรรถนะที่ดีขึ้นอาศัยหลักการ "เพิ่มการจ่ายน้ำมัน และเพิ่มอากาศ" ให้เข้าห้องเผาไหม้ให้เยอะที่สุด แต่สิ่งที่ตามมาก็คือ การเผาไหม้ไม่หมด หรือน้ำมันที่เหลือจากการ "ถ่ม" น้ำมันดีเซลเข้าไปก็ถูกเผาออกมาเป็น "เขม่าหรือควันดำ" นั่นเอง ดังนั้น เครื่องยนต์ดีเซลรุ่นใหม่ๆ มักมีกำลังแรงม้าสูงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ซึ่งก็เพียงพอต่อการใช้งานทั่วไป
สาเหตุต่างๆ ที่ทำให้เกิดควันนั้น อาจมีปัจจัยอื่นๆ ที่แตกต่างจากนี้ได้อีก เช่น บรรทุกน้ำหนักเกิดจนเครื่องยนต์รับภาระมากเกินไปหรือการตัดชุดกรองไอเสียทิ้ง เพื่ออยากให้อัตราเร่งดีขึ้น แต่ก่อให้เกิดมลภาวะ เป็นต้น ดังนั้น ควรดูแลบำรุงรักษารถยนต์ที่เรารักให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์อยู่เสมอ เพื่อลดมลภาวะ ประหยัดเชื้อเพลิง และมีอายุการใช้งานที่ยาวนานอีกด้วยครับ