10 ถนนห้ามจอดรถ รถเกิน 7 ปียังวิ่งได้
เมื่อวันที่ 8 ต.ค. ที่กองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) รับผิดชอบงานจราจร พล.ต.ต.นิพนธ์ เจริญผล รอง ผบช.น. พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก ผบก.จร. เรียกประชุมรอง ผบก.น.1-9 รอง ผบก.จร. และ ผกก.ในสังกัด บก.จร. เพื่อขับเคลื่อนนโยบายแผนงานการพัฒนา และแก้ไขปัญหาระบบการจราจรในพื้นที่กรุงเทพฯ หลังจากที่มีการแถลงนโยบายการแก้ปัญหาจราจร 11 ยุทธศาสตร์ โดย พล.ต.ต.อดุลย์ เปิดเผยว่า โครงการแรกที่จะเริ่มดำเนินการ คือ โครงการถนน 10 สาย ที่มีปัญหารถติดขัดมาก ได้แก่
- ถนนลาดพร้าว ห้าแยกลาดพร้าว-แยกแฮปปี้แลนด์
- ถนนพระราม 4 แยกหัวลำโพง-แยกพะราม4
- ถนนสุขุมวิท ถนนเพลินจิต ถนนพระราม1 ตั้งแต่แยกบางนา-แยกพงษ์พระราม
- ถนนรัชดาภิเษก ถนนอโศกดินแดง ถนนอโศกมนตรี ตั้งแต่แยกประชานุกูล-แยกรัชดาพระราม4
- ถนนรามคำแหง ถนนพระราม9 ถนนจตุรทิศ ตั้งแต่แยกคลองเจ๊ก-แยกรามคำแหง-ถนนจตุรทิศ
- ถนนพหลโยธิน-ถนนเกษตรนวมินทร์ อนุสาวรีย์ชัยฯ-สะพานใหม่ และแยกเกษตรศาสตร์-แยกนวมินทร์
- ถนนสาทร ทั้งเหนือและสาทรใต้ตลอดเส้นทาง
- ถนนราชดำเนิน สะพานพระปิ่นเกล้าฯ ถนนบรมราชชนนี และถนนคู่ขนานลอยฟ้า ตั้งแต่ลานพระราชวังดุสิต-แยกผ่านพิภพฯ-จนสุดเขตกทม.
- ถนนเพชรบุรี เพชรบุรีตัดใหม่ ตั้งแต่แยกอุรุพงษ์-แยกคลองตัน
- ถนนวิภาวดีรังสิต ตลอดเส้นทาง
โดยจะจัดกำลังเจ้าหน้าที่เข้าดูแลถนนทั้ง 10 สาย ห้ามไม่ให้มีการจอดรถในที่ห้าม โดยปัจจุบันพบว่า การจอดรถในที่ห้ามจอดเป็นการสร้างปัญหารถติดขัดโดยใช่เหตุ และเป็นสาเหตุที่พบบ่อยมาก ซึ่งเริ่มดำเนินการประชาสัมพันธ์มาแล้วตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2556 เป็นต้นมา และประชาสัมพันธ์ในพื้นที่เพิ่มเติมอีกระหว่างวันที่ 15-20 ตุลาคม 2556
หากพบการจอดรถที่ผิดกฎหมายจะดำเนินการว่ากล่าวตักเตือนก่อน และจะจับปรับจริงจังเข้มข้นในวันที่ 20 ต.ค.เป็นต้นไป ซึ่งจะไม่ใช้มาตรการล็อคล้อ แต่จะใช้วิธียกรถออกจากพื้นที่ เพื่อไม่ให้เป็นการกีดขวางการจราจร ตามความผิด พ.ร.บ.จราจรมาตรา 57 และ 59 ห้ามจอดในที่ห้าม และนำรถที่ถูกยกมาจอดในพื้นที่สน.ที่รับผิดชอบ
ฝ่าฝืนมีโทษ - ปรับไม่เกิน 500 บาท
- รวมทั้งเสียค่าเคลื่อนย้ายรถโดยแบ่งเป็น
- รถยนต์ไม่เกิน 4 ล้อ ค่าบริการยกรถ 500 บาท และค่าดูแล 200 บาทต่อวัน
- รถยนต์บรรทุก 6 ล้อ ค่าบริการยกรถ 700 บาท และค่าดูแล 300 บาทต่อวัน
- รถยนต์บรรทุก 10 ล้อขึ้นไป ค่าบริการยกรถ 1,000 บาท และค่าดูแล 500 บาทต่อวัน
ทั้งนี้ ต้องมาติดต่อรับรถคืนเองที่สน.ท้องที่นั้นด้วย
รถเกิน 7 ปี ยังวิ่งได้
