ประเมินวงเงินรู้ผลใน 3 นาที

กับ กรุงศรี ออโต้ พร้อมสตาร์ท

เริ่มประเมินวงเงินพร้อมสตาร์ท
ผ่านมือถือ สแกนเลย

ดูวงเงินพร้อมสตาร์ทที่ได้รับ

x
icon-filter ค้นหารถยนต์
product filter
product filter
product filter
product filter
product filter

ขอสินเชื่อเช่าซื้อรถใหม่ไม่ยากอย่างที่คิด!

icon 10 เม.ย. 56 icon 205,991
ขอสินเชื่อเช่าซื้อรถใหม่ไม่ยากอย่างที่คิด!


ขอสินเชื่อเช่าซื้อรถใหม่ไม่ยากอย่างที่คิด!
เดี๋ยวนี้ถ้าอยากได้รถใหม่สักคันก็ไม่ยากเท่าไรแล้ว เพราะมีบริษัทมากมายที่พร้อมจะเสนอสินเชื่อให้เราพิจารณา ไม่ว่าจะเป็นธนาคาร บริษัทไฟแนนซ์ หรือลิสซิ่งต่างๆ (ที่มีทั้งในเครือธนาคาร หรือเครือค่ายรถเอง) ทีนี้เรามาดูกันดีกว่าว่า อะไรที่เราควรรู้ก่อนจะเดินไปขอสินเชื่อรถใหม่กันนะครับ
สินเชื่อเช่าซื้อรถคืออะไร
ถ้าจะตอบง่ายๆ ก็คือ การที่เราไปทำสัญญา "เช่าซื้อ" รถกับบริษัทให้สินเชื่อต่างๆ นั่นเอง โดยเริ่มแรกเราก็ต้องชำระเงินก้อนหนึ่งให้บริษัทขายรถเรียกว่าเงินดาวน์ และเงินค่ารถส่วนที่เหลือก็เข้าไฟแนนซ์โดยผ่อนเป็นรายงวดให้บริษัทสินเชื่อไปเรื่อยๆ เพื่อเราจะได้ใช้ และครอบครองรถ ซึ่งในระหว่างที่ผ่อนค่างวดอยู่นี้ บริษัทให้สินเชื่อยังเป็นเจ้าของรถตามกฎหมายอยู่ (เพราะเขาเป็นคนจ่ายค่ารถเต็มจำนวนให้บริษัทขายรถไปแล้ว) แต่พอเราได้จ่ายเงินค่างวดครบตามสัญญาเช่าซื้อแล้ว เราถึงจะได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธ์รถ แต่ถ้าเราจ่ายไม่ครบ รถก็จะไม่เป็นของเรา และบริษัทให้สินเชื่อก็จะเข้ามายึดรถเรากลับไป ในเรื่องนี้ขอแนะนำนิดนึงนะครับว่า ถ้าเป็นไปได้ลองพิจารณาบริษัทให้สินเชื่อที่มีความมั่นคงทางการเงินหน่อยก็ดี เพราะตราบใดที่เรายังผ่อนค่างวดไม่ครบ รถที่เราขับอยู่ทุกวันนี้ก็ยังเป็นของบริษัทอยู่ หากบริษัทให้สินเชื่อเหล่านี้มีปัญหาขึ้นมา (เช่น ล้มละลาย) รถเราก็อาจจะได้รับผลกระทบตามมาได้ครับ
สินเชื่อรถมีกี่แบบ
โดยทั่วไป สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์สำหรับบุคคลธรรมดาจะมีทั้งสินเชื่อรถมือหนึ่ง (ซื้อรถจากค่ายรถ หรือดีลเลอร์) สินเชื่อรถมือสอง (ซื้อรถจากเต็นท์รถ หรือรถบ้าน) และสินเชื่อรีไฟแนนซ์ (ขอสินเชื่อเช่าซื้อที่หนึ่งมาโปะอีกที่หนึ่ง) ทั้งนี้ เงื่อนไขของบริษัทให้สินเชื่อแต่ละที่ก็จะต่างกันไปสำหรับแต่ละประเภท ทั้งนี้ ขอทำความเข้าใจกันก่อนนะครับว่า เวลาเราพูดถึงสินเชื่อรถมักจะหมายถึงใน 2 แบบคือ แบบแรกคือการที่เราเช่าซื้อรถ (ไม่ว่าจะรถมือหนึ่ง มือสอง หรือรีไฟแนนซ์) ส่วนแบบที่สองคือ การที่เราเป็นเจ้าของรถอยู่แล้ว แต่เอารถไปขอ หรือแลกเป็นเงินสดออกมา (ซึ่งพวกนี้จะเรียกกันหลากหลาย เช่น Car for Cash หรือจำนำทะเบียนรถ เป็นต้น) ทั้งสองแบบจะแตกต่างกันตรงที่ แบบแรกเป็นเรื่องของ “เช่าซื้อ” คือเรายังไม่ได้เป็นเจ้าของรถ และขอสินเชื่อโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเจ้าของรถเมื่อจ่ายค่างวดครบ ส่วนแบบที่สองเป็นเรื่องของกู้เงิน คือเราเป็นเจ้าของรถอยู่แล้ว และเอารถไปขอ หรือแลกสินเชื่อเงินสดออกมาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเอาเงินสดไปใช้จ่ายอย่างอื่น โดยบทความนี้จะพูดถึงเฉพาะสินเชื่อแบบแรกนะครับ ไม่ใช่แบบที่สอง
สินเชื่อเช่าซื้อรถใช้ได้กับรถทุกประเภท?
ไม่ว่าจะเป็นรถเก๋ง รถกระบะ รถตู้ หรือรถบรรทุก ธนาคาร หรือบริษัทไฟแนนซ์รถเหล่านี้ก็สามารถจัดไฟแนนซ์ให้ท่านได้หมดเลยครับ ท่านใดที่สนใจรถคันไหนเป็นพิเศษก็สามารถเข้ามาหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ checkraka.com นะครับ
ขอวงเงินได้สูงแค่ไหนและนานแค่ไหน
วงเงิน และระยะเวลากู้มักจะแตกต่างกันออกไปแล้วแต่บริษัทไฟแนนซ์ แล้วแต่ช่วงเวลา (เช่น มีโปรโมชั่นอยู่หรือเปล่า) หรือประเภทของรถ โดยเฉลี่ยวงเงินสินเชื่อรถยนต์ก็จะอยู่ประมาณ 75-85% ของราคารถ และระยะเวลากู้ก็จะประมาณ 12-72 เดือน เป็นต้น ซึ่งตัวเลขเหล่านี้ก็จะเป็นตัวเลขที่ผันแปร และมีผลต่ออัตราดอกเบี้ยว่าจะมาก หรือน้อยด้วย เช่นหากต้องการวางเงินดาวน์น้อย แต่ระยะเวลากู้นานๆ ดอกเบี้ยก็อาจจะแพงขึ้นตามลำดับ เป็นต้น แต่ในบางช่วงเวลา บริษัทไฟแนนซ์อาจมีการจัดโปรโมชั่นสินเชื่อเช่าซื้อรถเป็นครั้งคราว (เช่น อัตราดอกเบี้ยต่ำ หรือระยะเวลาผ่อนนานเป็นพิเศษ) ซึ่งเว็บไซต์ checkraka.com ของเราก็จะคอย อัพเดทและแชร์ข้อมูลเหล่านี้แบบครบวงจรให้ครับ
ต้องจ่ายดอกเบี้ย หรือค่าต่างๆ อะไรบ้าง
สินเชื่อเช่าซื้อรถจะใช้อัตราดอกเบี้ยคงที่ (Flat Rate) คือ ดอกเบี้ยถูกคิดจากเงินต้นเริ่มแรกเพียงครั้งเดียว และทั้งก้อนแบบเต็มจำนวน (โดยไม่ได้คิดดอกเบี้ยจากยอดเงินต้นที่ลดลง) แล้วจึงเฉลี่ยจ่ายจำนวนที่เท่ากันในแต่ละงวดบวกเข้าไปกับเงินต้นแต่ละงวด (ซึ่งแตกต่างจากสินเชื่อบ้านที่จะคิดแบบลดต้นลดดอก) โดยปกติอัตราดอกเบี้ยแต่ละที่จะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ตลาด และสภาวะการแข่งขันของบริษัทให้สินเชื่อด้วยกันเอง มูลค่าของรถแต่ละยี่ห้อที่จะลดลงไม่เท่ากัน ตลาดมือสองของรถบางยี่ห้อที่คล่องตัวกว่า อาชีพของผู้ขอสินเชื่อ รถกระบะมักจะแพงกว่ารถเก๋ง ดอกเบี้ยของผู้ขอสินเชื่อที่อยู่ต่างจังหวัดอาจแพงกว่ากรุงเทพ เป็นต้น นอกจากนี้ อย่าลืมว่า ปกติบริษัทให้สินเชื่อจะคิดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) บนค่างวดด้วย