ระวัง! เลี้ยวสุด..เร่งแรง..เพลาพังเร็ว
การหมุนพวงมาลัยเพื่อเลี้ยวจนสุด และออกตัวแรงๆ นับว่ามีอันตรายและมีผลเสียต่อระบบช่วงล่าง โดยเฉพาะเพลาขับสำหรับรถขับเคลื่อนล้อหน้า ซึ่งส่งผลโดยตรงไปที่ลูกปืนของหัวเพลา หรือระบบพวงมาลัยเพาเวอร์ (ในรถที่ใช้แบบน้ำมันไฮดรอลิก)
"เพลาขับเคลื่อน" ทำหน้าที่ส่งกำลังจากเฟืองท้ายในชุดเกียร์ไปสู่ล้อ ซึ่งประกอบด้วยหัวเพลาที่มีลูกปืนสำหรับรองรับการหักเลี้ยวของล้อหน้า ดังนั้นชุดลูกปืนเพลานับเป็นชิ้นส่วนที่รับภาระหนักมากจุดหนึ่งทั้งแรงบิดจากเครื่องยนต์และการหักมุมเลี้ยว พร้อมๆ กับการเคลื่อนไหวแนวขึ้นหรือลงในขณะวิ่งผ่านอุปสรรคต่างๆ จะเห็นว่าเพลารับบทหนักมากมายเลยครับ และยังไม่รวมชุดยางหุ้มเพลาที่อาจจะขาดเมื่อถูกแรงกระชากบ่อยอีกด้วย และเมื่อยางหุ้มเพลาขาด จารบีหล่อลื่นไหลออกหมด ลูกปืนจะไม่มีตัวหล่อลื่นและเสียดสีจนเกิดความร้อนและแตกในที่สุดครับ
เพลาขับจะมียางหุ้มเพลาพร้อมอัดจารบีอยู่ข้างในด้วย
ชุดนี้เป็นเพลาขับล้อหน้าของรถปิคอัพ 4X4 ก็มียางหุ้มเพลาเช่นกัน
ผลเสียที่เกิดจากการหมุนพวงมาลัยสุดและออกตัวอย่างแรงนั่นคือ ลูกปืนเพลาที่จะรับภาระหนักเป็นจุดแรก และถ้าเป็นระบบเพาเวอร์ไฮดรอลิกด้วยก็จะยิ่งทำให้ชุดวาล์วหรือท่อทางเดินของน้ำมันเพาเวอร์เกิดแรงดันสูงมาก เนื่องจากเมื่อหมุนจนสุดแล้วไม่คลายออกบ้างจะเกิดการอั้นของระบบภายใน จึงมีแรงดันมหาศาลระบบ และส่งผลต่อชุดท่อทางเดินหรือข้อต่อ รวมถึงซีลกันรั่วภายในแร็คฯ พวงมาลัยได้ ทำให้อายุการใช้งานน้อยลง และเมื่อเสียก็มีค่าใช้จ่ายสูงมากๆ เบิกของใหม่ๆ ไม่ต่ำกว่าหมื่นบาททีเดียวครับ ส่วนพวงมาลัยที่เป็นระบบไฟฟ้า อาจมีผลเพียงเรื่องของระบบชุดลูกปืนเพลา ส่วนน้ำมันไฮดรอลิกไม่มีครับ
วิธีหมุนพวงมาลัยที่ถูกต้องคือ ไม่ควรหมุนสุดจนมีเสียงดัง "ตึ้ก" นั่นแสดงว่าคุณหมุนจนชุดแร็คแอนด์พิเนียนไปจนถึงตัวกั้นเพื่อกันการหักหมุนมากเกินไปนั่นเอง เมื่อหมุนจนสุดก็ควรคลายออกเล็กน้อยก่อนเร่งออกตัว และไม่ควรเร่งออกตัวอย่างแรงๆ จนยางมีเสียง "เอี๊ยดอ๊าด" เพราะนั้นคือ ความสะใจหรือความมันที่อยู่บนภาระของ "น้องเพลาน้อยๆ" ของรถเรานั่นเองครับ
ขับขี่ปลอดภัยเข้าโค้งลดความเร็วลงสักนิดนะครับ
รถยนต์เป็นพาหนะที่ให้ความสะดวกสบายในการเดินทาง ดังนั้นหากเราทะนุถนอมและใช้งานอย่างรู้คุณค่า นอกจากปลอดภัยแล้วยังช่วยประหยัด พร้อมยืดอายุการใช้งานชิ้นส่วนและการซ่อมบำรุงของรถเราได้อีกด้วยครับ