ทั้งนี้ในส่วนกรณีการเสนอห้ามรถอายุ 7-10 ปี เข้าพื้นที่กรุงเทพฯ นั้น ขณะนี้เป็นเพียงแนวคิด ซึ่งเหมือนกับแนวคิดของผู้ตรวจการฯ ที่เสนอเก็บค่าปรับรถเกิดอุบัติเหตุนาทีละ 100 บาท ที่ยังต้องนำไปศึกษาวิเคราะห์รายละเอียดของโครงการ เปรียบเทียบข้อดีข้อเสีย และความเป็นไปได้ในการดำเนินการให้รอบด้านก่อน หลังจากนั้นก็ต้องเสนอรัฐบาล ซึ่งต้องผ่านขั้นตอนอีกหลายฝ่าย ทั้งฝ่ายกลั่นกรองกฎหมาย คณะกรรมาธิการ และยังต้องผ่านการพิจารณาของรับสภา ซึ่งหากมีขั้นตอนใดไม่เห็นด้วยแนวคิดก็ต้องยกเลิกไป ถ้าศึกษามาแล้วมีผลกระทบต่อประชาชนเป็นจำนวนมากก็มีความเป็นไปได้น้อย อย่างไรก็ตามแนวคิดนี้ตนไม่ได้คิดเอง แต่เป็นการเสนอจากตำรวจจราจรที่ทำงานในพื้นที่ว่า รถติดเพราะมีรถจอดเสียกีดขวางและส่วนใหญ่ก็เป็นรถเก่าเกิน 10 ปี อีกทั้งตนได้ลงพื้นที่ที่ถนนพระราม 2 รถติดกว่า 2 กม. เพราะมีรถเก่าจอดเสีย 2 คัน จึงได้บรรจุในแผนเพื่อเตรียมการแก้ไข นอกจากนี้ตนมีข้อมูลปริมาณรถเก่าเกินกว่า 10 ปี ที่วิ่งอยู่ในกรุงเทพฯ ในปัจจุบันมีถึง 30% ของรถทั้งหมด ถือว่าเป็นจำนวนมาก ส่วนที่มีการชี้ประเด็นไปที่โครงการรถคันแรกที่เพิ่มปริมาณรถยนต์เข้าสู่ถนนมากถึง 9 แสนคันนั้น รถคันแรกเป็นเรื่องของเศรษฐกิจช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ไม่เหมือนกรณีรถเก่าที่สร้างปัญหา ทั้งจอดเสียบ่อย ทำให้รถติดซึ่งยังกระทบเศรษฐกิจที่ต้องเผาผลาญน้ำมันเป็นจำนวนมากอีกด้วย
เตรียมเพิ่มอีก 30 เส้นทาง เริ่ม 1 พ.ย. 56
พล.ต.ท.เรืองศักดิ์ จริตเอก ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยหลังเริ่มนำร่องโครงการฯ ในถนน 10 สายหลักตั้งแต่วันที่ 21-28 ตุลาคมที่ผ่านมา ได้ดำเนินการยกรถไปแล้ว 67 คัน และจากการตรวจสอบสภาพการจราจรทางกล้อง CCTV พบว่าบนถนน 10 สายหลัก ท้ายแถวในแต่ละแยกความยาวสั้นลง มีความคล่องตัวเพิ่มขึ้น และมีอัตราความเร็วเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
นอกจากนี้ จากผลสำรวจประชาชนยังพบว่า ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับโครงการนี้ และได้รับการตอบรับ เนื่องจากสามารถแก้ปัญหาการจราจรติดขัด พร้อมเห็นด้วยที่จะขยายโครงการนี้ไปในถนนสายอื่นๆ โดยมองว่าค่าปรับค่าเคลื่อนย้ายรถมีความเหมาะสมแล้ว ทั้งนี้ จากการสอบถามตำรวจไม่พบปัญหาในการปฏิบัติงานแต่อย่างใด
เส้นทางห้ามจอด-ยกจริง-ปรับจริงอีก 30 เส้นทางหลัก ที่เพิ่มขึ้นมา มีดังต่อไปนี้
- ถนนประชาราษฎร์สาย 1
- ถนนสามเสน
- ถนนรามอินทรา
- ถนนแจ้งวัฒนะ
- ถนนงามวงศ์งาน
- ถนนประชาชื่น
- ถนนนวมินทร์
- ถนนร่มเกล้า
- ถนนลาดกระบัง
- ถนนประดิษฐ์มนูธรรม
- ถนนศรีนครินทร์
- ถนนเสรีไทย
- ถนนเจริญกรุง
- ถนนนราธิวาสราชนครินทร์
- ถนนจักรเพชร
- ถนนบำรุงเมือง
- ถนนกรุงเกษม
- ถนนเยาวราช
- ถนนสีลม
- ถนนจรัญสนิทวงศ์
- ถนนเจริญนคร
- ถนนรัชดาภิเษก-พระราม3
- ถนนรัชดาภิเษก-ตลาดพลู
- ถนนสมเด็จเจ้าพระยา
- ถนนกรุงธนบุรี
- ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน
- ถนนประชาอุทิศ
- ถนนเพชรเกษม
- ถนนพระราม 2
- ถนนราชพฤกษ์