ประเมินวงเงินรู้ผลใน 3 นาที

กับ กรุงศรี ออโต้ พร้อมสตาร์ท

เริ่มประเมินวงเงินพร้อมสตาร์ท
ผ่านมือถือ สแกนเลย

ดูวงเงินพร้อมสตาร์ทที่ได้รับ

x
icon-filter ค้นหารถยนต์
product filter
product filter
product filter
product filter
product filter

ระบบส่งกำลังรถยนต์ และระบบขับเคลื่อน

icon 10 พ.ย. 66 icon 330,388
ระบบส่งกำลังรถยนต์ และระบบขับเคลื่อน
รถยนต์ในแต่ละคันก็มีเทคโนโลยีในการออกแบบและการผลิตที่ไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับคุณลักษณะในการใช้งาน การทำงาน หรือการสรรหานวัตกรรมใหม่ๆ ที่ผู้ผลิตคิดค้นและทดลองขึ้นมาได้ ในวันนี้เราขอนำเสนอรายละเอียดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบส่งกำลังรถยนต์ และระบบขับเคลื่อน เพื่อให้เป็นความรู้ และจำแนกรถในเวลาที่คุณสนใจหรือต้องการจะดูรถยนต์รุ่นใดรุ่นหนึ่ง แก่ท่านผู้อ่านกันนะครับ
 

โครงสร้างส่วนประกอบของระบบส่งกำลังรถยนต์

 
หน้าที่ของระบบส่งกำลัง (Powertrain System) คือ ถ่ายทอดการหมุนของเครื่องยนต์ ไปยังล้อ เพื่อให้เคลื่อนที่ได้ ระหว่างทางการส่งกำลังหมุนไปนี้ ก็จะผ่านส่วนประกอบ หรืออุปกรณ์ หลายส่วนคือ ชุดคลัตช์ (Clutch), ชุดเกียร์ (Transmission), เพลาขับ (Drive shaft), ชุดเฟืองท้าย (Differential), เพลา (Axle), ล้อ (Wheel) สำหรับรถยนต์ที่ขับเคลื่อนล้อหน้า จะมีเพลาขับต่อออกจาก ชุดเฟืองท้ายไปหมุนล้อโดยตรง การพัฒนาระบบส่งกำลังของรถยนต์ แต่ละบริษัทผู้ผลิต ก็อาจแตกต่างกันไปบ้าง แต่โดยหลักแล้ว มีจุดประสงค์เดียวกันคือ ส่งกำลังหมุนจากเครื่องยนต์ไปที่ล้อ
การทำงานของระบบส่งกำลังเริ่มต้นที่ตัวเครื่องยนต์หมุน ในส่วนของเพลาข้อเหวี่ยงก็จะมีแกนต่อออกมายึดกับล้อช่วยแรง (Flywheel) เมื่อเครื่องยนต์หมุน ล้อช่วยแรงก็หมุนไปด้วย ชุดคลัตช์ (Clutch) ที่ติดตั้งอยู่ในระบบ จะมาช่วยรับแรงหมุนนี้ส่งผ่านไปตามเพลาคลัตช์ (Clutch Shaft) เข้าไปสู่ห้องเกียร์ (Transmission) ภายในห้องเกียร์ ก็จะมีฟันเฟืองโลหะหลายขนาดแตกต่างกันไปตามความเร็วที่ต้องการใช้
 

ประเภทของการขับเคลื่อนรถยนต์

 

1. รถยนต์เครื่องอยู่หน้าขับหน้า

 
รถยนต์ขับเคลื่อนล้อหน้า และวางเครื่องยนต์ด้านหน้ารถ (FF = Front Engine Front Wheel Drive) จะมีเพลาซ้าย - ขวา ต่อออกจากชุดเฟืองท้าย ไปหมุนล้อ (แบบนี้ไม่ต้องมีเพลากลาง) เป็นระบบขับเคลื่อนที่นิยมใช้มากที่สุดในรถยุคปัจจุบัน เรียกได้ว่าเป็นมาตรฐานของรถในปัจจุบันเลยก็ว่าได้ เนื่องจากมีระบบส่งกำลังที่ดีกว่าเพราะเครื่องยนต์อยู่เหนือล้อ ทำให้เกิดแรงขับโดยตรง ผิดกับการขับเคลื่อนล้อหลัง อีกทั้งยังมีประสิทธิภาพในการประหยัดน้ำมัน กับการเกาะถนนที่ไว้วางใจได้ ไม่ต้องมีอุโมงค์เกียร์ทำให้คอนโซลกลางเล็กแคบ วางขาได้สบาย แต่ข้อเสียก็มีเช่นกัน เพราะเครื่องอยู่ด้านหน้า เกียร์อยู่หน้า น้ำหนักทิ้งด้านหน้าเป็นหลัก ทำให้เวลาเร่ง เลี้ยว หรือเบรก ทำได้ทีละครั้ง ทำพร้อมๆกันหลายอย่างไม่ได้
 
