ในช่วงเทศกาลวันหยุดยาวหลายคนมักเดินทางไกลด้วยระบบขนส่งต่างๆ เช่น เครื่องบิน รถไฟ รถบัส และรถส่วนตัว ซึ่งอย่างหลังมักเป็นทางเลือกที่หลายคนชอบ เพราะสะดวกสบายที่สุด แต่ก็ต้องแบกรับภาระในการขับด้วยตนเองพร้อมรับผิดชอบผู้ร่วมเดินทางไปกับเรา การเตรียมความพร้อมก่อนขับทางไกลมักเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกมากล่าวถึงผ่านสื่อต่างๆ บ่อยครั้ง ส่วนหนึ่งเพราะทั้งรถและคนมักมีความพร้อมไม่เต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะการขับรถเที่ยวทางไกลในช่วงเทศกาลวันหยุดต่างๆ ซึ่งมักเจอการจราจรติดขัดและการขับบนเส้นทางอันไม่คุ้นเคยบ่อบ ทีมงานเช็คราคา.คอม นำเสนอบทความ "ตรวจรถก่อนขับทางไกล" เพื่อให้ผู้ขับได้ตรวจเช็คและเตรียมความพร้อมก่อนออกเดินทาง อย่างน้อยก็ช่วยบรรเทาและลดอุบัติเหตุระหว่างทางได้ โดยมี 10 จุดต้องเช็ครถก่อนเดินทางตามหัวข้อดังนี้
ก่อนขับรถออกจากบ้าน ควรเดินสำรวจรอบตัวรถ ดูว่ามีสิ่งผิดปกติไปจากเดิมไหม โดยให้สตาร์ทเครื่องยนต์และเปิดไฟส่องสว่าง เพื่อฟังเสียงการทำงานว่าปกติไหม ไม่มีเสียงรบกวนใดๆ มาแทรก เพราะถ้าวัสดุอย่าง สายพาน, รอก หรือน๊อตบางตัวเสื่อมสภาพ หรือหลุดหลวมคลอน ก็มักมีเสียงรบกวนออกมาให้ได้ยิน ส่วนไฟให้เดินดูรอบว่าติดทุกดวง หลังจากเดินดูรอบรถแล้ว ลองถอยรถจากจุดจอด แล้วลงมาดูที่พื้นว่ามีคราบน้ำมันเปื้อนไหม ถ้ามีก็ต้องรีบดำเนินการแก้ไขต่อไป
สำรวจด้วยตาเปล่ารอบๆ รถ
ดูสภาพหรือแก้มยางว่าแบนผิดปกติหรือไม่
ระบบไฟส่องสว่างต้องครบถ้วน
หากเปิดฝากระโปรงดูได้ก็ยิ่งดีครับ สังเกตุด้วยตาเปล่าว่ามีคราบน้ำหรือน้ำมันซึมหรือไม่
ควรหมั่นตรวจแรงดันลมให้เหมาะสมตามขนาดยางและการใช้งานเสมอ โดยอาจตรวจเองโดยใช้เกจวัดแบบดิจิตอลที่มีความเชื่อถือได้มากกว่าเป็นประจำ ทำให้มีโอกาสเจอความผิดปกติในล้อใดล้อหนึ่งได้เอง ส่วนการเติมลมแนะนำวิธีง่ายๆ คือ เติมที่ปั๊มน้ำมันที่มีมาตราฐานสูง หลายปั๊มเริ่มมีเครื่องเติมลมดิจิตอลอัตโนมัติ เพียงแค่กดปุ่มใส่ค่าแรงดันลมที่ต้องการ แล้วเติมได้เลย ระบบของเครื่องจะเติมจนถึงค่าที่กดใส่ไว้ จากนั้นก็จะตัดการทำงานอัตโนมัติ
