เรียนรู้ภาษีรถใหม่ปี 2016
เชื่อว่าหลายๆ คนคงได้ข่าวเกี่ยวกับอัตราภาษีรถใหม่ที่เพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 59 ที่ผ่านมา บางคนอาจสับสน หรือไม่แน่ใจว่ารถทุกรุ่นขึ้นราคาทั้งหมดหรือไม่ (ช่วยให้ยอดขายรถยนต์ปลายปี 58 ขยับขึ้น ขายดิบขายดีขึ้นมา) แล้วจริงๆ ราคาปรับขึ้นทุกรุ่นหรือไม่ และอัตราภาษีรถใหม่นั้นเป็นอย่างไร เช็คราคา.คอม มีคำตอบมาให้ครับ
คลิกที่รูปดูรายละเอียด/ขอบคุณภาพข้อมูลจาก
กระทรวงการคลัง การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตรในแบบที่ผ่านมา (ปี 2558 ย้อนหลังกลับไป) จะพิจารณาจากขนาดของความจุเครื่องยนต์ (CC) และดูประกอบกับระบบเชื้อเพลิง และประเภทรถยนต์ (รถยนต์นั่ง/บรรทุก/โดยสาร) แล้วคิดออกมาเป็นเปอร์เซ็นต์ที่ต้องชำระ เช่น รถยนต์นั่ง เครื่องยนต์ 2,000 ซีซี ใช้น้ำมัน E85 จะเสีย 22% เป็นต้น (ดูตารางด้านล่างประกอบ) รวมถึงรถที่อยู่ในโครงการอีโคคาร์เฟสแรก
แต่ปัจจุบันการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตรถยนต์ในปี พ.ศ. 2559 จะพิจารณาจาก "ระดับปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ของรถยนต์ที่ผลิตออกจากโรงงาน" เป็นพื้นฐานในการคำนวณภาษีแบบใหม่ ร่วมกับองค์ประกอบอื่นๆ ด้วยคือ ความจุกระบอกสูบ, ประเภทเชื้อเพลิง, ประเภทรถยนต์ไฮบริด/อีโคคาร์ในเฟส 2 และปิคอัพ นับเป็นเรื่องดีในการควบคุมมลพิษเพื่อคุณภาพอากาศที่ดีขึ้น
คลิกดูรูปใหญ่ภาพจาก thaipublica.org
สรุปให้เข้าใจอย่างง่ายๆ ก็คือการจัดเก็บภาษีรถใหม่หลักๆ คือ วัดจากการปล่อยไอเสียหรือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ไม่ว่าจะรถแบบไหน ขนาดเครื่องยนต์เท่าไหร่ก็ตาม ย่อมมีผลให้ราคาเปลี่ยนแปลงทั้งขยับขึ้นหรืออาจขยับลงก็ได้ ดังนั้นราคารถใหม่ในปี 2559 นี้ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขึ้นเสมอไป อาจมีบางรุ่นต่ำกว่าเดิมก็เป็นได้ เช่น กลุ่มปิคอัพและพีพีวีเครื่องยนต์ดีเซล มีการปล่อย CO2 มากหน่อยก็อาจเพิ่มขึ้น ส่วนกลุ่มอีโคคาร์และไฮบริดบางรุ่นอาจถูกลง
ประโยชน์ของการจัดเก็บภาษีแบบใหม่
การเปลี่ยนระบบจัดเก็บภาษีใหม่นี้มีประโยชน์อย่างไรบ้างมาดูกันครับ
1. เปิดโอกาสให้มีการผลิตหรือนำเข้ารถยนต์ โดยไม่จำกัดเทคโนโลยี
การเปิดโอกาสให้มีการผลิตหรือนำเข้ารถยนต์โดยไม่จำกัดเทคโนโลยีนั้น เกิดประโยชน์แก่ประชาชนทำให้ได้ใช้รถที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปกติผู้ผลิตรถก็พัฒนา และแข่งขันกันด้านเทคโนโลยีอยู่แล้ว หลายๆ ยี่ห้อใส่ใจในการผลิตรถมลพิษต่ำ แต่การติดตั้งสารพัดเทคโนโลยีลงในรถอาจส่งผลด้านต้นทุนตามมาและเป็นค่าใช้จ่ายแฝงให้กับผู้ใช้งานด้านการบำรุงรักษาในอนาคต
ข้อมูลรถโตโยต้า ยาริส 1.2 ลิตร
2. ป้ายแสดงข้อมูลรถยนต์ บอกอัตราการใช้น้ำมัน มาตรฐานสิ่งแวดล้อม
ป้ายแสดงข้อมูลรถยนต์ สามารถใช้เป็นข้อมูลในการเลือกซื้อรถประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงกำหนดให้รถต้องติดตั้งระบบแอคทีฟ เซฟตี้ เพื่อความปลอดภัยและเป็นการยกระดับอุตสหกรรมยานยนต์ของเมืองไทย แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่า ป้ายแสดงข้อมูลนี้อาจเหมือนกับฉลากประหยัดไฟเบอร์ห้า ที่สุดท้ายมักแสดงตัวเลข 5 ว่าประหยัดไฟมากที่สุด ส่วนอัตราการใช้น้ำมันใน-นอกเมืองเฉลี่ยอ้างอิง หลายผู้ผลิตรถอาจพยายามทำให้ใกล้เคียง 5 ลิตร/100 กม. (20 กม./ลิตร) แต่รายละเอียดอื่นๆ ก็แทบไม่ต่างจากสเปคในโบรชัวร์ อย่างไรก็ตามการมีป้ายแสดงย่อมดีกว่าไม่มี เสมือนเป็นฉลากบอกรายละเอียดของสินค้า ทำให้ผู้บริโภคได้ทราบข้อมูลสำคัญได้ทันที