 

2. รถยนต์เครื่องอยู่หน้าขับหลัง

 
รถยนต์เครื่องอยู่หน้าขับหลัง (FR = Front Engine Rear Wheel Drive) รถยนต์ขับเคลื่อนล้อหลัง และวางเครื่องยนต์ด้านหน้ารถจะมีเพลากลาง ต่อออกจากห้องเกียร์ ไปสู่ชุดเฟืองท้ายที่ติดตั้งไว้ด้านหลังรถ แล้วต่อเพลาขับ ซ้าย-ขวา ออกจากชุดเฟืองท้าย ปัจจุบันจะหายากแล้ว ส่วนใหญ่ใช้กันในรถสปอร์ต รถกระบะ หรือรถระดับหรูหราคันใหญ่ๆ อีกทั้งยังนิยมในรถรถยุโรปซะเป็นส่วนใหญ่ การกระจายน้ำหนักรถทำได้ดี สามารถควบคุมรถได้ดียามใช้ความเร็วสูงเหมาะกับสภาพถนนของยุโรป สำหรับเลย์เอาท์ในการวางของเครื่องยนต์ เกียร์ และเพลาขับของรถยนต์แบบ FR อาจไม่จำเป็นจะต้องเป็นแบบวางขวาง หรือ Traversely-Mount เสมอไป (เครื่องยนต์ เกียร์ และเพลาขับจะวางเรียงเป็นแนวขวางตามด้านกว้างของตัวรถ) แต่อาจจะเป็นแบบวางตามยาว หรือ Longitudinally-Mount (เครื่องยนต์ เกียร์ และเพลากลาง วางเรียงต่อกันในแนวยาว จากด้านหน้าไปหลัง) เหมือนกับรถยนต์ขับเคลื่อนล้อหลังก็ได้ ซึ่งในอดีตรถยนต์ขับเคลื่อนล้อหน้าแต่ใช้เครื่องยนต์แบบวางตามยาวก็มี
 
 

3. รถยนต์เครื่องอยู่หลังขับหลัง

 
รถยนต์เครื่องอยู่หลังขับหลัง (RR = Rear Engine Rear Wheel Drive) สำหรับรถยนต์ขับเคลื่อนล้อหลัง และวางเครื่องยนต์ช่วงหลังรถ ก็ไม่จำเป็นต้องมีเพลากลาง น้ำหนักเครื่อง เกียร์ อยู่ด้านหลังหมด เวลาออกตัวดี เพราะได้แรงยึดเกาะกับน้ำหนักรถกดที่ล้อหลัง แต่ปัจจุบันนิยมใช้กันน้อยมาก ส่วนใหญ่จะเป็นรถขนาดเล็กยุคเก่า 30-40 ปีขึ้นไปหรือรถซูเปอร์คาร์ อาทิ ซูบารุ 360, ซูบารุ R-2, โฟล์ค เต่า หรือซุเปอร์คาร์อย่าง ปอร์เช่ 911 เป็นต้น
 
 

4. รถยนต์เครื่องอยู่กลางขับหลัง

 
รถเครื่องกลางขับหลัง (MR = Midship Engine Rear Wheel Drive) จุดเด่น คือการจัดให้น้ำหนักส่วนใหญ่อยู่ระหว่างล้อหน้าและล้อหลัง เพื่อให้จุดศูนย์ถ่วงอยู่ตรงกลางรถ ข้อเสีย คือมีเนื้อที่ใช้ประโยชน์น้อยและเสียงรบกวนจากเครื่องยนต์มีมาก นิยมใช้กันในรถสปอร์ต สำหรับเครื่องยนต์วางกลาง ยังมีแบ่งออกเป็นอีก 2 เหมือนกับ FR ด้วยเช่นกัน คือ แบบวางขวางเครื่องยนต์เกียร์ และเพลาขับวางเรียงตามแนวกว้างของตัวรถ เช่น Toyota MR-S, Honda NSX ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้เครื่องยนต์ 4 สูบเรียง หรือไม่ก็บล็อกวี แต่ไม่ค่อยมีแบบ 6 สูบเรียงเท่าไหร่ ในส่วนแบบที่วางตามยาว ส่วนใหญ่จะเป็นซูเปอร์คาร์ ซึ่งระบบนี้ก็มีทั้งแบบขับเคลื่อนล้อหลัง และแบบขับเคลื่อน 4 ล้อให้เลือกใช้ ขึ้นอยู่กับผู้ผลิตแต่ละราย และถ้าเป็นเครื่องยนต์วางกลางแบบขับเคลื่อนล้อหลัง บางทีก็เรียกว่า RMR หรือ Rear Mid-engine Rear-wheel drive
 