นอกจากนี้ควรดูสภาพเนื้อยางทั้งบริเวณด้านหน้าและแก้มว่าคงสภาพปกติอยู่และยืดหยุ่นดีอยู่ไหม โดยใช้นิ้วหรือเล็บกดเนื้อยางว่ายังยืดหยุ่นได้ไหม และถ้าพบว่ายางด้านไหนเริ่มมีเสียงดังรบกวนมาก อาจลองใช้มือลูบหน้ายางดูความกลม ถ้าไม่สะดุดกับส่วนนูนบวม ก็นับว่ายังพอวางใจได้ ส่วนเรื่องอายุการใช้งานแม้ยางทุกเส้นมีระบุ สัปดาห์-ปี ที่ผลิต แต่ควรเริ่มนับอายุการใช้งานจริง ตามวันเริ่มต้นใช้
การขับทางไกลนอกจากตรวจสภาพยางทั้ง 4 ล้อแล้ว ด้านยางอะไหล่ก็ต้องเช็คแรงดันลมให้มีพร้อมใช้งาน โดยอาจเติมไว้ให้มากกว่าค่าปกติประมาณ 5 ปอนด์ นอกจากนี้ควรตรวจชุดอุปกรณ์เปลี่ยนล้ออะไหล่ว่าอยู่ครบและพร้อมใช้งาน ถ้าเป็นไปได้ควรซื้อน้ำยากันรั่วติดรถไว้ เป็นทางเลือกเพิ่ม เพราะบางครั้งการขับทางไกล อาจต้องใช้เส้นทางเปลี่ยวหรือไม่มีปั๊มบริการ
ยางอะไหล่และเครื่องมือต้องพร้อม!
ตรวจระดับน้ำในถังพักแยกจากหม้อน้ำ ขณะที่เครื่องเย็นหรือช่วงเช้าก่อนสตาร์ทรถ เปิดฝาหม้อน้ำตรวจดูว่าสภาพยังปกติดีหรือไม่ ปกติฝาหม้อน้ำในรถรุ่นใหม่ๆ มักทนทานและใช้กันลืม เมื่อเปิดฝาแล้วให้สังเหตุสีน้ำในแก้มบนหม้อน้ำว่าไม่มีเป็นสีสนิมมากจนเกินไป นอกจากนี้ควรตรวจดูตามข้อต่อและท่อทางเดินน้ำว่ามีจุดรั่วซึมหรือไม่ โดยเฉพาะรถที่ติดตั้งระบบเชื้อเพลิงแก๊สที่ต้องมีหม้อต้มและท่อทางเดินน้ำเพิ่ม หากพบความผิดสังเกตุควรให้ช่างผู้ชำนาญแก้ไขโดยเร็ว
ระดับน้ำในหม้อพักควรอยู่ระดับ "FULL" พอดีไม่ต่ำหรือสูงเกินไป อย่าลืมดูพัดลมระบายอากาศปกติหรือไม่ พัดลมระบายความร้อนหม้อน้ำก็ควรดูและสังเกตุว่าทำงานปกติหรือไม่ ลมเป่าเบา/ดูดแรงหรือเบา และการทำงานครบถ้วนทั้งขณะเปิดหรือปิดแอร์หรือไม่ หากพบว่าไม่ปกติรีบให้ช่างตรวจสอบทันทีครับ
ถ้าใช้แบตเตอรี่แบบทั่วไป หมั่นตรวจระดับน้ำกลั่นเป็นประจำทุกเดือน และควรเติมให้อยู่ในเกณฑ์ระหว่างบน-ล่าง ไม่มากหรือน้อยเกินไป ส่วนประเภทกึ่งแห้งก็ควรเช็คระดับน้ำเช่นกัน แม้มีคำว่า matainance free เว้นแต่รุ่นที่ไม่มีช่องเติมน้ำ ก็ควรตรวจอายุการใช้งานและสังเกตุอาการเวลาสตาร์ทรถเสมอ แบตเตอรี่แห้งทั่วไปหลายรุ่นมักมีตาแมวหรือเลนส์ใสกลมบอกสถานะของไฟในแบตเตอรี่ เพื่อสะดวกในการตรวจประสิทธิภาพการเก็บไฟ ถ้าพบว่าการเก็บประจุไฟเริ่มน้อยลง หรือมีอายุเกิน 36 เดือน ควรให้ร้านแบตเตอรี่ตรวจประสิทธิภาพการเก็บไฟก่อนเดินทาง
