ประเมินวงเงินรู้ผลใน 3 นาที

กับ กรุงศรี ออโต้ พร้อมสตาร์ท

เริ่มประเมินวงเงินพร้อมสตาร์ท
ผ่านมือถือ สแกนเลย

ดูวงเงินพร้อมสตาร์ทที่ได้รับ

x
icon-filter ค้นหารถยนต์
product filter
product filter
product filter
product filter
product filter

เข้าใจรถเกรย์ มาร์เก็ต (Grey Market)

icon 12 ก.ค. 56 icon 167,699
เข้าใจรถเกรย์ มาร์เก็ต (Grey Market)


เข้าใจรถเกรย์ มาร์เก็ต (Grey Market)
ย้อนกลับไปในปี 2535 สมัยที่รัฐบาลของนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ทลายกำแพงภาษี ยกเลิกการควบคุมรถยนต์นำเข้า ที่ตั้งขึ้นเพื่อป้องกันอุตสาหกรรมยานยนต์ภายในประเทศมายาวนานกว่าสิบปี จากเดิมที่ภาษีนำเข้ารถยนต์อยู่ที่ 617% ลดลงมาเหลือเพียง 317% ทำให้บรรดารถนำเข้าจากทั้งญี่ปุ่น อังกฤษ เยอรมัน และอเมริกา ต่างก็ทยอยมาขึ้นที่ท่าเรือในไทยราวกับผึ้งแตกรัง เพื่อตอบสนองกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูง เน้นกลุ่มลูกค้าที่ต้องการความแปลกใหม่ ไม่เหมือนใคร เป็นทางเลือกใหม่ คัดรถที่ออปชั่นมากกว่า ดีกว่ารถประกอบในประเทศมาขาย
ที่สำคัญ ธุรกิจนี้ก็ทำให้บรรดานายทุน นักการเมือง หรือบรรดาผู้จำหน่ายรถยนต์ทั้งรถใหม่ และรถเก่า ต่างหันมาจับธุรกิจนี้ และทำกำไรร่ำรวยกันเป็นแถว ในเวลาต่อมาจึงเรียกกันว่า ผู้นำเข้าอิสระ หรือเกรย์ มาร์เก็ต (Grey Market) นั่นเอง
ทำไมรถ Grey Market จึงเป็นที่นิยม?
รถเกรย์ มาร์เก็ตเริ่มเป็นที่นิยมในบ้านเราด้วยเหตุผลหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น รุ่น และออปชั่นที่มีให้เลือกหลากหลายกว่า รถบางรุ่นตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการไม่ได้นำเข้ามาขายด้วยเหตุผลหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นด้วยเกรงว่าจะขายไม่ดี หรือขายได้ไม่ถึงยอดขายขั้นต่ำที่ต้องสั่งจากบริษัทแม่
นอกจากรุ่นและออปชั่นที่หลากหลายแล้ว รถหลายรุ่นกว่าผู้นำเข้าอย่างเป็นทางการจะนำเข้ามาได้ก็อาจจะต้องใช้เวลานานหลายเดือน หลังจากรถเปิดตัวในต่างประเทศด้วยปัญหาด้านวิธีการนำเข้า หรือนโยบายของค่ายรถที่ต้องการเปิดตัวในประเทศต่างๆ ต่างเวลากันตามแผนการตลาด ด้วยเหตุผลนี้จึงเป็นช่องว่างให้ผู้ประกอบรถเกรย์ มาร์เก็ตซึ่งมีความคล่องตัวกว่า ชิงความได้เปรียบในการซื้อรถจากดีลเลอร์ที่ต่างประเทศ เพื่อมาเปิดตัวตัดหน้าผู้นำเข้าอย่างเป็นทางการในประเทศได้
Grey Market จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือก สำหรับลูกค้า เพราะมีรถให้เลือกหลายรูปแบบและสามารถเลือกออปชั่นต่างๆ ได้มากกว่า ตัวอย่างเช่น ในประเทศแถบยุโรป, อเมริกา และญี่ปุ่น ลูกค้าสามารถเลือกสั่งรถได้ตามความต้องการ เช่น ตัวรถภายนอกสีขาว จะขอตกแต่งภายในเป็นสีเบจ สีดำ หรือสีเทาก็ได้ ตามออปชั่นที่มีให้ลูกค้าเลือก และตัวรถราคายังถูกกว่า แถมไม่ต้องนั่งเครื่องบินไปเลือกรถเองถึงเมืองนอก และต้องมาดำเนินการนำเข้าและจดทะเบียนให้ยุ่งยากอีกด้วย