5. รถยนต์ขับเคลื่อน 4 ล้อ

 
รถยนต์ขับเคลื่อน 4 ล้อ (4 WD = Four Wheel Drive) มีแรงฉุดในการขับเคลื่อนจะมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ไม่ลื่นไถลโดยเฉพาะการใช้งานบนถนนที่ไม่เรียบ ขรุขระ เป็นหลุมเป็นบ่อ ทางปีนป่าย หล่มโคลนทางโค้ง และถนนลื่น จะได้ประโยชน์จากการขับเคลื่อน 4 ล้อดีที่สุด และระบบในรถขับเคลื่อน 4 ล้อนั้น ยังถูกแบ่งออกเป็น 2 ระบบ คือ
 
5.1 ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ แบบ PART TIME (ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ตามการเลือกใช้งาน)
 
ในระบบนี้ถือกันว่า เป็นระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ สำหรับรถที่ใช้วิ่งในทางทุรกันดาร ที่รถกระบะ และรถออฟโรดใช้กัน ปกติรถเหล่านี้ส่วนใหญ่มักจะขับเคลื่อนแบบล้อหน้า (FF) หรือล้อหลัง (FR) โดยจะมีเกียร์สำหรับเปลี่ยนอยู่ด้านข้างเกียร์หลัก หรือในบางรุ่นอาจจะใช้เป็นสวิตซ์บิด หรือใช้ปุ่มกดเอา เพื่อเปลี่ยนมาใช้ในระบบขับเคลื่อน 4 ล้อได้โดยทันที ระบบนี้ยังถูกแบ่งออกเป็นอีก 2 รูปแบบ คือ ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ Part Time Hi (สัญลักษณ์ 4H) และระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ Part Time Lo (สัญลักษณ์ 4L) ซึ่งทั้ง 2 รูปแบบทำงานหมือนกัน คือ เมื่อผู้ใช้เปลี่ยนระบบขับเคลื่อนมาอยู่ในตำแหน่ง 4H หรือ 4L เฟืองตัวกลางของห้องเกียร์ขับเคลื่อนเข้าล็อคติดกับห้องเกียร์ปกติ ซึ่งจะทำให้กำลังของเครื่องยนต์ถูกแบ่งครึ่งให้ส่งกำลังไปอยู่ที่ล้อคู่หน้า 50% และล้อคู่หลัง 50%
 
ในปัจจุบันระบบเกียร์ขับเคลื่อน 4 ล้อ ได้พัฒนาไปมาก สามารถเปลี่ยนเกียร์จาก 2WD มาเป็นระบบ 4WD ในขณะขับรถได้เลย โดยใช้ระบบควบคุมด้วยอิเลกทรอนิคส์เข้ามาช่วย ไม่ว่าจะใช้มือโยกบริเวณคันเกียร์ หรือหมุนปุ่ม กดปุ่ม แต่ต้องเปลี่ยนในขณะความเร็วต่ำ (ไม่เกิน 80-100 กม./ชม.) และไม่ต้องถอยหลังเพื่อปลดล็อคด้วย และในรถบางรุ่นก็พิเศษไปกว่านั้น ด้วยระบบเทคโนโลยีตัดต่อกำลังอัตโนมัติ (Automatic Disconnecting Differential) ให้การขับเคลื่อนที่ต่อเนื่อง ไม่ต้องหยุดหรือชะลอรถเพื่อเปลี่ยนระบบเกียร์ ระบบจะทำการวิเคราะห์สภาพถนน และปรับเปลี่ยนให้เองอัตโนมัติ เหมือนที่ในรถ MPV และ SUV หลากหลายยี่ห้อนิยมใช้กัน
 
 
5.2 ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ แบบ FULL TIME (ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ตลอดเวลา)
 
เป็นระบบที่ถูกออกแบบมาเพื่อการใช้งานบนท้องถนนปกติ มีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการยึดเกาะถนนโดยเฉพาะ รถเก๋ง หรือรถหลายๆ แบบที่ผลิตขายในญี่ปุ่นและยุโรป ประเทศแถบที่มีหิมะตกและพื้นที่ทุรกันดารมาก มักจะมีรุ่นที่ขับเคลื่อน 4 ล้อประเภทนี้จำหน่ายด้วย (หรือที่เรียกกันอีกในชื่อหนึ่งว่า ระบบ AWD - All Wheels Drive) เมื่อใช้ความเร็วสูง บนทางโค้ง หรือทางที่เปียกลื่น หรือวิ่งบนหิมะ
 