เช่น 7% บนค่างวดซึ่งประกอบไปด้วยเงินต้นและดอกเบี้ย (ไม่ได้คิดแค่บนเงินต้นอย่างเดียว) ดังนั้น เราต้องพิจารณาภาษีมูลค่าเพิ่มก้อนนี้ประกอบด้วย เพราะถือว่าเป็นภาระเงินที่เราจะต้องจ่ายให้บริษัทไฟแนนซ์รถทุกๆ เดือนด้วยนะครับ โดยสินเชื่อรถใหม่ VAT จะรวมผสมเข้าไปในค่างวดแต่ละเดือนแล้ว แต่ถ้าเป็นสินเชื่อรถมือสอง VAT จะคิดโปะเข้าไปทีหลังบนค่างวดแต่ละเดือน
นอกจากดอกเบี้ยแล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายจิปาถะอย่างอื่นด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้เราก็ต้องไม่ลืมที่จะเตรียมเงิน หรือเตรียมเช็คสั่งจ่ายให้บริษัทไฟแนนซ์ด้วยนะครับ เช่น
1. ค่าโอนทะเบียนรถ (ต่างจังหวัดจะสูงกว่ากรุงเทพ)
2. ค่าอากรแสตมป์ 0.5% ของยอดจัด หรือราคาประเมิน
3. ค่าเบี้ยประกันภัย (บริษัทไฟแนนซ์มักกำหนดให้ทำประกันภัยชั้น 1)
4. ค่าภาษีรถยนต์
5. ค่าใช้จ่ายพิเศษอื่นๆ เช่น ค่าบริการต่อภาษีรถยนต์ ค่าธรรมเนียมทวงถาม และค่าปรับกรณีชำระเงินค่างวดล่าช้า เป็นต้น
ขอเพิ่มเรื่องดอกเบี้ยอีกสักนิด เนื่องจากสินเชื่อเช่าซื้อรถคิดอัตราดอกเบี้ยแบบ Flat Rate คือคิดดอกเบี้ยบนเงินต้นจำนวนเท่าเดิมตลอดการกู้ (ทั้งที่ในความเป็นจริงเงินต้นเราลดลงเรื่อยๆ!) และเงินต้น+ดอกเบี้ยถูกรวมเข้าด้วยกันแล้ว ค่อยแบ่งย่อยออกเป็นรายงวดตลอดอายุการกู้ ผลที่ตามมาก็คือว่า ยิ่งกู้นาน ดอกเบี้ยก็ยิ่งมากขึ้นเป็นลำดับ เช่น แม้จะพูดว่าดอกเบี้ยเท่ากัน 5% สำหรับระยะเวลากู้ 3 ปี และ 4 ปี แต่ผลก็คือ ผู้กู้ราย 4 ปีจะต้องจ่ายดอกเบี้ยมากกว่าราย 3 ปี และการที่บอกว่า Flat Rate เช่น 5% บนเงินต้น 1 ล้านบาทระยะเวลาชำระ 60 เดือนนั้น ถ้าคิดแบบในเชิงเศรษฐศาสตร์ที่แท้จริง (คือคิดบนเงินต้นที่ลดลงเรื่อยๆ นั้น) อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของสินเชื่อรายนี้ (Effective Rate) จะออกมาเป็น 9% กว่าๆ ไม่ใช่แค่ 5% และประการสุดท้ายคือ การจ่ายสินเชื่อรถคืนก่อนกำหนด จึงอาจไม่ช่วยประหยัดดอกเบี้ยมากนัก (แม้อาจจะได้ส่วนลด 50% ของดอกเบี้ยที่ยังเหลืออยู่ตามกฎของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ก็ตาม) เพราะแม้เราจะปิดเงินต้นหมดก่อนกำหนด แต่เราก็ต้องเสียดอกเบี้ยฟรีๆ ที่บริษัทไฟแนนซ์ได้คำนวณรวมล่วงหน้าไปแล้วสำหรับงวดในอนาคตให้บริษัทไฟแนนซ์อยู่ดีครับ (ซึ่งก็คือส่วนที่เหลืออีก 50% นั่นเอง)
จะเข้าเกณฑ์กู้ไหม