5. เช็คน้ำมันเบรกหรือคลัตช์
การตรวจระดับน้ำมันเบรกหรือคลัตช์ ให้สังเกตุระดับน้ำมันต้องอยู่ในเกณฑ์ระหว่างขีด MAX กับ MIN ถ้าต้องเติม ควรใช้น้ำมันเบรกให้ตรงเกรด โดยสังเกตุจากฝาปิดด้านบนหรือในคู่มือรถ ส่วนการถ่ายน้ำมันเบรกทั้งระบบมักทำกันหลังหน้าฝน เพราะความชื้นในอากาศมักส่งผลต่อคุณภาพของน้ำมันเบรก
การเช็คระดับน้ำมันเครื่องควรทำบนพื้นราบ และเครื่องยนต์ไม่ร้อนเกินไป โดยให้ดึงก้านวัดตามรูป แล้วเช็ดด้วยผ้าสะอาดก่อนเสียบกลับ ทิ้งไว้ราว 3 นาที จึงดึงก้านออกเพื่อดูระดับน้ำมันว่าขีดอยู่ระหว่าง MAX-MIN หรือไม่ พร้อมทดสอบความหนืดของตัวน้ำมันเครื่องฯ ด้วยว่ายังข้นเพียงพอ (อาจต้องใช้สองนิ้วสัมผัสดูว่ายึดติดนิ้วแค่ไหน)
7. เช็คน้ำมันพวงมาลัยพาวเวอร์
รถรุ่นใหม่ ระบบพวงมาลัยพาวเวอร์มักผ่อนแรงด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า เป็นการลดทอนน้ำหนักอันไม่จำเป็น และการดูแลที่ง่ายกว่าเดิม แต่รถเก่าส่วนใหญ่และรถปิคอัพหลายรุ่นใช้พวงมาลัยพาวเวอร์ ผ่อนแรงด้วยระบบไฮดรอลิค จึงควรตรวจสอบระดับน้ำมันพวงมาลัยพาวเวอร์ พร้อมอาการรั่วซึมด้วย
รถรุ่นใหม่ ระบบไฟฟ้าเข้ามามีบทบาทมาก ดังนั้นหลายจุดถูกปรับเปลี่ยนการทำงานเป็นระบบไฟฟ้า ส่วนหนึ่งก็ง่ายต่อการตรวจสอบ โดยกล่องอีซียู (คอมพิวเตอร์ของรถ) สามารถตรวจจับข้อบกพร่องได้พร้อมแจ้งผ่านไฟเตือนแบบต่างๆ ในหน้าปัดแสดงความเร็วรถ
รถรุ่นใหม่มักมีฟิลเตอร์แอร์ให้มาด้วย เพื่อช่วยกรองสิ่งสกปรกได้ดีกว่า การล้างแอร์เป็นประจำทุกปีเป็นการป้องกันอาการแอร์ไม่เย็นได้ดีกว่า และสามารถตรวจสอบอุปกรณ์ต่างๆ ในระบบได้ดีเช่นกัน หลายคนมักมองข้าม รอจนระบบมีปัญหา แอร์ไม่เย็น จึงค่อยแก้ไข ซึ่งมักมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง การดูแลก็ไม่ต่างกับแอร์บ้านมากนักเพราะต้องล้างเป็นประจำ ไม่อย่างนั้นก็กินไฟและพลังงาน การล้างตู้แอร์รถปัจจุบันแบ่งเป็น ถอดคอนโซลกับไม่ถอด อย่างแรกมีราคาถูกกว่า และมักโฆษณาว่าคอนโซลไม่ช้ำ นั่นไม่ถูกต้องทั้งหมด การถอดมาล้างเต็มระบบย่อมดีกว่า สะอาดกว่า ได้ผลที่ชัดเจนกว่า แม้จ่ายแพงกว่า แต่ระบบแอร์เป็นส่วนสำคัญของรถและมีผลกับผู้ใช้รถมาก เพราะบ้านเราอากาศร้อนเกือบตลอดปีและรถมักติดมากในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะช่วงเทศกาล ดังนั้นการลงทุนล้างเต็มระบบน่าเป็นทางเลือกที่ดีและคุ้มค่ากว่า แนะนำควรดำเนินการล้างแอร์เต็มระบบก่อนขับทางไกลในช่วงหน้าร้อนเป็นอย่างยิ่ง