ด้วยเหตุผลดังกล่างข้างต้น ประกอบกับราคาของรถบางรุ่นที่ผู้นำเข้าอิสระก็ถูกกว่ารถที่นำเข้าโดยตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการอย่างไม่น่าเชื่อ (ทั้งวิธีที่ถูกต้องและผิดกฎหมาย) จึงทำให้รถเกรย์ มาร์เก็ตเป็นที่นิยมไม่น้อย
บรรดารถยนต์ที่ได้รับความนิยมนำเข้าโดย Grey Market ก็มีอยู่หลายรุ่น หลายยี่ห้อ อาทิเช่น รถ Mercedes-Benz หลายๆรุ่น, Lamborghini, Audi R8, Porsche 911, Porsche Cayenne, Ferrari รุ่นต่างๆ, Lotus Evora, Toyota Alphard, Toyota Wellfire, Toyota 86, Toyota Land Cruiser Prado,  Nissan Cube, Nissan Juke, Nissan GT-R, Nissan Fairlady Z เป็นต้น ซึ่งรถบางรุ่น ตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ หรือบริษัทแม่ในไทย ก็มีนำเข้ามาขายเช่นกัน
ท่ามกลางความนิยมที่กำลังเพิ่มขึ้น ก็ต้องยอมรับกันนะครับว่า ข่าวไม่ดีของรถประเภทนี้ก็มีมาให้ได้ยินอยู่บ่อยๆ เนื่องจากผู้นำเข้าก็มีมาตรฐาน และจรรยาบรรณที่แตกต่างกันไป ก็เป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องศึกษา และทำความเข้าใจข้อด้อยของรถเกรย์ มาร์เก็ต และจุดที่ต้องพึงระวัง เพื่อที่จะได้เลือกซื้อรถที่ต้องการได้อย่างชาญฉลาดมากขึ้น มาดูกันเลยครับว่า รถเกรย์ มาร์เก็ตนั้นมีจุดด้อย และข้อพึงระวังอะไรบ้าง
นำเข้าผิดกฎหมายหรือเปล่า
ปัจจุบันกฎหมายไทยอนุญาตให้สามารถนำรถ Grey Market เข้ามาจำหน่ายได้ แต่รถที่นำเข้าจะต้องเป็น “รถใหม่” และต้องเสียภาษีนำเข้าตามอัตราที่กฎหมายกำหนดประมาณ 210-300 % ของราคารถที่นำเข้า โดยส่วนมากผู้ประกอบการก็จะซื้อรถต่อจากตัวแทนจำหน่ายในต่างประเทศ (ฮิตที่สุดก็จากอังกฤษ) แล้วนำเข้ามาในเมืองไทย
อัตราภาษีที่ค่อนข้างสูงนี่แหละครับเป็นมูลเหตุจูงใจให้ผู้ประกอบการพยายามทุกวิถีทางให้เสียภาษีให้น้อยที่สุด ไม่ว่าจะเป็น นำรถเก่าเข้ามาแล้วแจ้งว่าเป็นรถใหม่ โดยทำการเขี่ยเลขไมล์ ขัดสีฉวีวรรณโดยมืออาชีพ ประเภทที่คุณไม่มีทางแยกออกได้
แน่นอนล่ะครับ รถเก่าย่อมต้นทุนต่ำกว่ารถใหม่ เมื่อต้นทุนต่ำ ภาษีนำเข้าซึ่งเก็บจากราคารถนำเข้าก็จะถูกลง ราคาขายในประเทศก็จะถูกลงตามๆ กันไป วิธีการก็มีหลากหลายกันไป เช่น
  • แจ้งราคานำเข้าต่ำกว่าความจริง ทั้งกรณีของการนำเข้ารถใหม่ หรือนำเข้ารถเก่าแล้วแจ้งราคาต่ำกว่าความเป็นจริง เพื่อให้เสียภาษีน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้
  • นำเข้าแบบแยกส่วนเป็นชิ้นๆ ซึ่งเสียภาษีในอัตราที่น้อยกว่า แล้วจึงเอาเข้ามาประกอบขึ้นเป็นคันใหม่ในเมืองไทย โดยช่างชำนาญบ้าง ไม่ชำนาญบ้าง แล้วหาทางวิ่งเต้นจดทะเบียนปลอมมั่ง ไม่ปลอมมั่ง ทำเอาผู้ซื้อปวดหัวหลายต่อหลายราย
     
