ซื้อประกันภัยรถยนต์อย่าใจเร็ว : 8 ข้อแนะนำที่ต้องอ่านก่อนซื้อ
ประกันภัยรถยนต์เดี๋ยวนี้มีสารพัดประเภทให้เลือกมากมาย นอกจากนี้ บริษัท หรือโบรกเกอร์ประกันเดี๋ยวนี้ก็มีมากมายให้เลือกเช่นกัน และแต่ละที่ก็มักจะมี Option โน่นนี่มานำเสนอ คำถามคือเราจะเลือกอันไหนดี? วันนี้ CheckRaka.com มีข้อแนะนำประเด็นพื้นฐานบางอย่างที่เราต้องคำนึงเสมอในการเลือกประกันรถค่ะ ซึ่งถ้าเราเข้าใจประเด็นพวกนี้ เราก็จะสามารถใช้วิจารณญาณในการเลือกซื้อได้อย่างเหมาะสมกับตัวเราค่ะ เรามาดูกันเลยค่ะว่า ข้อพิจารณาพวกนี้มีอะไรบ้าง
1. ทำประกันภัยกับบริษัทที่มั่นคง
เวลาจะทำประกันภัยรถ ให้เปรียบเสมือนว่าเรากำลังจะฝากเงินเสมอ เพราะเราต้องจ่ายเงินให้เขาไปก่อน (ในรูปของเบี้ยประกัน) และถ้ารถเกิดอุบัติเหตุ บริษัทประกันต้องจ่ายเงินค่าซ่อมรถ หรือค่ารักษาพยาบาลให้เราตามเงื่อนไข แต่ถ้าถึงเวลาแล้ว บริษัทประกันนั้นดันไม่มีสภาพคล่อง หรือฐานะทางการเงินไม่ดี จ่ายเงินค่าซ่อม หรือค่ารักษาพยาบาลให้เราไม่ได้ ปัญหาก็จะมาตกอยู่ที่เรา ดังนั้น เราต้องเลือกบริษัทที่มีฐานะมั่นคงในระดับหนึ่ง วิธีการตรวจสอบก็มีหลายแบบ เช่น ถ้าบริษัทประกันนั้นๆ อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เราก็สามารถเข้าไปตรวจสอบข้อมูลทางการเงินของบริษัทนั้นๆ ได้จาก
www.set.or.th หรือเราอาจลองเข้าไปเว็บไซต์ของ สนง. คณะกรรมการกำกับ และส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ที่
www.oic.or.th ซึ่งบางทีก็จะมีลิสต์รายชื่อบริษัทประกันที่กำลังมีปัญหาอยู่ หรือลอง Search หาในเว็บไซต์ทั่วไปดูจะเจอว่าบริษัทประกันภัยบางรายชอบเบี้ยวไม่จ่ายค่าซ่อมรถให้อู่ ซึ่งพวกนี้เป็นสัญญาณที่ไม่ดีทั้งนั้น
2. เลือกประเภทประกันภัยให้เหมาะกับตัวเรา
อีกสิ่งหนึ่งที่ควรให้ความสำคัญนอกเหนือจากดูที่บริษัทประกันแล้ว ก็ควรพิจารณาประเภทของประกันภัย หรือความคุ้มครองที่จะได้ด้วย โดยต้องเลือกประเภทให้เหมาะกับตัวเรา เช่น เราขับรถบ่อยไหมในหนึ่งสัปดาห์ เราเป็นคนขับรถเร็วหรือเปล่า ขับคนเดียวเป็นส่วนใหญ่หรือมีสมาชิกครอบครัวนั่งด้วยตลอด ส่วนใหญ่ขับทางไกลหรือทางใกล้ และรถเราเก่าแค่ไหน เป็นต้น ประกันภัยรถมีหลายประเภท ซึ่งเรามีตารางสรุปให้ดูเป็นไอเดียคร่าวๆ ค่ะว่า แบบไหนที่น่าจะเหมาะกับเรา
ตัวอย่างตารางเปรียบเทียบประกันภัยแต่ละประเภท
ประเภทประกันภัย | เหมาะสำหรับ | คุ้มครอง ผู้ขับขี่และ ผู้โดยสาร (คู่กรณี) | คุ้มครองรถยนต์และทรัพย์สินของคู่กรณี | ซ่อมรถ ผู้เอาประกัน | คุ้มครองรถสูญหาย | คุ้มครอง ไฟไหม้ | คุ้มครองชีวิตและผู้ขับขี่และผู้โดยสาร | รักษาพยาบาลผู้ขับขี่และผู้โดยสารวงเงินประกันตัว (ผู้ขับขี่) | วงเงินประกันตัว (ผู้ขับขี่) |
พ.ร.บ. | บังคับ | P | O | O | O | O | P *
| P* | O |
ประกันภัยชั้น 1 | รถใหม่สภาพดีและอายุไม่เกิน 7 ปี | P | P | P | P | P | P | P | P |