9. เช็คระบบไฟฟ้า และท่อยางทางเดินน้ำมัน
ตรวจสอบไฟหน้าสูง-ต่ำ, ไฟหรี่/ไฟเลี้ยวหน้า-หลัง, ไฟถอยหลัง, ไฟตัดหมอกหน้า-หลัง(ถ้ามี) และไฟส่องป้ายทะเบียนหลัง ว่าทำงานติดครบทุกดวง พร้อมเช็คสัญญาณไฟเตือนบนหน้าปัดว่ามีรูปอะไรติดค้างหลังสตาร์ทหรือเปล่า
ส่วนการตรวจอาการรั่วซึมของน้ำมันหล่อลื่นต่างๆ ให้ดูพื้นที่จอดรถประจำว่ามีคราบน้ำมันรั่วบนพื้นไหม พร้อมเปิดห้องเครื่องยนต์ดูท่อทางเดินของน้ำมันว่ายังอยู่ในสภาพปกติ รวมถึงข้อต่อต่างๆ ว่ามีรอยรั่วซึม ถ้ามีคราบรั่วซึมผิดปกติ ให้รีบแก้ไขทันที
10. เช็คความพร้อมของคนขับ
สุดท้ายสำหรับผู้ขับควรพักผ่อนให้เพียงพอก่อนวันเดินทาง พร้อมศึกษาเส้นทาง สภาพถนนก่อนออกเดินทาง เตรียมอุปกรณ์จำเป็นติดไปด้วย เช่น โทรศัพท์มือถือแบบมีกล้อง, อุปกรณ์เปลี่ยนยางอะไหล่, ไฟสัญญาณหรือกรวยยาง, ชุดปฐมพยาบาล น้ำเปล่า (ไว้ล้างครบสกปรกติดไฟหน้าและกระจก) บันทึกเบอร์โทรศัพท์สำคัญเช่น ตำรวจทางหลวง, หน่วยกู้ภัย และอื่นๆ เผื่อกรณีฉุกเฉิน
สิ่งที่จำเป็นอีกอย่างคือ กล้องบันทึกภาพติดรถยนต์ สำหรับบันทึกเหตุการณ์ไม่คาดคิด และยังเป็นพยานสำคัญได้ดีอีกด้วย ซึ่งราคาของกล้องรุ่นที่ใช้งานได้ดีๆ สักหน่อยก็เริ่มต้นตั้งแต่ 1,000 บาทขึ้นไปทั้งมีและไม่มี GPS หาซื้อได้ตามห้างสรรพสินค้าโซน IT ,พันทิป ร้านเครื่องเสียงทั่วไปครับ มีติดรถไว้อุ่นใจแน่นอนครับ
คำแนะนำทั้งหมดควรตรวจสอบก่อนออกเดินทางอย่างน้อย 1 สัปดาห์ เผื่อเวลาในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ทันเวลา บางเรื่องต้องให้ช่างผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ตรวจสอบและแก้ไข หลังจากนั้นนำรถทดลองวิ่งจนแน่ใจว่าหมดปัญหาใดๆ อย่างไรก็ตามควรหลีกเลี่ยงการตรวจเช็คกะทันหันก่อนออกเดินทาง