จดทะเบียนถูกต้องหรือไม่
นี่เป็นผลต่อเนื่องจากการนำเข้าโดยผิดกฎหมาย เช่น การนำเข้ารถเก่าแล้วมาสำแดงเป็นรถใหม่ หรือนำเข้ามาแบบแยกชิ้นแล้วมาจดประกอบอย่างผิดกฎหมายในเมืองไทย รถพวกนี้จริงๆ แล้วกรมขนส่งทางบกจะไม่รับจดทะเบียน ผู้ประกอบการเหล่านี้ก็ต้องใช้วิชามารจนสามารถมีเล่มทะเบียนออกมาได้ ทั้งยื่นเอกสารเท็จเพื่อให้กรมขนส่งทางบกจดทะเบียนให้ บางรายหนักหน่อยออกทะเบียนปลอมเลยก็มี
สเปครถกับความเหมาะสมในการใช้งานในเมืองไทย
ปกติรถทุกยี่ห้อจะมีรายการผลิตแตกต่างกันไป แล้วแต่ตลาดรถที่จะนำไปขาย เช่น รถที่จะขายในตลาดยุโรป กับ ตลาดเอเชีย อุปกรณ์ วัสดุ หรือระบบไฟฟ้า ระบบปรับอากาศ หรือระบบอื่นๆ อีกหลายส่วนนั้นจะแตกต่างกัน ทั้งนี้เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพอากาศของประเทศนั้นๆ
ดังนั้นรถที่ผู้ประกอบการ Grey Market ซื้อต่อมาเพื่อนำเข้ามาขายในประเทศไทยนั้น หลายต่อหลายคันก็ไม่ได้ผลิตมาเพื่อใช้ในตลาดเอเชีย ผลก็คือใช้ไปได้สักระยะ อุปกรณ์บางชิ้นก็เสียหรือเสื่อมสภาพเร็วกว่าปกติ เป็นต้น
บริการหลังการขาย
ถือว่าเป็นข้อพิจารณาสำคัญอีกข้อหนึ่งในการเลือกซื้อรถจาก Grey Market ไม่แพ้ข้อพิจารณาอื่นๆ ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ต้องเข้าใจก่อนนะครับว่า ผู้ประกอบการ Grey Market ในประเทศไทยนั้นแบ่งออกเป็นสองประเภทใหญ่ๆ คือ
  1. นำเข้าเอง
  2. ไปตัดซื้อมาจากผู้นำเข้ารถ Grey Market รายใหญ่มาอีกต่อหนึ่ง
นอกจากนี้จะเห็นผู้ประกอบการบางรายที่มีเพียงหน้าร้านโชว์ เรียกว่าขายอย่างเดียว มีปัญหาก็ให้ไปซ่อมกับที่อื่น หรือกับผู้นำเข้าอย่างเป็นทางการ
ในขณะที่ผู้ประกอบการบางรายก็มีศูนย์บริการครบเครื่อง อุปกรณ์ครบครัน ช่างผู้ชำนาญการพร้อม บางรายก็รับบริการหมดไม่ว่าจะซื้อรถจากที่ไหน แต่จะคิดราคาแพงกว่าลูกค้าที่ซื้อกับตัวเอง บางรายก็จะไม่รับบริการเว้นแต่จะซื้อรถไปจากตัวเอง
ยิ่งกับผู้นำเข้าอย่างเป็นทางการยิ่งแล้วใหญ่ เพราะเดี๋ยวนี้บางค่าย เช่น เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) ซึ่งเมื่อก่อนยังอะลุ่มอล่วยให้บริการลูกค้าที่ซื้อรถจากผู้นำเข้าอิสระด้วย แต่ปัจจุบันได้ออกมาตรการงดบริการและรับประกันคุณภาพ โดยจะมีผลทันทีกับรถใหม่โมเดลปี 2013 เป็นต้นไป รวมถึงรถที่ผลิตระหว่างเดือนมิถุนายนถึงกันยายนปี 2012
นอกจากนี้ผู้ประกอบการที่นำเข้าอย่างเป็นทางการ แม้ว่าจะยังให้บริการลูกค้าที่ซื้อกับผู้นำเข้าอิสระอยู่บ้าง แต่ก็เข้มงวดมากขึ้น เช่น ผู้แทนจำหน่ายรถ BMW รายใหญ่บางรายก็จะต้องส่งรายละเอียดรถที่ลูกค้าซื้อจาก Grey Market ไปตรวจสอบกับกรมศุลกากรกับกรมขนส่งทางบกก่อนว่านำเข้าและจดทะเบียนโดยถูกต้องหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อป้องกันปัญหากฎหมายที่อาจจะเกิดขึ้นในภายหลัง เช่น เป็นรถที่เจ้าหน้าที่ยึดหรืออายัดระหว่างให้บริการ เป็นต้น
สรุปข้อดี-ข้อเสียรถ Grey Market
ข้อดีของรถจาก Grey Market
  • ได้รถรุ่นที่ในเมืองไทยไม่มีขาย หรือรุ่นพิเศษ สามารถเลือกออปชั่นได้ วัสดุและการประกอบที่ดีกว่า เป็นอีกหนึ่งทางเลือกของผู้บริโภค ได้ใช้รถที่ไม่เหมือนใคร บ่งบอกไลฟ์สไตล์ของตัวเอง
  • วงการผู้นำเข้ารถอิสระพัฒนาไปมาก ไม่ว่าจะเป็นโชว์รูม อะไหล่รถยนต์ ช่องทางการจัดจำหน่าย ที่ทำให้ลูกค้าสามารถมั่นใจได้ถึงการบริการหลังการขาย รถบางคันที่ซื้อไป ก็มีทำ PDI (Pre Delivery Inspection) มาให้เรียบร้อย
  • หลายๆ รุ่น มีราคาถูกกว่ารถที่นำเข้าโดยบริษัทแม่
ข้อเสียของรถจาก Grey Market
  • รถบางคันมีการนำเข้า เสียภาษี ผ่านศุลกากรมาอย่างไม่ถูกต้อง เป็นทะเบียนรถที่ไม่ถูกต้อง อาจถูกดำเนินคดีย้อนหลังหรือถูกยึดรถได้
  • รถบางคันไม่ได้ออกแบบ ปรับปรุงระบบไฟฟ้า ระบบน้ำมัน และเครื่องยนต์ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในประเทศไทย เมื่อใช้ไปนานๆ อาจเกิดปัญหาขึ้นได้
  • อาจไม่สามารถเข้ารับบริการจากศูนย์บริการของผู้แทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการได้ (หรือศูนย์บริการของบริษัทแม่) ในกรณีรถเสีย และถ้าผู้นำเข้าอิสระ ไม่สามารถหาอะไหล่ หรือซ่อมได้ มีปัญหาแน่
     