การทำงานของระบบนี้จะแตกต่างจากระบบ Part Time โดยสิ้นเชิง ในระบบ Full Time นี้ กำลังของเครื่องยนต์จะถูกส่งไปที่ล้อคู่หน้าและล้อคู่หลัง ไม่คงที่เหมือนระบบ Part Time หากแต่อัตราส่วนของกำลังที่ถูกส่งไปที่ล้อคู่หน้าและล้อคู่หลังจะขึ้นอยู่กับอัตราส่วนของแรงเสียดทานระหว่างล้อคู่หน้ากับล้อคู่หลัง เมื่อล้อคู่ใดมี แรงเสียดทานมากกว่า กำลังของเครื่องยนต์จะถูกถ่ายไปหาล้อคู่ที่มีแรงเสียดทานน้อยกว่า ตัวอย่างเช่น ในกรณที่รถวิ่งในทางปกติ กำลังของเครื่องยนต์จะถูกส่งไปยัง ล้อคู่หน้า 50% และล้อคู่หลัง 50% เนื่องจากในการวิ่งทางตรงนั้น ล้อคู่หน้ากับล้อคู่หลัง มีอัตราแรงเสียดทานที่เท่ากัน ต่อจากนั้นเมื่อคุณหักเลี้ยวล้อคู่หน้าจะมีแรงเสียดทานมากกว่าล้อคู่หลังทันที อัตราการส่งกำลังของเครื่องยนต์ก็จะส่งไปที่ล้อคู่หน้าน้อยลง และไปเพิ่มที่ล้อหลัง เมื่อคุณหักเลี้ยว ล้อคู่หน้าอาจจะมีกำลังเหลือ 40% หรือ 30% หรือน้อยกว่าล้อหลังก็จะมีกำลังเพิ่มเป็น 60% หรือ 70% หรือมากกว่า
 
สำหรับรถยนต์ที่นิยมใช้ระบบการขับเคลื่อนประเภทนี้ อาทิ โตโยต้า, นิสสัน, ฮอนด้า, ซูบารุ, ซูซูกิ, BMW, ออดี้, วอลโว่, เชฟโรเลต และยี่ห้ออื่นๆ ในรถยนต์แต่ละค่าย การเรียกชื่อก็ต่างกัน อย่างซูบารุใช้ชื่อ AWD ใน BMW ก็ใช้ชื่อ xDrive ในออดี้ใช้ชื่อ Quattro และระบบการทำงานอาจจะแตกต่างกันไปบ้าง อย่างเช่น การกระจายแรงขับไปยังแต่ละล้อ หรือการจำกัดความเร็วในช่วงของการขับเคลื่อนแบบ 4WD แต่ก็ถือว่าเป็นการขับขี่ในรูปแบบของ 4WD Full Time ที่เหมือนๆ กัน ซึ่งระบบนี้พัฒนาขึ้นมาเพื่อช่วยประหยัดน้ำมัน และเลือกใช้การขับขี่ให้เหมาะสมกับการใช้งานยังไงล่ะครับ
 
 

ระบบเกียร์

 
หลังจากที่เราได้เรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับระบบขับเคลื่อนแบบต่างๆของรถยนต์กันไปแล้ว ในส่วนนี้จะเกี่ยวกับระบบเกียร์ของรถยนต์ครับ ระบบส่งกำลังหรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่าเกียร์ ในรถยนต์นั้น ก็มีด้วยกันสองแบบหลักๆ คือเกียร์แบบธรรมดา (Manual Transmission) และ เกียร์อัตโนมัติ (Automatic Transmission)
 

1. เกียร์ธรรมดา (Manual Transmission)

 
สำหรับระบบเกียร์ธรรมดาในปัจจุบัน ในเมืองไทยรถส่วนใหญ่ไม่ค่อยนิยมใช้เกียร์ธรรมดากันแล้ว เนื่องจากแนวโน้มความนิยมในปัจจุบันที่เน้นไปที่การขับขี่ในเมืองมากขึ้น ไม่ค่อยเหมาะกับการขับขี่รถเกียร์ธรรมดาเท่าไหร่นัก รถที่มีรุ่นเกียร์ธรรมดาขาย ก็มักจะเป็นรถรุ่นถูกสุด หรือรถกระบะ ไม่ก็รถสปอร์ตสมรรถนะสูง ระบบเกียร์ก็มีใช้ทั้ง 5 และ 6 จังหวะ ตามการออกแบบและการใช้งานที่เหมาะสมกับรถรุ่นนั้นๆ แต่เกียร์ธรรมดาก็มีการพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน เพื่อตอบสนองความต้องการของคนใช้รถที่ชอบขับรถที่แรงและเร็ว แต่ก็ยังต้องการความสะดวกสบายในการใช้งาน แม้ว่าเกียร์ธรรมดา ตอบสนองผู้ใช้ในเรื่องของพละกำลังได้ดีกว่าเกียร์ออโต้ แต่ข้อด้อยของเกียร์ธรรมดาคือ การเสียเวลาในการเปลี่ยนเกียร์จากเกียร์หนึ่งไปยังอีกเกียร์หนึ่ง ต้องใช้เวลาในการผ่อนคันเร่ง เหยียบคลัตช์ โยกคันเกียร์ ปล่อยคลัตช์ และกดคันเร่ง ที่หลายคนหากไม่คุ้นเคยกับเกียร์ธรรมดาแล้ว จะขับได้ลำบาก และเครื่องดับบ่อยเวลาเข้าเกียร์หนึ่ง หรือเวลาเหยียบคลัตช์ไม่สุด
 
