ประเภทรถ และการใช้งาน
ตลาดรถยนต์บ้านเรานั้นมีรถยนต์ใหม่จำหน่ายหลากหลายรูปแบบ หลากสไตล์ เพื่อตอบสนองต่อการใช้งานของผู้บริโภคในรูปแบบต่างๆ ทั้งการทำงาน พักผ่อน ท่องเที่ยว หรือการขนส่งสินค้า เราสามารถแบ่งประเภทรถยนต์ใหม่ที่มีขายในท้องตลาดได้หลากหลายประเภท และสำหรับการจัดประเภทต่างๆ นั้น เราขอแนะนำให้ท่านเลือกชม และเปรียบเทียบข้อมูลของรถยนต์ประเภทต่างๆ ภายในเว็บของเรา เพื่อความเข้าใจที่มากขึ้นครับ
เมื่อคุณคิดอยากจะ "ซื้อรถใหม่" ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม "เช็คราคา.คอม" ขอนำเสนอบทความดีๆ เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้ตัดสินใจ "ชมและชิม" ข้อมูลความรู้ต่างๆ ก่อนจะเดินเข้าไปดูรถคันจริงๆ ที่คุณหมายตาไว้ที่โชว์รูมรถกัน
1. รถ ECO-Car (อีโคคาร์)
รถ ECO-Car เป็นศัพท์ และคำจำกัดความที่เรียกเฉพาะในเมืองไทยเท่านั้น (หากเป็นตลาดในต่างประเทศ โซนยุโรปรถขนาดเล็กมักจะจัดอยู่ในกลุ่ม A-Segmant Car ตามการเรียกของ EuroNCAP ในเครื่องยนต์ขนาด 660-1000 CC. หรือ Mini Car, City Car และรถยนต์กลุ่ม K-Car หรือ Kei-Jidosha ในญี่ปุ่น)
สำหรับรถในกลุ่ม ECO-Car นั้นเหมาะสำหรับกลุ่มคนที่ต้องการใช้รถขนาดเล็กเพื่อใช้งานในเมืองเป็นหลัก กลุ่มนักศึกษา หรือกลุ่มวัยเพิ่งเริ่มต้นทำงาน โดยขายรถในราคาที่ไม่แพง เน้นการประหยัดน้ำมัน บำรุงรักษาง่าย อะไหล่ไม่แพง ราคาขายต่อไม่ตกมาก
โครงการรถ ECO-Car คือโครงการส่งเสริมการลงทุน ผลิตรถยนต์ขนาดเล็กเพื่อขายในประเทศไทย ในตอนแรกมีการกำหนดขนาดตัวรถให้ยาวได้แค่ 3.6 เมตร กว้าง 1.63 เมตร แต่ด้วยปัญหาหลายๆ อย่าง จึงต้องยกเลิกเงื่อนไขการจำกัดขนาดตัวถัง แต่ยังคงจำกัดขนาดเครื่องยนต์ไว้ให้ไม่เกิน 1.2 ลิตร ต้องประหยัดน้ำมัน 20 กม./ลิตร เหมือนเดิม เป็นต้น (อย่างในกรณีของนิสสัน มาร์ช, อัลเมร่า และซูซูกิ สวิฟท์ ในตลาดโลก รถ 3 รุ่นนี้จะถือว่าเป็นรถในขนาด Sub-Compact แต่นิสสัน และ ซูซูกิ แก้เกมด้วยการนำเครื่องยนต์ขนาด 1.2 ลิตรเข้ามาใส่ เครื่องยนต์ประหยัดน้ำมัน 20 กม./ลิตร ตามเกณฑ์ ทำให้สามารถเข้าโครงการรถ ECO-Car ตามที่รัฐบาลกำหนดได้ทันที)
ในปี 2550 รัฐบาลในขณะนั้นได้อนุมัติคำขอส่งเสริมการลงทุนในการผลิตรถยนต์ ECO-Car ถึง 3 ยี่ห้อ คือ บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด โดยรถ ECO-Car จะต้องมี 4 คุณสมบัติของรถยนต์ประหยัดพลังงานตามมาตรฐานสากล (ECO Technology) คือ
- ประหยัดน้ำมัน โดยจะต้องมีอัตราการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงไม่เกิน 5 ลิตร/100 กม. หรือน้ำมัน 1 ลิตรวิ่งได้ระยะทาง 20 กม.