     
วิธีเลือกซื้อรถ Grey Market อย่างชาญฉลาด
1. เลือกซื้อจากผู้ประกอบการที่มีศูนย์บริการได้มาตรฐานเท่านั้น
แม้ว่า Grey Market เจ้าใหญ่ๆ มีส่วนทำให้ลูกค้าสามารถมั่นใจได้มากกว่า Grey Market เจ้าเล็กๆ ที่ไปซื้อรถ จาก Grey Market รายใหญ่มาขายอีกต่อหนึ่ง แต่ทางที่ดี อย่ายึดติดแค่เพียงชื่อเสียงของ Grey Market เจ้าดังๆ นัก ให้คุณลองค้นหาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต หรือผู้ใช้รถที่ซื้อรถจาก Grey Market ตามแหล่งต่างๆ ซะก่อน
ทั้งนี้เพื่อความมั่นใจว่า เมื่อเวลารถมีปัญหา จะมีศูนย์บริการที่ได้มาตรฐานคอยให้บริการในเวลาอันรวดเร็ว ไม่ใช่ต้องทิ้งรถรออะไหล่กันทีหลายๆ เดือน
โดยควรดูจากการ Stock และความสามารถในการจัดหาอะไหล่ การบริการ ความเชี่ยวชาญของช่างผู้ซ่อมรถ และเครื่องมือในการซ่อมรถ เป็นต้น อย่าลืมว่าราคารถยนต์ของ Grey Market บางรายที่ต่ำกว่ารายใหญ่นั้น อาจเป็นพราะเขาไม่ได้ลงทุนเรื่องบริการหลังการขายซักเท่าไหร่ หากจำเป็นหรือมีความประสงค์จะซื้อรถจากผู้ประกอบการที่ไม่ค่อยพร้อมในเรื่องบริการ ไม่ว่าจะด้วยราคาที่ต่ำกว่าค่อนข้างมากหรือเพราะรู้จักกัน ก็ควรเช็คกับผู้ประกอบการรายอื่น หรือผู้นำเข้าอย่างเป็นทางการว่า รับบริการรถที่ซื้อจากที่นี่หรือไม่ และถ้ารับ ค่าบริการแพงกว่าปกติ หรือมีค่าใช้จ่ายพิเศษอื่นเพิ่มเติมหรือไม่ก่อนตัดสินใจ
2. เช็ครุ่นรถว่าผลิตเพื่อใช้งานในบ้านเราด้วยหรือไม่
รถที่นำเข้าโดย Grey Market เกือบทั้งหมดนั้น เป็นรถยนต์ที่ผลิตสำหรับขายในประเทศนั้นๆ (เช่น ในญี่ปุ่น ยุโรป) แม้ว่าจะมีออปชั่นมากกว่ารถที่ขายในไทยก็จริง แต่อุปกรณ์บางอย่างเช่น ระบบน้ำมัน อาจไม่รองรับกับน้ำมันรถยนต์ของเมืองไทยที่น้ำมันมีคุณภาพต่ำกว่า หรือระบบแอร์ ที่ติดมากับรถซึ่งใช้กับเมืองหนาวอาจใช้ได้ไม่ดีกับสภาพภูมิอากาศที่ค่อนข้างร้อนของบ้านเรา
ดังนั้นควรจะหาความรู้ ตรวจเช็คด้วยว่า มีอุปกรณ์ชิ้นส่วนใดบ้างของรถที่ไม่เหมาะกับการใช้งานในไทย โดยอาจเริ่มจากวิธีง่ายๆ โดยการค้นหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ต ถามผู้รู้ที่มีความเชี่ยวชาญ
หรือโทรถามผู้นำเข้าอย่างเป็นทางการ เพื่อหาข้อมูลว่ารถรุ่นที่กำลังจะซื้อจาก Grey Market นั้น มีข้อเสียอะไรบ้างในการใช้งานในประเทศไทย อย่างน้อยก็เอาไว้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ
3. ตรวจสอบการนำเข้าว่าถูกต้องหรือไม่