การขับรถเกียร์ธรรมดา ทุกครั้งก่อนออกจากรถ ผู้ขับรถควรจะขยับเกียร์ซ้าย-ขวาไปมาให้อยู่ในตำแหน่งเกียร์ว่างเสมอพร้อมดึงเบรกมือค้างไว้ เพื่อป้องกันการหลงลืมเมื่อมีการสตาร์ทรถครั้งใหม่ เพราะเมื่อสตาร์ทเครื่องยนต์ โดยเกียร์ไม่ได้อยู่ในตำแหน่งเกียร์ว่าง รถจะพุ่งไปข้างหน้า หรือถอยหลังอย่างฉับพลัน ก่อให้เกิดอันตรายได้ สำหรับการปลดเกียร์ว่าง นอกจากจะปฏิบัติก่อนออกจากรถทุกครั้งแล้ว อาจปฏิบัติในขณะรถติดนานๆ ได้ด้วย โดยดึงเบรกมือแทนการเหยียบเบรก และคลัตซ์ค้างไว้ ช่วยพักเท้าคลายอาการเมื่อยล้าได้ด้วย และเหยียบคลัตช์ทุกครั้งที่สตาร์ทเครื่องยนต์ เพื่อป้องกันการส่งกำลังจากเครื่องยนต์ มาสู่ระบบ ขับเคลื่อน เพราะหากลืมปลดเกียร์มาที่ตำแหน่งเกียร์ว่าง การเหยียบคลัตช์จะทำให้รถไม่พุ่งไปข้างหน้าด้วยเช่นกัน
 
มือใหม่หัดขับ มักพยายามหลีกเลี่ยงเส้นทางที่ต้องขึ้นสะพาน แต่หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ และต้องติดค้างอยู่บนสะพาน ผู้ขับมือใหม่มักกังวลว่าจะทำอย่างไรดีเพื่อไม่ให้รถไหลไปชนคันหลัง วิธีง่ายๆ ก็คือ ปลดเกียร์ว่าง พร้อมกับดึงเบรกมือ และเมื่อจะเคลื่อนตัวให้ผู้ขับเหยียบคลัตช์และเข้าเกียร์ 1 พร้อม ที่จะออก แล้วเหยียบคันเร่งช้าๆ พร้อมกับปลดเบรกมือ รถอาจจะไหลบ้างเล็กน้อยตามพื้นที่ลาดเอียง มือใหม่หัดขับไม่ต้องตกใจ ให้ออกตัวรถไปตามปกติ
 
 
เลือกใช้เกียร์ให้เหมาะสมกับความเร็วของรถ และเปลี่ยนเกียร์ที่ความเร็วรอบของเครื่องยนต์ไม่ต่ำ หรือสูงเกินไป (2,000-3,000 รอบ/นาที) จะทำให้การขับขี่นุ่มนวลยิ่งขึ้น และประหยัดน้ำมันอีกด้วย
 
การชะลอรถ/หยุดรถ เมื่อขับมาด้วยความเร็ว ให้ค่อย ๆ แตะเบรก อย่าพึ่งเหยียบคลัตซ์ เพื่อให้กำลังของเครื่องยนต์เป็นตัวช่วยชะลอรถ (Engine Brake) จากนั้น เมื่อรถใกล้จะหยุด ให้เหยียบคลัทซ์ และเมื่อรถหยุดสนิทให้ปลดเกียร์ว่าง พร้อมทั้งดึงเบรกมือเพื่อป้องกันรถไหล
 
หมั่นฝึกเปลี่ยนเกียร์ให้เกิดความชำนาญ โดยใช้ประสาทสัมผัสแทนการเหลือบมอง เพื่อป้องกัน การเกิดอุบัติเหตุ
 
สิ่งสำคัญที่ไม่ควรจะละเลย คือ ไม่ควรวางเท้าไว้ที่แป้นเหยียบคลัตซ์ตลอดเวลา แม้จะไม่ได้เหยียบคลัตซ์ก็ตาม เพื่อยืดอายุการใช้งานของลูกปืนคลัตซ์ นอกจากนี้ยังไม่ควรเลี้ยงคลัตซ์เมื่อรถติดอยู่บนเนินหรือสะพาน เพราะจะทำให้คลัตซ์ลื่น คลัตซ์ไหม้ และอายุการใช้งานของผ้าคลัตซ์สั้นลงด้วย
 

2. เกียร์อัตโนมัติ (Automatic Transmission)