- การรักษาสิ่งแวดล้อม มาตรฐานมลพิษปลอดภัยระดับยูโร 4 คือ มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์น้อยกว่า 120 กรัม/ระยะทาง 1 กม. โดยรถยนต์ในกลุ่มประเทศยุโรป มีเพียง 5% ที่ผ่านมาตรฐานระดับยูโร 4 นี้
- ความปลอดภัยในระดับสูง ได้มาตรฐานความปลอดภัยของยุโรป (UNECE 94 และ 95) ซึ่งเป็นมาตรฐานความปลอดภัยจากการชนด้านหน้า และด้านข้าง
- ความคล่องตัว เพื่อให้เป็นรถยนต์ขนาดเล็ก เหมาะสำหรับการขับขี่ในเมือง จึงกำหนดความจุกระบอกสูบไม่เกิน 1,300 ซีซี สำหรับเครื่องยนต์เบนซิน และไม่เกิน 1,400 ซีซี สำหรับเครื่องยนต์ดีเซล
สำหรับในไทยรถยนต์ในกลุ่มตลาดนี้ ได้แก่ นิสสัน มาร์ช, นิสสัน อัลเมร่า, ฮอนด้า บริโอ, ซูซูกิ สวิฟท์ ใหม่, เกีย พิคันโต้, เฌอรี่ คิวคิว และมิตซูบิชิ มิราจ ใหม่ เป็นต้น
2. รถยนต์นั่งขนาดเล็กมาก (รถ Sub-Compact)
ที่ผ่านมาบ้านเราอาจไม่คุ้น หรือรู้จักกับคำว่า Sub-Compact มากเท่าไร (หรือรถประเภท B-Segment ตามการเรียกของ EuroNCAP) เพราะการจัดหมวดหมู่รถยนต์ในเมืองไทย อาจจะค่อนข้างสับสน มักเรียกแบบเหมารวมกันมากกว่า เช่น รถเก๋ง, ปิกอัพ, รถตู้ หรือไม่ก็ใช้ราคาขาย หรือเครื่องยนต์เป็นตัวแบ่งกลุ่ม ซึ่งการเรียกรถในกลุ่ม Sub-Compact นั้นเป็นที่นิยมเรียกกันในฝั่งอเมริกาเสียมากกว่า
รถประเภทนี้ได้รับความนิยมอย่างมากในยุควิกฤตน้ำมัน หรือ Oil Crisis ประมาณกลางๆยุค 1970 ที่รถอเมริกันหลายๆ เจ้า ออกรถขนาดเล็กมาจำหน่าย อาทิ Ford Pinto, AMC Pacer หรือ AMC Gremlin มาขาย ก่อนความนิยมจะลดลงเมื่อสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ และกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้งประมาณกลางๆ ยุค 90 เมื่อบรรดาแบรนด์รถยนต์ญี่ปุ่น โดยเฉพาะ โตโยต้า และ ฮอนด้า นำรถในกลุ่มนี้เจาะตลาดอเมริกาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งราคาน้ำมันในอเมริกาช่วงหลายปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง เลยทำให้คนอเมริกันเริ่มหันมามองรถยนต์ขนาดเล็กโดยเฉพาะในกลุ่ม Sub-Compact อีกทั้งตั้งแต่ช่วงปลายๆยุค 80 ค่ายรถยักษ์ใหญ่อย่าง GM ยังต้องจับมือร่วมกับรถค่ายญี่ปุ่นอย่าง โตโยต้า และ ซูซูกิ เพื่อแลกเปลี่ยนรถกัน และนำมาผลิตในแบรนด์ของตัวเองอย่าง GEO (ตอนนี้เลิกผลิตไปแล้ว)