3. การจัดเก็บภาษีตามค่า CO2 ช่วยผลักดันให้เกิดนวัตกรรมและเทคโนโลยียานยนต์ใหม่ๆ
นวัตกรรมและเทคโนโลยีของยานยนต์ไม่เคยหยุดนิ่งอยู่แล้ว การผลักดันให้เกิดเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อลดค่า CO2 หรืออีกนัยก็เพื่อลดมลพิษ ช่วยลดโลกร้อน เป็นสิ่งที่ผู้ผลิตรถทั่วโลกส่วนใหญ่ตระหนักอยู่ตลอด แต่เทคโนโลยีใหม่ๆ ย่อมมากับต้นทุนที่แพงขึ้นเสมอ จึงเป็นหน้าที่ของผู้ผลิตที่ต้องหาความสมดุลในการทำรถมลพิษต่ำแต่ตอบสนองผู้บริโภคได้คุ้มค่ามากที่สุด
ป้าย ECO Sticker
ข้อมูลจากฮอนด้า 4. ประชาชนสามารถเลือกซื้อรถที่มีประสิทธิภาพด้านประหยัดพลังงานและลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก โดยดูจากป้ายแสดงข้อมูลรถยนต์ (ECO STICKER)
ยุคนี้หลายคนมักเลือกซื้อรถที่ตอบโจทย์การใช้งานได้มากสุด หรือมีรูปลักษณ์และสเปคถูกใจ มากกว่ามองที่ด้านความประหยัดสูงสุด ต่อให้มีตัวเลือกมากกว่า 1 รุ่น ตัวเลขความประหยัดก็ยังมีผลต่อการตัดสินใจน้อย เพราะถ้าเป็นรุ่นในพิกัดเดียวกันมักมีค่าความประหยัดใกล้เคียงกันมาก แต่การมีป้ายแสดงข้อมูลรถยนต์ย่อมให้ความสะดวกแก่ผู้บริโภคในการเข้าถึงรายละเอียดของตัวรถในด้านต่างๆ ได้ทันที โดยเฉพาะค่า CO2 และอัตราการใช้น้ำมัน ตัวเลขสิ้นเปลืองตรงนี้อาจส่งผลต่อความคาดหวังในการใช้งานจริง ทั้งๆ ที่มีความเป็นไปได้น้อยในการทำตัวเลขให้ได้ใกล้เคียงตามที่ระบุไว้ในป้าย ไม่นานป้ายนี้ก็จะเหมือนฉลากประหยัดไฟเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ต้องมี แต่อาจไม่มีใครใส่ใจในรายละเอียด
สรุปผลที่ได้รับคือ ภาครัฐจัดเก็บภาษีได้มากขึ้น อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยยกระดับมาตรฐานดีขึ้น แนวโน้มการผลิตรถมลพิษต่ำมีมากขึ้น แต่ภาระบางส่วนคงต้องตกไปอยู่ที่ผู้ผลิตและผู้บริโภค
กลุ่มที่น่าสนใจและมีผลกระทบอย่างรถกระบะและพีพีวี อาจต้องเร่งขายในปีนี้ เพราะรุ่นใหม่ๆ ล้วนแต่ติดตั้งเทคโนโลยีล้ำสมัยมากมาย เช่น ระบบความปลอดภัย ระบบช่วยเหลือต่างๆ ฯลฯ ส่งผลให้ราคาขยับขึ้น จนรถกระบะรุ่นท็อปมีราคาทะลุหลักล้าน ในปีนี้ราคาจำเป็นต้องขยับขึ้นอีกตามอัตราภาษีใหม่ ราคารถกระบะรุ่นท็อปอาจขึ้นไปแตะกลุ่มเอสยูวี และเอสยูวีขนาดคอมแพกต์อย่าง HR-V ก็กำลังเก็บตลาดคนชอบรถยกสูงแต่ดูดีในระดับราคาล้านต้นๆ ปลายปี 58 ยอดขายรถกระบะรุ่นใหม่ๆ ยังไม่เปรี้ยงปร้างตามที่หลายค่ายตั้งเป้า ถ้าปีนี้เจอราคาใหม่ คงได้เห็นการทำโปรโมชั่นแบบเข้มข้นมากขึ้น
ตัวอย่าง
ราคารถยนต์ฮอนด้าที่เปลี่ยนแปลงหลังปรับฐานภาษีในปี 2016
ทั้งนี้ทั้งนั้น อย่าหลงไปกับคำโฆษณา หรือการโดนเร่งเร้าให้ซื้อรถเพราะ
โปรโมชั่นเด็ดๆ แต่ควรซื้อรถใหม่ก็ต่อเมื่อพร้อมและมีความจำเป็น ยิ่งเป็นการเช่าซื้อยิ่งเหมือนกับเช่ารถใช้รายเดือน ถ้ายังจำกันได้ในช่วงอีโคคาร์เฟสแรก บางคนรีบซื้อรถโดยที่ยังขับรถไม่เป็นหรือไม่มีใบขับขี่ด้วยซ้ำ! อุตส่าห์ใช้สิทธิซื้อมาจอดเก็บไว้ที่บ้านก่อนกลัวเสียโอกาส โดยลืมว่ารถยนต์มีค่าเสื่อมสภาพและราคาตกทุกวัน ยิ่งจอดยิ่งขาดทุน ขณะเดียวกันยิ่งใช้ยิ่งคุ้ม นั่นเป็นความจริงที่หลายคนมองข้ามไป