 
เกียร์อัตโนมัติในยุคแรกๆ ที่ใช้ระบบกลไกล้วนๆ ไม่มีระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยควบคุมในการทำงานของเกียร์แบบในปัจจุบัน ตั้งแต่ยุคเกียร์ 2 จังหวะ 3 จังหวะ และ 4 จังหวะในช่วงแรกนั้นหลายๆ คนมักจะแหยง เนื่องจากระบบเกียร์ออโต้รุ่นแรกๆ นั้น เมื่อใช้งานไปซักระยะหนึ่ง จะมีปัญหามาก และเสียค่าบำรุงรักษามาก มาจนถึงยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีล้ำหน้า พัฒนาไปมาก ระบบอิเลกทรอนิคส์เข้ามามีส่วนร่วม ทำให้ปัจจุบันเกียร์อัตโนมัตินั้นมีมากถึง 8 สปีด การเปลี่ยนเกียร์ก็มีความแม่นยำมากขึ้น เพราะระบบคอมพิวเตอร์จะวิเคราะห์คำนวณ และสามารถรับรู้ได้ถึงสภาพการขับขี่ของคนขับ ย่านความเร็ว และรอบเครื่อง ทำให้การขับขี่รถเกียร์อัตโนมัติในรถบางรุ่น ความรู้สึก "แทบ" ไม่ต่างจากเกียร์ธรรมดาเลยทีเดียว เพียงแต่ไม่มี "คลัตช์" เท่านั้นเอง
 
ตำแหน่งการทำงานของเกียร์ ในการใช้งานรถยนต์เกียร์ออโต้ทั่วไป มีลักษณะการใช้งานพื้นฐานที่เหมือนกันคือ
 
  • ตำแหน่ง P, R, N, D, 3, 2, 1 หรือ L
  • ตำแหน่ง P หมายถึง Parking สำหรับจอดรถแล้วไม่ต้องการให้รถขยับ ทำหน้าที่คล้ายเบรกมือ
  • ตำแหน่ง R หมายถึง Reverse ตำแหน่งถอยหลัง
  • ตำแหน่ง N หมายถึง Neutral ตำแหน่งเป็นเกียร์ว่าง และสามารถสตาร์ทเครื่องยนต์ได้
  • ตำแหน่ง D หมายถึง Drive ใช้สำหรับขับเคลื่อนบนพื้นที่ราบ และพื้นที่ซึ่งมีความลาดชันไม่มาก ตั้งแต่เกียร์ 1-4
  • ตำแหน่ง 3 หรือ S เครื่องยนต์จะใช้เกียร์ 1 ถึงเกียร์ 3 สำหรับกรณีขึ้น-ลงเนินสูงหรือทางคดเคี้ยว
  • ตำแหน่ง 2 หรือ L เครื่องยนต์จะใช้เกียร์ 1 ถึงเกียร์ 2 หรือใช้เกียร์ 1 อย่างเดียว สำหรับกรณีขึ้น-ลงเนิน หรือทางลาดชัน
 
 
การเปลี่ยนเกียร์ไปมาระหว่างตำแหน่ง D และตำแหน่งตัวเลข สามารถเปลี่ยนได้ในขณะที่รถเคลื่อนที่เนื่องจากเป็นเกียร์เดินหน้าเช่นเดียวกัน แต่ต้องถอนเท้าออกจากคันเร่งก่อน เปลี่ยนเกียร์แล้วเหยียบคันเร่งใหม่ เพื่อความปลอดภัยและไม่ควรเปลี่ยนคันเกียร์จากตำแหน่ง D ลงมาที่ L ทันที เพราะจะทำให้เกิดความเสียหายต่อเครื่องยนต์ และแรงกระชากของเครื่องยนต์อาจส่งผลให้รถเสียการทรงตัวจนเกิดอุบัติเหตุขึ้นได้

ส่วนการเปลี่ยนเกียร์ในตำแหน่งอื่นต้องทำขณะที่รถยนต์จอดสนิทอยู่กับที่เท่านั้น โดยขณะที่รถจอดอยู่กับที่และเกียร์อยู่ในตำแหน่ง N เมื่อต้องการเปลี่ยนมาอยู่ในตำแหน่งเกียร์เดินหน้า ต้องเหยียบเบรกไว้ตลอดขณะเปลี่ยนเกียร์ เพื่อป้องกันไม่ให้รถเดินหน้าทันที ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ขับขี่เกิดอาการตกใจจนเผลอเหยียบคันเร่ง เป็นเหตุให้รถพุ่งออกไปอย่างรวดเร็วจนเกิดอุบัติเหตุได้ เมื่อเปลี่ยนเกียร์แล้วจึงยกเท้าออกจากแป้นเบรก รถยนต์จะเดินหน้าไปเองอย่างช้าๆ จากนั้นจึงค่อยๆ ออกแรงกดคันเร่งที่ละนิดจนได้ระดับความเร็วที่ต้องการ
 