รถยนต์ในกลุ่ม Sub-Compact มีคุณสมบัติไม่ต่างจากรถอย่างในประเภท Compact Car มากนัก มีทั้งแบบ 3, 4 และ 5 ประตู ทั้งเรื่องสมรรถนะ การตกแต่งภายใน อุปกรณ์อะไหล่ต่างๆ คล้ายคลึงกับรถยนต์ประเภทอื่นๆ มีแต่เพียงขนาดตัวรถที่เล็กกว่า และเครื่องยนต์อาจจะเล็กกว่า สำหรับในประเทศไทย หลังจากที่รถในตลาดกลุ่มนี้กำเนิดขึ้นมาประมาณกลางๆยุค 80 ที่โตโยต้านำรถแฮตช์แบ็กรุ่น "สตาร์เลท" และนิสสันก็ออก "มาร์ช" มาขายแล้วก็เริ่มซาไป เนื่องจากราคา และกลุ่มตลาดไม่ต่างจากรถที่มีขายอยู่ในขณะนั้นนัก ภายหลังการปรับโครงสร้างภาษีนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูป และภาษีชิ้นส่วนนำเข้าจากต่างประเทศ และการนำเข้ารถเสรีได้ในปี 2534 แล้ว รถพวกนี้ก็กลับมาขายในท้องตลาดโดยเกรย์ มาร์เก็ต ในราคาที่แพงกว่ารถคลาสสูงกว่าที่บริษัทแม่ในนี้ประกอบขายด้วยซ้ำไป จนบริษัทแม่ของรถรุ่นต่างๆ เริ่มหันกลับมาศึกษารถในกลุ่มตลาดนี้ และจนกระทั่งช่วงปลายยุค 90 โตโยต้ากำเนิดโครงการผลิตรถ "AFC" และผลิตรถรุ่น "โซลูน่า" ออกมาจำหน่ายในปี 2540 พร้อมกับฮอนด้าก็ออกรถยนต์รุ่น "ซิตี้" ขึ้นมาด้วยเช่นกัน ทำให้รถกลุ่มตลาด Sub-Compact เริ่มเป็นที่นิยม และเริ่มมีผู้จำหน่ายหลายยี่ห้อมากขึ้น พร้อมกับการถือกำเนิดของ "ฮอนด้า แจ๊ส" ที่ทำให้ตลาดรถท้ายตัดแบบ Sub-Compact กลับมาคึกคัก คู่กับการแข่งขันในตลาดที่รุนแรงมากขึ้นด้วยเช่นกัน
สำหรับรถยนต์ในกลุ่มตลาดนี้ (ในไทย) ได้แก่ โตโยต้า ยาริส, โตโยต้า วีออส, ฮอนด้า แจ๊ส, ฮอนด้า ซิตี้, มาสด้า 2 แฮตซ์แบ็ก, มาสด้า 2 ซีดาน, ฟอร์ด เฟียสต้า, เชฟโรเลต อาวีโอ, เกีย ริโอ, โปรตอน แซฟวี่, โปรตอน ซากา, เปอโยต์ 207 และ ซีตรอง DS3 เป็นต้น (จริงๆนิสสัน มาร์ช, อัลเมร่า และซูซูกิ สวิฟท์ ก็อยู่ในกลุ่มนี้ด้วยเช่นกัน แต่ด้วยขนาดเครื่องยนต์ที่เล็กกว่า เลยจัดอยู่ในกลุ่ม ECO-Car ไป)
3. รถยนต์นั่งขนาดเล็ก (Compact Car)
รถยนต์รุ่นที่ถูกจัดเป็นรถยนต์นั่งขนาดเล็ก หรือ Compact Car ในตลาดของเมืองไทยและทั่วโลก (หรือรถประเภท C-Segment ตามการเรียกของ EuroNCAP) เป็นรุ่นที่ขายดีกว่ารถยนต์นั่งรุ่นอื่นๆ ของยี่ห้อต้นสังกัด (ถ้าไม่นับรถตระกูล MPV, SUV, Pickup) ด้วยเพราะรถมีขนาดที่ไม่เล็กเกินไปสำหรับการเป็นรถครอบครัว และไม่ใหญ่เทอะทะเกินไปสำหรับการขับขี่ในเมือง หรือการขับขี่ในฐานะรถส่วนบุคคล อีกทั้งยังสามารถปรับแต่งเครื่องยนต์ หรือตัวถังให้เป็นแนวสปอร์ต หรือไว้ลงแข่งขันในรายการต่างๆก็ได้ด้วย