คุณสมบัติ หรือเกณฑ์ให้สินเชื่อที่สำคัญที่บริษัททุกที่มองคือ ลูกค้ามีเครดิตดี ไม่มีประวัติการชำระหนี้ล่าช้า หรือประวัติการผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งดูได้จากข้อมูลในเครดิตบูโร รวมถึงพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ประกอบเช่น อาชีพการงานปัจจุบัน ซึ่งหากเป็นงานประจำ ต้องมีอายุการทำงานไม่น้อยกว่า 1 ปี แต่ถ้าเป็นอาชีพอิสระต้องทำมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี และมีรายได้ที่สม่ำเสมอเพียงพอจะชำระค่างวดได้ เป็นต้น ส่วนคุณสมบัติอื่นๆ ทั่วไป เช่น อายุ ถิ่นพำนักที่อยู่อาศัย แต่ละที่ก็จะคล้ายๆ กัน เช่น มีอายุระหว่าง 20-65 ปี และมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย เป็นต้น นอกจากนี้ บริษัทไฟแนนซ์มักกำหนดให้มีบุคคลที่สามซึ่งมีเครดิตดีเข้ามาเป็นผู้ค้ำประกัน หรือผู้กู้ร่วมด้วย ซึ่งบุคคลเหล่านี้ก็จะต้องมีคุณสมบัติที่ดีไม่แพ้ผู้กู้เอง ข้อแนะนำคือ หากจะเพิ่มโอกาสให้มีผ่านการอนุมัติสินเชื่อมากขึ้น เราควรมีรายรับสม่ำเสมออย่างน้อย 3 เท่าของเงินค่างวดที่เราต้องจ่ายในแต่ละเดือน นอกจากนี้ บางทีหากเราไม่ต้องการรบกวนคนอื่นให้เป็นภาระมาค้ำประกันเรา หรือหาคนค้ำประกันไม่ได้ เราอาจยอมจ่ายเงินดาวน์ในจำนวนที่สูงระดับหนึ่ง บริษัทไฟแนนซ์ก็อาจจะยอมให้ไม่ต้องมีผู้ค้ำประกันก็ได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลพินิจของบริษัทไฟแนนซ์แต่ละรายไปครับ
ไม่ขอสินเชื่อแต่ซื้อสดดีกว่ามั้ย?
คำถามที่ถามกันบ่อยก่อนเริ่มขอสินเชื่อคือ เราควรซื้อเงินสด หรือขอสินเชื่อเช่าซื้อดี ปัจจัยสำคัญหลักๆ ที่เราต้องถามตัวเองน่าจะมีอยู่ 3 เรื่องครับ
1. เรามีเงินสดก้อนหนึ่งมากพอในจำนวนที่จะจ่ายค่ารถเต็มจำนวนหรือไม่ โดยต้องคำนึงถึงพวกค่าเบี้ยประกันภัยรถ ค่าน้ำมันรถ ค่าซ่อมรถ ค่าทะเบียนรถทุกๆ ปีด้วยนะครับ ถ้าเรามีเงินพอ และไม่อยากเสียดอกเบี้ย หรือเป็นหนี้ใครก็อาจซื้อเงินสดไปเลย
2. บางทีถึงแม้เราจะมีเงินสดมากพอที่จะซื้อเงินสด และพร้อมที่จะแบกค่าใช้จ่ายต่อเนื่องเกี่ยวกับรถได้ แต่อาจลองตรวจสอบกับบริษัทให้สินเชื่อก่อนก็ได้ว่าเบ็ดเสร็จแล้ว จะต้องเสียดอกเบี้ย (บวก VAT) เท่าไหร่ ซึ่งหากในช่วงเวลาการผ่อน เช่น 2-5 ปี เรามั่นใจว่าสามารถเอาเงินสดก้อนหนี้ไปหาประโยชน์อื่นได้ในระดับที่มากกว่าดอกเบี้ย+VAT เช่น ไปเล่นหุ้น หรือลงทุนอย่างอื่น เราก็อาจตัดสินใจไม่ซื้อเงินสด แต่มาขอสินเชื่อเช่าซื้อแทนก็ได้
3. หากไม่มีเงินสดมากพอที่จะชำระทั้งก้อน หรือมีพอแต่ถ้าชำระแล้วจะต้องกินอยู่อย่างตระหนี่ถี่เหนียว หรือเลี้ยงดูครอบครัวด้วยความยากลำบาก การขอสินเชื่อเช่าซื้อก็น่าจะเหมาะกว่านะครับ
จะขอสินเชื่อเช่าซื้อจากไหนได้บ้าง