ประกันภัยชั้น 2+ | เพื่อรองรับอุบัติเหตุใหญ่ ต้องการทำชั้น 1 แต่บริษัทไม่รับ เพราะรถมีอายุมาก,มูลค่าไม่ถึงเกณฑ์ | P | P | P* | P | P | P | P | P |
ประกันภัยชั้น 3+ | รถไม่ได้ติดแก๊ส ไม่มีความเสี่ยงรถหาย | P | P | P* | O | O | P | P | P |
ประกันภัยชั้น 3 | ป้องกันความเสียหายจากการขับชนผู้อื่น | P | P | O | O | O | P* | P* | P* |
* ความคุ้มครองปรากฎในอนุสัญญาความคุ้มครองแนบท้ายของแต่ละแพคเกจ ซึ่งอาจจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับบริษัทผู้รับประกัน
3. ทำความเข้าใจ "เงื่อนไข" และ "ข้อยกเว้น" ของประกันที่เราจะซื้อให้ดี
ต้องยอมรับว่าธุรกิจการประกันรถมีคำเฉพาะหลายๆ คำ ซึ่งหากเราไม่ทำความเข้าใจไว้ก่อน เราจะไม่รู้เรื่องเลย ไม่ว่าจะเป็นคำว่า "ค่าความเสียหายส่วนแรก (Deductible หรือ Excess)" หรือ "ส่วนลดค่าเบี้ยประกันประวัติดี (No Claim Bonus)" เป็นต้น ซึ่งเราเชื่อเลยว่า หลายๆ คนที่ซื้อประกันภัยไปบางทีก็ไม่รู้หรอกว่า ค่าความเสียหายส่วนแรก (Deductible) ของประกันที่เราซื้อไปเป็นเท่าไหร่ หรือประกันของเราไม่ครอบคลุมเรื่องอะไรบ้าง ซึ่งบางทีการฟังโบรกเกอร์ หรือพนักงานที่ขายให้เราอย่างเดียว โดยตัวเราไม่ยอมอ่านตัวกรมธรรม์ประกันประกอบเองด้วย ก็อาจทำให้เราโดนหลอกขาย หรือบอกไม่หมดได้ ตัวอย่างเช่น เพื่อนผู้เขียนคนหนึ่งเพิ่งซื้อรถมาได้ 2 ปี แต่ดันไปซื้อประกันภัยแบบที่เหมาะกับรถที่เก่าเกิน 10 ปีขึ้นไป และมีเงื่อนไข Deductible ในจำนวนที่สูง ตอนซื้อประกันไม่รู้เรื่องเลยเพราะเห็นว่าเบี้ยประกันต่ำกว่าที่อื่น แต่เรื่องมาแดงเอาตอนรถชนซึ่งก็ชนแค่นิดเดียว แล้วบริษัทประกันยืนยันให้รับผิดชอบ Deductible ส่วนแรกเอง แต่เจ้าของรถก็เถียงว่าจะไม่รับผิดชอบ แต่สุดท้ายก็ต้องยอมจำนน และจ่ายเอง เพื่อนคนนี้เลยจำฝังใจเป็นบทเรียนว่าก่อนซื้อประกัน ต้องทำความเข้าใจเงื่อนไขทุกอย่างให้ดีก่อน
4. เลือกบริษัทประกันที่ให้บริการดี และรวดเร็วในการเคลม
ปัญหาความล่าช้าในการบริการนั้นเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยสำหรับผู้ใช้บริการบริษัทประกันภัยรถยนต์ เมื่อเราเกิดอุบัติเหตุ หากเราชนเมื่อ 10 โมงเช้า แต่ประกันมาถึงตอนเที่ยง เราจะเสียทั้งอารมณ์ และเสียทั้งเวลา ซึ่งคำว่า "บริการ" นั้น กินความหมายค่อนข้างกว้างเลยค่ะ ไล่ตั้งแต่ (1) ความสะดวกสบายในการชำระเบี้ยประกัน (2) ขั้นตอน และความรวดเร็วในการออกใบเสร็จรับเงิน และส่งมอบกรมธรรม์ประกันภัย (3) เมื่อเกิดอุบัติเหตุแล้วพนักงาน Claim มาถึงที่เกิดเหตุภายในกี่นาที (4) ถ้าพนักงานมาถึงช้า มีการชดเชยอะไรให้ลูกค้าหรือเปล่า (5) พนักงานมีความรู้ และประสิทธิภาพในการเจรจา และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของลูกค้าแค่ไหน (6) มีการช่วยติดต่อประสานงานกับศูนย์ซ่อม หรืออู่ที่รวดเร็ว หรือมีประสิทธิภาพแค่ไหน (7) เป็นการให้ซ่อมศูนย์ หรือซ่อมอู่ และหากซ่อมอู่ มีจำนวนอู่ให้เลือกมากน้อยแค่ไหน เป็นต้น
5. อยากซ่อมศูนย์ (ห้าง) หรือซ่อมอู่มากกว่ากัน ?
ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งในการเลือกทำประกันก็คือ การมีผู้เชี่ยวชาญคอยดูแล และซ่อมแซมรถของเราหลังเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งก็มีอยู่ 2 แบบคือ การซ่อมศูนย์และการซ่อมอู่ "ซ่อมศูนย์ (ห้าง)" หมายถึง การซ่อมรถตามศูนย์บริการของรถยี่ห้อนั้นๆ ส่วน "ซ่อมอู่" หมายถึง การซ่อมรถกับอู่ซ่อมรถที่อยู่ในเครือของบริษัทประกันนั้นๆ ซึ่งก็อาจจะไม่ได้อิง หรือยึดติดอยู่กับรถยี่ห้อใดๆ เป็นพิเศษ ถ้าถามว่าแบบไหนดีกว่ากัน? ก็คงจะตอบได้ยาก มุมหนึ่งบางคนอาจมองว่าการซ่อมศูนย์ดีกว่าซ่อมอู่ เพราะมั่นใจได้ว่าน่าจะได้อะไหล่แท้ มีมาตรฐานการทำงานที่เป็นระบบ แต่อีกมุมหนึ่ง บางคนก็มองว่าปัจจุบันนี้ การซ่อมอู่กับการซ่อมศูนย์ อาจไม่ได้ต่างกันมากนัก เพราะอู่หลายที่ก็ได้พัฒนาฝีมือ และให้บริการได้ทัดเทียมกับศูนย์บริการแล้ว อีกทั้งราคาเบี้ยประกันก็มักจะถูกกว่าแบบซ่อมศูนย์หลักพัน และมีอู่ให้เลือกใช้บริการมากกว่าศูนย์บริการอีกด้วย ซึ่งถ้าเราจะเลือกอู่ ก็ควรตรวจสอบให้ดีก่อนว่าไว้ใจได้ แต่ถ้าใครไม่อยากมีปัญหาในเรื่องนี้ ก็เลือกบริษัทประกันที่ให้บริการซ่อมศูนย์จะดีกว่าค่ะ
6. ทำความเข้าใจทำไมอัตรา "เบี้ยประกัน" ถึงต่างกัน
เวลาเราซื้อประกันแล้วขอใบเสนอราคาไม่ว่าจะเป็นจากบริษัทประกันโดยตรง หรือผ่านโบรกเกอร์ เรามักจะได้รับข้อเสนออัตราเบี้ยประกันที่แตกต่างกัน ทั้งๆ ที่เป็นรถ Brand เดียวกัน และปีเดียวกัน ซึ่งเราอาจสงสัยว่าทำไม ในความเป็นจริงแล้ว อัตราเบี้ยประกัน ที่แต่ละที่จะ Quote กันจะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างค่ะ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ก็ทำให้ตัวเลขเบี้ยประกันแต่ละที่ออกมาต่างกัน ปัจจัยพวกนี้แบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ (1) กลุ่มแรกจะเป็นปัจจัยเกี่ยวกับเงื่อนไขความคุ้มครองในตัวกรมธรรม์นั้นๆ เช่น จำนวนทุนประกันเท่ากันหรือไม่สำหรับความเสียหายในแต่ละเหตุการณ์ วงเงินคุ้มครองตัวคนขับ และผู้โดยสารต่อครั้งต่อคนเท่าไหร่ วงเงินค่ารักษาพยาบาลต่อครั้งต่อคนเท่าไหร่ ค่าความเสียหายส่วนแรกเป็นเท่าไหร่ เป็นประกันแบบระบุชื่อคนขับหรือเปล่า ซ่อมอู่หรือซ่อมศูนย์ เป็นต้น (2) ส่วนกลุ่มสองจะเป็นปัจจัยภายนอก เช่น อายุผู้ขับขี่ ซื้อประกันแบบเดี่ยวหรือซื้อประกันแบบเป็นกลุ่ม เป็นแคมเปญคู่มากับการขายรถหรือไม่ บริษัทประกันที่มีจำนวนรถทำประกันด้วยเป็นจำนวนมาก (High Volume) ก็อาจสามารถทำราคาเบี้ยประกันได้ต่ำกว่า ค่าคอมมิชชั่นที่บริษัทประกันให้แก่โบรกเกอร์เป็นเท่าไหร่ และยอดขายที่โบรกเกอร์รายนั้นสามารถทำให้บริษัทประกันมีมากน้อยแค่ไหน ค่าใช้จ่าย (ไม่ว่าตรงหรืออ้อม) ในการให้บริการแก่ลูกค้ามีจำนวนมากน้อยเพียงใด เป็นต้น