ขนาดของรถยนต์ิ และเครื่องยนต์ที่เหมาะสมและลงตัว ใช้งานได้ในหลายลักษณะ ไม่ว่าจะเป็นรถครอบครัว ขนข้าวขนของ เป็นที่นิยมทั้งรถบ้าน รถแท็กซี่ จึงทำให้ยอดขายของรถยนต์นั่งขนาดเล็ก มักจะมียอดขายค่อนข้างสูง อีกทั้งยังมีทั้งแบบ 4 ประตูซีดาน 5 ประตูแวกอน หรือแบบ 2 ประตูคูเป้ให้เลือกมากมาย
รถในกลุ่ม Compact นั้นมีขายในบ้านเรามาอย่างยาวนานหลายสิบปี ในปัจจุบัน รถในกลุ่ม Compact Car ส่วนใหญ่จะมีขนาดความยาวของตัวถังระหว่าง 4.4 - 4.75 เมตร ความกว้างไม่เกิน 1.8 เมตร ใช้เครื่องยนต์ขนาด 1.5-2.0 ลิตร ในอดีตรถยนต์กลุ่มนี้ มักจะมีตัวถัง และความกว้างเล็กกว่านี้ และมีเครื่องยนต์ขนาด 1.3 ลิตรมาให้เลือก พอตั้งแต่ช่วงกลางยุค 90 ที่หลายยี่ห้อเริ่มมีโครงการผลิตรถ Sub-Compact มาขายอย่างจริงจัง รถในกลุ่มเหล่านี้ก็เริ่มอัพเกรดตัวเอง ขยับกลุ่มเป้าหมายทางการตลาดที่สูงขึ้น พร้อมกับเพิ่มอุปกรณ์เสริมต่างๆ ให้กับรถมากขึ้นเช่นปัจจุบัน อีกทั้งยังมีการแยกกลุ่มรถประเภทนี้ ออกไปเป็นรถยนต์นั่งประเภทหรูหราระดับต้น หรือที่เรียกว่า Entry-level luxury car อีก ซึ่งมีขนาดที่พอๆ กับรถยนต์นั่งขนาด Compact หรือใหญ่กว่าไม่มาก แต่มักจะมีความหรูหราพอๆ กับรถยนต์นั่งขนาดกลาง (รถยนต์ขนาดที่ใหญ่กว่า มักมีการตกแต่งภายในที่หรูหรากว่ารถขนาดเล็ก แต่รถ Entry-level luxury car จะมีขนาดเล็ก แต่มีความหรูหราพอๆ กับรถขนาดกลาง) อีกทั้งยังมีภาพลักษณ์ในการใช้เครื่องยนต์ขนาดใหญ่ที่มีกำลังมาก สมรรถนะสูง
สำหรับรถยนต์ในกลุ่มตลาดนี้ (ในไทย) ได้แก่ โตโยต้า โคโรลล่า อัลติส, โตโยต้า พรีอุส, ฮอนด้า ซีวิค, มิตซูบิชิ แลนเซอร์ EX, MG6, มาสด้า 3, เชฟโรเลต ครูซ, ฟอร์ด โฟกัส, เปอโยต์ 308, BMW ซีรีส์ 3, เมอร์เซเดส-เบนซ์ ซี-คลาส และเลกซัส IS เป็นต้น
4. รถยนต์นั่งขนาดกลาง (Mid-Size Car)
รถยนต์นั่งขนาดกลาง มีขนาดภายในใหญ่พอที่จะรองรับผู้ใหญ่ 5 คน ได้โดยไม่เบียดเสียด มีเครื่องยนต์ที่สมรรถนะสูงขึ้น ใช้เครื่องยนต์ขนาด 2.0-3.5 ลิตร เพื่อรองรับน้ำหนักตัวรถที่มากขึ้น สามารถใช้เป็นรถสำหรับครอบครัวได้ดี และมีราคาที่ไม่สูงจนเกินไป ซึ่งแต่เดิมรถบางรุ่นที่อยู่ในตลาดนี้ เคยเป็นรถยนต์ในกลุ่มประเภท Compact Car มาก่อน แต่พอช่วงประมาณต้นยุค 90 รถกลุ่มนี้ก็ได้อัพเกรดตัวเองขึ้นมาเป็นรถขนาด Mid-Size Car เพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมาย เพิ่มออปชั่นของตัวรถ และราคาขายก็ปรับเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