การเปลี่ยนเกียร์ถอยหลังจากตำแหน่ง N เป็นตำแหน่ง R ต้องทำเช่นเดียวกับการเปลี่ยนเกียร์เดินหน้า คือเหยียบเบรกไว้ตลอดเวลาขณะเปลี่ยนเกียร์ เมื่อยกเท้าออกจากแป้นเบรก รถยนต์จะถอยหลังไปเองอย่างช้าๆ เพียงแต่เพิ่มขั้นตอนในการกดปุ่มปลดล็อก บริเวณด้านข้างหัวเกียร์ ที่ออกแบบมาเพื่อป้องกันไม่ให้คันเกียร์เปลี่ยนไปอยู่ที่ตำแหน่ง R โดยไม่ตั้งใจ
 
สำหรับการเข้าเกียร์ในตำแหน่ง P ที่จะต้องกดปุ่มปลดล็อกเช่นเดียวกัน แต่จะต้องใช้ต่อเมื่อต้องการจอดรถอยู่กับที่นานๆ และไม่จอดกีดขวางรถผู้อื่นเท่านั้น เพราะรถจะล็อกล้อไว้จนไม่สามารถขยับได้ ไม่ควรที่จะใส่เกียร์ในตำแหน่ง P ขณะที่จอดติดสัญญาณไฟแดง เพราะหากเกิดอุบัติเหตุถูกรถยนต์ที่จอดต่อท้ายมาชน จะทำให้ล็อกเกียร์พังจนสร้างความเสียหายแก่เครื่องยนต์ นอกจากนั้นยังเกิดความพลั้งเผลอของตัวผู้ขับขี่เอง เมื่อได้รับสัญญาณไฟเขียวแล้วรีบร้อนเข้าเกียร์โดยไม่ระวัง ทำให้คันเกียร์ค้างอยู่แค่ตำแหน่ง R แทนที่จะเป็นตำแหน่ง D จนเป็นเหตุให้รถถอยหลังไปชนกับรถยนต์ที่จอดต่อท้าย
 

ระบบ Overdrive

 
Overdrive คือ อัตราส่วนทดเฟืองเกียร์ที่เพลาส่งกำลังขับมีอัตราเร็วรอบสูงกว่าเพลาที่เข้าห้องเกียร์ ทำให้ประหยัดน้ำมันและลดการสึกหรอ รถยนต์ที่มี Overdrive เกียร์สุดท้ายจะเป็น Overdrive มีได้ทั้งรถเกียร์ธรรมดาและเกียร์ออโต้
สำหรับรถเกียร์ออโต้ ถ้าขับปกติแนะนำให้ Overdrive On รถจะวิ่ง 4 เกียร์ เกียร์ 4 จะเป็น Overdrive (รถเกียร์ออโต้ที่มี 4 เกียร์) ถ้าเราไม่ต้องการใช้ Overdrive ก็ทำได้โดยกดที่ปุ่มคันเกียร์ ที่หน้าปัดเรือนไมล์จะมีตัวหนังสือสีแดงบอกว่า Overdrive Off ซึ่งรถจะไม่วิ่งที่เกียร์ 4 จะวิ่งแค่ 3 เกียร์เท่านั้น ถ้าวิ่งอยู่ที่เกียร์ 4 พอกดปุ่มปิด Overdrive เกียร์จะเปลี่ยนเป็นเกียร์ 3 ลักษณะแบบนี้ก็เหมือนการเชนเกียร์ของเกียร์ธรรมดา ซึ่งจะทำให้อัตราเร่งดีขึ้น เอาไว้ใช้ในการแซง พอแซงพ้นแล้วก็อย่าลืมเปิดใช้ Overdrive ด้วย จะได้ประหยัดน้ำมัน
 

ระบบเกียร์แบบ CVT และระบบเกียร์แบบ Paddle Shift

 
รถรุ่นใหม่ๆ ในปัจจุบันหลากหลายยี่ห้อ ระบบเกียร์อัตโนมัติแบบที่เรียกว่า CVT (Continous Variable Transmission) นั้น ได้รับความนิยมทั้งจากรถญี่ปุ่นและรถยุโรป หากเปรียบเทียบระบบ CVT กับระบบเกียร์อัตโนมัติทั่วไป เกียร์ CVT นั้นน่าจะไม่ควรถูกเรียกว่าชุดเกียร์ เพราะการทำงานแปรผันตามพละกำลังที่ส่งมาจากเครื่องยนต์โดยตรง จะประกอบด้วยชุดกรวย 2 ชิ้นที่เป็นหลักในการส่งกำลังจากเครื่องยนต์ไปยังล้อ โดยที่ตัวหนึ่งจะถูกต่อเข้ากับเครื่องยนต์ เรียกว่า พูเลย์ขับ ส่วนอีกตัวเป็นพูเลย์ที่จะให้อัตราทดเรียกว่า พูเลย์กำลัง ซึ่งทั้งสองจะทำงานสอดคล้องกันผ่านสายพานที่คล้องผ่านทั้งคู่ เหมือน "สายพาน" ที่หมุนไปตามความเร็วที่สูงขึ้นเรื่อยๆ
 