ระหว่างการเดินทาง ควรสังเกตอาการผิดปกติอื่นๆ ของรถด้วย เพื่อจะได้เตรียมพร้อมรับมือและแก้ไขได้ทันท่วงที สำคัญที่สุดคือ เมาไม่ขับ และไม่ประมาท! ทีมงานเช็คราคา.คอม ขอให้ทุกคนเดินทางปลอดภัยตลอดช่วงเทศกาลวันหยุด
รวบรวมเบอร์โทรฉุกเฉิน สำหรับเวลาเดินทางไกล
ช่วงเทศกาลวันหยุดยาว หลายคนโดยสารรถออกต่างจังหวัด ทั้งขับและนั่งไปด้วย นอกจากเตรียมความพร้อมรถที่ใช้แล้ว ควรทราบ "เบอร์โทรฉุกเฉิน" เพื่อติดต่อเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด โดยมีหมายเลขของหน่วยงานต่างๆ ดังนี้
หน่วยงาน | หมายเลขโทรศัพท์ |
ศูนย์ปลอดภัยคมนาคม | 1356 |
ศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารรถสาธารณะ กรมการขนส่งทางบก | 1584 |
สายด่วน กรมทางหลวง | 1586 |
ตำรวจทางหลวง | 1193 |
ตำรวจท่องเที่ยว | 1195 |
ศูนย์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยว | 1155 |
ศูนย์นเรนทร (แจ้งป่วยฉุกเฉิน) | 1669 หรือ 02-354-8222 |
หน่วยแพทย์กู้ชีวิต กทม. | 1554 |
ศูนย์วิทยุกรุงธน | 02-451-7228 |
ศูนย์วิทยุรามา | 02-354-6999 |
ศูนย์วิทยุปอเต็กตึ๊ง 24 ชม. | 02-226-4444-8 |
อุบัติเหตุทางน้ำ กองบังคับการตำรวจ | 1196 |
จส.100 | 1137 |
สถานีจราจรเพื่อสังคม FM 99.5 | 1255 |
สวพ.91 | 1644 |
ร่วมด้วยช่วยกัน FM 102.75 | 1677 |
ศูนย์ควบคุมการจราจร | 1197 |
สอบถามหมายเลขโทรศัพท์ทั่วประเทศ | 1133 |
ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ | 02-132-1888 , 02-132-5140 |
การบินไทย | 1566 หรือ 02-356-1111 |
สอบถามข้อมูลเที่ยวบิน | 02-132-0000 |
- ระหว่างประเทศ | 02-134-5453-6 (24 ชม.) |
- ในประเทศ | 02-134-5473-4 |
นกแอร์ | 1318 หรือ 02-628-2000 |
สถานีขนส่ง | |
- สายตะวันออกเฉียงเหนือ (หมอชิต 2) | 02-936-2852-66 ต่อ 611 |
- สายเหนือ (หมอชิต 2) | 02-936-2852-66 ต่อ 311 |
- สายใต้ (ตลิ่งชัน) | 02-434-7192, 02-435-1195-6 |
- สายตะวันออก (เอกมัย) | 02-391-8097, 02-391-2504 |
การรถไฟแห่งประเทศไทย | 1690 |
สถานีรถไฟหัวลำโพง | 02-223-3777 |
ไฟฟ้าขัดข้อง | 1130 |
น้ำประปาขัดข้อง | 1125 |
สอบถามสภาพจราจร | 1543 |
ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ | 192 |
เช็คราคา.คอม ขอให้ทุกท่านเดินทางไป-กลับปลอดภัยครับ