รถในกลุ่มนี้ ยังมีแยกย่อยออกไปเป็นรถยนต์นั่งประเภทหรูหราขนาดกลาง (Mid-size Luxury Car) อีกด้วย ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่ารถยนต์นั่งขนาดกลางแบบธรรมดา และความหรูหราภายในห้องโดยสารที่มากกว่า เครื่องยนต์มีขนาดใหญ่ สมรรถนะสูงกว่ามาตรฐานที่รถขนาดกลางทั่วไป หรือแม้แต่รถขนาดใหญ่ทั่วไปเลือกใช้ รถยนต์นั่งประเภทหรูหราขนาดกลางที่เป็นที่รู้จัก ส่วนใหญ่มักจะเป็นรถจากฝั่งยุโรป เช่น BMW ซีรีส์ 5, ออดี้ A6, จากัวร์ XF หรือเมอร์เซเดส-เบนซ์ อี-คลาส เป็นต้น
สำหรับรถยนต์ในกลุ่มตลาดนี้ (ในไทย) ได้แก่ โตโยต้า คัมรี่, ฮอนด้า แอคคอร์ด, นิสสัน เทียน่า, ซูบารุ เลกาซี, ฮุนได โซนาต้า, โฟล์คสวาเกน พัสสาท CC, ออดี้ A6 และ วอลโว่ S60 เป็นต้น
5. รถยนต์นั่งขนาดใหญ่ (Full-Size Car)
รถยนต์นั่งขนาดใหญ่ หรือ Full-Size Car เป็นรถที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดารถเก๋งทั้งหมด (ร่วมกับ Full-Size Luxury Car) มีตัวถังภายในกว้างขวาง ตัวรถมีความยาว 4.9 - 5 เมตรขึ้นไป เครื่องยนต์มีตั้งแต่ 8-12 สูบ เน้นสมรรถนะ ความแรง และความหรูหรา สำหรับกลุ่มครอบครัวใหญ่ ผู้บริหาร ผู้จัดการ เจ้าของกิจการ
สำหรับรถยนต์ในกลุ่มตลาดนี้ (ในไทย และต่างประเทศ) ได้แก่ โตโยต้า คราวน์, เลกซัส LS460, โตโยต้า เซนจูรี่, อินฟินิตี้ คิว 45, ฮอนด้า เลเจนด์, เมอร์เซเดส-เบนซ์ เอส-คลาส, มายบัค 57/62, BMW ซีรีส์ 7, ออดี้ A8, จากัวร์ XJ, ซีตรอง C6 และมาเซราติ ควอตโตรปอร์เต้ เป็นต้น
6. รถยนต์แบบ Hot Hatch
สำหรับรถในกลุ่มนี้หลายๆ คนอาจจะไม่รู้จัก แต่ในประเทศแถบโซนยุโรป รถเหล่านี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก หากใครที่ชื่นชอบการแข่งรถ หรือดูรายการที่เกี่ยวกับแข่งรถ อาทิ รายการ WRC Rally ก็จะได้เห็นรถประเภทนี้ในการแข่งขันกันบ่อยๆ เกือบทั้งหมดเป็นรถสไตล์แฮตช์แบ็กท้ายตัด มีเครื่องยนต์ทรงพลัง สร้างมาบนพื้นฐานของรถแบบ Sub-Compact หรือรถแบบ Compact ที่เน้นพลัง และการขับขี่ที่สนุกสนาน เน้นการใช้งานทั้งในชีวิตประจำวันก็ได้ วันหยุดก็ดี แต่ราคาค่าตัวรถที่ค่อนข้างจะแพง เนื่องจากการแต่งชุดสปอร์ตทั้งคัน
สำหรับรถยนต์ในกลุ่มตลาดนี้ (มีขายในไทย ส่วนมากนำเข้าโดยเกรย์ มาร์เก็ต) ได้แก่ มินิ คูเปอร์, มินิ คลับแมน, ซีตรอง DS3 เรซซิ่ง, เฟียต 500 Abarth 695 Tributo Ferrari, ฮอนด้า ซีวิค ไทป์ อาร์ ยูโร และโฟล์คสวาเกน กอล์ฟ GTi เป็นต้น