แหล่งเงินกู้สินเชื่อเช่าซื้อหลักๆ ก็จะเป็นธนาคาร (เช่น แผนกสินเชื่อรถยนต์ของธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารธนชาติ) บริษัทไฟแนนซ์ในเครือของธนาคาร เช่น Kasikorn Leasing, Krungsri Auto หรือบริษัทไฟแนนซ์ของค่ายรถต่างๆ เช่น Honda Leasing, Nissan Leasing, Toyota Leasing ซึ่งรายละเอียดในแง่ตัวเลขของการให้สินเชื่อของแต่ละที่ (ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวงเงิน ดอกเบี้ย ระยะเวลา เป็นต้น) ก็จะแตกต่างกันออกไป โดยปกติเวลาพิจารณาแหล่งสินเชื่อ ก็มักจะดูรายละเอียดพวกวงเงิน ดอกเบี้ย ระยะเวลาเป็นหลัก แต่เราขอแนะนำเพิ่มเติมว่าควรดูรายละเอียดบางเรื่องที่สำคัญอื่นประกอบด้วย เช่น
1. รายละเอียดการปิดบัญชีเช่าซื้อก่อนกำหนด หากเรามีเงินก้อนเข้ามาแล้วต้องการจ่ายค่างวดเต็มจำนวนเพื่อปิดบัญชี แต่ละที่กำหนดให้เราได้ส่วนลดดอกเบี้ยเท่าไหร่ และต้องชำระอย่างต่ำมาแล้วกี่งวด เป็นต้น ทั้งนี้ตามกฎพื้นฐานของสคบ. นั้น กำหนดว่า ถ้าลูกค้าต้องการชำระค่าเช่าซื้อทั้งหมดเพื่อปิดบัญชี ผู้ให้เช่าซื้อต้องให้ส่วนลดแก่ลูกค้าในอัตราไม่น้อยกว่า 50% ของดอกเบี้ยเช่าซื้อที่ยังไม่ถึงกำหนดจ่ายเสมอ
2. ขอให้พิจารณาสถาบันที่มีชื่อเสียงในด้านบริการที่ดีระดับหนึ่งก็ดีนะครับ เพราะเราอาจต้องมีการติดต่อกับสถาบันพวกนี้อยู่เรื่อยๆ (เช่น ขอใบเสร็จรับเงินค่างวดในทุกๆ เดือน หรือให้โอนทะเบียนรถเมื่อผ่อนครบ หรือแม้กระทั่งโดนทวงถามให้จ่ายหนี้!!) ดังนั้นถ้าเลือกได้ก็เลือกแหล่งเงินกู้ที่บริการทันใจ มีประสิทธิภาพ หรือทวงถามหนี้อย่างมืออาชีพก็จะดีกว่าแน่นอนครับ
3. ความสะดวกในการชำระค่างวด หากมีช่องทางการชำระได้หลากหลาย และสะดวก ย่อมทำให้เราชำระค่างวดได้สะดวก และตรงเวลามากขึ้น
ในทางปฏิบัติ ผู้บริโภคหลายๆ ท่านก็อาจไม่ได้ใช้วิธีขอสินเชื่อเช่าซื้อจากแหล่งเงินกู้ดังกล่าว แต่อาจพิจารณาใช้วิธีขอเงินกู้ Personal Loan หรือพวกสินเชื่ออเนกประสงค์จากธนาคารต่างๆ เพื่อเอาเงินสดมาซื้อรถแทน (ในรูปของ "เงินกู้" ไม่ใช่ "เช่าซื้อ") ทั้งนี้ ก็มีข้อดีข้อเสียที่ต่างกันออกไปจากสินเชื่อเช่าซื้อ เช่น อัตราดอกเบี้ย Personal Loan ส่วนใหญ่จะเป็นแบบลดต้นลดดอก ซึ่งดีตรงที่ว่าหากคุณมีเงินก้อน ก็สามารถนำมาจ่ายคืนก่อนกำหนดได้ แต่อัตราดอกเบี้ยอาจสูงกว่า และอาจมีระยะเวลาการผ่อนชำระที่สั้นกว่าสินเชื่อเช่าซื้อ เป็นต้น
ขั้นตอนขอสินเชื่อเริ่มอย่างไร
หากตัดสินใจแล้วว่าจะขอสินเชื่อเช่าซื้อรถ และเลือกแหล่งเงินกู้ได้แล้ว ขั้นตอนต่อไปที่ควรปฏิบัตินั่นก็คือ
1. ผู้กู้แจ้งยี่ห้อ รุ่น ปี รถที่ต้องการเช่าซื้อ และเตรียมเอกสารขอกู้เพื่อให้เจ้าหน้าที่สินเชื่อประเมินยอดจัดวงเงินสินเชื่อให้ เมื่อลูกค้าตกลงที่จะจัดสินเชื่อ ก็จัดเตรียมเอกสารของผู้กู้ และผู้ค้ำประกันเพื่อทำสัญญาเช่าซื้อ