เมื่อเราขับรถไปในถนนกำลังจากเครื่องยนต์จะถูกส่งผ่านพูเลย์ขับ โดยในยามที่เราใช้อัตราทดต่ำ พูเล่ย์กำลังจะมีระยะชันสูงทำให้มีอัตราทดที่สูง และการทำงานจะแปรผันเรื่อย จนเมื่อถึงเกียร์สูงสุดการทำงานก็จะสลับกันระหว่างพูเลย์ขับที่ชันตัวสูงขึ้นและ พูเล่ย์กำลังที่ต่ำลงระบบจะทำงานเช่นนี้ไปเรื่อย และนั้นหมายความว่าระบบเกียร์ CVT นั้นไม่ได้ขับผ่านชุดเฟือง ซึ่งการที่มันขับผ่านด้วยระบบสายพานนี้ ทำให้มันค่อนข้างเปราะ และมีการกล่าวว่าการใช้เกียร์ CVT ในสภาวะสุดขั้วโดยเฉพาะในเขตเมืองที่ขับๆจอดๆ จะทำให้เกียร์พังไวกว่าปกติ แม้ว่าจะระบบส่งกำลังประเภทนี้จะค่อนข้างมีปัญหาได้เมื่อใช้ไปนานๆ แต่ CVT ก็มีข้อดีที่ให้อัตราเร่งที่สเถียรมากยิ่งขึ้น และให้อัตราประหยัดน้ำมันมากยิ่งขึ้นเช่นกัน
 
ในส่วนของระบบเกียร์ Paddle Shift นั้น แต่เดิมเป็นเทคโนโลยีที่ใช้กันอยู่ในสนามแข่งรถ ใช้ในรถแข่ง F1 ภายหลังจึงได้นำเทคโนโลยีเหล่านี้มาปรับปรุงและพัฒนาให้ใช้กับในรถบ้านได้ ให้ความรู้สึกสนุกในการขับขี่มากขึ้น ระบบเกียร์ Paddle Shift เป็นระบบควบคุมการเปลี่ยนเกียร์แบบสปอร์ต ที่คล้ายกับรถเกียร์ธรรมดา ผู้ขับขี่สามารถควบคุมการส่งกำลังได้ตามถนัด(เพียงปลายนิ้ว) สามารถควบคุมการเปลี่ยนเกียร์ได้อย่างสะดวกที่บริเวณพวงมาลัยที่มีแป้นการบังคับมีขนาดใหญ่ พอดีกับตำแหน่งนิ้ว ทำให้การขับขี่ตอบสนองทุกความต้องการได้เหนือระดับ
แท็กที่เกี่ยวข้อง ระบบส่งกำลังรถยนต์
CAR GURU
เขียนโดย เช็คราคา.คอม CAR GURU

พูดคุยกับกูรูได้ที่




เว็บไซต์นี้มีการเก็บคุกกี้เพื่อเพิ่มความพึงพอใจในการใช้งานเว็บไซต์ และช่วยให้เราปรับปรุง และนำเสนอเนื้อหาตรงตามความสนใจของท่าน ท่านสามารถดู Privacy Notice และ ดู Cookies Policy ของเราได้ ที่นี่ ทั้งนี้ ท่านจะยินยอมให้เราเก็บคุกกี้ทั้งหมด หรือให้เก็บแค่บางส่วนโดยการคลิกเลือก ตั้งค่า

ท่านสามารถเลือกให้ความยินยอมการเก็บคุกกี้เป็นเรื่องๆ ได้ที่นี่

เมื่อคุณเข้าชมเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชั่น checkraka เราอาจจัดเก็บ หรือดึงข้อมูลจากเบราว์เซอร์ของคุณในรูปแบบของคุกกี้ และเทคโนโลยีอื่นที่คล้ายคลึง เช่น tag และ pixel (เรียกรวมกันว่า “คุกกี้”) ซึ่งมักเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้โดยตรง แต่ช่วยให้คุณใช้งานเว็บไซต์ได้ปลอดภัย และตรงตามความต้องการมากขึ้น คุณอาจไม่ยินยอมให้เราเก็บคุกกี้บางประเภทได้ โดยการคลิกตามหัวข้อข้างล่างนี้

ประเภทคุกกี้
อ่านเพิ่มเติม ที่นี่
ยินยอม / ไม่ยินยอม
คุกกี้ที่จำเป็นต้องมีเสมอ
(Strictly Necessary)
คุกกี้สำหรับการใช้งานเว็บไซต์
(Functionality)
คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและวิเคราะห์
(Performance & Analytics)
คุกกี้เพื่อการตลาด
(Marketing)