7. รถยนต์สปอร์ตซีดาน / สปอร์ตคูเป้ / ซูเปอร์คาร์
รถยนต์นั่งสมรรถนะสูง หรือรถสปอร์ต โดยทั่วไปจะมีลักษณะเดียวกับรถยนต์นั่งทั่วไป ยกเว้นรูปทรงและสไตล์การดีไซน์รูปแบบสปอร์ต เสริมชุดแต่งรอบคัน ตัวถังมีขนาดน้ำหนักเบา เพื่อลดน้ำหนักรถยนต์ เพื่อให้รถยนต์สามารถมีอัตราเร่งได้สูง และวิ่งได้ในอัตราเร็วสูงกว่ารถยนต์นั่งทั่วไปเกือบสองเท่า รถยนต์นั่งสมรรถนะสูงที่มีชื่อเสียงมีมากมาย และบางคันอาจจะเป็นรถรุ่นที่ผลิตออกมาจำนวนจำกัด และมีเพียงไม่กี่คัน เป็นของเล่นของสะสมสำหรับเศรษฐี นอกจากนี้รถกลุ่มรถสปอร์ต ยังรวมไปถึงรถเปิดประทุน (หรือที่เรียกกันว่า Cabrio, Cabriolet และ Convertible อีกด้วย)
สำหรับรถยนต์ในกลุ่มตลาดนี้ (มีขายในไทย ส่วนมากนำเข้าโดยเกรย์ มาร์เก็ต) ได้แก่ มิตซูบิชิ อีโวลูชั่น, ซูบารุ อิมเพรซ่า WRX เป็นต้น ในส่วนของรถสปอร์ตคาร์ และซุเปอร์คาร์ ในกลุ่มตลาดนี้ (ที่มีขายในไทย ส่วนมากนำเข้าโดยเกรย์ มาร์เก็ต เช่นกัน) อาทิ มาสด้า MX-5, มาสด้า RX-8, นิสสัน GT-R, ปอร์เช่ 911, แลมโบกีนี่ แกลลาร์โด, มาเซราติ แกรนด์ ตูริสโม่, เมอร์เซเดส-เบนซ์ SLS หรือเฟอร์รารี่ 458 อิตาเลีย เป็นต้น
8. รถยนต์เอนกประสงค์ (หรือ MPV)
รถประเภทนี้ได้ถือกำเนิดมาในช่วงประมาณกลางๆ ยุค 80 ที่นำเอารถตู้มาพัฒนาบนพื้นฐานของรถยนต์นั่ง จนออกมาเป็นรถ MPV เพื่อการใช้งานที่ลงตัว เจ้าแรกที่คิดค้นรถประเภทนี้ออกมาจำหน่าย นั่นคือ ไครส์เลอร์ โวยาเจอร์ จากนั้นตามติดๆ มาด้วย เรโนลต์ เอสปาช ในปัจจุบันรถในกลุ่ม MPV ยังได้มีการแบ่งเป็นกลุ่มย่อยออกมาหลายๆกลุ่ม เช่น Mini MPV, Compact MPV และ Large MPV ด้วยก็ตาม เกือบร้อยเปอร์เซนต์ของรถประเภทนี้นั้นขับเคลื่อนล้อหน้า เบาะนั่งอาจจะมี 2-3 แถวเพื่อรองรับการโดยสารตั้งแต่ 5-8 ที่นั่ง เน้นการใช้งานที่อเนกประสงค์ เหมาะสำหรับครอบครัวใหญ่ หรือการเดินทางเป็นหมู่คณะ
ในประเทศไทยเองได้สัมผัสกับรถในรูปแบบ MPV จากการนำเข้าของบรรดาเกรย์ มาร์เก็ต และบริษัทแม่ทั้งหลาย สำหรับรถยนต์ในกลุ่มตลาดนี้ที่มีขายในไทยปัจจุบัน (ส่วนมากนำเข้าโดยเกรย์ มาร์เก็ต) ได้แก่ โตโยต้า วอกซี, โตโยต้า โนอาห์, โตโยต้า ไอซีส, โตโยต้า พรีอุส อัลฟ่า, โตโยต้า เอสติม่า, โตโยต้า อัลพาร์ด, โตโยต้า เวลล์ไฟร์, นิสสัน เซเรนา, นิสสัน เอลแกรนด์, มาสด้า MPV และเกีย คาร์นิวัล เป็นต้น