2. นัดเซ็นสัญญาเช่าซื้อ และส่งมอบเอกสาร ซึ่งเจ้าหน้าที่สินเชื่อจะขอถ่ายรูปรถ และลอกลายเลขเครื่อง เลขตัวถังรถเพื่อประกอบการทำสัญญาเช่าซื้อด้วย หลังจากนั้นให้รอผลการอนุมัติประมาณ 2-5 วันทำการ
3. เจ้าหน้าที่สินเชื่อจะแจ้งผลการอนุมัติ เพื่อขอเล่มทะเบียนตัวจริงไปโอนที่กรมขนส่ง บริษัทไฟแนนซ์จะจ่ายเงินค่ารถให้ผู้ขายรถ พร้อมกันนั้นผู้ขายจะโอนกรรมสิทธิ์ให้บริษัทไฟแนนซ์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ และระบุชื่อผู้เช่าซื้อเป็นผู้ครอบครองรถในสมุดคู่มือทะเบียนรถ
เกร็ดความรู้อย่างหนึ่งที่อยากแชร์ให้ทราบกันก็คือ ธุรกิจให้สินเชื่อเช่าซื้อรถนี้เป็นธุรกิจกึ่งควบคุม หมายความว่าสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ จะต้องมีรายละเอียดที่สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคกำหนดเพื่อป้องกันการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค เช่น กำหนดว่าการที่บริษัทไฟแนนซ์จะเข้าไปยึดรถได้นั้น ลูกค้าจะต้องผิดนัด 3 งวดติดต่อกัน และได้รับจดหมายทวงถามให้ชำระหนี้ 30 วันแล้ว เป็นต้น หรือกรณีว่าหากบริษัทไฟแนนซ์ยึดรถไปขายทอดตลาดแล้วได้เงินมากกว่าหนี้ที่ค้างชำระ บริษัทไฟแนนซ์ต้องคืนเงินส่วนเกินให้ลูกค้ากลับไป เป็นต้น (ดูรายละเอียดพวกนี้เพิ่มเติมได้ที่ “ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาเรื่อง: ให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2543”)
คำนวณค่างวดกันยังไง
ตัวอย่างการคำนวณค่าเช่าซื้อรถใหม่แบบคร่าวๆ เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้นจะเป็นดังนี้
สมมติราคารถอยู่ที่ 500,000 บาท ผู้ซื้อวางเงินดาวน์เป็นจำนวน 20% ซึ่งเท่ากับ 100,000 บาท
ที่เหลือเข้าไฟแนนซ์ขอสินเชื่อเช่าซื้อจากธนาคาร หรือบริษัทไฟแนนซ์เป็นจำนวนเท่ากับ 400,000 บาท โดยมีเงื่อนไขคือ
  • ดอกเบี้ย 5% ต่อปี
  • ระยะเวลาชำระค่างวดคือ 4 ปี (48 เดือน)
เมื่อคำนวณออกมาแล้ว ค่างวดก่อนภาษีมูลค่าเพิ่มจะเท่ากับ (400,000 x 5% x 4 (ปี) + 400,000) / 48 (เดือน)
ซึ่งจะเท่ากับ 10,000 บาท + ภาษี 7% (700 บาท) เป็นค่างวด 10,700 บาท
ดังนั้นผู้กู้จะต้องชำระค่างวดรายเดือนเป็นจำนวนเท่ากับ 10,700 บาท เป็นระยะเวลา 4 ปี (48 เดือน)
ทั้งหมดนี้ คือเกร็ดความรู้เบื้องต้นที่พวกเราควรจะรู้กันก่อนไปขอสินเชื่อรถนะครับ หวังว่ามาถึงตรงนี้ พวกเราคงได้ไอเดีย เด็ดๆ หรือรู้ตื้นลึกหนาบางของการขอสินเชื่อ เพื่อที่เราจะได้ใช้คุย หรือต่อรองเงื่อนไขกับเจ้าหน้าที่บริษัทไฟแนนซ์ได้อย่างเข้าใจ ไม่เสียเปรียบ และได้รถคันงามที่เราอยากได้ขับกลับบ้านกันนะครับ