ก่อนคุณจะซื้อควรขอดูเอกสารนำเข้าของรถคันนั้นๆ ใบ Invoice เอกสารการเสียภาษี เอกสารการผ่านศุลกากรต่างๆ จากคนขาย หากนำเข้าอย่างถูกต้องมีเอกสารครบถ้วน ก็สามารถนำชุดจดทะเบียนรถไปดำเนินการได้ทันทีหลังจากซื้อรถมาแล้ว อย่างที่รู้ๆ กันว่าปัจจุบันมีการซิกแซกค่อนข้างเยอะ ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดปัญหาภายหลังจากการซื้อรถไปแล้วก็ได้
4. ตรวจสอบว่าการจดทะเบียนถูกต้องหรือไม่
ควรตรวจสอบกันตั้งแต่ก่อนนำเข้าว่า จดทะเบียนในต่างประเทศตั้งแต่เมื่อไหร่ ก่อนจะนำเข้ามาในไทย ทะเบียนที่ได้มานั้นเป็นทะเบียนแท้ หรือทะเบียนสวมมาหรือไม่ เพราะรถบางคันนั้นนำเข้ามาอย่างไม่ถูกต้อง แล้วใช้วิธีสวมทะเบียนเอา ทั้งนี้สามารถตรวจสอบได้โดยการเช็ครหัสตัวถัง (VIN) กับเล่มทะเบียนว่าตรงกันหรือไม่ ยกเว้นเจอรายแสบๆ จริงๆ ที่ลบออกแล้วกรอกเลขตัวถังใหม่ ทางที่ดีให้ผู้เชี่ยวชาญช่วยดูให้จะดีที่สุด
นอกจากนี้ต้องตรวจสอบเลขไมล์รถด้วยว่า กรอมาหรือเปล่า โดยมีวิธีเช็คดังนี้
ในเบื้องต้นให้ดูสภาพเรือนไมล์ว่ามีร่องรอยการถอดหรือไม่ โดยดูจากความแน่นหนาในการติดตั้ง หากหลวมสามารถขยับได้ มีรอยที่หัวน็อต บริเวณกรอบเรือนไมล์ก็พอสันนิษฐานได้ว่ามีการถอดเข้าถอดออก
จุดต่อไปที่ควรสังเกตคือตัวเลขไมล์ ถ้าเป็นไมล์แบบธรรมดา หากมีการกรอไมล์ ตัวเลขที่ไมล์ก็จะเรียงไม่เสมอกัน ฟันธงได้เลยว่ารถคันนี้ไปกรอไมล์มา ส่วนไมล์ดิจิตอล มีหลายคนเคยพูดว่ากรอไมล์ไม่ได้ แต่ความเป็นจริงคือ ไม่มีไมล์ประเภทไหนที่ช่างจะทำไม่ได้ ปัญหาอยู่ที่ไมล์ประเภทดิจิตอลนี้ผู้ซื้อจะสังเกตความผิดปกติได้ยาก
5. ตรวจสอบว่าผู้นำเข้าอย่างเป็นทางการรับบริการเวลารถมีปัญหา หรือซ่อมดูแลตามใบรับประกันรถหรือไม่ ถ้ารับ เขามีขั้นตอนและค่าใช้จ่ายอย่างไร
โดยปกติแล้ว ผู้นำเข้า หรือตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการมักไม่อยากรับซ่อมรถจาก Grey Market เท่าไหร่ เนื่องจากมีปัญหามาก อะไหล่บางอย่างก็เป็นคนละสเปคกับรถที่ตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการนำเข้ามา ซึ่งรถยนต์จากค่ายยุโรปหลายยี่ห้อนั้น ไม่รับซ่อมรถที่มาจาก Grey Market โดยเด็ดขาดเลยทีเดียว
บางรายก็อาจจะรับบริการ แต่ต้องจ่ายค่าแรกเข้า หรือค่า PDI ค่อนข้างสูง เป็นต้น โดยค่าใช้จ่ายนั้นอาจจะสูงกว่าที่เรียกเก็บจากลูกค้าปกติ เมื่อบวกลบคูณหารในระยะยาวแล้วอาจแพงกว่าการซื้อรถจากผู้นำเข้าอย่างเป็นทางการเสียด้วยซ้ำ
ดังนั้นก่อนจะซื้อรถจาก Grey Market ก็ต้องเช็คกันดีๆ ก่อนตัดสินใจกันนะครับ
แท็กที่เกี่ยวข้อง
CAR GURU
เขียนโดย เช็คราคา.คอม CAR GURU