9. รถยนต์เอนกประสงค์สมรรถนะสูง (หรือ SUV)
รถยนต์เอนกประสงค์สมรรถนะสูง หรือ SUV (ย่อมาจาก Sport Utility Vehicle : Sport = สมรรถนะสูง (แบบรถสปอร์ต), Utility = สารประโยชน์, Vehicle = พาหนะ) เป็นคล้ายๆ กับรถ MPV แต่จะต่างที่ MPV จัดสรรพื้นที่ใช้สอยได้ยืดหยุ่นมากกว่า และมักใช้เครื่องยนต์เบนซิน ในขณะที่ SUV จะมีสมรรถนะสูงกว่า สามารถใช้ไต่เขาชัน และวิ่งทางวิบากได้ดีกว่า และมักใช้เครื่องยนต์ดีเซล แต่การจัดพื้นที่ใช้สอยไม่ค่อยยืดหยุ่น หรือหลากหลายเท่า MPV แต่ก็ถือว่ามากกว่ารถเก๋ง และเพียงพอที่จะเรียกว่าเป็นรถอเนกประสงค์ รถประเภทนี้ได้รับความนิยมมากในตอนนี้ ทั้งจากกลุ่มครอบครัวขนาดกลาง แถมรถ SUV รุ่นใหม่หลายๆ รุ่น ยังสามารถเลือกการขับขี่ได้ทั้งแบบขับเคลื่อน 2 ล้อ และ 4 ล้อ อีกต่างหาก
สำหรับตลาดรถ SUV ในบ้านเราได้เริ่มต้นประมาณกลางยุค 90 ที่เริ่มมีรถอย่าง โตโยต้า ราฟโฟร์ ซึ่งปัจจุบันไม่มีจำหน่ายในไทยและฮอนด้า CR-V หรือฟอร์ Escape เป็นต้น ที่เข้ามาจำหน่ายรายแรกๆ
PPV-(Pick-up base Passenger vehicles) เป็นรถที่เข้าโครงการดัดแปลงเพื่อปรับฐานภาษีให้ต่ำลง ด้วยการใช้พื้นฐานของรถปิคอัพ และดัดแปลงตัวถังใหม่ ใส่โครงรถให้เป็นลักษณะ SUV หรืออเนกประสงค์มากขึ้น โดยใช้พื้นฐานชัชซีสจากปิคอัพ ซึ่งรถลักษณะนี้ความจริงเป็นประเภทเดียวกับ SUV นั่นเอง ส่วน PPV ที่เรียกกันนั้นใช้แต่ในประเทศไทยและประเทศที่เข้าร่วมโครงการ PPV เท่านั้น ประเทศนอกเหนือจากนี้ไม่รู้จัดคำว่า PPV ด้วยซ้ำไป
ในส่วนของรถแบบ PPV (Pick-up base Passenger vehicles) ที่ใช้เรียกรถฟอร์จูนเนอร์ หรือ มิตซูบิชิ ปาเจโร่ สปอร์ตกันนั้น เป็นชื่อที่เรียกเฉพาะในไทยเท่านั้นครับ (หลายคนคิดว่า ด้านหน้าคล้ายกับรถปิคอัพที่ขาย ก็คงต้องมีอะไรที่เหมือนๆ กับรถปิคอัพเอามาดัดแปลง ซึ่งในปัจจุบัน ไม่ใช่ แล้ว อีกทั้งรถ 2 รุ่นนี้ ก็ยังมีส่งออกไปจำหน่ายหลากหลายประเทศทั่วโลก หากใครจะเรียกรถประเภทนี้ว่ารถ PPV ก็เอาไว้เรียกรถที่ไทยรุ่งเอารถกระบะมาต่อหลังผลิตเป็นรถแวนอย่างเดียวจะถูกต้องกว่า) และในปัจจุบันอาจเรียก PPV น้อยลงเรื่อยๆ และกลับไปใช้คำว่า SUV ตามความเป็นจริงเช่นเดิมมากขึ้น
สำหรับรถยนต์ในกลุ่มตลาดนี้ (มีขายในไทย) ได้แก่ โตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์, นิสสัน เอกซ์-เทรล, ฮอนด้า CR-V, มิตซูบิชิ ปาเจโร่ สปอร์ต, มาสด้า CX-9, ฟอร์ด เอสเคป, ฟอร์ด เทอร์ริทอรี่, เชฟโรเลต แคปติว่า และเชฟโรเลต เทรลเบรเซอร์ ใหม่ เป็นต้น