แท็กที่เกี่ยวข้อง
CAR GURU
เขียนโดย เช็คราคา.คอม CAR GURU

พูดคุยกับกูรูได้ที่




เว็บไซต์นี้มีการเก็บคุกกี้เพื่อเพิ่มความพึงพอใจในการใช้งานเว็บไซต์ และช่วยให้เราปรับปรุง และนำเสนอเนื้อหาตรงตามความสนใจของท่าน ท่านสามารถดู Privacy Notice และ ดู Cookies Policy ของเราได้ ที่นี่ ทั้งนี้ ท่านจะยินยอมให้เราเก็บคุกกี้ทั้งหมด หรือให้เก็บแค่บางส่วนโดยการคลิกเลือก ตั้งค่า

ท่านสามารถเลือกให้ความยินยอมการเก็บคุกกี้เป็นเรื่องๆ ได้ที่นี่

เมื่อคุณเข้าชมเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชั่น checkraka เราอาจจัดเก็บ หรือดึงข้อมูลจากเบราว์เซอร์ของคุณในรูปแบบของคุกกี้ และเทคโนโลยีอื่นที่คล้ายคลึง เช่น tag และ pixel (เรียกรวมกันว่า “คุกกี้”) ซึ่งมักเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้โดยตรง แต่ช่วยให้คุณใช้งานเว็บไซต์ได้ปลอดภัย และตรงตามความต้องการมากขึ้น คุณอาจไม่ยินยอมให้เราเก็บคุกกี้บางประเภทได้ โดยการคลิกตามหัวข้อข้างล่างนี้

ประเภทคุกกี้
อ่านเพิ่มเติม ที่นี่
ยินยอม / ไม่ยินยอม
คุกกี้ที่จำเป็นต้องมีเสมอ
(Strictly Necessary)
คุกกี้สำหรับการใช้งานเว็บไซต์
(Functionality)
คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและวิเคราะห์
(Performance & Analytics)
คุกกี้เพื่อการตลาด
(Marketing)