พูดคุยกับกูรูได้ที่




เว็บไซต์นี้มีการเก็บคุกกี้เพื่อเพิ่มความพึงพอใจในการใช้งานเว็บไซต์ และช่วยให้เราปรับปรุง และนำเสนอเนื้อหาตรงตามความสนใจของท่าน ท่านสามารถดู Privacy Notice และ ดู Cookies Policy ของเราได้ ที่นี่ ทั้งนี้ ท่านจะยินยอมให้เราเก็บคุกกี้ทั้งหมด หรือให้เก็บแค่บางส่วนโดยการคลิกเลือก ตั้งค่า

ท่านสามารถเลือกให้ความยินยอมการเก็บคุกกี้เป็นเรื่องๆ ได้ที่นี่

เมื่อคุณเข้าชมเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชั่น checkraka เราอาจจัดเก็บ หรือดึงข้อมูลจากเบราว์เซอร์ของคุณในรูปแบบของคุกกี้ และเทคโนโลยีอื่นที่คล้ายคลึง เช่น tag และ pixel (เรียกรวมกันว่า “คุกกี้”) ซึ่งมักเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้โดยตรง แต่ช่วยให้คุณใช้งานเว็บไซต์ได้ปลอดภัย และตรงตามความต้องการมากขึ้น คุณอาจไม่ยินยอมให้เราเก็บคุกกี้บางประเภทได้ โดยการคลิกตามหัวข้อข้างล่างนี้

ประเภทคุกกี้
อ่านเพิ่มเติม ที่นี่
ยินยอม / ไม่ยินยอม
คุกกี้ที่จำเป็นต้องมีเสมอ
(Strictly Necessary)
คุกกี้สำหรับการใช้งานเว็บไซต์
(Functionality)
คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและวิเคราะห์
(Performance & Analytics)
คุกกี้เพื่อการตลาด
(Marketing)