10. รถกระบะ (Pick-Up)
ในเมืองไทยรถกระบะนับได้ว่ามียอดขายที่มากติดอันดับโลก เป็นรองก็เพียงสหรัฐอเมริกาทีเดียว ดังนั้นรถหลายๆ ยี่ห้อจึงย้ายฐานการผลิตรถกระบะมาอยู่ที่นี่ แล้วผลิตส่งออกไปจำหน่ายทั่วโลก ในตลาดกลุ่มรถกระบะ ก็สามารถแบ่งแยกย่อยออกอีกเป็น 3 ประเภทด้วยเช่นกัน
รถกระบะขนาดเล็ก - เป็นรถกระบะที่มีขนาดเล็ก ใช้พื้นฐานเดียวกับรถเก๋ง ปรับปรุงด้านหลังเป็นกระบะสำหรับวางของ มักใช้ในธุรกิจขนาดเล็กและกลาง รถกระบะขนาดเล็กมาก ที่เคยจำหน่ายในไทยและมีชื่อเสียงในอดีต เช่น มาสด้า แฟมิเลีย, นิสสัน NV ปิคอัพ/วิงโรด เป็นต้น
รถกระบะขนาดกลาง - รถกระบะขนาดกลาง เป็นรถกระบะที่ได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน มีน้ำหนักอยู่ประมาณ 1-1.5 ตันโดยประมาณ หลายรุ่น เป็นที่นิยมและขายดีมาก นิยมใช้ในทุกวงการ และทุกสาขาอาชีพ เช่น อีซูซุ ดี-แม็กซ์, เชฟโรเลต โคโลราโด, นิสสัน นาวารา, มิตซูบิชิ ไทรทัน, โตโยต้า ไฮลักซ์ "วีโก้ แชมป์", มาสด้า บีที-50, ฟอร์ด เรนเจอร์ และทาทา ซีนอน เป็นต้น
รถกระบะขนาดใหญ่ - สำหรับรถกระบะในกลุ่มนี้ ในประเทศไทยนั้นมีการนำเข้ามาขาย แต่มีเป็นจำนวนน้อย และเป็นการนำเข้ามาจากสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก เพราะทางอเมริกาถือเป็นเจ้าตลาดรถประเภทนี้ รถกระบะมีขนาดใหญ่มาก ระดับน้องๆ รถบรรทุกเลยทีเดียว เช่น โตโยต้า ทุนดรา, นิสสัน ไททัน, เชฟโรเลต ซิลเวอราโด, ฟอร์ด เอฟ-ซีรีส์ และ ดอดจ์ แรม เป็นต้น
รถกระบะแวน-รถในกลุ่มตลาดนี้จะเป็นรถที่พื้นฐานเป็นรถกระบะ แล้วนำมาดัดแปลงด้านหลังให้เป็นพื้นที่เหมือนกับรถสเตชั่นแวกอน ในปัจจุบันไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนักเหมือนแต่ก่อน รถที่มีขายในท้องตลาดก็เช่น ทีอาร์ ออลโรดเดอร์ เป็นต้น
11. รถตู้
สำหรับรถตู้ สามารถแบ่งประเภทของรถออกเป็นกลุ่มรถตู้ขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ยังมีแบบหรูหราให้เลือกอีกด้วย คล้ายกับกลุ่มของรถกระบะ สำหรับรถยนต์ในกลุ่มตลาดนี้ (มีขายในไทย) ได้แก่ โตโยต้า ไฮเอช/คอมมิวเตอร์ , โตโยต้า เวนจูรี่ และ นิสสัน เออแวน เป็นต้น
รถยนต์มีหลากหลายประเภทและมีจุดประสงค์การใช้งานที่แตกต่างกันไป ดังนั้น ควรเลือกซื้อรถให้ตรงความต้องการและคุ้มค่ามากที่สุด เพื่อจะได้รถที่ตอบสนองการใช้งานของผู้ซื้อได้มากที่สุด