7. ช่องทางการซื้อประกันภัยรถยนต์
ถ้าเราตัดสินใจได้แล้วว่าจะซื้อ หรือต่ออายุ ไม่ว่าจะเป็นกับบริษัทประกันโดยตรงเดิม (หรือรายใหม่) หรือผ่านโบรกเกอร์ ปัจจุบันเรามีวิธีการซื้อได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งซื้อผ่านทางโทรศัพท์ ผ่านทางอีเมล ซื้อผ่านเคาน์เตอร์ธนาคาร หรือซื้อผ่านอินเทอร์เน็ตออนไลน์ ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับความพอใจของเราเป็นหลักว่าจะซื้อกับใคร และช่องทางใด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น แต่ละช่องทางก็มีข้อควรพิจารณาเหมือนกันค่ะ ตัวอย่างเช่น อัตราค่าเบี้ยประกัน ซึ่งแต่ละที่อาจจะ Quote มาให้ไม่เท่ากัน แม้จะเป็นประกันภัยของบริษัทประกันเดียวกันก็ตาม ทั้งนี้ เพราะบางช่องทางอาจมีเบี้ยพิเศษ หรือยอดขายประกันที่มากพอจะต่อรองส่วนลดพิเศษให้แก่ลูกค้าได้ หรือส่วนลดการค้าที่แต่ละช่องทางอาจมี หรือได้มาไม่เท่ากัน หรือบางที่สามารถจัดของแถมพิเศษ หรือโปรโมชั่นให้ลูกค้าได้จากสินค้าที่ตัวเองมีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นบัตรซื้อของในห้าง หรือบัตรเติมน้ำมันฟรี เป็นต้น
8. สุดท้าย ใจเย็นๆ ค่อยๆ เลือกเพราะบริษัทประกันมีให้เลือกเยอะ
ท้ายที่สุดก่อนตัดสินใจ ขอแนะนำค่ะว่าบ้านเรามีบริษัทประกันวินาศภัยที่รับทำประกันรถยนต์ไม่น้อยกว่า 30 บริษัท
(ดูรายชื่อบริษัทประกันได้ที่นี่) และบริษัทนายหน้าประกันวินาศภัยไม่น้อยกว่า 70 บริษัท
(ดูรายชื่อนายหน้าเหล่านี้ได้ที่นี่) ดังนั้น จึงควรใจเย็นๆ และค่อยๆ เลือก ถ้ารายที่ติดต่อ หรือใช้บริการอยู่ในปีนี้ บริการไม่ดี หรือเบี้ยประกันไม่สมเหตุสมผล เรามีสิทธิเลือก และลองไปติดต่อบริษัทประกันรายอื่นๆ ดูได้ โดยเราอาจติดต่อบริษัทประกันภัยโดยตรงเลย หรือจะติดต่อนายหน้าประกันภัยให้เขาลองเสนอประกันภัยจากหลายๆ เจ้าที่น่าสนใจให้เราเลือกก็ได้ แต่แน่นอนว่าบางทีเราซื้อรถมือหนึ่งคันใหม่กับไฟแนนซ์ โดยปกติทางไฟแนนซ์จะมีรายชื่อบริษัทประกันให้เลือก หรือกำหนดไปเลยว่าต้องทำบริษัทประกันกับรายนั้นรายนี้ ซึ่งกรณีเช่นนี้ เราก็จะไม่มีทางเลือกค่ะ
ท้ายที่สุดนี้ การทำประกันภัยรถยนต์มีความสำคัญเท่าๆ กับการเติมเชื้อเพลิงให้รถขับเคลื่อนไป และการทำประกันภัยนี้ไม่ได้ทำให้ความเสี่ยงต่อการสูญเสียลดลงค่ะ แต่จะเป็นการช่วยชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น อีกทั้งไม่ทำให้แผนการบริหารการเงินของผู้ทำประกันภัยต้องสะดุดหรือเสียหาย อย่างไรก็ดีก่อนทำประกัน ผู้เอาประกันควรศึกษารายละเอียดและเงื่อนไขในการทำประกันภัยอย่างถี่ถ้วน เพื่อเราจะได้ประโยชน์สูงสุดคุ้มค่ากับเงินที่เราต้องเสียไปค่ะ